ไม่พบผลการค้นหา
‘วอยซ์’ รวบรวมเรื่องราวจุดพลิกผันต่างๆ ของพรรคการเมือง/นักการเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชน ทั้งพรรคเพื่อไทยและพรรคอนาคตใหม่ 2 เป้าหลักที่โดน ‘สกัด’ อย่างหนักต่อเนื่องกันมา และดูเหมือนจะสืบเนื่องไปอีก

‘นิติสงคราม’ เป็นถ้อยคำที่ถูกพูดถึงกันมากในช่วงเวลานี้ ซึ่งชะตากรรมของ ‘ว่าที่นายกฯ’ ยังสุ่มเสี่ยงจะซ้ำรอยถึงทางตันเพราะการพิพากษาจากตุลาการในศาลใดศาลหนึ่ง

อาจนับได้ตั้งแต่ปี 2549 ที่บทบาทของ ‘ตุลาการภิวัตน์’ วิ่งคู่ขนานไปกับการรัฐประหารถึงสองครั้งสองครา ‘ปิยบุตร แสงกนกกุล’ อดีตเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่เป็นผู้หนึ่งที่นิยามคำ ‘นิติสงคราม’ โดยสรุปว่ามีองค์ประกอบสองส่วนคือ ใช้กฎหมายแทนอาวุธห้ำหั่นฝ่ายตรงข้ามโดยไม่สนใจหลังนิติธรรม กับการสื่อสารผ่านสื่อที่ทำให้มวลชนที่ ‘เชื่อ’ ไปแล้วว่าใครคือปีศาจทางการเมือง

ตลอดเวลา 17 ปี การเมืองไทยพลิกผันอย่างหนักหลายครั้ง โดยเป็นผลมาจากการตัดสินของศาล ทั้งศาลรัฐธรรมนูญ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง รวมถึงการชงเรื่องจากองค์กรอิสระต่างๆ ไม่นับรวมคดีอันสืบเนื่องมาจาก ‘คตส’ คณะกรรมการที่คณะรัฐประหารเมื่อปี 2549 ตั้งขึ้น

‘วอยซ์’ รวบรวมเรื่องราวจุดพลิกผันต่างๆ ของพรรคการเมือง/นักการเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชน ทั้งพรรคเพื่อไทยและพรรคอนาคตใหม่ 2 เป้าหลักที่โดน ‘สกัด’ อย่างหนักต่อเนื่องกันมา และดูเหมือนจะสืบเนื่องไปอีก


1
องค์กรพิเศษ ‘คตส.’ เช็คบิล ‘ชินวัตร’

หลังรัฐประหารปี 2549 เพียง 11 วัน คณะผู้ยึดอำนาจในนาม คปค.ก็สั่งตั้ง 'คณะกรรมการการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ' หรือ คตส. เพื่อสะสางคดีคอร์รัปชันต่างๆ วางกำหนดการทำงาน 1 ปี แต่สุดท้ายขยายเป็น 1 ปี 9 เดือน

กรรมการ คตส. มี 10 คน ประกอบด้วย 

  1. กล้าณรงค์ จันทิก
  2. แก้วสรร อติโพธิ
  3. คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา
  4. จิรนิติ หะวานนท์ (ลาออก 17 ก.ย.50) 
  5. นาม ยิ้มแย้ม  (ประธาน) 
  6. บรรเจิด สิงคะเนติ
  7. วิโรจน์ เลาหะพันธ์
  8. สวัสดิ์ โชติพานิช (ลาออก 1 ต.ค.49)
  9. สัก กอแสงเรือง 
  10. เสาวนีย์ อัศวโรจน์
  11. อุดม เฟื่องฟุ้ง
  12. อำนวย ธันธรา 

จุดเริ่มต้นของคดี มาจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่ชงเรื่องให้ คตส. 23 เรื่อง แต่ คตส.รับไว้ 13 เรื่อง โดยระบุว่า พบมูลความผิดที่ทำให้รัฐได้รับความเสียหายเป็นเงินกว่า 1.8 แสนล้านบาท 

13 เรื่องได้แก่

  1. การจัดซื้อเครื่องตรวจระเบิด CTX
  2. การทำหวยบนดิน
  3. ภาษีสรรพสามิตในกิจการโทรคมนาคม 
  4. เงินกู้ EXIM BANK ให้พม่า
  5. การซื้อที่ดินรัชดาของคุณหญิงพจมาน ชินวัตร
  6. การเลี่ยงภาษีซื้อขายหุ้นชินคอร์ป
  7. การเลี่ยงภาษีสรรสามิตกิจการโทรคมนาคม 
  8. โครงการบ้านเอื้ออาทร ของการเคหะแห่งชาติ
  9. ธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้กฤษดานคร 
  10. ท่อร้อยสายไฟฟ้าใต้ดินสนามบินสุวรรณภูมิ 
  11. จัดซื้อรถและเรือดับเพลิงของ กทม.
  12. แอร์พอร์ตลิงก์
  13. สร้างห้องปฏิบัติการกลาง (Central Lab) 

คตส.มีอำนาจเรียกเอกสารจากทุกหน่วยงาน มีอำนาจอายัดทรัพย์สิน เมื่อรวบรวมหลักฐานแล้วส่งอัยการสูงสุด โดยให้ถือว่าเป็นมติของ ปปช. โดยมีกระบวนการในรวบรวมพยานหลักฐาน, มีการไต่สวน ให้ผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงและส่งพยานหลักฐาน ถ้าเห็นว่าผิดก็ส่งอัยการสูงสุดเพื่อส่งฟ้องศาล ฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือศาลที่มีเขตอำนาจพิจารณาคดีได้ 

คดีเหล่านี้ที่ชงโดย คตส.บางคดีก็ยังค้างคาอยู่จนปัจจุบัน ส่วนคดีที่ดำเนินการรวดเร็วและจบไปแล้วส่วนใหญ่จะเป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับ ‘ชินวัตร’ เช่น

1. คดีที่ดินรัชดา 

21 ต.ค.2551 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาให้ทักษิณมีความผิดฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐร่วมกันเป็นคู่สัญญา หรือมีส่วนได้เสียในสัญญาที่ทำกับหน่วยงานของรัฐ เข้าไปมีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตัวเองหรือผู้อื่น ตาม ม.100, 122 ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ.2542 ลงโทษจำคุก 2 ปี และยกฟ้องคุณหญิงพจมาน ภรรยา

เหตุสืบเนื่องจากกรณีที่คุณหญิงพจมานประมูลซื้อที่ดินริมถนนเทียมร่วมมิตร ย่านถนนรัชดาภิเษก ใกล้กับศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เนื้อที่ประมาณ 33 ไร่ ราคา 772 ล้านบาท จากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ในกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงการคลัง โดยทักษิณ ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ร่วมลงนามยินยอมในฐานะคู่สมรส

จำเลยพยายามต่อสู้ว่า กองทุนไม่ใช่หน่วยงานของรัฐหรือเป็นรัฐวิสาหกิจ ทักษิณไม่ได้ ดูแลกำกับกองทุน และการซื้อที่ดินไม่ใช่เรื่องของประโยชน์ของรัฐขัดแย้งกับประโยชน์ส่วนบุคคล รวมทั้ง คตส.เป็นองค์กรที่ตั้งขึ้นโดยคณะรัฐประหาร แต่ศาลวินิจฉัยว่าข้อต่อสู้ฟังไม่ขึ้น

2. คดียึดทรัพย์

26 ก.พ. 2553 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตัดสินให้ยึดทรัพย์ราว 46,000 ล้านบาทจากทักษิณและครอบครัว โดยเป็นการมัดรวมหลายกรณีที่ คตส.ชงขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็น ปกปิดการถือหุ้นของบุตรธิดาในหุ้นชินคอร์ป, แปลงค่าสัมปทานเป็นค่าภาษีสรรพสามิตรกิจการโทรคมนาคม, แก้ไขสัญญาปรับลดส่วนแบ่งรายได้จากเอไอเอส, อนุมัติโครงการไอพีสตาร์และแก้ไขสัญญาสัมปทานเอื้อชินคอร์ป, อนุมัติให้พท่ากู้เงินจาก EXIM BANK

ทักษิณเผชิญกับข้อหาความผิดเรื่องร่ำรวยผิดปกติ และได้มาเนื่องจากการกระทำที่เป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวมขณะดำรงตำแหน่งนายกฯ จนนำไปสู่การยึดทรัพย์ ตามพ.ร.บ.ว่าด้วยกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พ.ศ.2542 มาตรา 80

3. คดีหวยบนดิน 

หวยบนดิน หรือ โครงการออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย 3 ตัวและ 2 ตัว เป็นโครงการที่รัฐบาลทักษิณดำเนินการในปี 2546 โดยจะหักค่าใช้จ่ายในการบริหารไม่เกิน 20% เงินที่เหลือนำไปใช้ในโครงการต่างๆ ของรัฐบาล โดยเฉพาะโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน ส่งนักเรียนต่างจังหวัดไปเรียนต่างประเทศ

ตามรายงานผลการดำเนินงานของ คตส.สรุปไว้ว่า ตั้งแต่ 2 ก.พ.2547-14 ก.ย.2549 มีการนำเงินไปใช้ในโครงการของรัฐบาลราว 14,000 ล้าน ซึ่ง คตส.เห็นว่าเป็นความเสียหาย ส่วนการยกเว้นและลดหย่อนภาษีพบว่าไม่ได้ชำระจำนวน 8,800 ล้าน ฯลฯ

คตส.เห็นว่า การออกสลากดังกล่าวถือเป็นสลากกินรวบ ซึ่งฝ่าฝืน พ.ร.บ.สำนักงานสลากกินแบ่ง ม.5 และ ม.9 และการนำรายได้คืนสังคมเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.เงินคงคลัง ม.4 และ ม.13  การลดหย่อนและยกเว้นภาษีก็ผิดประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร

รวมแล้วความเสียหายรวมเป็นเงินทั้งสิ้นประมาณ 37,00 ล้านบาท 

30 ก.ย.2552 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง วินิจฉัยว่า การจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาล มีแนวทางการปฏิบัติจัดสรรรางวัลอย่างชัดเจน เงินที่ได้รับ 60% นำไปจ่ายค่ารางวัล 28% เป็นรายได้เข้าแผ่นดิน 12% เป็นค่าใช้จ่ายการบริหารงาน ส่วนการออกโครงการหวยบนดินไม่ได้กำหนดอัตราส่วนรายรับรายจ่ายที่ชัดเจน แม้จำเลยจะอ้างว่าจะนำเงินไปใช้ในทางสาธารณประโยชน์ แต่ปรากฏว่าการออกสลากลักษณะพิเศษดังกล่าวไม่ได้จำกัดงวด ดังนั้น การออกสลากพิเศษเลขท้าย 2-3 ตัว จึงไม่ใช่สลากกินแบ่งรัฐบาลหรือสลากการกุศลตามกฎหมาย และไม่ใช่สลากกินแบ่งรัฐบาลที่ไม่มีความเสี่ยงขาดทุน เพราะกองสลากต้องขาดทุนรวม 7 งวด จาก 80 งวด เป็นเงิน 1,600 ล้านบาทเศษ จึงไม่อาจได้รับการงดเว้นการลดหย่อนภาษีตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการงดเว้นประมวลรัษฎากร

นอจากนี้การไม่นำเงินรายได้จากการออกสลากหลังจากหักค่าใช้จ่ายส่งเข้ากระทรวงการคลังก็ไม่ถูกต้อง และไม่สามารถนำไปใช้สอยได้ตามอำเภอใจ เพราะผิดหลักการบริหารราชการแผ่นดิน

คดีนี้ศาลจำหน่ายคดีในส่วนของทักษิณ เนื่องจากไม่ปรากฏตัวต่อศาล แต่ผู้เกี่ยวข้องอีก 46 คนที่โดนฟ้อง ศาลพิพากษาลงโทษจำคุกเพียง 3 คน คนละ 2 ปี ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ แต่ให้รอการลงโทษ ที่เหลือยกฟ้อง


2
ยุบไทยรักไทย พัฒนาชาติไทย - แผ่นดินไทย  

30 พ.ค. 2550 คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ยุบพรรคไทยรักไทย ด้วยมติเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 และตัดสิทธิ์ทางการเมืองของกรรมการบริหารพรรคเป็นเวลา 5 ปี  รวม 111 คน โดยมีเหตุแห่งการยุบพรรคคือ 

  1. กระทำการล้มล้างการปกครองระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการ ซึ่งไม่ได้เป็นไปตามวิถีทางการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 66 (1) 
  2. กระทำการอันอาจเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐหรือขัดต่อกฎหมาย หรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน มาตรา 60 (3)
  3. ว่าจ้างพรรคการเมืองขนาดเล็กลงสมัครรับเลือกตั้งเมื่อ 2 เม.ย.2549 เพื่อหนีเกณฑ์ว่าต้องได้คะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 20% ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตที่มีผู้สมัครคนเดียว

นอกจากนี้ ศาลรัฐธรรมนูญยังวินิจฉัยยุบพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า  (ตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรค 5 ปี รวม 9 คน) พรรคพัฒนาชาติไทย (ตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรค 5 ปี รวม 19 คน) และพรรคแผ่นดินไทย (ตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรค 5 ปี รวม 3 คน) โดยมีสาเหตุจาก 

  1. กระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 66 (2) 
  2. กรณีรับจ้างลงสมัครับเลือกตั้งในเขตที่มีผู้สมัครพรรคไทยรักไทยเพียงคนเดียว มาตรา 66 (3) 

การยุบพรรคไทยรักไทยเกิดในสมัยที่ 2 ของรัฐบาลทักษิณ ซึ่งคว้าชัยชนะถล่มทลายนำไปสู่การจัดตั้ง ‘รัฐบาลพรรคเดียว’ ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ได้ที่นั่งในสภาถึง 377 จาก 500 ที่นั่ง  

แต่การกลับมาครั้งนี้ไม่ราบรื่น เพราะเกิดกระแสต่อต้านอย่างรุนแรง ในข้อหา ‘รัฐสภาเผด็จการ’ กลุ่มพันธมิตรฯ เป็นผู้นำมวลชนออกมาชุมนุมประท้วงจำนวนมาก ทำให้รัฐบาลต้องประกาศยุบสภาในเดือนกุมภาพันธ์ 2549 แล้วจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่วันที่ 2 เม.ย. 2549 

การเลือกตั้งทั่วไป 2 เม.ย. ถูกคว่ำบาตรโดนพรรคฝ่ายค้าน (ประชาธิปัตย์ ชาติไทย พรรคมหาชน) และไม่ส่ง ส.ส. ลงสนามเลือกตั้้ง เนื่องจากมองว่าทางรัฐบาลเอาเปรียบโดยการยุบสภาแล้วรีบกำหนดวันเลือกตั้งแบบกระชั้นชิดจนเกินไป ทำให้พรรคไทยรักไทยชนะแบบแลนสไลด์ถึง 19 ล้านเสียง ทว่าต่อมา ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ด้วยเหตุผล อาทิ

  1. การกำหนดวันเลือกตั้งในพระราชกฤษฎีกายุบสภาไม่เหมาะสมและไม่เที่ยงธรรม มีการกำหนดวันเลือกตั้งห่างจากวันยุบสภาเพียง 35 วันเท่านั้น 
  2. กกต. ได้กำหนดการจัดคูหาในลักษณะที่บุคคลภายนอกสามารถสังเกตเห็นได้ว่าผู้เลือกตั้งใช้สิทธิเลือกตั้งหมายเลขใด

และได้ประกาศให้มีการเลือกตั้งใหม่อีกครั้งในเดือนตุลาคมปีเดียวกัน แต่ยังไม่ทันได้เลือกตั้ง ก็เกิดรัฐประหารโดย  พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ในปี 2549 เสียก่อน 

คปค.ฉีกรัฐธรรมนูญปี 2540 และประกาศรัฐธณรมนูญฉบับชั่วคราว 2549 ขึ้น ทำให้คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญต้องสิ้นสุดและสั่งให้ตั้งคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดใหม่ขึ้น 9 คน  ประกอบด้วย ประธานศาลฎีกา เป็นประธาน, ประธานศาลปกครองสูงสุด เป็นรองประธาน, ผู้พิพากษาในศาลฎีกา พร้อมกันนั้นยังได้ออกประกาศ คปค. ฉบับที่ 27 ที่บัญญัติว่า ภายหลังคำสั่งยุบพรรคการเมือง จะต้องมีบทลงโทษต่อกรรมการบริหารพรรคด้วย โดยเพิกถอนสิทธิ์ทางการเมือง 5 ปี 

ประกาศนี้ถูกนำมาใช้ประกอบคำวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ยุบพรรคไทยรักไทย

การนำประกาศ คปค. ฉบับที่ 27 มาบังคับใช้ในการยุบพรรค ทำให้เกิดข้อโต้แย้งขึ้นมากมาย ว่าเป็นการบัญญัติที่ตัดทอนสิทธิทางการเมืองและเสรีภาพบุคคลเกินเหตุอันควร ขุัดกับหลักประชาธิปตไยและหลักประกันสิทธิและเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญได้ให้การรับรองไว้ และเป็นอุปสรรคต่อการสสร้างสถาบันพรรคการเมือง 

3
สมัคร หลุดเก้าอี้นายกฯ 

9 ก.ย.2551 คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยด้วยมติเอกฉันท์ว่า สมัคร สุนทรเวช ได้ทำหน้าที่พิธีกรในรายการ ‘ชิมไป บ่นไป’ หลังจากเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว อีกทั้งยังคงได้รับค่าตอบแทนที่มีลักษณะเป็นทรัพย์สินจากบริษัท เฟซ มีเดีย จำกัด จึงเป็นการรับจ้างทำงานตามความหมายของคำว่า ‘ลูกจ้าง’ ตามนัยแห่งมาตรา 267 ของรัฐธรรมนูญ อันส่งผลให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายสมัครสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามมาตรา 182 วรรคหนึ่ง (7) แห่งรัฐธรรมนูญ 2550

คดีนี้มีจุดเริ่มต้นจาก เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ขณะนั้นดำรงตำแหน่ง ส.ว.  (จากการสรรหา) รวบรายชื่อ ส.ว.ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิฉัยว่า ความเป็นนายกของสมัครสิ้นสุดลงตาม รัฐธรรมนูณ 2550 มาตรา 91 มาตรา 182  วรรคหนึ่ง  (7) และ วรรคสาม มาตรา 267 

เนื่องจากมาตรา 267 ห้ามนายกฯ มีตำแหน่งใดๆ ในห้างหุ้นส่วน บริษัท หรือองค์กรที่ดำเนินธุรกิจโดยมุ่งหาผลกำไร หรือรายได้มาแบ่งปันกัน หรือเป็น ‘ลูกจ้าง’ ของบุคคลใด

คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ กลายเป็นข้อถกเถียงในสังคม ทั้งในหมู่ประชาชนและแวดวงนักวิชาการและนักนิติศาสตร์จำนวนมากว่า  การที่ศาลตีความคำว่า การเป็นพิธีกรของสมัครเป็น ‘ลูกจ้าง’ ซึ่งต้องห้ามตามมาตรา 267 ถือเป็นการตีความที่เกินขอบเขตของกฎหมาย พยายามตีความอย่างกว้างและไม่ได้มุ่งเน้นถึง เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ

การที่ศาลรัฐธรรมนูญนำเอาพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานมาใช้ในการตีความ ทำให้มีคำถามย้อนกลับมาว่า การตีความดังกล่าวจะถูกต้องตรงตามหลักการตีความกฎหมายหรือไม่ 

ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย วิเคราะห์คำวินิจฉัยของศาล ไว่ในบทความชื่อ ‘ผ่าคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ กรณีการจัดรายการทีวีของสมัคร สุนทรเวช’ ระบุว่าปัญหาหลักของคำวินิจฉัยคดีนี้มิได้เป็นเรื่องของการตีความเฉพาะแต่คำว่า ‘ลูกจ้าง" ที่กว้างเกินไป เพราะประเด็นดังกล่าวถือได้ว่าเป็นเพียงประเด็นปลีกย่อยเท่านั้น หากแต่ปัญหาหลักที่สะท้อนให้เห็นจากคำวินิจฉัยคดีนี้ กลับเป็นตรรกะของการตีความรัฐธรรมนูญตามหลักนิติวิธี (Juristic Method) โดยรวมและความเข้าใจอย่างถ่องแท้กับความหมายของคำว่า ‘การกระทำที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์’ ของศาลรัฐธรรมนูญที่ผิดพลาด ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์เป็นอย่างมาก จนนำไปสู่ผลของคำวินิจฉัยอันแปลกประหลาด

4
ยุบพรรคพลังประชาชน - ชาติไทย - มัชฌิมาธิปไตย

2 ธ.ค.2551 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติยุบ 3 พรรคการเมือง คือ พรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตย ด้วยข้อกล่าวหากระทำการที่เข้าข่ายทุจริตการเลือกตั้ง ซึ่งส่งผลให้คณะกรรมการบริหารพรรคทั้ง 3 พรรค จำนวน 109 คน ถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี

เหตุแห่งการยุบพรรคคือ ทุจริตการเลือกตั้งส.ส.ในปี 2550

แนวทางการตัดสินยุบพรรคไทยรักไทย กลายมาเป็นแนวทางในการร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 237 วรรค 2  โดยเฉพาะบทลงโทษตัดสิทธิ์ทางการเมือง 5 ปี ต่อกรรมการบริหารพรรค  

ก่อนถูกยุบพรรค สถานการณ์ทางการเมืองขณะนั้น ได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2550 แล้ว และมีกระแสข่าวออกมาเป็นระยะว่าอาจมียุบพรรคการเมือง โดยการร้องเรียนจาก ‘นักร้อง’ หลายครั้ง เช่น 

  1. ชนาพันธ์ ณ นคร ร้อง กกต. ให้ดำเนินคดีพรรคพลังประชาชน เนื่องจาก สมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคกับพวก ได้เผยแพร่ข้อมูลเอกสารที่อ้างว่าเป็นเอกสารลับของ คมช. 
  2. วีระ สมความคิด ร้องต่อ กกต. ว่ามีการแจกจ่ายวีซีดีทักษิณกล่าวชักชวนประชาชน ให้เลือกพรคพลังประชาชนในพื้นที่อีสานและเหนือ 
  3. กลุ่มสมัชชาคนจนภาคอีสาน 19 จังหวัด ร้อง กกต. และ อัยการสูงสุดให้ดำเนินการยุบพรรคพลังประชาชนฐานทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง 

ปี 2551 พรรคพลังประชาชนถูกกล่าวหาว่าเป็นนอมินีของพรรคไทยรักไทย โดย กกต.สรุปว่ามีหลักฐานเพียงพอที่จะชี้ว่า พรรคพลังประชาชน เข้าข่ายเป็นนอมินีพรรคไทยรักไทย แต่ไม่มีกฎหมายเอาผิด

ต่อมา จากผลการเลือกตั้งวันที่ 23 ธ.ค.2550 กกต.มีมติให้ใบแดง ยงยุทธ ติยะไพรัช ส.ส. บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคพลังประชาชน เนื่องจากพบได้ว่ามีการกระทำที่น่าเชื่อได้ว่าทุจริตการเลือกตั้ง โดยในวันที่ 8 ก.ค.2551 ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง วินิจฉัยเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งนายยงยุทธ 5 ปี พร้อมส่งอัยการสูงสุด เพื่อยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคพลังประชาชน 

วันที่ 2 ธ.ค.2551 ซึ่งเป็นช่วงที่พันธมิตรฯ ชุมนุมปิดทำเนียบรัฐบาลและยึดสนามบินประท้วงสิ่งที่พวกเขากล่าวหาว่า ‘รัฐบาลนอมินี’ อยู่นั้น ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคพลังประชาชน พร้อมตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคพลังประชาชน 37 คน เป็นเวลา 5 ปี ตามมาตรา 237 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 เช่นเดียวกับพรรคชาติไทยและพรรคมัชฌิมาธิปไตย ที่กรรมการบริหารพรรคกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งเช่นกัน 

คดีนี้ กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการเมืองไทย เพราะ ‘สมชาย วงศ์สวัสดิ์’ ในฐานะรองหัวหน้าพรรคพลังประชาชน ต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ขณะที่กลุ่มก๊วนของ ‘เนวิน ชิดชอบ’ ที่เคยอยู่ร่วมรัฐบาลด้วยกันได้หันไปสนับสนุนให้ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งมีจำนวน ส.ส. ในสภาเป็นอันดับรองลงมา ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 27 แทน

5
เลือกตั้งโมฆะ

21 มี.ค.2557 ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติ 6 ต่อ 3 ให้การเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ.2557  ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และเป็นโมฆะ เหตุเพราะการเลือกตั้งไม่ได้กระทำเป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร ไม่มีผู้สมัคร 28 เขต ทำให้การเลือกตั้งไม่เป็นธรรม และ กกต. ดำเนินการนับคะแนนเสียงเลือกตั้งขัดต่อหลักการลงคะแนนลับ 

คดีนี้ เริ่มต้นจากผู้ตรวจการแผ่นดินร้องขอให้พิจารณาวินิจฉัยตามมาตรา 245 (1) ว่าการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 2 ก.พ.2557 เป็นการเลือกตั้งที่มิชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่

ต้องเท้าความเหตุการณ์ในช่วงเลือกตั้งว่า รัฐบาลยิ่งลักษณ์ต้องเผชิญกับการชุมนุมประท้วงของกลุ่ม กปปส. หรือ ‘ม็อบนกหวีด’ นำโดย สุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาพรรคประชาธิปัตย์  ที่ออกมาคัดค้านการผลักดัน  ‘พ.ร.บ. นิรโทษกรรม’ หรือถูกเรียกว่า เหมาเข่ง, สุดซอย จนท้ายที่สุดต้องประกาศยุบสภาในวันที่ 9 ธ.ค.2556 และจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 2 ก.พ.2557 

แม้ยิ่งลักษณ์ยอมยุบสภาเลือกตั้งใหม่ แต่การชุมนุมของ กปปส. ก็ไม่ยุติลง กลับยิ่งยกระดับขึ้นเรื่อยๆ โดยมีเป้าหมายคือ  ‘ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง’ ตั้งสภาประชาชนขึ้นมาเพื่อปฏิรูปประเทศ วิธีการสำคัญที่ กปปส.ใช้คือ ‘ปิดล้อมหน่วยเลือกตั้ง’ เพื่อขัดขวางไม่ให้ประชาชนไปใช้สิทธิเลือกตั้งในหลายพื้นที่ จนเรียกได้ว่า ครั้งนั้นเป็นการจัดการเลือกตั้งที่ทุลักทุเลที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย 

15 ธ.ค. 2556  สุเทพ ประกาศเตือนยิ่งลักษณ์ว่า “ไม่มีทางได้เลือกตั้ง”

21 ธ.ค. 2556 อภิสิทธิ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ประกาศคว่ำบาตร งดส่งผู้สมัคร ส.ส.ทุกเขต

26 ม.ค.2557 (วันเลือกตั้งล่วงหน้า) กลุ่มผู้ชุมนุมที่ใช้นกหวีดเป็นสัญลักษณ์กระจายตัวปิดล้อมคูหาเลือกตั้งหลายแห่ง ทำให้ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งราว 440,000 คนไม่สามารถใช้สิทธิ์ลงคะแนนได้

28 ม.ค. 2557 สุเทพ สั่ง กปปส. ทุกจังหวัด เตรียมการล้มเลือกตั้ง 2 ก.พ.ขณะเดียวกัน กปปส. สงขลา ได้ปิดล้อมไปรษณีย์หาดใหญ่ ทำให้ไม่สามารถกระจายบัตรเลือกตั้งใน 5 จังหวัดภาคใต้ได้ 

1 ก.พ. 2557 (ก่อนการเลือกตั้ง 1 วัน) ระหว่างที่ผู้ชุมนุม กปปส. ปิดกั้นการส่งหีบเลือกตั้งจากสำนักงานเขตหลักสี่ มีกลุ่มผู้สนับสนุนรัฐบาลราว 200 คน มาชุมนุมเผชิญหน้าทำให้เกิดความตึงเครียดถึงขั้นใช้อาวุธปืนยิงโต้ตอบกันหลายนัด มีผู้ได้รับบาดเจ็บอย่างน้อย 6 คน เสียชีวิต 1 คน

21 มี.ค. 2557 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า การเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ‘ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ’ เหตุเพราะไม่สามารถจัดการเลือกตั้งพร้อมกันทั่วประเทศ ให้เสร็จสิ้นภายในวันเดียวได้  โดยมีมติ 6 ต่อ 3 ให้การเลือกตั้งเป็น ‘โมฆะ’

6
ยิ่งลักษณ์ หลุดเก้าอี้นายกฯ 

7 พ.ค. 2557 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พ้นจากตำแหน่งรักษาการนายกฯ เนื่องจากการโยกย้าย ถวิล เปลี่ยนศรี ออกจากตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ 

คดีนี้สืบเนื่องจาก ไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.ในขณะนั้น  ได้ร้องขอให้ศาลพิจารณาว่า สถานภาพความเป็นรัฐมนตรีของ ยิ่งลักษณ์ สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาตรา 182 (7) ประกอบมาตรา 268 หรือไม่ จากกรณีการโยกย้ายถวิล เปลี่ยนศรี 

ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 ว่า ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ใช้สถานะการเป็นนายกรัฐมนตรี เข้าไปก้าวก่าย แทรกแซง การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการเพื่อประโยชน์ของตัวเอง มีผลให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลง รวมถึงรัฐมนตรีในขณะนั้นจำนวน 9 คนที่ร่วมมีมติดังกล่าวก็ให้พ้นตำแหน่ง ถือว่ามีส่วนร่วมในการก้าวก่ายแทรกแซงการโยกย้ายข้าราชการด้วย

หลังยิ่งลักษณ์พ้นตำแหน่งนายกฯ และเกิดการรัฐประหาร 2557 เธอยังต้องเผชิญกับคดีความอีกเป็นจำนวนมาก อาทิ

27 ก.ย.2560  ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อ่านคำพิพากษาคดี ปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว มีคำพิพากษาจำคุก ยิ่งลักษณ์ เป็นเวลา 5 ปี โดยมีมติเป็นเอกฉันท์ไม่รอลงอาญา

ถูกร้องต่อ ปปช . 15 คดี ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของ ป.ป.ช. อีก 8 คดี ได้แก่ 

  • คดีระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ล็อต 2 ร่วมกับทักษิณ ชินวัตร และ เยาวภา วงสวัสดิ์ 
  • ถูกกล่าวหาละเว้นไม่ลงโทษผู้ใต้บังคับบัญชา กรณี รมว.มหาดไทย อดีตรมว.มหาดไทย กับพวกปราศรัยรุนแรง-แบ่งแยกประเทศ  
  • คดีปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ อนุญาตให้สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทยแพร่ภาพและเสียง รายการ ‘มวยไทยวอริเออร์ส’ ที่มาเก๊า  โดยมีเจตนาแพร่ภาพการกล่าวเปิดงานของทักษิณ ซึ่งมีเนื้อหาบางส่วนที่มีลักษณะที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ
  • ออกหนังสือเดินทางให้ “ทักษิณ” มิชอบ
  • คดีรํ่ารวยผิดปกติ กรณีครอบครองนาฬิกาเรือนละ 2.5 ล้านบาท  
  • คดีรํ่ารวยผิดปกติกรณีเกี่ยวข้องในโครงการรับจำนำข้าว   
  • คดีร่วมกับคณะรัฐมนตรีรวม 34 ราย ถูกกล่าวหาละเว้นการปฏิบัติไม่ให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502 ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต กรณีจ่ายเงินเยียวยาแก่ผู้ได้รับผลกระทบทางจากการชุมนุมทางการเมืองปี 2548-2553 โดยไม่มีอำนาจ
  •  ถูกกล่าวหาว่า กู้เงินบริหารจัดการนํ้า 3.5 แสนล้านบาท โดยกู้เงินหลังจากเมื่อพ้นกําหนดระยะเวลาตามที่กฎหมายกําหนด
7
ยุบพรรคไทยรักษาชาติ 

7 มี.ค.2562 คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเป็นเอกฉันท์ ให้ยุบพรรคไทยรักษาชาติ และตัดสิทธิ์ทางการเมืองคณะกรรมการบริหารพรรค 13 คน  เป็นเวลา 10 ปี โดยคำสั่งยุบพรรคนี้ ออกมาก่อนการเลือกตั้งเพียง 17 วันเท่านั้น  

เหตุการณ์อันนำมาสู่การตัดสินยุบพรรค มีจุดเริ่มต้นในวันที่ 8 ก.พ.2562 ปรีชาพล พงษ์พานิช หัวหน้าพรรคไทยรักษาชาติยื่นแจ้งชื่อ ‘ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯ มหิดล’ ต่อ กตต. เพื่อเสนอชื่อเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคไทยรักษาชาติ

ในวันเดียวกัน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ์ ได้มีพระราชโองการประกาศเรื่อง สถาบันพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  ใจความว่า

“การนำสมาชิกชั้นสูงในพระบรมราชวงศ์มาเกี่ยวข้องกับระบบการเมือง ไม่ว่าจะโดยทางใดก็ตาม จึงเป็นการกระทำที่ขัดต่อโบราณราชประเพณี ขนบธรรมเนียม และวัฒนธรรมของชาติ ถือเป็นการกระทำที่มิบังควรไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง” 

“พระราชินีพระรัชทายาท และพระบรมราชวงศ์ทุกพระองค์ จึงอยู่ในหลักการเกี่ยวกับการดำรงอยู่เหนือการเมืองและความเป็นกลางทางการเมืองของพระมหากษัตริย์ด้วย และไม่สามารถดำรงตำแหน่งใดๆ ในทางการเมืองได้ เพราะจะเป็นการขัดกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”

11 ก.พ.2562 รุ่งเรือง พิทยศิริ กรรมการบริหารพรรค ยื่นหนังสือลาออกกับ กกต.จากการเป็นกรรมการบริหารพรรคและสมาชิกพรรคไทยรักษาชาติ เพื่อยืนยันว่าตนเองไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเสนอพระนามทูลกระหม่อมหญิงฯ เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี 

12 ก.พ.2562 กกต.พิจารณากรณีพรรคไทยรักษาชาติเสนอ พระนามทูลกระหม่อมหญิงฯ เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี โดยเห็นว่า การกระทำนี้เป็นเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

13 ก.พ.2562 กกต. ยื่นยุบพรรคไทยรักษาชาติตามมาตรา 92 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 ตามมติในที่ประชุม กกต. 

8
ยุบพรรคอนาคตใหม่ 

21 ก.พ.2563 คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีมติให้ยุพรรคอนาคตใหม่ เนื่องจากเห็นว่าเป็นการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 72 ของพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง และมีมติให้สั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรค เป็นเวลา 10 ปี

คำตัดสินนี้ส่งผลให้ กรรมการบริหารพรรค 16 คนถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง โดยในจำนวนนี้ มีผู้ดำรงตำแหน่ง ส.ส.อยู่ จำนวน 11 คน 

ศาลรัฐธรรมนูญให้เหตุผลในการยุบพรรคอนาคตใหม่ว่า มาตรา 72 กฎหมายพรรคการเมืองกำหนดที่มาของรายได้ของพรรคการเมืองไว้อย่างชัดแจ้ง ดังนั้น หากพรรคการเมืองนำเงินส่วนใดที่ไม่ได้มีแหล่งที่มาและวิธีการตามที่กฎหมายระบุไว้ ย่อมถือว่าเป็นเงินที่ได้มาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

คดีนี้เริ่มต้นจาก ป.ป.ช. ได้เผยแพร่บัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ กรณีเข้ารับตำแหน่ง ส.ส.รวมคู่สมรสมีจำนวน 5,000 ล้านบาท ซึ่งมีการปล่อยกู้ยืมแก่พรรคอนาคตใหม่ จำนวน 191.2 ล้านบาทอยู่ด้วย แบ่งเป็น 2 สัญญาคือ สัญญาแรกจำนวน 161.2 ล้านบาท สัญญาที่ 2 จำนวน 30 ล้านบาท ธนาธรยืนยันว่า เงินกู้ไม่ใช่รายได้ และได้ชี้แจงต่อ กกต. แล้ว 

23 ก.ย. 2562 ศรีสุวรรณ ยื่น กกต.ให้ตรวจสอบสัญญาการกู้เงินระหว่างนายธนาธร กับพรรคอนาคตใหม่ว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

11 ธ.ค. 2562 กกต. มีมติยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณายุบพรรคอนาคตใหม่ เนื่องจากเห็นว่า การกู้ยืมเงินจากนายธนาธรของพรรคอนาคตใหม่ เป็นการกระทำฝ่าฝืน มาตรา 72 แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 


25 ธ.ค. 2562 ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องเพื่อพิจารณายุบพรรคอนาคตใหม่พร้อมให้พรรคอนาคตใหม่ชี้แจงข้อกล่าวหา


10 ม.ค. 2563 ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ เปิดเอกสารที่อ้างว่ามีการยกคำร้องในชั้นอนุกรรมการและชั้นสอบสวนของ กกต.ไปแล้ว


5 ก.พ. 2563 ศาลรัฐธรรมนูญนัดอ่านคำวินิจฉัยยุบหรือไม่ยุบพรรคอนาคตใหม่


18 ก.พ. 2563 ปิยบุตร แถลงปิดคดีเงินกู้นอกศาลฯ ยืนยันเงินกู้ไม่ใช่รายได้ แต่เป็นหนี้สินและโทษไม่ถึงยุบพรรค


21 ก.พ. 2563 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติยุบพรรคอนาคตใหม่ 


หลังคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ เกิดกระแสโต้แย้งและวิพากษ์วิจารณ์จำนวนมาก เช่น แถลงการณ์ของคณาจารย์ของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ได้ตั้งข้อสังเกตในคดีนี้ว่า 

  1. พรรคการเมืองไม่ใช่นิติบุคคลที่ใช้อำนาจมหาชน จึงสามารถกู้ยืมได้โดยไม่ต้องมีกฎหมายให้อำนาจ
  2. การคิดดอกเบี้ยและการกำหนดอัตราดอกเบี้ยเป็นเสรีภาพโดยแท้ของเจ้าหนี้และคู่สัญญา การที่เจ้าหนี้ตกลงไม่คิดดอกเบี้ยเลย หรือคิดดอกเบี้ยในอัตราต่ำ เป็นแต่เพียงการที่เจ้าหนี้ไม่ประสงค์จะเรียกค่าตอบแทนจากการให้กู้ยืม หรือค่าเสียโอกาสในการหาประโยชน์จากเงิน แต่ไม่ทำให้เจ้าหนี้สูญเสีย หรือเสียหายในทางทรัพย์สิน การไม่คิดดอกเบี้ยหรือคิดดอกเบี้ยในอัตราต่ำจึงไม่ใช่เรื่องผิดปกติทางการค้าแต่อย่างใด
  3. มาตรา 72 ไม่อาจนำมาใช้ตีความประกอบกับมาตรา 66 ของพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ได้ แม้ว่าบทบัญญัติทั้งสองมาตราจะอยู่ภายใต้หมวด 5 ว่าด้วยรายได้ของพรรคการเมืองก็ตาม เนื่องจากมาตรา 72 ได้กำหนดข้อห้ามไม่ให้พรรคการเมืองกระทำการไว้เป็นการชัดแจ้งแยกออกจากมาตราอื่นและเป็นมาตรการเฉพาะที่ห้ามพรรคการเมืองรับเงินรายได้ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
  4. การยุบพรรคการเมือง คือ การทำลายองค์กรที่เป็นผู้ทำหน้าที่ก่อตั้งเจตจำนงทางการเมืองและเป็นผู้แทนผลประโยชน์ของประชาชน ควรเกิดขึ้นได้เฉพาะกรณีที่ปรากฏหลักฐานอย่างชัดเจนโดยปราศจากข้อสงสัยว่า พรรคการเมืองได้กระทำการอันขัดต่อหลักการพื้นฐานของรัฐธรรมนูญและ มีความร้ายแรงถึงขนาดสมควรที่จะต้องถูกยุบพรรค กล่าวคือ ศาลรัฐธรรมนูญอาจยุบพรรคการเมืองได้เฉพาะกรณีที่พรรคการเมืองนั้นกระทำความผิดอย่างร้ายแรงจนถึงขนาดที่ไม่สามารถอ้างความคุ้มครองจากเรื่องเสรีภาพของพรรคการเมืองได้เท่านั้น 
9
ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ‘ปฏิรูป เท่ากับ ล้มล้าง’

10 พ.ย.2564 ศาลรัฐธรรมนูญวินิฉัยว่า การชุมนุมของแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม เมื่อ 10 ส.ค.2563 ซึ่งมีการประกาศข้อเรียกร้อง 10 ข้อเพื่อปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข 

โดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญระบุว่า การใช้สิทธิเสรีภาพของผู้ถูกร้อง 1 อานนท์ นำภา ผู้ถูกร้องที่ 2 ภาณุพงศ์ จาดนอก และผู้ถูกร้องที่ 3 ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ไม่เป็นไปตามหลักประชาธิปไตย เป็นการอ้างสิทธิเสรีภาพเพียงอย่างเดียว โดยไม่คำนึงหลักเสมอภาค และภราดรภาพ

ตุลาการระบุด้วยว่า การกระทำผู้ถูกร้องทั้ง 3 คน มีการตั้งเป็นกลุ่มเครือข่าย และยังมีส่วนในการจุดประกายให้เกิดความรุนแรงในบ้านเมือง ทำให้เกิดความแตกแยกในบ้างเมือง เป็นการทำลายหลักภราดรภาพ นำไปสู่การทำลายระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

คดีนี้สืบเนื่องมาจากเมื่อ 3 ก.ย. 2563  ณฐพร โตประยูร ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อขอให้ศาลสั่ง ‘เลิกการกระทำ’ เพราะเหตุที่มีการชุมนุมปราศรัยเรียกร้องในประเด็นเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยอ้างว่าคำปราศรัยในการชุมนุมช่วงปี 2563 ของนักกิจกรรมหลายคนเข้าข่ายล้มล้างการปกครองฯ ขัดกับรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 49 ที่เขียนไว้ว่า 

‘มาตรา 49 บุคคลจะใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมิได้ ผู้ใดทราบว่ามีการกระทําตามวรรคหนึ่ง ย่อมมีสิทธิร้องต่ออัยการสูงสุดเพื่อร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทําดังกล่าวได้ ในกรณีที่อัยการสูงสุดมีคําสั่งไม่รับดําเนินการตามที่ร้องขอ หรือไม่ดําเนินการภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับคําร้องขอ ผู้ร้องขอจะยื่นคําร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญก็ได้ การดําเนินการตามมาตรานี้ไม่กระทบต่อการดําเนินคดีอาญาต่อผู้กระทําการตามวรรคหนึ่ง’

ในคำร้องที่ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญระบุถึงคำปราศรัยในการชุมนุมจำนวน 6 ครั้ง ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ อ้างเป็นเหตุของการกระทำที่เข้าข่ายล้มล้างการปกครองฯ ดังนี้

  • 3 ส.ค. 2563  เวทีเสกคาถาปกป้องประชาธิปไตย อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย กทม. อ้างถึงคำปราศรัยของอานนท์ นำภา
  • 9 ส.ค. 2563  เวทีเชียงใหม่จะไม่ทน จ.เชียงใหม่ อ้างถึงคำปราศรัยของอานนท์ นำภา
  • 10 ส.ค. 2563 เวทีธรรมศาสตร์จะไม่ทน มธ. ศูนย์รังสิต อ้างถึงคำปราศรัยของอานนท์ นำภา, ภาณุพงศ์ จาดนอก, ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล
  • 20 ส.ค. 2563 เวทีขอนแก่นพอกันที่ อ้างถึงคำปราศรัยของพริษฐ์ ชิวารักษ์
  • 21 ส.ค. 2563  เวทีอยุธยาไม่สิ้นประชาธิปไตย จ.พระนครศรีอยุธยา อ้างถึงคำปราศรัยของพริษฐ์ ชิวารักษ์
  • 30 ส.ค. 2563 - เวที "สมุทรปรากาธ์ดีดนิ้วไล่เผด็จการ" จ.สมุทรปราการ อ้างถึงคำปราศรัยของพริษฐ์ ชิวารักษ์, จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์, สิริพัชระ จึงธีรพานิช, สมยศ พฤกษาเกษมสุข และอาทิตยา พรพรม

ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งรับคำร้องไว้พิจารณา เมื่อวันที่ 16 ก.ย.2563 โดยรับไว้เฉพาะกรณีการชุมนุมเมื่อวันที่ 10 ส.ค.2563 ที่งานชุมนุม ‘ธรรมศาสตร์จะไม่ทน’ เท่านั้น

ศาลได้มีคำวินัจฉัยในวันที่ 10 พ.ย.63 ว่า การชุมนุมของแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ เมื่อ 10 ส.ค. 2563 เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข คำวินิจฉัยดังกล่าวได้จุดให้ความขัดแย้งทางการเมืองต้องเดือดปะทุขึ้นอีกครั้ง ก่อให้เกิดการถกเถียงทั้งต่อการปฏิบัติหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญและตำแหน่งแห่งที่ของสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างกว้างขวาง

10
1,218 คดี การแสดงออกและการชุมนุม

เหตุการณ์ยุบพรรคอนาคตใหม่ในเดือน ก.พ.2563  กลายเป็นชนวนหนึ่งที่ทำให้คนรุ่นใหม่ออกมาแสดงชุมนุมทางการเมืองเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย การแก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมไปถึงการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ อย่างต่อเนื่อง 

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้รวบรวมสถิติเยาวชนที่ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกและการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ปี 18 ก.ค.2563 จนถึงวันที่ 31 พ.ค.2566  พบว่า  มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมและการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ไปแล้วอย่างน้อย 1,914 คน จาก 1,218 คดี 

  • ในจำนวนนี้เป็นเด็กและเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 286 ราย ใน 215 คดี โดยแยกเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จำนวน 43 คน และเยาวชนอายุระหว่าง 15-18 ปี จำนวน 243 คน
  • ข้อหา ‘หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ’ ตามประมวลกฎหมายอาญา ม.112 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 250 คน ใน 269 คดี
  • ข้อหา ‘ยุยงปลุกปั่น’ ตามประมวลกฎหมายอาญา ม.116 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 130 คน ใน 41 คดี
  • ข้อหา ‘ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ’ มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 1,469 คน ใน 663 คดี 
  • ข้อหาตาม ‘พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ’ อย่างน้อย 147 คน ใน 80 คดี
  • ข้อหาตาม ‘พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ’ อย่างน้อย 176 คน ใน 194 คดี
  • ข้อหา ‘ละเมิดอำนาจศาล’ อย่างน้อย 36 คน ใน 20 คดี และคดีดูหมิ่นศาล อย่างน้อย 34 คน ใน 10 คดี

จากจำนวนคดี 1,218 คดีดังกล่าว มีจำนวน 359 คดี ที่สิ้นสุดไปแล้ว เท่ากับยังมีคดีอีกกว่า 859 คดี ที่ยังดำเนินอยู่ในกระบวนการชั้นต่างๆ

ด้านแอมแนสตี้ เปิดสถิติเยาวชนที่ถูกคคดีจากการแสดงออกและการชุมนุมปี 2563-2564 มีอย่างย้อบ 33 คน ใน 34 คดี ดังนี้ 

  • เด็ก 6 คนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ในจำนวน 5 คดี โดยมี 3 รายที่ถูกแจ้งความจากประชาชนทั่วไป และอีก 2 รายถูกเจ้าหน้าที่แจ้งความในข้อหาเผาพระบรมฉายาลักษณ์ของพระมหากษัตริย์ 
  • เด็ก 1 คนถูกตั้งข้อหา ยุยงปลุกปั่น (ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116) 
  • เด็ก 25 คนถูกตั้งข้อฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินและ พ.ร.ก.โรคติดต่อ 
  • เด็ก 3 คนถูกตั้งข้อหาฐาน อั้งยี่,ซ่องโจร (ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 209และมาตรา 210)

การเคลื่อนไหวทางการเมืองของเยาวชนและประชาชน อาทิเช่น 

23-25 ก.พ. 2563 เกิดแฟลชม็อบของกลุ่มนักศึกษาและคนรุ่นใหม่ในหลายพื้นที่ เช่น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฯลฯ

18 ก.ค. 2563 กลุ่ม ‘เยาวชนปลดแอก’ นัดชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ยื่น 3 ข้อเรียกร้อง คือ หยุดคุกคามประชาชน ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และยุบสภา หลังจากสมาชิกกลุ่ม ‘เยาวชนตะวันออกเพื่อประชาธิปไตย’ ถูกจับกุมขณะถือป้ายประท้วง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ จ.ระยอง

3 ส.ค. 2563 กลุ่ม ‘มหานครเพื่อประชาธิปไตย’ และ ‘มอกะเสด’ จัดชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในธีม ‘แฮร์รี พอตเตอร์ ไม้เท้าเสกคาถา ปกป้องประชาธิปไตย’ อานนท์ นำภา ขึ้นปราศรัยในประเด็นการขยายพระราชอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์และการปฏิรูปสถาบันฯ เป็นครั้งแรก

10 ส.ค. 2563 ‘แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม’ จัดการชุมนุมโดยใช้ชื่อกิจกรรมธรรมศาสตร์จะไม่ทน ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต ตำรวจคาดว่ามีผู้ร่วมชุมนุมราว 2,500 คน ไฮไลท์ของการปราศรัยในครั้งนี้คือ การอ่านข้อเรียกร้อง 10 ประการเกี่ยวกับการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

16 ส.ค. 2563  ‘คณะประชาชนปลดแอก’ จัดการชุมนุมครั้งใหญ่ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยมีผู้ร่วมชุมนุมหลายหมื่นคน ถือว่ามากที่สุดในรอบ 6 ปี นับตั้งแต่การรัฐประหาร คสช. โดยแกนนำย้ำ 3 ข้อเรียกร้อง 2 หลักการ และ 1 ความฝัน

17-18 ส.ค. 2563 เกิดปรากฏการณ์นักเรียนมัธยม ‘ชูสามนิ้ว’ และติดโบว์ขาวต้านเผด็จการในอย่างน้อย 16 จังหวัด

26 ส.ค. 2563 ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล แกนนำกลุ่มธรรมศาสตร์และการชุมนุม เดินทางเข้ายื่นหนังสือข้อเรียกร้อง 10 ข้อเกี่ยวกับการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ จากการชุมนุมเมื่อวันที่ 10 ส.ค. ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ต่อนายปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร

19 ก.ย. 2563 ‘แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม’ จัดกิจกรรม 19 กันยา ทวงอำนาจคืนราษฎร ที่สนามหลวง เป็นครั้งแรกที่ปักหลักค้างคืน เช้า 20 ก.ย. ผู้ชุมนุมร่วมทำพิธี ‘ฝังหมุดคณะราษฎร 2563’ และเคลื่อนขบวนไปยื่นจดหมายถึงองคมนตรีเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ แต่ถูกตำรวจสกัดไว้ จึงยื่นผ่าน ผบช.น. แทน

2 ต.ค. 2563 นักเรียนมัธยมนำโดยกลุ่ม ‘นักเรียนเลว’ ชุมนุมที่หน้ากระทรวงศึกษาธิการ ทวงถามความคืบหน้าในการดำเนินการตาม 3 ข้อเรียกร้อง ได้แก่ หยุดคุกคามนักเรียน, ยกเลิกกฎระเบียบล้าหลัง และปฏิรูปการศึกษา

การเคลื่อนไหวที่นำโดยนักศึกษาและเยาวชนในครั้งนี้ นำไปสู่ปรากฏการณ์ ‘ทะลุเพดาน’ นั่นคือข้อเรียกร้องเรื่องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ และการพูดถึงสถาบันฯ อย่างเปิดเผยในที่สาธารณะ นี่คือสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนและมีผลต่อการขยับมาตรฐานเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นมาจนถึงปัจจุบัน


อ้างอิง