ดีเอ็นเอนัดจ์ (DNA Nudge) บริษัทสตาร์ทอัพ ได้รับอนุญาตให้ผลิต ‘โควิดนัดจ์’ ชุดตรวจโควิด-19 โดยไม่ต้องเข้าห้องแล็บ และจะรู้ผลภายใน 90 นาทีเท่านั้น เทียบกับการตรวจในห้องแล็บที่ใช้เวลาประมาณ 1-2 วันจึงจะรู้ผล โดยรัฐบาลอังกฤษได้ตกลงทุ่มเงิน 161 ล้านปอนด์ (ราว 6,550 ล้านบาท) ซื้อชุดตรวจโควิด-19 ของดีเอ็นเอนัดจ์ 5.8 ล้านชุด เพื่อนำไปใช้ในสถานพยาบาลต่างๆ ตั้งแต่เดือน ก.ย.นี้
ดีเอ็นเอนัดจ์เป็นธุรกิจสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีการตรวจดีเอ็นเอในอังกฤษ เพื่อดูเรื่องสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับการกินอาหาร เช่น โรคอ้วน เบาหวาน ความดันโลหิตสูง คอเลสเตอรอล อาหารที่แพ้ และเตือนผู้ใช้ให้ระมัดระวังเรื่องอาหารการกิน โดยบริษัทนี้ได้เงินลงทุนจากอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตรอีกด้วย
เมื่อเดือน เม.ย. กระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการของอังกฤษ และหน่วยงานกำกับดูแลยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ รับรองว่าดีเอ็นเอนัดจ์สามารถนำเทคโนโลยีที่ ศ.คริสโตเฟอร์ โทมาโซ ซีอีโอของดีเอ็นเอนัดจ์ และทีมวิจัยจากคณะวิศวกรรมไฟฟ้าและสถาบันวิศวกรรมชีวเวชของอิมพีเรียลคอลเลจร่วมกันพัฒนา มาใช้กับการตรวจโควิด-19 ได้ จึงเริ่มใช้ชุดตรวจที่ในโรงพยาบาล 8 แห่งในกรุงลอนดอน
‘โควิดนัดจ์’ เป็นชุดตรวจโควิด-19 แบบอาร์ที-พีซีอาร์ ซึ่งเป็นวิธีที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ ซึ่งมีข้อดีคือ มีความไว มีความจำเพาะสูง สามารถทราบผลภายใน 90 นาที และสามารถตรวจจับเชื้อไวรัสในปริมาณน้อยๆ ได้ โควิดนัดจ์ยังมีชิปที่จะช่วยให้เปรียบเทียบตัวอย่างจากองค์การอนามัยโลก (WHO) และศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) โดยทีมวิจัยได้เปรียบเทียบผลการตรวจโดยโควิดนัดจ์และผลการห้องแล็บของระบบสาธารณสุขของรัฐบาลพบว่า มีความไว 98% และมีความจำเพาะ 100%
นพ.แกรี เดวีส์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลของมูลนิธิระบบสาธารณสุขเชลซีและเวสต์มินสเตอร์ หนึ่งในโรงพยาบาลที่ทดลองใช้ชุดตรวจโควิดนัดจ์ระบุว่า การตรวจโรคที่มีความแม่นยำสูงโดยไม่ต้องใช้ห้องแล็บช่วยให้โรงพยาบาลให้บริการคุณภาพสูงแก่ผู้ป่วยและยังเปิดโอกาสในการต่อสู้กับความท้าทายที่ใหญ่ที่สุดของระบบสาธารณสุข โดยเฉพาะในช่วงที่กำลังจะมีไข้หวัดฤดูหนาวระบาด
ด้านแมตต์ แฮนค็อก รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขของอังกฤษกล่าวว่า การตรวจโรคอย่างรวดเร็วด้วยชุดตรวจใหม่เป็นก้าวสำคัญสำหรับตรวจหาผู้ติดเชื้อได้อย่างรวดเร็วและปลอดภัย พร้อมขอบคุณดีเอ็นเอนัดจ์และทีมงานที่ร่วมกันพัฒนาชุดตรวจโควิดที่จะช่วยให้สามารถตรวจโรคประชาชนหลายล้านคนในช่วงเดือนที่จะถึงนี้
ที่มา : Imperial, UK Government
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: