นิตยสารฟอร์บสเผยแพร่บทความชื่อว่า Can You Test Yourself For Coronavirus At Home? This May Soon Become Common ผ่านทางเว็บไซต์ช่วงต้นเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา โดย 'ไซ พาราสุบรามานิยัน' ผู้เขียนบทความ ประเมินว่า การใช้ชุดตรวจคัดกรองโรคโควิด-19 แบบเร็วอาจจะกลายเป็น 'ความปกติใหม่' หรือ new normal ของสังคมในหลายประเทศทั่วโลก เนื่องจากสถิติผู้ติดเชื้อโควิดฯ ยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีกรณีที่เกิดการกลับมาแพร่ระบาดรอบใหม่
บทความของฟอร์บสยกตัวอย่างโครงการความร่วมมือของบริษัทผู้ผลิตยากับหน่วยงานรัฐในสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร เช่น Humana และ LapCorp ในสหรัฐฯ ซึ่งพยายามพัฒนาชุดตรวจคัดกรองโควิด-19 และได้ร่วมมือกับรัฐบาลท้องถิ่นในหลายรัฐ ทำแบบสำรวจประเมินผลกลุ่มผู้เสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 เพื่อจัดส่งชุดตรวจไปยังที่พักอาศัยของกลุ่มเป้าหมาย และนำข้อมูลไปพัฒนาประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์
กรณีที่ผลตรวจคัดกรองเป็นบวก ผู้ต้องสงสัยติดเชื้อจะได้รับคำแนะนำว่าจะดำเนินการขั้นต่อไปอย่างไร โดยมีทั้งการให้คำแนะนำด้านการปฏิบัติตัวเพื่อบรรเทาอาการ รวมถึงการนำส่งโรงพยาบาลหรือหน่วยงานสาธารณสุขที่รับผิดชอบในกรณีที่ผู้ติดเชื้อมีอาการขั้นรุนแรงจนไม่สามารถพักฟื้นให้หายเองได้
ในอนาคต บริษัทผู้ผลิตชุดตรวจคัดกรองจะร่วมมือกับบริษัทประกันสุขภาพและรัฐบาล เพื่อหาทางดำเนินการให้การตรวจสอบโควิด-19 ครอบคลุมสิทธิผู้ประกันตน เนื่องจากช่วงต้นของการแพร่ระบาดฯ ยังไม่มีบริษัทประกันใดในสหรัฐฯ รับประกันค่าใช้จ่ายและการรักษาพยาบาลที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19
ส่วนรัฐบาลสหราชอาณาจักรประกาศเมื่อเดือน พ.ค.ว่าจะเร่งตรวจคัดกรองประชาชนกลุ่มเสี่ยงทั่วประเทศ เพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยสนับสนุนการผลิตชุดตรวจแบบเร็ว เพื่อกระจายไปยังชุมชนที่ประเมินแล้วว่ามีผู้เสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 เป็นจำนวนมาก จากนั้นจึงคัดแยกผู้ป่วยออกจากคนในชุมชน
ผู้ผลิตชุดตรวจคัดกรองในอังกฤษพยายามพัฒนาวิธีการที่ใช้ในการตรวจหาเชื้อ มีทั้งการตรวจแอนติบอดีและชุดตรวจโควิดที่ใช้เทคโนโลยีด้านพันธุกรรม CRISPR มาเป็นแนวทางดำเนินการคัดกรอง โดย 'จีน' เป็นประเทศแรกที่ใช้วิธีตรวจคัดกรองประชาชนแบบปูพรมทั่วเมืองอู่ฮั่นเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดรอบใหม่ของโรค
อย่างไรก็ตาม The Telegraph สื่ออังกฤษ เตือนว่าผู้ผลิตชุดตรวจคัดกรองโควิด-19 แบบเร็วหลายรายที่วางจำหน่ายทั่วไป ยังไม่ได้รับการรับรองจากหน่วยงานด้านสาธารณสุขและการแพทย์อย่างเป็นทางการ ผู้บริโภคที่สั่งชื้อชุดตรวจดังกล่าวไปใช้เองที่บ้านหรือที่ทำงาน ต้องตรวจสอบให้แน่ใจอีกครั้งว่าผลที่ได้มีความชัดเจนถูกต้อง เนื่องจากรัฐบาลอังกฤษเองตรวจพบว่าชุดตรวจแบบเข็มเจาะเลือดปลายนิ้วมือของหลายบริษัทให้ผลคลาดเคลื่อน
ปัจจุบัน บริษัทยาและเวชภัณฑ์รายใหญ่ของโลกต่างเร่งพัฒนาชุดตรวจโควิด-19 แบบเร็ว เพื่อให้ประชาชนสามารถตรวจเบื้องต้นได้ด้วยตนเองภายในที่พักอาศัย ทั้งยังตั้งเป้าไว้ว่าผู้ตรวจพบเชื้อเป็นบวกจะได้เข้าสู่กระบวนการรักษาหรือเว้นระยะทางสังคมได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งจะมีผลช่วยสกัดและควบคุมการแพร่ระบาดของโรค ทำให้รัฐบาลในหลายประเทศให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนภาคเอกชน รวมถึงหน่วยงานรัฐต่างๆ ให้เร่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ออกมารองรับความต้องการของประชาชน
ส่วนกรณีของประเทศไทย มีรายงานว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยพัฒนาชุดตรวจผลเลือด Chula COVID-19 Strip Test เพื่อนำไปคัดกรองเบื้องต้นว่ามีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 หรือไม่ โดยให้บริการประชาชนตั้งแต่วันที่ 30 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยมีศูนย์บริการสุขภาพแห่งจุฬาฯ เป็นศูนย์รับมือและวินิจฉัย
ขณะที่ชุดทดสอบดังกล่าวคิดค้นโดยอาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ และเป็นการทดสอบอาศัยหลักการทางภูมิคุ้มกันร่างกาย (Serology Test) ซึ่งเป็นการตรวจหาแอนติบอดี (IgG & IgM) ในเลือด ซีรัม และในเว็บไซต์ของจุฬาฯ ระบุว่า ผู้สนใจเข้ารับการตรวจด้วย Chula COVID-19 Strip Test ลงทะเบียนออนไลน์ได้ที่ http://covid19.thaitechstartup.org/
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: