พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือสมช. มองว่าในมิติความมั่นคง มีกฎหมายหลายฉบับจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไข เพื่อให้สอดคล้องกับการสร้างบรรยากาศประชาธิปไตย และเป็นที่ยอมรับของสากลประเทศ เช่น พระราชบัญญัติรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ซึ่งเป็นเครื่องมือที่สืบเนื่องจากการรัฐประหาร เพราะนับแต่การยึดอำนาจการรักษาความมั่นคงภายในฯ มีทหารเข้ามาเกี่ยวข้องดูแลงานส่วนดังกล่าว พร้อมออกประกาศคำสั่งเพื่อให้ทหาร เข้ามาบริหารจัดการ จึงมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไข คำสั่งคสช.ถูกแปลงรูปแบบเข้าไปซ่อนอยู่ในพระราชบัญญัติความมั่นคง ภายในฯ โดยไปแก้ไขให้คณะกรรมการจังหวัด มีอำนาจในการออกคำสั่งเชิญเจ้าหน้าที่รัฐ ประชาชนมาพูดคุย เพื่อแสวงหาข้อมูล เพื่อประโยชน์ของกรรมการ
พล.ท.ภราดร ระบุว่า ไม่เห็นด้วยกับการนำอัยการจังหวัดเข้ามาอยู่ในคณะกรรมการจังหวัด เพราะอัยการควรจะแยกออกจากงานความมั่นคง เพื่อให้มีเสรีภาพและมีอิสระในการทำงานอย่างเต็มที่ รูปแบบคณะกรรมการจังหวัด ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน หากพิจารณาให้ดีจะถูกควบคุมอีกชั้นด้วย กลไกของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรระดับภาค ซึ่งมีแม่ทัพภาคเป็นประธาน ถือได้ว่าแม่ทัพภาค เป็นเจ้านายหรือคอยกำกับควบคุม ผู้ว่าราชการจังหวัดอีกชั้นหนึ่ง
โดยกลไกดังกล่าวหมายความว่า ให้ทหารมีบทบาทนำพลเรือน และมีโอกาสที่จะใช้ช่องว่างตามกฎหมายเป็นเครื่องมือ ดำเนินการกับผู้เห็นต่างจากกองทัพ ซึ่งจะสามารถใช้อำนาจหน้าที่ได้โดยไม่ผิดกฎหมาย ดังนั้นจึงเรียกร้องให้สภาผู้แทนราษฎร พิจารณาแก้ไข เพื่อให้สอดรับกับสภาวะการของประเทศ และให้ประเทศเป็นที่ยอมรับของสากล
พล.ท.ภราดร ยังฝากถึงข้าราชการทุกคนรวมถึงผู้บัญชาการทหารบกว่า การแสดงความคิดเห็นทางการเมืองที่ ล่อแหลมต่อสถานการณ์บ้านเมือง อาจทำให้เกิด ความเข้าใจว่าฝ่ายความมั่นคง สนับสนุนคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรือไม่ หากจะมีการสื่อสารทางการเมืองเนื้อหาสาระควรเป็นเรื่องที่ทำให้ประชาธิปไตยเกิดความแข็งแรง หรือควรจะพูดถึงบทบาทหน้าที่ที่ทหาร จะประคับประคอง เสริมสร้างให้ประชาธิปไตยแข็งแรงได้อย่างไร จะเป็นประโยชน์มากกว่า
เช่นเดียวกับ ดร.เทอดธนัท สีเขียวอดีตผู้สมัครส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์พรรคเพื่อไทย ได้กล่าวสนับสนุน และเป็นกำลังใจให้กับนายจอน อึ๊งภากรณ์ ผอ.โครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือไอลอว์ และคณะองค์กรภาคประชาชน 23 เครือข่าย ที่ใช้สิทธิ์ริเริ่ม ในการเสนอร่างพ.ร.บ.ยกเลิกประกาศคำสั่งคสช.และคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ขัดหลักการสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยรวม 35 ฉบับ รวมทั้งการจัดกิจกรรมต่างๆ ซึ่งตนเห็นว่า เป็นการแสดงออกที่น่าชื่นชมอย่างยิ่ง
ดร.เทอดธนัทกล่าวเพิ่มเติมว่า ประกาศของคสช.มีเป็นจำนวนหลายฉบับที่สร้างความเดือดร้อน และความเสียหายต่อประชาชน และทำให้ประเทศไทยถูกตั้งข้อรังเกียจ และถูกประณามจากองค์กรสิทธิมนุษยชนระดับโลก ว่าประเทศไทยเป็นบ้านป่าเมืองเถื่อนอย่างน่าละอาย ตอนออกประกาศและคำสั่งคสช.นั้น กระทำได้โดยง่าย เพียงแค่พลเอกประยุทธ์ลงนามในคำสั่งก็มีผลแล้ว แต่การยกเลิกจะต้องมีขั้นตอนและกระบวนการหลายอย่าง ต้องใช้เวลานานมาก ดังนั้น หากพลเอกประยุทธ์ และ พรรคการเมืองร่วมรัฐบาล ยังพร่ำพูดว่ารักประชาธิปไตย และเคารพในสิทธิเสรีภาพของประชาชน คสช. ก็ควรเป็นฝ่ายริเริ่มในการยกเลิกประกาศและคำสั่งคสช.เสียเอง ไม่ต้องรอภาคประชาชนมาเรียกร้อง ให้เกิดภาระโดยไม่จำเป็น และเพื่อไม่ให้สภาฯต้องเสียเวลาประชุมตามล้างตามเช็ด เพื่อขจัดมรดกของเผด็จการคสช.ซึ่งจะทำให้ คสช.และรัฐบาลประยุทธ์ 2 ถูกโจมตี จะไม่เป็นผลดีต่อรัฐบาลประยุทธ์แต่อย่างใด