ท่ามกลางปัญหาการส่งออกผลไม้ไทยที่ตกต่ำลงมาตั้งแต่ช่วงมีสงครามการค้าไล่มาจนถึงวิกฤตโรคระบาดอย่างโควิด-19 ทุเรียนสดรวมไปถึงทุเรียนแช่เแข็งกลับยังมีตัวเลขและแนวโน้มการส่งออกที่ดีมาตลอด
ข้อมูลจากศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์และกรมศุลกากร ชี้ว่า ตัวเลขมูลค่าการส่งออกทุเรียนสดและทุเรียนแช่แข็งในไตรมาสแรกของปีนี้อยู่ที่ 7,776.1 และ 716.4 ล้านบาท ตามลำดับ ซึ่งคิดเป็นการปรับตัวสูงขึ้นถึงร้อยละ 25.85 และร้อยละ 25.08 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า
อย่างไรก็ตามในการสัมภาษณ์พิเศษกับ 'เอกรินทร์ โภควัชร์โยธิน' เจ้าของแบรนด์แปรรูปทุเรียน ชี้ปัญหาสำคัญในวงการเพาะปลูกผลไม้ยอดฮิตชนิดนี้ว่า "ในอนาคตอันใกล้นี้มีความเป็นไปได้สูงที่ผลผลิตทุเรียนในไทยและประเทศในอาเซียนจะล้นตลาด" เนื่องจากพอทุกคนเห็นว่าทุเรียนขายได้ดีกว่าผลไม้อื่นๆ ก็พากันโค่นสวนผลไม้เดิมมาปลูกทุเรียนแทน ประกอบกับการการกว้านซื้อที่ในประเทศในอาเซียนเพื่อปลูกทุเรียนส่งไปขายประเทศจีนของนายทุนชาวจีนเอง โดยเฉพาะในฝั่ง เมียนมา, กัมพูชา และลาว
อีกปัญหาสำคัญที่นายทุนจากจีนอาจจะสร้างปัญหาไม่ได้มีแค่การกว้านซื้อที่ในต่างประเทศจำนวนมากเพื่อปลูกแข่งกับชาวสวนไทย แต่ในบทความ 'ทุเรียนกับความท้าทายที่ไม่ควรมองข้าม' ของ 'ศิรดา ศิริเบญจพฤกษ์' ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ชี้ว่า 'ล้ง' หรือนิติบุคคลผู้ประกอบการธุรกิจโรงคัดบรรจุเพื่อรวบรวมผลผลิตทางการเกษตรเพื่อส่งออกไปยังต่างประเทศโดยเฉพาะล้งชาวจีนที่แม้จะมีส่วนช่วยในการลดต้นทุนให้เกษตรกรบ้างแต่ก็เป็นดาบสองคมต่ออุตสาหกรรมทุเรียนไทย
บทความดังกล่าวสะท้อนว่า ล้งจีนซึ่งเปรียบเสมือนพ่อค้าคนกลางอาจกำหนดราคารับซื้อที่ไม่เป็นธรรมกับเกษตรกรเนื่องจากมีอำนาจอยู่ในมือมากเพราะชาวสวนไทยก็มักพึ่งพาการส่งออกไปจีนซึ่งต้องอาศัยล้งจีนเป็นหลัก โดยไม่ได้มองหาตลาดรองรับอื่นๆ
อีกทั้งล้งจีนเหล่านี้ยังอาศัยความได้เปรียบดังกล่าวในการแย่งส่วนแบ่งทางธุรกิจของไทยได้เช่นเดียวกัน เนื่องจากล้งจีนในไทยนั้นดำเนินการครบวงจรตั้งแต่การเก็บเกี่ยวผลผลิตจนกระทั่งส่งออก ทั้งยังมีแนวโน้มได้เปรียบด้านกฎระเบียบในการนำเข้าสินค้าไปในตลาดประเทศจีนมากกว่าล้งของไทย
ในสายตาของเจ้าของแบรนด์แปรรูปทุเรียนและผู้ที่มีประสบการณ์การขายทุเรียนสดมาก่อน 'เอกรินทร์' สะท้อนว่า แท้จริงแล้วฐานผู้บริโภคในประเทศไทยจะอยู่ในวัยผู้ใหญ่ขึ้นไป เนื่องจากราคาทุเรียนที่เพิ่มสูงขึ้นตลอดหลายปีที่ผ่านมานี้ ทำให้การซื้อผลไม้ไปเยี่ยมเพื่อนหรือซื้อเป็นของฝากเป็นเรื่องที่คนไม่นิยมทำกันอีกต่อไป และหากปล่อยไปโดยไม่มีการแก้ไข สุดท้ายจำนวนคนกินทุเรียนในประเทศก็จะน้อยลงไปเรื่อยๆ ขณะที่จะหวังส่งออกแบบเดิมก็ไม่ได้แล้ว เพราะประเทศเพื่อนบ้านปลูกทุเรียนขึ้นมาแข่งจำนวนมาก
การเปิดตลาดทุเรียนไปยังกลุ่มคนรุ่นใหม่จึงดูจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด แต่ก็ยังติดปัญหาที่ราคาทุเรียนสดซึ่งยังแพงอยู่ ประกอบกับเอกลักษณ์เฉพาะตัวในเรื่องกลิ่นก็อาจจะทำให้เด็กหลายๆ คนไม่กล้าลิ้มลอง 'ราชาผลไม้'
สิ่งที่ 'เอกรินทร์' พยายามปลุกปั้นมาตลอด 2 ปีที่ผ่านมาคือการสร้างแบรนด์ทุเรียนแปรรูป 'STINKO' ให้กลายเป็นขนมที่สามารถเจาะกลุ่มตลาดวัยเด็กได้ค่อนข้างดี เขาชี้ว่าเมื่อเด็กมีประสบการณ์และเคยลองชิมกับทุเรียนที่เป็นขนมซึ่งทั้งทานได้ง่ายกว่า และมีราคาที่ถูกกว่า ก็จะเป็นเรื่องง่ายขึ้นที่จะให้เด็กๆ เหล่านี้จะเกิดความสนใจและเข้าไปลองกินทุเรียนสดด้วยตัวเอง
หนึ่งในวิธีสำคัญที่บริษัทเลือกใช้ในการสร้างความแตกต่างและสร้างความสนใจคือการสร้างตัวการ์ตูนทุเรียนขึ้นมา โดย 'เอกรินทร์' ย้ำว่า การเชื่อมโยงดังกล่าวจะเริ่มทำให้เด็กเกิดความสนใจในตัวการ์ตูน จากนั้นก็จะโยงมาที่ผลิตภัณฑ์ และไปยังทุเรียนสดในที่สุด
เจ้าของแบรนด์ STINKO อธิบายง่ายๆ ว่า"วิธีรองรับสถานการณ์คือไปเอาเด็กมากินทุเรียน เราไม่ชวนด้วยโภชนาการ แต่เอาการ์ตูนมาให้เด็กสนใจ เริ่มจากเป็นขนม มันมีโอกาสที่เด็กจะเข้ามาชิมมากกว่า แล้วจากขนมก็จะเปลี่ยนไปเป็นทุเรียนสดได้"
'เอกรินทร์' ปิดท้ายว่า เพราะปัจจุบันภาครัฐไม่ได้เข้ามาดูแลเกษตรกรในมิติดังกล่าวมากเท่าที่ควร ยังไม่นับเรื่องการที่นายทุนจีนลอบเข้ามาทำธุรกิจอย่างไม่ตรงไปตรงมาผ่าน 'นอมินี' ตนในฐานะที่เคยเป็นชาวสวนทุเรียนมาก่อน จึงต้องออกมาช่วยหาหนทางแก้ปัญหาตั้งแต่ก่อนที่ปัญหาจะเกิดจริงๆ