ไม่พบผลการค้นหา
ข่าวปลอมระบาดอย่างหนักจนท���ให้คนไม่เชื่อมั่นในกระบวนการเลือกตั้ง ทั้งที่กำลังจะมีการจัดการเลือกตั้งทั่วไปในอินโดนีเซียในอีกไม่สัปดาห์ที่จะถึงนี้

มาฟินโด องค์กรด้านการต่อสู้กับข่าวปลอมและส่งเสริมการรู้เท่าทันด้านดิจิทัล ออกรายงานล่าสุดที่ระบุว่า ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาจำนวนข่าวปลอมและการใช้ข้อมูลผิดๆ เพิ่มขึ้นอย่างมาก ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีและสมาชิกรัฐสภาของอินโดนีเซียในวันที่ 17 เม.ย. นี้

รายงานนี้ระบุว่า ข่าวปลอมเกี่ยวกับการเมืองพุ่งสูงขึ้นถึงร้อยละ 61 ในช่วงเดือน ธ.ค. 2018 ถึง ม.ค.ปีนี้ โดยช่วงเดือน ธ.ค.ปีที่แล้วมีข่าวปลอมเกิดขึ้นทั้งหมด 88 เรื่อง ในจำนวนนี้เป็นเรื่องการเมือง 36 เรื่อง ส่วนข่าวปลอมที่เกิดขึ้นในเดือน ม.ค.ทั้งหมด 109 เรื่อง มีเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเมือง 58 เรื่อง และข่าวปลอมเกี่ยวกับการเมืองก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในเดือน ก.พ.

มาฟินโดระบุว่า หนึ่งในสิ่งที่น่ากังวลมากคือ ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีอินโดนีเซียและ ส.ส.เขต ไม่ใช่เป้าหมายเดียวที่จะถูกโจมตีโดยข่าวปลอม แต่ยังมีการโจมตีหน่วยงานจัดการเลือกตั้งด้วย มีการสร้างข่าวให้ประชาชนไม่เชื่อถือในกระบวนการเลือกตั้ง เช่น มีข่าวไวรัลไปทั่วโซเชียลมีเดียของผู้ใช้ชาวอินโดนีเซียว่า มีบัตรเลือกตั้งที่กาเลือกผู้สมัครไว้แล้วหลายล้านใบเก็บไว้ที่ท่าเรือจาการ์ตา เพื่อเตรียมโกงการเลือกตั้งที่จะถึงนี้

มาฟินโดกล่าวว่าข่าวปลอมโจมตีกระบวนการเลือกตั้งถือเป็นการกระทำที่อันตรายมาก หากหน่วยงานจัดการเลือกตั้งถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับความโปร่งใสในกระบวนการเลือกตั้ง ประชาชนก็อาจไม่เชื่อถือผลการเลือกตั้งจนนำไปสู่ความวุ่นวายได้

ระหว่างการเลือกตั้งประธานาธิบดีอินโดนีเซียเมื่อปี 2014 โจโก วิโดโด ก็ถูกโจมตีอย่างหนักว่าเขาเป็นคอมมิวนิสต์และเป็นคนจีน และช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา รัฐบาลอินโดนีเซียพยายามรณรงค์ต่อสู้กับข่าวปลอมต่างๆ

แม้หลายคนเห็นว่าเป็นการสร้างข่าวปลอมเพื่อโจมตีโจโกวี แต่จากการศึกษาของมาฟินโดพบว่า ผู้สมัครทุกฝ่ายก็ได้รับผลกระทบจากข่าวปลอมเช่นกัน โดยโจโกวีตกเป็นเป้าจากโจมตีจากข่าวปลอมร้อยละ 28.98 ขณะที่คู่แข่งของเขาอย่างปราโบโว สุเบียนโต ก็ถูกโจมตีด้วยข่าวปลอมร้อยละ 20.85 ของทั้งหมด

ปัจจุบัน อินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดเป็นอันดับ 3 ในบรรดาประเทศที่ปกครองระบอบประชาธิปไตย และมีผู้ใช้เฟซบุ๊กและทวิตเตอร์มากที่สุดติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลก ข่าวปลอมได้ถูกใช้เป็นเครื่องมือแบ่งแยกทางเชื้อชาติและศาสนา ซึ่งเป็นปัญหายืดเยื้อในสังคมอยู่แล้ว ให้ยิ่งร้าวลึกขึ้น เพื่อหวังผลทางการเมือง

จากข่าวปลอมทั้งหมดที่ปรากฏบนโซเชียลมีเดีย ประมาณร้อยละ 45 ถูกแชร์บนเฟซบุ๊ก และข่าวปลอมที่ถูกแชร์มากขึ้นเรื่อยๆ เป็นเนื้อหาประเภทวิดีโอ

ผลสำรวจล่าสุดของศูนย์วิจัยไซฟุล มูจานี (SMRC) ระบุว่า ประชากรร้อยละ 6 ยังคงเชื่อว่าโจโกวีเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซีย ซึ่งแสดงให้เห็นว่า การต่อสู้กับข่าวปลอมยังเป็นไปอย่างยากลำบาก

แม้ความนิยมของโจโกวีก็คงสูงกว่าปราโบโวกว่า 20 จุด ซึ่งสะท้อนว่าข่าวปลอมอาจยังไม่สามารถทำลายความนิยมของโจโกวีลงได้ แต่รอส แทปเซลล์ อาจารย์จากมหาวิทยาลับแห่งชาติออสเตรเลียว่า ความเห็นออนไลน์อาจไม่สามารถสะท้อนความจริงในพื้นที่ได้อย่างแม่นยำ แต่ข่าวปลอมก็ยังถือเป็นความเสี่ยงที่ไม่ควรมองข้าม เพราะเมื่อโซเชียลมีเดียทำให้เราเห็นว่าสังคมมีการแบ่งขั้วกันมากกว่าความเป็นจริง แล้วนักการเมืองก็ใช้ประโยชน์จากตรงนี้ ก็จะเป็นผลเสียกับประชาธิปไตย

สำนักข่าวเดอะจาการ์ตาโพสต์รายงานว่า จากการสำรวจความเห็นของคนในจังหวัดเวสต์ชวา 480 คน เกี่ยวกับการแชร์ข่าวปลอม พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามประมาณร้อยละ 30 มีแนวโน้มจะที่แชร์ข่าวปลอม โดยไม่เกี่ยวข้องกับอายุ ระดับการศึกษา หรือเพศ แต่เกี่ยวข้องกับเวลาที่ใช้อินเทอร์เน็ต ยิ่งใช้อินเทอร์เน็ตมากก็มีความเป็นไปได้สูงขึ้นที่จะแชร์ข่าวปลอม

ที่มา : The Guardian, The Jakarta Post