ไม่พบผลการค้นหา
การเลือกตั้งอินโดนีเซียหวนมาอีกครั้งในวันที่ 17 เม.ย.นี้ หลังจากเมื่อปี 2557 ไทยมี 'รัฐประหาร' แต่อินโดนีเซียมี 'เลือกตั้ง' จนได้ผู้นำพลเรือนคนแรกของประเทศ และสื่อระบุว่าอินโดนีเซียเป็นประเทศ 'ประชาธิปไตยเข้มแข็ง' อันดับต้นๆ ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในยุคนี้

นับตั้งแต่เวลา 07.00 น. วันที่ 17 เม.ย.2562 คูหาเลือกตั้งจำนวนกว่า 809,500 แห่งทั่วประเทศอินโดนีเซีย ได้เริ่มเปิดบริการแก่ประชาชนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งครั้งล่าสุด โดยเป็นการเลือกตั้งทั้ง ส.ส., ส.ว., สมาชิกสภาท้องถิ่น รวมถึงประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีพร้อมกันครั้งแรก ทำให้สื่อต่างประเทศรายงานว่า การเลือกตั้งอินโดนีเซียครั้งนี้เป็นการเลือกตั้งที่ 'ซับซ้อน' และ 'ยิ่งใหญ่' ติดอันดับต้นๆ ของโลก

เว็บไซต์เดอะการ์เดียนรายงานว่า อินเดียเป็นประเทศประชาธิปไตยขนาดใหญ่อันดับต้นๆ ของโลกที่จัดการเลือกตั้งในเดือน เม.ย.เช่นเดียวกับประเทศอินโดนีเซีย ทำให้การเลือกตั้งที่อินเดียถูกมองว่ายิ่งใหญ่กว่า เมื่อเทียบกับจำนวนประชากรผู้สิทธิเลือกตั้งของทั้งสองประเทศ แต่การเลือกตั้งในอินเดียทยอยดำเนินการเป็นเวลาหลายสัปดาห์กว่าจะแล้วเสร็จ ขณะที่การเลือกตั้งอินโดนีเซียในปีนี้มีเป้าหมายว่าจะต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายใน 'วันเดียว'

การเลือกตั้งอินโดนีเซียปีนี้เปลี่ยนจากกระบวนการเลือกตั้งครั้งก่อนหน้าที่จัดขึ้นหลายวันเมื่อเดือน เม.ย. 2557 ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่มีการรัฐประหารเกิดขึ้นในประเทศไทย

AFP-อินโดนีเซียลำเลียงบัตรเลือกตั้งทางเรือเพื่อไปยังพื้นที่ห่างไกลในเวสต์ปาปัว.jpg
  • การลำเลียงบัตรเลือกตั้งในอินโดนีเซียปีนี้เผชิญอุปสรรคเนื่องจากบัตรเลือกตั้งมีจำนวนเพิ่มขึ้นจากเดิมอีกหลายเท่า และต้องนำส่งไปยังคูหาเลือกตั้งที่ห่างไกลและทุรกันดารทั่วประเทศ
AFP-ตำรวจช่วยเจ้าหน้าที่ กกต.ขนบัตรเลือกตั้งด้วยการขี่ม้าขึ้นเขาไปยังหมู่บ้านเจมเบอร์ จ.ชวาตะวันออกของอินโดนีเซีย.jpg

"หากอยากส่งเสริมประชาธิปไตย ทหารไทยควรเรียนรู้จากทหารอินโดนีเซีย"

การเลือกตั้งอินโดนีเซียถูกจับตามองจากสื่อหลายสำนักที่มองว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นการชี้ชะตานายโจโก วิโดโด หรือ 'โจโกวี' ประธานาธิบดีคนปัจจุบันของอินโดนีเซีย หลังจากที่เขาเคยได้รับชัยชนะอย่างถล่มทลาย และได้เป็นผู้นำพลเรือนคนแรกของอินโดนีเซียหลังจากสิ้นสุดยุคของเผด็จการซูฮาร์โต แต่การบริหารประเทศในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ทำให้เขาถูกวิพากษ์วิจารณ์จากฝ่ายค้านว่า ไม่ได้ทำตามสัญญาที่ให้ไว้ ไม่ว่าจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจหรือการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน

คะแนนนิยมของ 'โจโกวี' และพรรคพีดีไอพียังนำหน้าคู่แข่งคนสำคัญอย่างอดีตนายพล 'ปราโบโว ซูเบียนโต' ลูกเขยของเผด็จการซูฮาร์โต แต่ก็ทิ้งห่างกันไม่มากนัก ทำให้เครือข่ายภาคประชาชนที่สนับสนุนโจโกวีเกรงว่าการเลือกตั้งครั้งนี้อาจไม่มี 'ปาฏิหารย์' เกิดขึ้นเหมือนปี 2557

อย่างไรก็ตาม คอร์นิเลียส ปูรบา บรรณาธิการข่าวของหนังสือพิมพ์จาการ์ตาโพสต์ สื่อภาษาอังกฤษของอินโดนีเซีย เผยแพร่บทความชื่อว่า What Thai generals can learn from Indonesia's military ในเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา โดยระบุว่า การเลือกตั้งครั้งนี้อาจจะเป็นการเชือดเฉือนกันของตัวเก็งคู่เดิมที่เคยชิงตำแหน่งประธานาธิบดีอินโดนีเซียในปี 2557 แต่สิ่งหนึ่งที่ยังพอจะมั่นใจได้ก็คือ ประชาชนอินโดนีเซียยังเชื่อในประชาธิปไตย และไม่ต้องการย้อนกลับไปสู่ยุคที่ทหารเป็นผู้มีอำนาจเบ็ดเสร็จเหมือนอย่างสมัยซูฮาร์โต

โจโก วิโดโด.jpg
  • โจโก วิโดโด คะแนนนิยมลดลงหลังบริหารประเทศมานาน 5 ปี

บทความของคอร์นิเลียส ปูรบา ยังเปรียบเทียบด้วยว่า ทหารของอินโดนีเซียนั้นยอมกลับไปอยู่ในกรมกองหลังจากเผด็จการซูฮาร์โตถูกประชาชนลุกฮือขับไล่ และไม่พยายามที่จะเข้ามาแทรกแซงการเมืองในระบบรัฐสภามากนัก จึงเป็นตัวอย่างที่ทหารไทยควรเรียนรู้ โดยเขาได้กล่าวถึงการเลือกตั้งของไทยเมื่อวันที่ 24 มี.ค.ว่า ดำเนินไปโดยมีเงื่อนไขมากมายที่เอื้อให้ผู้นำรัฐบาลทหารกลับมาอยู่ในอำนาจต่อไปได้ ขณะที่ภาคประชาสังคมของอินโดนีเซียก็มีบทบาทสำคัญในการกีดกันทหารออกจากการเมือง แต่สถานการณ์ในไทยแตกต่างกัน เพราะคนไทยจำนวนหนึ่งไม่คัดค้านการที่รัฐบาลทหารจะกลับมาปกครองประเทศ

ส่วนนิกเกอิเอเชี่ยนรีวิวรายงานก่อนหน้านี้ว่า ไทยเคยเป็นหนึ่งในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เป็นต้นแบบเรื่องการปกครองระบอบประชาธิปไตย แต่หลังจากเกิดเหตุการณ์ผันผวนทางการเมืองในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา นำไปสู่การรัฐประหารอดีตรัฐบาล ทำให้ไทยตกอยู่ในวังวนอำนาจของเครือข่ายทหารไม่อาจก้าวพ้นจากความขัดแย้งได้

นอกจากนี้ เดอะการ์เดียนรายงานเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 16 เม.ย.ที่ผ่านมาว่า ตำรวจและทหารอินโดนีเซียไม่มีสิทธิลงคะแนนเลือกตั้ง เพราะมีกฎหมายระบุไว้ว่า เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจต้องดำรงสถานะ 'เป็นกลางทางการเมือง' ทำให้ปัจจุบันอินโดนีเซียเป็นประเทศที่ประชาธิปไตยเข้มแข็งเป็นอันดับต้นๆ ของภูมิภาค แต่การเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นบททดสอบอีกครั้งว่าประชาธิปไตยในอินโดนีเซียจะยังเติบโตต่อไปหรือไม่


ทุจริตเลือกตั้ง 'เลี่ยงไม่ได้' - ถ้าเกิดขึ้นแล้วก็ต้องแก้ไขปัญหา

รัฐบาลอินโดนีเซียได้เชิญองค์กรระหว่างประเทศเพื่อมาสังเกตการณ์การเลือกตั้งในครั้งนี้ด้วย และมีผู้ส่งตัวแทนเข้าร่วมจากทั้งหมด 33 ประเทศทั่วโลก ขณะที่ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั่วอินโดนีเซียในปีนี้ มีจำนวนกว่า 192.8 ล้านคน แต่กลุ่มที่ใหญ่ที่สุดคือประชากรอายุเฉลี่ย 40 ปีขึ้นไป ส่วนผู้สมัครรับเลือกตั้งมีจำนวนกว่า 245,000 คน ต้องชิงที่นั่งในสภาทั้งระดับประเทศและระดับท้องถิ่น รวม 20,538 ที่นั่ง

ในบางพื้นที่อาจพบอุปสรรคในการจัดการเลือกตั้งบ้าง เพราะอินโดนีเซียประกอบด้วยหมู่เกาะต่างๆ ราว 17,000 เกาะ และสถานที่จัดการเลือกตั้งอยู่ในถิ่นทุรกันดาร บางแห่งต้องลำเลียงบัตรเลือกตั้งด้วยการขี่ม้า บางแห่งต้องขนส่งบัตรทางเรือ รวมถึงเดินเท้าเข้าไปในชุมชนที่อยู่ห่างไกล จึงอาจทำให้การเก็บรวบรวมบัตรเลือกตั้งทั่วประเทศล่าช้า แต่คณะกรรมการกำกับดูแลการเลือกตั้งประเมินว่า น่าจะประกาศรับรองผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการได้ภายในเดือน พ.ค.

การเลือกตั้งอินโดนีเซียครั้งที่ผ่านมา แม้จะพบการทุจริตเลือกตั้งเกิดขึ้นบ้าง แต่โดยรวมแล้วก็ยังได้รับการยืนยันจากองค์กรสังเกตการณ์การเลือกตั้งว่า "ดำเนินไปอย่างโปร่งใสและเสรี" ส่วนปีนี้ สำนักข่าว รอยเตอร์ รายงานอ้างอิงเจ้าหน้าที่ด้านการจัดการเลือกตั้งของอินโดนีเซีย พบรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 'ปลอม' ราว 3 ล้านคน แต่รายชื่อเหล่านั้นถูกลบไปจากบัญชีของคณะกรรมการกำกับดูแลการเลือกตั้งแล้ว แต่จะต้องไต่สวนข้อเท็จจริงต่อไป เพื่อนำตัวผู้กระทำผิดมารับโทษตามกฎหมาย

AFP-กกต.อินโดนีเซียแถลงข่าวยึดเงินที่เชื่อว่าจะนำไปใช้ซื้อเสียงในการเลือกตั้งใหญ่ 17 เม.ย.2562.jpg
  • คณะกรรมการกำกับดูแลการเลือกตั้งแถลงข่าวว่าเจ้าหน้าที่ยึดเงินต้องสงสัยว่าจะนำไปใช้ซื้อเสียงได้

นอกจากนี้ยังมีรายงานด้วยว่าการเลือกตั้งล่วงหน้าของอินโดนีเซียที่จัดขึ้นในต่างประเทศ เช่น มาเลเซีย อาจเป็นโมฆะ เพราะพบบัตรเลือกตั้งประมาณ 40,000 - 50,000 ใบ ถูกกาเอาไว้แล้ว เข้าข่ายทุจริตการเลือกตั้งอย่างชัดเจน และต้องดำเนินการจัดการเลือกตั้งซ่อมต่อไป


ปัจจัยอื่นๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อการเลือกตั้งอินโดนีเซีย

ซีเอ็นบีซียังวิเคราะห์ด้วยว่า การเลือกตั้งอินโดนีเซียครั้งนี้ไม่ได้มีปัญหาจากการทุจริตเท่านั้น แต่อาจจะต้องคำนึงถึง 'อิทธิพลของกลุ่มทุนจีนที่มีต่อภาคส่วนต่างๆ ในอินโดนีเซีย' เพิ่มเติม เพราะในช่วงที่ผ่านมา กลุ่มทุนจีนต่อรองกับทั้งฝ่ายรัฐบาลโจโกวีและปราโบโวซึ่งมีกิจการต่างๆ ในครอบครองมากมาย

ประเด็นหลักที่กลุ่มทุนจีนต้องการจะต่อรองกับรัฐบาลอินโดนีเซียต่อไปในอนาคต ได้แก่ การเจรจาโครงการก่อสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน รวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับปาล์มน้ำมัน และเครือข่ายธุรกิจอินโดนีเซียที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มทุนจีนเหล่านี้อาจมีผลต่อการเลือกประธานาธิบดีคนใหม่และผู้ที่จะมาร่วมจัดตั้งรัฐบาลใหม่เช่นกัน

อีกประเด็นหนึ่งคือ 'กระแสข่าวปลอมในสื่อสังคมออนไลน์' มีทั้งการใส่ร้ายป้ายสีและโจมตีบุคคลที่เป็นฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง ทำให้เกรงว่าจะเกิดความโกลาหลและข้อขัดแย้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ ซึ่งอาจลุกลามไปสู่การใช้ความรุนแรง ทั้งยังอาจส่งผลต่อการตัดสินใจลงคะแนนให้แก่ผู้สมัครรับเลือกตั้งในเขตต่างๆ ด้วย

ประเด็นสุดท้ายคือ การเคลื่อนไหวอย่างเข้มแข็งและต่อเนื่องของกลุ่มเคร่งศาสนา ทำให้ปราโบโวและพรรคเกอรินดราที่สนับสนุนแนวคิดชาตินิยม พยายามชูประเด็นศาสนาเพื่อตอบสนองประชากรกลุ่มนี้ ขณะที่โจโกวีเคยถูกโจมตีว่า 'ไม่เคร่งศาสนาเพียงพอ' และซีเอ็นเอ็นก็เรียกโจโกวีว่า 'บุรุษแห่งการประนีประนอม' เขาจึงหาทางออกให้พ้นไปจากข้อกล่าวหานี้ด้วยการเลือก 'มารุฟ อามิน' ประธานสภาอูลามะห์ องค์กรสำคัญทางศาสนาอิสลาม มาเป็นคู่หูชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีกับเขาแทน

การที่ตัวเก็งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีทั้งสองฝ่ายพยายามเอาใจกลุ่มเคร่งศาสนา ทำให้ผู้ที่สนับสนุนแนวคิดสายกลางในอินโดนีเซียเกรงว่าจะส่งผลให้เกิดการเคลื่อนไหวเชิงอำนาจนิยมและสนับสนุนแนวคิดสุดโต่ง กระทบต่อความแตกต่างหลากหลายในสังคมอินโดนีเซีย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: