ไม่พบผลการค้นหา
'ปราโบโว ซูเบียนโต' ไม่ใช่หน้าใหม่ทางการเมืองอินโดนีเซีย เพราะเป็นทั้ง 'อดีตนายพล' และ 'ลูกเขย' ผู้นำเผด็จการ 'ซูฮาร์โต' แม้ปัจจุบันจะผันตัวเป็นนักธุรกิจ หนึ่งในตัวเก็งชิง ปธน.ในการเลือกตั้งครั้งนี้ แต่จะแพ้หรือชนะ เขาก็ยังมีอิทธิพลในอินโดนีเซียอยู่ดี

การเลือกตั้งอินโดนีเซียในวันที่ 17 เม.ย.2562 เป็นการลงคะแนนเลือกทั้ง ส.ส./ ส.ว./ สมาชิกสภาท้องถิ่น รวมถึงประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดี รวมกว่า 2 หมื่นที่นั่งในวันเดียว ส่วนคูหาเลือกตั้งเปิดทำการตั้งแต่เวลา 07.00 น. ไปจนถึง 13.00 น.ตามเวลาท้องถิ่นในแต่ละภูมิภาคของอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีช่วงเวลาแตกต่างกันถึง 3 ไทม์โซน แต่ผลการนับคะแนนแบบ Quick Count จะประกาศให้สาธารณชนรับทราบในเวลาประมาณ 2 ชั่วโมงหลังปิดคูหาเลือกตั้งและนับคะแนนพร้อมเปิดให้อาสาสมัครร่วมสังเกตการณ์

อัลจาซีรารายงานอ้างอิงโพลหลายสำนักในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนเลือกตั้ง ระบุว่าการชิงตำแหน่งประธานาธิบดีครั้งนี้เป็นการขับเคี่ยวกันระหว่าง 'โจโก วิโดโด' หรือ 'โจโกวี' วัย 57 ปี และ 'ปราโบโว ซูเบียนโต' วัย 67 ปี ซึ่งเคยเผชิญหน้ากันมาแล้วเมื่อปี 2557 โดยการเลือกตั้งครั้งนั้น 'โจโกวี' ได้รับชัยชนะไปครอง และช่วง 5 ปีที่เขาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ก็ได้รับฉายาว่าเป็น 'ผู้นำของประชาชน' เพราะมีภาพลักษณ์ติดดิน ประนีประนอม ทั้งยังเป็นผู้นำพลเรือนคนแรกของอินโดนีเซียที่ไม่มีประวัติเกี่ยวข้องกับทหารหรือผู้มีอิทธิพลทางการเมืองมาก่อน

เวลาผ่านไป 5 ปี ปราโบโวประกาศลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีอินโดนีเซียอีกครั้ง พร้อมทั้งเลือก 'ซันเดียกา อูโน' อดีตรองผู้ว่าการกรุงจาการ์ตา วัย 49 ปี ซึ่งมีปูมหลังเกี่ยวพันกับธุรกิจ ให้สมัครชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีร่วมกันกับเขา และกระแสความนิยมในตัวคู่สมัคร 'ปราโบโว-ซันเดียกา' ไม่หนีห่างมากนักจากคู่ของ 'โจโกวี' และ 'มารุฟ อามิน' วัย 76 ปี ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งประธานสภาอูลามะห์ ทำให้นักวิเคราะห์ในอินโดนีเซียบางรายเชื่อว่า 'ปราโบโว' อาจเป็นฝ่ายชนะการเลือกตั้งครั้งนี้ก็เป็นได้

AFP-กองเชียร์ปราโบโว ซูเบียนโต.jpg

อดีตนายพล-หัวหน้าหน่วยรบพิเศษ ผู้นำชาตินิยม

ภูมิหลังของปราโบโวมีความเกี่ยวพันกับชนชั้นปกครองมาโดยตลอด เพราะเขาเป็นบุตรชายของอดีตรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจในสมัยนายพลซูฮาร์โต ผู้นำเผด็จการที่ปกครองอินโดนีเซียยาวนานกว่า 32 ปี และเขายังเคยแต่งงานกับ 'ติเตียก ซูฮาร์โต' บุตรสาวคนที่ 2 ของซูฮาร์โต ก่อนที่จะหย่ากันในปี 2541 ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่ซูฮาร์โตก้าวลงจากอำนาจ เพราะถูกนักศึกษาและประชาชนเดินขบวนต่อต้านครั้งใหญ่ และปราโบโวเองก็ถูกสั่งปลดจากตำแหน่งผู้บัญชาการหน่วยรบพิเศษเช่นกัน

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้มีผู้มองว่า 'ปราโบโว' อาจพลิกโผขึ้นมานำประธานาธิบดีในครั้งนี้ เพราะมีประชาชนจำนวนมากเห็นด้วยกับการตอกย้ำภาพลักษณ์ความเป็น 'ผู้นำที่เข้มแข็งและเด็ดขาด' ของปราโบโว โดยอ้างถึงการเคลื่อนไหวของกลุ่มก่อการร้ายในอินโดนีเซียที่ยกระดับการก่อเหตุรุนแรงเพิ่มขึ้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เป็นเพราะ 'โจโกวี' นั้น 'อ่อนแอ' ปล่อยให้เครือข่ายก่อการร้ายจากต่างประเทศเข้ามามีอิทธิพลกับประชาชนที่ยากจนและขาดแคลนโอกาสทางเศรษฐกิจ ทำให้ถูกชักจูงจนหลงผิด

เดอะการ์เดียนรายงานบทสัมภาษณ์ของปราโบโวที่ประณามรัฐบาลโจโกวีว่าเป็นพวก 'อภิสิทธิ์ชนฉ้อฉล' ไม่กล้าที่จะต่อสู้กับ 'พวกผิวขาว' ซึ่งมีนัยพาดพิงนโยบายต่างประเทศของโจโกวีที่มีลักษณะประนีประนอม และมีความพยายามจะร่วมมือกับประชาคมโลก รวมถึงการปล่อยให้ประเทศตะวันตกแทรกแซงกระบวนการพิจารณาลงโทษประหารชีวิตชาวต่างชาติที่เป็นผู้ต้องหาคดียาเสพติดในอินโดนีเซียเมื่อปี 2558

ข้อกล่าวหา 'บังคับอุ้มหาย-ละเมิดสิทธิมนุษยชน' ที่ยังไม่เจอบทสรุป

ปราโบโวได้รับยศสูงสุด คือ พลโท และในช่วงที่เป็น ผบ.หน่วยรบพิเศษสมัยซูฮาร์โตปกครองประเทศ เขาประกาศแนวคิดชาตินิยมเพื่อปราบปรามพรรคคอมมิวนิสต์ในอินโดนีเซีย และถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้บงการให้ 'ลักพาตัว' กลุ่มนักศึกษาที่ออกมารณรงค์เคลื่อนไหวต่อต้านซูฮาร์โต และปัจจุบันนี้ก็ไม่มีใครระบุได้ว่านักศึกษากลุ่มนั้นหายสาบสูญไปไหน 

AFP-ปราโบโว ซูเบียนโต-พรรคเกอรินดรา 1 ใน 2 ตัวเก็งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีอินโดนีเซีย.jpg

ข้อกล่าวหาเรื่องลักพาตัวนักศึกษาและนักกิจกรรมฝ่ายต่อต้านซูฮาร์โต ทำให้ปราโบโวถูกสหรัฐอเมริกาสั่งห้ามเข้าประเทศ เพราะถือเป็นผู้ที่มีประวัติด้านการละเมิดสิทธิมนุษยชน และครอบครัวของผู้สูญหายได้ร้องเรียนให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของอินโดนีเซียรื้อฟื้นคดีมาไต่สวนข้อเท็จจริงอีกครั้งเมื่อปี 2557 ซึ่งเป็นปีที่ปราโบโวประกาศตัวลงสมัครชิงตำแหน่ง ปธน.ครั้งแรก 

อย่างไรก็ตาม กระบวนการสอบสวนข้อเท็จจริงในคดีนักกิจกรรมสูญหายเป็นไปอย่างล่าช้า และปราโบโวยืนยันว่าเขาไม่เกี่ยวข้องกับการหายตัวของกลุ่มนักกิจกรรมเหล่านั้น แม้กระทั่งปัจจุบัน ก็ยังไม่อาจหาข้อสรุปในคดีดังกล่าว และปราโบโวก็ยังเป็นที่ชื่นชมในกลุ่มผู้มีแนวคิดชาตินิยมและผู้ที่ชื่นชอบการปกครองในระบอบเผด็จการซูฮาร์โต ซึ่งมองว่าสภาพสังคมและเศรษฐกิจในยุคนั้นมีความมั่นคงกว่าปัจจุบัน

ต่อยอดอำนาจการเมือง สู่แวดวงธุรกิจหลายแขนง

ในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง ปราโบโวยังโจมตีรัฐบาลชุดปัจจุบันภายใต้การนำของโจโกวี โดยระบุว่า 'อ่อนข้อ' ให้กับกลุ่มทุนต่างชาติมากเกินไป และอาจจะส่งผลกระทบต่ออธิปไตยและผลประโยชน์ของประชาชนอินโดนีเซีย โดยเป็นการพาดพิงถึงผลงานในสมัยโจโกวีที่เปิดรับบริษัทต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ทั่วประเทศ

การพัฒนาเส้นทางคมนาคมและการเปิดเส้นทางรถไฟฟ้าในกรุงจาการ์ตาสมัยรัฐบาลโจโกวี ได้รับเสียงชื่นชมว่าเป็นผลงานสำคัญ ยกระดับคุณภาพการขนส่งสาธารณะภายในประเทศและช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคม แต่ปราโบโวกล่าวว่า โครงการขนาดใหญ่เหล่านี้เอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนจากจีนและญี่ปุ่นมากกว่าประชาชนอินโดนีเซีย พร้อมระบุว่า การอนุมัติสัมปทานโครงการเหมืองแร่ให้กับบริษัทข้ามชาติหลายบริษัท ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรในหลายพื้นที่ทั่วอินโดนีเซียที่ต้องสูญเสียที่ดินไปกับการเวนคืนเพื่อการลงทุนและอุตสาหกรรม

ปราโบโวหาเสียงโดยประกาศว่าจะใช้นโยบายกีดกันทางการค้า ยกเลิกการนำเข้าอ้อยและน้ำตาลจากต่างชาติ รวมถึงควบคุมการลงทุนของต่างชาติในกิจการที่เกี่ยวข้องกับปาล์มน้ำมัน ซึ่งไทม์รายงานว่า ผู้สนับสนุนปราโบโวเชื่อว่าเขาจะทำให้ความหวังของประชาชนเป็นจริงได้

AFP-นักกิจกรรมรณรงค์หนุนเลือกตั้งครั้งใหญ่ของอินโดนีเซีย 17 เม.ย.2562.jpg
  • นักกิจกรรมในอินโดนีเซียรณรงค์ให้ประชาชนไปใช้สิทธิเลือกตั้งในวันที่ 17 เม.ย.

แต่หากมองย้อนไปที่ประวัติของปราโบโว จะสะท้อนให้เห็นว่า นโยบายเหล่านี้เอื้อประโยชน์ให้กับกิจการต่างๆ ที่อยู่ในเครือธุรกิจนูซันตาราที่ปราโบโวเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ เพราะหลังจากที่เขาก้าวลงจากตำแหน่งในกองทัพและผันตัวเข้าสู่แวดวงธุรกิจร่วมกับครอบครัว เขาก็กลายเป็นเจ้าของกิจการมากมาย ตั้งแต่บริษัทผลิตกระดาษ โรงงานแปรรูปปาล์มน้ำมันและพลังงานเชื้อเพลิง

เซาท์ไชนามอร์นิงโพสต์ สื่อของฮ่องกง เป็นอีกสำนักข่าวหนึ่งซึ่งติดตามรายงานข่าวการเลือกตั้งอินโดนีเซีย ระบุว่าอาจมีเหตุการณ์พลิกผันเกิดขึ้นได้ แม้ว่าโพลหลายสำนักจะประเมินตรงกันว่าโจโกวีมีแนวโน้มจะชนะการเลือกตั้งอีกเป็นสมัยที่ 2 แต่ทีมหาเสียงของปราโบโวประกาศด้วยความเชื่อมั่นว่า ปราโบโวจะต้องได้คะแนนเสียงเกินกว่าร้อยละ 60 โดยอ้างอิงจากกลุ่มผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ยังไม่ตัดสินใจว่าจะเลือกใครในวันที่ทำการสำรวจความคิดเห็น

แต่ไม่ว่าจะแพ้หรือชนะการเลือกตั้ง อดีตนายพลคนนี้ก็ยังคงมีอิทธิพลในอินโดนีเซียอยู่ดี ไม่ว่าจะเป็นทางเศรษฐกิจหรือสังคมและการเมือง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: