ไม่พบผลการค้นหา
มติ 'สส.ก้าวไกล' ไม่โหวตให้แคนดิเดตนายกฯเพื่อไทย แสดงจุดยืนไม่ขอเป็นส่วนหนึ่งร่วมจัดตั้งรัฐบาลผสมข้ามขั้ว

วันที่ 15 ส.ค. 2566 พรรคก้าวไกลมีมติหลังประชุม สส. ว่าจะไม่โหวตให้แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของรัฐบาลผสมข้ามขั้ว เพื่อแสดงจุดยืนว่าเราไม่ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของการร่วมจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้ ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

1.รัฐบาลผสมข้ามขั้วที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล มีการนำพรรครัฐบาลขั้วเดิมเกือบทั้งหมดมาร่วมจัดตั้งรัฐบาลด้วย เท่ากับขัดต่อเจตนารมณ์ของประชาชนที่แสดงออกอย่างชัดเจนในวันเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 ว่าต้องการพลิกขั้วรัฐบาล

2.การที่พรรคก้าวไกลจะโหวตให้แคนดิเดตนายกรัฐบาลผสมข้ามขั้วนี้ ไม่ใช่การปิดสวิตช์ สว. ตามที่มีการกล่าวอ้าง แต่เป็นการเดินตาม สว. เพื่อปิดสวิตช์ก้าวไกล

เพราะหากทุกพรรคการเมืองมีเจตนาที่จะปิดสวิตช์ สว. และเคารพเจตจำนงของประชาชนอย่างแท้จริง ก็ต้องแสดงออกโดยการโหวตให้รัฐบาลเสียงข้างมากที่จัดตั้งโดยก้าวไกลตั้งแต่แรก ไม่ใช่การจัดตั้งรัฐบาลตามความต้องการของ สว. และอ้างว่าปิดสวิตช์ สว.

3.แม้ขณะนี้จะยังไม่มีความชัดเจนเรื่ององค์ประกอบคณะรัฐมนตรี แต่เป็นที่แน่ชัดแล้วว่าหน้าตาคณะรัฐมนตรีจะไม่แตกต่างจากรัฐบาลเดิมมากนัก พรรคก้าวไกลไม่เชื่อว่าการจัดตั้งรัฐบาลโดยเกรงใจผู้มีอำนาจแต่ไม่เกรงใจประชาชน จะผลักดันวาระที่ก้าวหน้าและนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงแก้ไขปัญหาให้ประชาชนอย่างแท้จริงได้

พรรคก้าวไกลยืนยันอีกครั้งว่า การไม่โหวตให้แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีผสมข้ามขั้วนั้น เราไม่ได้พิจารณาบนพื้นฐานของคุณสมบัติของตัวแคนดิเดตจากพรรคเพื่อไทย แต่เป็นการตัดสินใจบนจุดยืนทางการเมืองและคำสัญญาที่พรรคก้าวไกลได้ให้ไว้กับประชาชนคือ “มีเราไม่มีลุง มีลุงไม่มีเรา” ตั้งแต่ก่อนเลือกตั้ง ซึ่งพรรคก้าวไกลไม่สามารถตระบัดสัตย์ต่อประชาชนได้


ยัน ‘ก้าวไกล’ ไม่โหวตนายกฯ รัฐบาลผสมพันธุ์ข้ามขั้ว

ชัยธวัช ตุลาธน สส.แบบบัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคก้าวไกล แถลงข่าวยืนยันมติพรรคก้าวไกล ระบุว่า ในที่ประชุม สส. ของพรรคก้าวไกล มีมติของพรรค จะไม่โหวตให้แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจของรัฐบาลผสมพันธุ์ข้ามขั้ว ที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ เพราะพรรคก้าวไกล ต้องการแสดงท่าทีว่าเราไม่ต้องการมีส่วนร่วมในการจัดตั้งรัฐบาล ในลักษณะที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ 

ประการที่หนึ่ง เราเห็นว่าการจัดตั้งรัฐบาลที่เกิดขึ้นอยู่นี้ เป็นการจัดตั้งรัฐบาลที่ขัดต่อเจตนารมณ์ ขัดต่อเจตจำนงของพี่น้องประชาชน ที่ได้แสดงออกผ่านการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 

ประการที่สอง การที่จะให้สส.ของพรรคก้างไกล โหวตให้แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของรัฐบาลที่กำลังจัดตั้งอยู่นี้ ไม่ใช่การปิดสวิตช์ สว. แต่เป็นการเดินตาม ส.ว. เดินตามความต้องการของ สว. ในการต้องการบิดเบือนผลการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นที่ชัดเจนว่า ที่ผ่านมา สว.จำนวนมาก และพรรคขั้วรัฐบาลเดิม ต้องการปิดสวิตช์ก้าวไกล ที่ชนะการเลือกตั้ง

ประการที่สาม เราเห็นว่าการจัดตั้งรัฐบาลแบบนี้ ก็คือการจัดตั้งรัฐบาลที่เกรงใจผู้มีอำนาจทุกฝ่ายยกเว้นการเกรงใจประชาชน จะไม่สามารถผลักดันวาระที่ก้าวหน้า และทำเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน ได้อย่างแท้จริง

เมื่อถามว่ามติดังกล่าว เป็นเอกฉันท์หรือไม่ ชัยธวัช ระบุว่า เป็นเอกฉันท์ ส่วน สส.ที่ไปสำรวจความเห็นสะท้อนว่าอย่างไรบ้างนั้น สส. เขตได้สะท้อนว่า ทางประชาชนทั้งในออนไลน์และที่ไปพบปะในพื้นที่ ไปทางเดียวกันว่าไม่เห็นด้วยกับการจัดตั้งรัฐบาลที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ 

เมื่อถามว่ามีแกนนำ เช่น นายพิธา อาจไม่ได้เป็นฝ่ายค้าน มีนัยยะอะไรหรือไม่ นายชัยธวัช กล่าวว่า ต้องดูว่าสถานการณ์การเลือกนายกรัฐมนตรีและการจัดตั้งรัฐบาลหลังจากนี้จะเป็นอย่างไรต่อไป อาจจะไม่ได้จบภายในครั้งเดียว

เมื่อถามว่ายังมีความเชื่อว่าพรรคเพื่อไทยอาจจะโหวตไม่ผ่านในการโหวตครั้งหน้าใช่หรือไม่ ชัยธวัช กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่ใช่ประเด็นสำคัญที่เราพิจารณากัน ประเด็นสำคัญคือเรากำลังพิจารณาวาระที่กำลังจะถึง คือการโหวตนายกรัฐมนตรี เรื่องอื่นคงเป็นเรื่องอนาคต ย้ำว่าเสียงในที่ประชุมเป็นไปในทิศทางเดียวกัน 

เมื่อถามว่ามองอย่างไรกับการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคเพื่อไทย ชัยธวัช กล่าวว่า การจัดตั้งรัฐบาลที่เกรงใจทุกคนยกเว้นประชาชน จะไม่สามารถผลักดันวาระที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชนได้อย่างแท้จริง 

เมื่อถามว่าใช้คำว่ารัฐบาลข้ามขั้ว หมายถึงจะไม่กลับมาร่วมงานกับพรรคเพื่อไทยอีกแล้วหรือไม่ ชัยธวัช กล่าวว่า เป็นความเห็นในการจัดตั้งรัฐบาลตอนนี้ เรื่องข้ามขั้วหมายถึงพี่น้องประชาชนส่วนใหญ่ได้แสดงออกผ่านการเลือกตั้งอย่างชัดเจนแล้ว ว่าต้องการพลิกขั้วรัฐบาล พรรคที่ชนะอันดับ 1 และ 2 เป็นแกนนำพรรคฝ่ายค้านเดิม เขาต้องการพรรคฝ่ายค้านเดิมมาบริหารประเทศแทน แต่ตอนนี้มันไม่เป็นแบบนั้น ไม่เป็นไปตามเจตจำนง

เมื่อถามว่าในฐานะคนนอก มองแนวคิดเรื่องการแบ่งกระทรวงก่อนโหวตนายกฯ อย่างไรบ้าง นายชัยธวัช ระบุว่า เรามีการคุยกันอยู่เหมือนกัน ว่าในความคลุมเครือที่ไม่ได้มีการประกาศชัดเจนว่าจะมีพรรคการเมืองไหนบ้างเข้าร่วมรัฐบาล อันนี้ยิ่งเพิ่มความไม่ไว้วางใจแก่ประชาชน 

เมื่อถามว่า หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าสามารถเสนอชื่อ พิธา ซ้ำได้ จะมีการเสนอแข่งกับพรรคเพื่อไทยหรือไม่ ชัยธวัช กล่าวว่า เป็นคนละประเด็น ตนคิดว่าเรื่องการเสนอชื่อซ้ำได้ เราเห็นด้วยอยู่แล้ว เพราะเป็นหลักการที่ควรเป็น ต่อให้ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้อง พรรคก้าวไกลก็จะเสนอญัตติให้ทบทวนมติรัฐสภาเหมือนกัน 

“เราไม่เห็นด้วยที่จะให้ศาลรัฐธรรมนูญมาวินิจฉัย ว่ารัฐสภาทำอะไรได้ หรือไม่ได้” 

เมื่อถามว่าจะมีการเสนอชิ่อนายพิธาแข่ง ในการโหวตนายกฯครั้งหน้าหรือไม่ เพราะญัตติได้เปลี่ยนไปแล้ว นายชัยธวัช ยืนยันว่า จะไม่มีการเสนอชื่อแข่ง

เมื่อถามว่าประเมินฉากทัศน์ไว้กี่แบบ นายชัยธวัช ระบุว่า ก็คงมี 2 ทางคือผ่านและไม่ผ่าน ส่วนจะเตรียมตัวอย่างไรนั้น เป็นเรื่องของพรรคจัดตั้งรัฐบาล

เมื่อถามว่าพรรคก้าวไกล ปิดประตูต่อรอง เรื่องการโหวตนายกรัฐมนตรีกับพรรคเพื่อไทยแล้วหรือไม่ นายชัยธวัช กล่าวว่า อย่างที่ย้ำไป เหตุผลอย่างหนึ่งที่จะไม่โหวตให้แคนดิเดตนายกฯ จากพรรคเพื่อไทย เพราะเราไม่เชื่อว่าการจัดตั้งรัฐบาลในสภาพการณ์แบบนี้ จะสามารถผลักดันวาระของประชาชนที่ก้าวหน้าได้ ต่อให้มีการรับปากตกลงอะไรกัน ก็เชื่อว่าจะไม่มีผลอะไรในอนาคต ส่วนอะไรที่พรรคก้าวไกลเสนอไปแล้วเราไปเป็นฝ่ายค้าน และพี่น้องประชาชนสนับสนุนอย่างชัดเจน เราเชื่อว่าเสียงส่วนใหญ่ในสภา จะสนับสนุนด้วย ไม่จำเป็นต้องมีข้อตกลงอะไรกัน

เมื่อถามว่า พรรคก้าวไกลจะออกเสียงไม่เห็นชอบ หรืองดออกเสียง ในการโหวตนายกรัฐมนตรี ชัยธวัช กล่าวว่า ยังไม่ได้มีการคุยกัน แต่ที่ชัดเจนคือจะไม่โหวตให้ ส่วนจะลงคะแนนว่าไม่เห็นชอบหรืองดออกเสียง ต้องไปดู เพราะมีรายละเอียดเกี่ยวกับการจัดตั้งรัฐบาล

เมื่อถามว่ามีการหารือเรื่องการรับตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านหรือไม่ ชัยธวัช ระบุว่า ยังไม่มีการหารือเรื่องนี้ เป็นวาระที่จะพิจารณาหลังจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จ รวมถึงเรื่องการจะให้นายปดิพัทธ์ สันติภาดา ลาออกจากตำแหน่งรองประธานสภาฯ คนที่ 1 ด้วย 

เมื่อถามว่าองค์ประกอบที่จะโหวตไม่เห็นชอบหรืองดออกเสียง มีอะไรบ้าง ชัยธวัช ยกตัวอย่างว่า จะพิจารณาจากหน้าตาในการจัดตั้งรัฐบาล เชื่อว่าหากมี 2 ลุง สส.ส่วนใหญ่คงเสนอไม่เห็นชอบ แต่หากไม่มีก็อาจจะงดออกเสียง แต่วันนี้ยังไม่ลงรายละเอียด

เมื่อถามว่า อาจมีคำวิจารณ์ว่าตอนพรรคก้าวไกลเป็นแกนนำ พรรคเพื่อไทยยังโหวตให้ทั้งหมด นั้น ชัยธวัช มองว่า เป็นคนละเงื่อนไขกัน ตอนนั้นเรามีความชอบธรรมในการจับมือจัดตั้งรัฐบาลร่วมกัน ตามเจตจำนงประชาชน คนละสภาพการณ์กัน แต่ตอนนี้เป็นการจัดตั้งรัฐบาลที่บิดเบือนเจตจำนงประชาชน ซึ่งถือเป็นหลักการใหญ่ อย่าลืมว่าข้อเสนอเช่น ให้มีการปิดสวิตซ์ สว. เป็นข้อเสนอเพื่อให้เคารพผลการเลือกตั้ง 

ชัยธวัช ย้ำว่าไม่ใช่การหักกันกับพรรคเพื่อไทย แต่เป็นการยืนบนหลักการที่ถูกต้อง

เมื่อถามว่า หลังจากที่ แพทองธาร นำแกนนำพรรคเพื่อไทยมาคุยกับพรรคก้าวไกล ได้มีการคุยกันหลังจากนั้นหรือไม่ นายชัยธวัช เผยว่า ไม่ได้คุยกันอีก เพราะพรรคเพื่อไทยเห็นว่าเป็นเอกสิทธิ์ของพรรคก้าวไกลในการโหวตนายกรัฐมนตรี ส่วนจะมีการคุยหลังจากนี้หรือไม่ นายชัยธวัช กล่าวว่า การพูดคุยกันเป็นเรื่องปกติ หากสถานการณ์การเมืองเปลี่ยนแปลงอาจมีการพูดคุย หรือหากไปเปลี่ยน และทำงานอยู่คนละฝั่ง การแสวงหาความร่วมมือกันยังเป็นสิ่งที่เป็นไปได้