ไม่พบผลการค้นหา
‘ปดิพัทธ์’ เปิดใจหลังถูกขับพ้น ‘ก้าวไกล’ น้อมรับมติพรรคเป็นฝ่ายค้านโดยสมบูรณ์ ลั่นเดินหน้ายกระดับการทำงานสภาฯ ไม่ว่าอยู่พรรคการเมืองไหน

วันที่ 29 ก.ย. ที่อาคารรัฐสภา ปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 แถลงข่าวภายหลังพรรคก้าวไกล มีมติขับออกจากสมาชิกพรรคก้าวไกลว่า นับตั้งแต่ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล ตัดสินใจลาออกจากการเป็นหัวหน้าพรรค เพื่อเปิดทางให้ที่ประชุมใหญ่พรรคก้าวไกลมีมติเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ที่สามารถปฏิบัติหน้าที่ในฐานะสส. และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรได้ ตนเข้าใจดีว่า ตามรัฐธรรมนูญ ตนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่เป็นรองประธานสภาฯ ต่อในฐานะ สส. จากพรรคก้าวไกลได้

แม้ทางเลือกหนึ่งคือการลาออกจากการเป็นรองประธานสภาฯ เพื่อกลับไปปฏิบัติหน้าที่ในฐานะ สส. คนหนึ่งของพรรคก้าวไกล แต่หลังจากพิจารณาไตร่ตองอย่างถี่ถ้วนถึงผลกระทบของการตัดสินใจต่อการขับเคลื่อนวาระการเปลี่ยนแปลงที่ได้ให้คำมั่นสัญญากับประชาชนในวันที่เข้ามารับตำแหน่งรองประธานสภาฯ ตนจึงได้ตัดสินใจแจ้งกับคณะกรรมการบริหารพรรคก้าวไกลชุดใหม่ว่า ประสงค์จะทำหน้าที่ต่อในฐานะรองประธานสภาฯ ซึ่งจะทำให้ตนไม่สามารถเป็นสมาชิกของพรรคก้าวไกลได้อีกต่อไป

สำหรับเหตุผลประกอบการตัดสินใจ 3 ส่วน ปดิพัทธ์ กล่าวว่า ต้องการใช้วาระที่เหลือของสภาฯ ในการขับเคลื่อนนโยบายเพื่อยกระดับการทำงานของสภาผู้แทนราษฎร ให้มีความโปร่งใส มีประสิทธิภาพสูง และเป็นของประชาชน

โดยจะขับเคลื่อนให้สภาฯ มีการจัดเก็บ และเปิดเผยข้อมูลตามมาตรฐานสากล ซึ่งรวมถึงการเผยแพร่ข้อมูลที่เกี่ยวกับการทำงานของสภาฯ ในรูปแบบที่วิเคราะห์ต่อได้ เช่น สถานะร่างกฎหมาย ผลการลงมติ รายงานการประชุม ชวเลขการถาม-ตอบกระทู้สด งบประมาณสภาฯ การกำหนดให้มีการถ่ายทอดสดการประชุมคณะกรรมาธิการ การยกระดับระบบสืบค้นข้อมูลของเว็บไซต์สภาฯ การพัฒนาระบบตรวจจับใบหน้า (face detection) เพื่อป้องกันการเสียบบัตรแทนกัน

อีกทั้งทำให้สภาฯ มีประสิทธิภาพสูง โดยจะขับเคลื่อนให้สภาฯ นำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้ในการทำงาน ผ่านการออกนโยบาย Cloud First Policy ที่จะนำไปสู่การประหยัดต้นทุนด้านธุรการและความปลอดภัยในการเก็บเอกสาร รวมถึงการขับเคลื่อนให้สภาคำนึงถึงความยั่งยืนในการบริหารจัดการ ผ่านการส่งเสริมการผลิตและใช้พลังงานสะอาดในอาคารรัฐสภา และการอำนวยความสะดวกให้เจ้าหน้าที่และผู้ใช้บริการในการใช้ยานพาหนะไฟฟ้า

สำหรับสภาฯ ของประชาชนจะขับเคลื่อนให้สภาฯ ยึดโยงกับประชาชน และฟื้นฟูความเชื่อมั่นของประชาชนต่อการเมืองในระบบรัฐสภา ผ่านการเพิ่มการมีส่วนร่วมของเยาวชน การเปิดใช้พื้นที่รองรับกิจกรรมและการแสดงออกทางการเมืองของประชาชน การจัดสภาสัญจรเพื่อนำพากลไกสภาไปใกล้ชิดประชาชนทุกพื้นที่ และการตรวจรับสภาให้ไม่มีการทุจริตและการใช้งบประมาณจากภาษีของประชาชนเพื่อประโยชน์ของคนบางกลุ่ม

ปดิพัทธ์ กล่าวอีกว่า ต้องปฏิบัติหน้าที่รองประธานสภาฯ อย่างเป็นกลางต่อทุกพรรคการเมืองในสภาฯ และต่อประชาชนทุกชุดความคิด ไม่ว่าตนจะสังกัดพรรคใด ดังนั้น การที่ต้องเปลี่ยนพรรคต้นสังกัด จะไม่กระทบต่อการทำหน้าที่ และแผนงานของตนในฐานะรองประธานสภาฯ 

“ผมมั่นใจว่า พรรคก้าวไกลจะสามารถดูแลความทุกข์ร้อนของพี่น้องประชาชนชาวพิษณุโลกได้อย่างครบถ้วน ที่ผ่านมา การทำหน้าที่รองประธานสภาฯ ของผม ทำให้ผมจำเป็นต้องพัฒนาทีมงานพรรคก้าวไกลในจังหวัดพิษณุโลก โดยเฉพาะพื้นที่เขต 1 เพื่อเป็นผู้รับผิดชอบหลักในการประสานการแก้ไขปัญหาในพื้นที่” ปดิพัทธ์ กล่าว 

ปดิพัทธ์ ระบุอีกว่า ตนมั่นใจว่า ทีมงานของพรรคก้าวไกลในจังหวัดพิษณุโลก จะมีศักยภาพเต็มที่ในการทำงานดูแลพี่น้องประชาชนชาวพิษณุโลกเขต 1 ร่วมกับผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกล จังหวัดพิษณุโลกเขต 5 (ศุภปกรณ์ กิตยาธิคุณ) ขณะที่ตนก็ยังคงทำหน้าที่ผู้แทนราษฎรจังหวัดพิษณุโลก เขต 1 ควบคู่ไปกับบทบาทรองประธานสภาฯ ให้ดีที่สุด

ปดิพัทธ์ ทิ้งท้ายว่า ขอน้อมรับมติของพรรคก้าวไกลที่ต้องการทำหน้าที่ “ฝ่ายค้านโดยสมบูรณ์” และตัดสินใจให้สมาชิกภาพของตนในฐานะสมาชิกพรรคก้าวไกลยุติลง จากนี้เป็นต้นไป ไม่ว่าจะไปสังกัดพรรคการเมืองใด ผมจะผลักดันการยกระดับการทำงานของสภาฯ อย่างเต็มที่ตามที่ได้ให้คำมั่นสัญญาไว้ ในฐานะรองประธานสภาฯ ที่เป็นกลางต่อทุกพรรค และรองประธานสภาของพี่น้องประชาชนทุกคน


ปัดเป็นนอมินี ‘ก้าวไกล’ หากย้ายพรรค

ปดิพัทธ์ ให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชนภายหลังแถลงเปิดเหตุผลเบื้องหลังการรักษาเก้าอี้รองประธานสภาฯ ซึ่งทำให้พรรคก้าวไกลมีมติขับออกจากพรรคว่า การตัดสินใจของพรรคก้าวไกลไม่ได้เป็นการตัดสินใจระยะสั้น มีการพูดคุยถึงทางเลือกต่างๆ ร่วมกัน ซึ่งการพูดคุยนั้นได้สิ้นสุดลงแล้ว และได้มอบฉันทามติว่า จะน้อมรับมติของพรรค 

ปดิพัทธ์ กล่าวว่า หลังจากนี้จะเป็นการตัดสินใจของตัวเองว่า จะไปอยู่พรรคไหน และแน่นอนว่า ต้องเป็นพรรคการเมืองที่สอดคล้องกับอุดมการณ์ของตัวเอง ไม่สามารถข้ามขั้ว หรือขัดแย้งต่ออุดมการณ์ได้ พร้อมยอมรับว่า ยังรู้สึกว่าตัวเองเป็นสมาชิกพรรคก้าวไกลอยู่ เนื่องจากความรู้สึกห้ามกันไม่ได้ แต่โดยพฤตินัยไม่ได้เกี่ยวกับพรรคก้าวไกล ตั้งแต่รับหน้าที่รองประธานสภาฯ แล้ว ดังนั้น ความรู้สึกถูกเตรียมการไว้แล้ว

ส่วนจะกลับมาพรรคก้าวไกลหรือไม่ หากมีการยุบสภาฯ เกิดขึ้น ปดิพัทธ์ กล่าวว่า ขอให้ถึงเวลาก่อน ยังคิดว่าอีกนาน ตอนนี้ตัดสินใจให้ดีที่สุดก่อน

แม้ว่าในสังคมออนไลน์จะมีการเปรียบเทียบว่า สส. พรรคก้าวไกลไปร่วมกิจกรรมพรรคอื่น ซึ่งถูกเรียกว่า ‘งูเห่า’ แต่ไม่ถูกขับออก ถือเป็นสองมาตรฐานหรือไม่ ปดิพัทธ์ กล่าวว่า ให้เป็นเรื่องของสมาชิก และผู้สนับสนุนพรรคก้าวไกลตัดสิน เพราะไม่สามารถตัดสิน และวิจารณ์เรื่องในอดีตได้ ส่วนที่มีการมองว่าเป็นการสมคบคิดกันใช่หรือไม่นั้นก็ป็นสิทธิ์ที่จะวิจารณ์ 

ปดิพัทธ์ ย้ำอีกว่า การที่พรรคก้าวไกลมีมติขับออกจากพรรคในครั้งนี้ คิดว่าพรรคก้าวไกลตัดสินใจอย่างยากลำบาก และรอบคอบ จึงไม่คิดว่าเป็นการสมคบคิดเรื่องผลประโยชน์กับใคร แต่ด้วยข้อจำกัดของรัฐธรรมนูญ เราจำเป็นต้องหาทางที่ดีที่สุดให้เกิดขึ้น และถ้าตนยังตัดสินใจจะยืนยันมติแบบนี้ ทางพรรคก้าวไกลก็ไม่มีโอกาสเลือกทางอื่น

ส่วนที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าการตัดสินใจครั้งนี้ถือเป็นการกระทำที่ไม่ตรงไปตรงมาตามบรรทัดฐานการเมืองที่พรรคก้าวไกลตั้งไว้ ปดิพัทธ์ ยังยืนยันว่า เป็นสิทธิ์ที่จะวิจารณ์ และยืนยันซ้ำว่า ตอนนี้ ไม่มีการคุยอย่างเป็นทางการกับพรรคอื่น เพราะมีเวลา 30 วัน เพิ่งจะวันที่ 1 ตอนนี้สิ่งที่ต้องการคือการกลับไป จ.พิษณุโลก เพื่อไปหาครอบครัว และค่อยๆ ทำความเข้าใจกันกับคนพิษณุโลก

ซึ่งการกระทำ และการตัดสินใจทั้งหมดนี้ ปดิพัทธ์ กล่าวว่า สามารถชี้แจงได้ ไม่มีเงื่อนงำ และทุกอย่างพูดตรงไปตรงมาว่า พรรคก้าวไกล และตัวเองทำด้วยเหตุผลอะไรบ้าง ผลงานที่ผ่านมา และอนาคตจะเป็นบทพิสูจน์ว่า ได้ทำตามที่ให้สัญญาไว้กับประชาชนหรือไม่ แม้ว่าจะมีการมองว่า เป็นการเมืองเก่า แต่ในประเด็นนี้ต้องไปถามพรรคก้าวไกล เพราะไม่สามารถตอบแทนพรรคได้ และเชื่อว่า การตัดสินใจทุกอย่างต่อสาธารณะทุกท่านสามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้

อย่างไรก็ตาม การที่เป็นรองประธานสภาฯ ในสัดส่วนของพรรคฝ่ายค้านอาจจะทำให้ไม่ได้รับการเคารพจาก สส. ในที่ประชุมสภาฯ ปดิพัทธ์ กล่าวว่า การที่พรรคที่ชนะอันดับ 1 ไม่ได้เป็นฝ่ายบริหาร และประธานสภาฯ มันก็ส่อเค้าถึงความไม่ปกติของสังคม จึงไม่คิดว่าจะมีปัญหาอะไรเกิดขึ้น เชื่อว่า สส. ทุกคนเป็นมืออาชีพ และมีวุฒิภาวะ เพราะฉะนั้น สิ่งไหนที่เป็นตามหลักการ และระเบียบข้อบังคับ ทุกคนก็ต้องปฏิบัติตาม คงไม่กังวลถึงเกมการเมือง และความกดดันจาก สส. ฝ่ายรัฐบาลแต่อย่างใด มีแต่กำลังใจให้ทำหน้าที่ให้ดี

ทั้งนี้ หากย้ายไปสังกัดพรรคอื่นจะถูกมองว่าเป็นรองประธานสภาฯ ที่เป็นนอมินีของพรรคก้าวไกล เหมือนกรณีที่ วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาฯ จากพรรคประชาชาติเคยถูกมองว่าเป็นนอมินีของพรรคเพื่อไทย ปดิพัทธ์ กล่าวว่า ไม่เป็นธรรมกับพรรคอื่น เพราะแต่ละพรรคมีนโยบาย ศักดิ์ศรี และมีผู้นำของตนเอง การที่จะไปเป็นสมาชิกของพรรคไหนก็ต้องให้เกียรติพรรคนั้นด้วย ไม่มีเรื่องของการเป็นนอมินี

ปดิพัทธ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า พรรคที่จะไปสังกัดต้องเป็นพรรคที่มีอุดมการณ์ทางการเมือง อุดมการณ์ประชาธิปไตยสอดคล้องกับอุดมการณ์ของตน เพราะตนอยากเห็นการเมืองที่ดี ตรงไปตรงมา สร้างสรรค์ สนับสนุนอำนาจประชาธิปไตยที่เป็นของประชาชน ส่วน ทีมงานพรรคก้าวไกลพิษณุโลกจะตามไปด้วยหรือไม่ คงต้องดูข้อกฎหมาย