ไม่พบผลการค้นหา
ดูพัฒนาการการเคลื่อนไหวที่แหลมคมขึ้นเรื่อยๆ ของราษฎรปี 2563-ปัจจุบัน พร้อมๆ กับดูท่าทีของกระบวนการยุติธรรมต่อม็อบราษฎร รวมถึงปัจจุบันที่ 'อาจจะ' ทำให้ท่าทีเปลี่ยนไป
ท่าทีกระบวนการยุติธรรม-ม็อบราษฎร.jpg

หลังบรรยากาศการปกครองแบบ ‘เบ็ดเสร็จ’ ของคสช.ตลอด 6 ปีสิ้นสุดลง การประท้วงใหญ่ระลอกล่าสุดในประเทศไทยเริ่มก่อตัวตั้งแต่ต้นปี 2563 และมีพัฒนาการเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในเชิงประเด็น กลุ่มแกนนำ แม้กระทั่งการจัดการกับม็อบผ่านกระบวนการยุติธรรม

ปรากฏการณ์ ‘ขังระหว่างพิจารณาคดี’ 4 แกนนำหลักเมื่อ 9 ก.พ.ที่ผ่านมา แม้ดูเผินๆ จะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ครั้งนี้ต่างออกไป บางคนเรียกว่าเป็นการขังยาว เนื่องจากเป็นกระบวนการขังในชั้นศาล หาใช่การขังในชั้นสอบสวนหรือชั้นตำรวจ

ในชั้นตำรวจกฎหมายระบุชัดเจนว่าฝากขังได้ทีละ 1 ผัด (12 วัน) และหากจะขังต่อ ตำรวจต้องขอศาลเพื่อนุมัติฝากขังใหม่ทุกครั้ง ขอได้ไม่เกิน 7 ครั้ง จากนั้นเมื่ออัยการส่งฟ้องคดีต่อศาลแล้ว นับเป็นการพิจารณาในชั้นพิจารณาคดี การขังในชั้นนี้ไม่มีกำหนด จนกว่าการพิจารณาคดีจะเสร็จสิ้นซึ่งอาจใช้เวลาเป็นปีหรือหลายปี ทางเดียวที่จะออกจากคุกได้ คือ การยื่นขอประกันตัว เบื้องต้นศาลชั้นต้นไม่อนุญาต ล่าสุด ศาลอุทธรณ์ก็มีคำสั่งไม่อนุญาตเช่นกัน

หันมองสถานการณ์ที่ผ่านมาตลอดปีที่แล้วจนปีนี้ ในชั้นสอบสวนแม้มีการขังแกนนำอยู่บ้างแต่ก็ไม่ได้ยาวนาน อาศัยจังหวะหมดกำหนดฝากขังแต่ละรอบในการปล่อยตัวแกนนำ ทั้งจากกรณีที่ตำรวจจู่ๆ ก็ “ไม่ขอฝากขังต่อ” เอง หรือศาลพิจารณาแล้ว “ไม่เห็นควรให้ฝากขังต่อ” ซึ่งล้วนส่งผลต่อการลดอารมณ์โกรธแค้นของประชาชน ขณะที่ในด้านกลับก็ทำให้ขบวนการเคลื่อนไหวมีความต่อเนื่องเพราะแกนนำไม่ต้องนอนคุก โดยเมื่อสำรวจดูจะพบว่าในช่วงปีที่แล้ว แกนนำหลักอย่าง อานนท์ นำภา ถูกขัง 2 ครั้ง ครั้งแรกเพียง 5 วัน และครั้งที่สองราว 2 สัปดาห์

ต้องหมายเหตุด้วยว่า การแจ้งความดำเนินคดีในช่วงแรก ส่วนใหญ่ใช้ ม.116 การฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฯลฯ ก่อนจะพัฒนามาสู่การแจ้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 หลังพล.อ.ประยุทธ์ประกาศว่าจะ “ใช้กฎหมายทุกมาตรา” เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563 ทั้งที่ก่อนหน้านี้ตั้งแต่ต้นปี 2561 มาตรา 112 ไม่ได้ถูกนำมาใช้  

กระนั้น มาตรา 112 ระลอกใหม่นี้ยังมีลักษณะเริ่มต้นด้วย ‘หมายเรียก’ เป็นหลัก ศูนย์ทนายฯ ระบุว่ามีเพียง 5 รายที่เป็นหมายจับและต้องวางเงินประกันก่อนที่ศาลจะให้ประกันตัว ปรากฏการณ์รับรองสิทธิผู้ถูกกล่าวหาเช่นนี้แทบไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนเลยกับคดี 112  ยุคเก่านับตั้งแต่การรัฐประหาร 2549

อย่างไรก็ดี นอกเหนือจากจากการคุมขังแกนนำ 4 คนคือ อานนท์ นำภา, เพนกวิน พริษฐ์ ชิวารักษ์, สมยศ พฤกษาเกษมสุข, หมอลำแบงค์ ปฏิวัฒน์ สาหร่ายแย้ม แล้ว ยังมีความกังวลกันว่า ‘เกมขังยาวแกนนนำ’ จะรวมถึงอีก 3 คน ที่กำลังจะต้องรายงานตัวฟังคำสั่งอัยการในคดี 112 วันที่ 17 ก.พ.2564 นี้  นั่นคือ

·     ไผ่ จตุภัทร บุญภัทรรักษา

·     รุ้ง ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล

·     ไมค์ ภาณุพงศ์ จาดนอก

ก่อนหน้าที่จะเดินทางมาถึงจุดนี้ ปรากฏการณ์ที่น่าสนใจซึ่งอาจสะท้อนภาวะ ‘คลื่นใต้น้ำ’ ในกระบวนการยุติธรรม คือกรณีที่ ม.จ.จุลเจิม ยุคคล โพสต์เฟซบุ๊กตั้งคำถามกับผู้พิพากษาที่ให้ประกันคดี 112 ว่ายังมีความจงรักภักดีหรือไม่ วันถัดมา อานนท์ นำภา โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า ศาลไม่อาจรับแรงกดดันได้อีก และตั้งคำถามถึงพฤติการณ์ของ ม.จ.จุลเจิมที่อาจทำให้สถาบันถูกมองว่าใช้อำนาจนอกรัฐธรรมนูญอีกครั้ง

“ตอนนี้ศาลถูกกดดันอย่างหนักและอาจจะแบกรับความกดดันนี้ไม่ไหว ล่าสุดญาติของในหลวงรัชกาลที่ 10 และเป็นคนสนิท ได้ออกมาเรียกร้องให้ศาลขังราษฎรด้วยมาตรา 112 แม้จะไม่มีการพิจารณาคดีก็ตาม นั่นคือ ถ้ามีคนไปแจ้งความก็จะไม่ให้ประกัน ขังไปเรื่อยๆ โดยไปกดดันศาลว่าศาลไม่ควรไปให้สิทธิประกันตัว และยุยงให้คนไปดำเนินคดีกับศาลอีกต่างหาก ... มิตรสหายเล่าต่อไปอีกว่า หลังจากนี้ ถ้ามีการออกหมายจับราษฎรด้วยมาตรา 112 และไม่ให้ประกันตัว ก็ให้เข้าใจว่า ศาลได้แบกภาวะความกดดันนี้ไม่ไหวแล้ว”

ในวาระนี้จึงขอทบทวนไทม์ไลน์ พัฒนาการของขบวนการเคลื่อนไหวที่ก่อตัวตั้งแต่ปีที่แล้ว พร้อมๆ ไปกับท่าทีของศาลต่อการขัง-ปล่อยแกนนำ รวมถึงเหตุการณ์สำคัญๆ ที่เกิดแทรกระหว่างทาง เพื่อให้เห็นเส้นทางการ ‘พังฝ้า’ และสภาวะไม่นิ่งขององคาพยพต่างๆ

ทั้งนี้ เนื่องจากคดีการเมืองทุกชนิดตั้งแต่ปีที่แล้วถึงปีนี้เกิดขึ้นจำนวนมาก อย่างน้อย 183 คดี มีผู้ต้องหาอย่างต่ำ 291 คน จึงขอพิจารณาท่าทีของกระบวนการยุติธรรมผ่านตัวแกนนำอย่าง อานนท์ นำภา เป็นหลัก

 

ปี 2563

·     มกราคม  เกิดกระแสการจัดกิจกรรม ‘วิ่งไล่ลุง’ อย่างน้อย 34 จังหวัด เรียกร้องหลักให้แก้รัฐธรรมนูญ ตำรวจแจ้งข้อกล่าวหากล่าวหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน กับผู้จัดกิจกรรมจำนวนมาก

· 21 ก.พ. พรรคอนาคตใหม่ถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรค

· กุมภาพันธ์ – มีนาคม เกิดกระแสม็อบต้านเผด็จการในสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ เริ่มมีป้ายข้อความเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ปรากฏตามที่ชุมนุม ตำรวจแจ้งข้อกล่าวหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน กับผู้จัดกิจกรรมจำนวนมาก

· มีนาคม - พฤษภาคม ล็อคดาวน์โควิด 19

· เมษายน ปวินเปิดกลุ่มรอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส

· 4 มิ.ย. วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ นักกิจกรรมที่เป็นผู้ลี้ภัยชาวไทยถูกอุ้มหายในกัมพูชา เริ่มมีแฟลชม็อบทั่วประเทศทั้งรำลึกคณะราษฎร ทวงความยุติธรรมผู้ลี้ภัย ฯลฯ

· 15 มิ.ย.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์ในหลวงมีพระเมตตาไม่ให้ใช้มาตรา 112

(“อะไรที่เกิดขึ้นในต่างประเทศก็คือต่างประเทศ ใครจะกล้าเข้าไปทำอะไรแบบนั้นได้ ส่วนในประเทศไทยที่ยังเคลื่อนไหวกันก็ยังไม่มีใครทำอะไรสักคน ซึ่งกฎหมายมีอยู่หลายตัว เราก็เข้าใจว่าต้องทำให้ทุกคนมีความสบายใจ โดยเฉพาะเด็กนิสิตนักศึกษาผมไม่อยากให้เสียอนาคต ไม่ได้ขู่เขานะ กฎหมายก็มีทุกตัวอยู่แล้ว ทุกคนต้องสำนึกเรื่องการบิดเบือนสถาบัน เดิมเรามีกฎหมายอาญา มาตรา 112 อยู่ และไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องนี้ อยากบอกคนไทยว่าวันนี้มาตรา 112 ไม่ได้ใช้เลย เพราะ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระเมตตาไม่ให้ใช้ นี่คือสิ่งที่ท่านทรงทำให้แล้ว และคุณก็ละเมิดกันเรื่อยเปื่อยอย่างนี้ หมายความว่าอย่างไร คุณต้องการอะไรกัน วันนี้จำเป็นต้องปรับต้องพูดเพื่อให้บ้านเมืองสงบ” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว)

· 19 มิ.ย. อานนท์ยื่นหนังสือศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล เรียกร้องตรวจสอบการใช้งบประมาณแผ่นดินเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ คืนส่วนที่ไม่จำเป็น มาใช้ในการเยียวยาโควิด-19

· 18 ก.ค. กลุ่มเยาวชนปลดแอก (Free Youth) นัดชุมนุมใหญ่ครั้งแรกที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เรียกร้อง 3 ข้อ แก้ไขรัฐธรรมนูญ ยุบสภา หยุดคุกคามประชาชน

· 3 ส.ค. อานนท์ปราศรัยปัญหาของสถาบันกษัตริย์เป็นครั้งแรก ม็อบแฮรี่ พอร์ทเตอร์

· 8 ส.ค. ตำรวจขอฝากขังอานนท์ ศาลอนุญาตให้ประกันตัว กำหนดเงื่อนไขว่าห้ามกระทำการใดๆ ในลักษณะเดียวกับคดีนี้อีก 

(ตำรวจจับอานนท์ 7 ส.ค. ข้อหา ม.116 และอื่นๆ จากการปราศรัยในการชุมนุม Free Youth 18 ก.ค. นำตัวขอศาลฝากขังตอนเย็น พิจารณากันจนดึก รองอธิบดีศาลอาญาร่วมไต่สวนคำร้องขอฝากขัง สรุปให้คืนคำร้องให้ตำรวจเนื่องจากยื่นเกินเวลา ตำรวจจึงนำตัวไปคุมขังยัง สน.บางเขนก่อนนำตัวฝากขังวันรุ่งขึ้น)

· 9 ส.ค. อานนท์ปราศรัยที่ประตูท่าแพ เชียงใหม่ พูดถึงปัญหาของสถาบันกษัตริย์

· 10 ส.ค. การชุมนุม #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน ปราศรัย 10 ข้อเสนอการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

· 16 ส.ค. เยาวชนปลดแอกพัฒนาเป็นประชาชนปลดแอก ชุมนุมใหญ่ นำเสนอ 3 ข้อเดิม ผนึกข้อเรียกร้องการปฏิรูปกษัตริย์มาเป็น ‘1 ความฝัน’

· 20 ส.ค.ฝากขังอานนท์ ศาลอนุญาตให้ประกัน กำหนดเงื่อนไขห้ามกระทำการใดๆ ในลักษณะเดียวกับคดีนี้อีก 

(ตำรวจจับอานนท์วันที่ 19 ส.ค.ข้อหา ม.116 และอื่นๆ จากการปราศรัยม็อบแฮรี่ พอร์ทเตอร์)

· ปลายเดือนสิงหาคม นักเรียนโรงเรียนต่างๆ เริ่มประท้วงด้วยการผูกโบขาว ชูสามนิ้ว

· 26 ส.ค. ฝากขังอานนท์ ศาลอนุญาตให้ประกันตัว ไม่มีเงื่อนไขเพิ่มเติม

(ตำรวจจับอานนท์วันที่ 25 ส.ค. ข้อหา ม. 116 และอื่นๆ จากการปราศรัยเวที #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน 10 ส.ค.)

· 3 ก.ย. ศาลนัดไต่สวนถอนประกันอานนท์ (และไมค์) หลังพนักงานสอบสวนยื่นคำร้อง ศาลสั่งเพิกถอนประกันตัว จำเลยไม่ยื่นประกันใหม่ นำตัวคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ

· 7 ก.ย. ศาลให้ปล่อยตัวอานนท์ (และไมค์) จากเรือนจำ เนื่องจากพนักงานสอบสวนยื่นคำร้องขอให้ยกเลิกการฝากขัง เพราะสอบสวนพอสมควรแล้ว ไม่จำเป็นต้องขังระหว่างการสอบสวน

· 19-20 ก.ย. ธรรมศาสตร์และการชุมนุมจัดชุมนุมใหญ่ ฝังหมุด-ยื่นหนังสือฝากถึงประธานองคมนตรี

· 8 ต.ค. แกนนำหลากหลายกลุ่มรวมตัวกันในนาม คณะราษฎร รวมทุกข้อเรียกร้องและเตรียมจัดชุมนุมใหญ่ 14 ต.ค.

· 14 ต.ค. ชุมนุมใหญ่หน้าทำเนียบ เกิดกรณีขบวนเสด็จฯ

· 15 ต.ค. รัฐประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเช้ามืดสลายการชุมนุม อานนท์และแกนนำหลายคนถูกจับ อานนท์ถูกคุมตัวไปเชียงใหม่

(ข้อหา 116 และอื่นๆ จากกรณีปราศรัยในชุมนุมที่เชียงใหม่เมื่อ 9 ส.ค.) 

· 16 ต.ค. ฉีดน้ำแรงดันสูงสลายการชุมนุมที่ปทุมวัน เกิด organic mob ต่อเนื่องนานนับเดือน กระจายหลายจังหวัด

· 19 ต.ค. อานนท์ยื่นประกัน ศาลไม่อนุญาต อานนท์เขียนคำแถลงยื่นต่อศาล

(“กระบวนการยุติธรรมของเรามีปัญหา และภาพสะท้อนปัญหาที่ชัดเจนที่สุดก็คือ บรรดาคำสั่ง คำพิพากษา รวมทั้งกระบวนการที่ไม่เป็นธรรม กระผมเคยเชื่อมั่นในความยุติธรรมในระบบศาล จึงได้ตัดสินใจและตั้งใจเรียนกฎหมาย แต่ด้วยประสบการณ์ที่ผ่านมากลับพบว่า อำนาจตุลาการนี่แหละเป็นอีกส่วนที่ช่วยค้ำจุนอำนาจเผด็จการ นับตั้งแต่การยอมรับอำนาจคณะรัฐประหาร และการออกคำสั่ง คำพิพากษาสนับสนุนใช้อำนาจโดยไม่ชอบทั้งปวงอยู่ในเรือนจำ ผมเฝ้าหวังอยู่ลึกๆ ว่า อำนาจตุลาการจะสำนึกในจุดบกพร่องนี้และกลับมายืนข้างพี่น้องประชาชน ยืนเป็นเสาหลักให้สังคมต่อไป”)

· 21 ต.ค. ศาลอุทธรณ์ภาค 5 อนุญาตให้ประกันตัวอานนท์ แต่ถูกคุมตัวมาขังต่อที่กรุงเทพฯ ในเวลานั้นมีแกนนำถูกคุมขังหลายคน อาทิ เพนกวิ้น รุ้ง ไมค์ สมยศ ฯลฯ รวมถึงเอกชัย และสุรนาถในคดี ม.110

(ข้อหา 116 และอื่นๆ จากกรณีปราศรัยในการชุมนุม 19-20 ก.ย.)

· 27 ต.ค. ตำรวจแจ้งข้อหาเพิ่มเติมกับอานนท์อีกหลายคดี มีการยื่นประกันตัวอานนท์และคนอื่นๆ ศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว

(“พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งข้อหาแล้ว เห็นว่าหากผู้ต้องหาได้รับการปล่อยตัวอาจไปก่อให้เกิดเหตุความวุ่นวายต่อบ้านเมืองขึ้นอีก ตลอดจนพนักงานสอบสวนคัดค้านในชั้นนี้ จึงให้ยกคำร้อง”)

· 2 พ.ย. ศาลยกคำร้องขอฝากขัง อานนท์ และอีกหลายคน ชี้ไม่มีพฤติการณ์หลบหนี ที่ฝากขังมาหลายวันเพียงพอต่อกระบวนการทำงานของตำรวจแล้ว ปล่อยตัวออกจากเรือนจำ

· 5 พ.ย. แต่งตั้ง ม.จ.จุลเจิม ยุคล และอีก 2 คนเป็นนายทหารพิเศษ กรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ กองบัญชาการทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์

· 8 พ.ย. ชุมนุมเขียนจดหมายถึงกษัตริย์

· 14 พ.ย. Mob Fest หนุนแก้รัฐธรรมนูญ

· 17 พ.ย. ม็อบหน้าสภากดดันรับร่างรัฐธรรมนูญประชาชน (ฉบับiLaw) ถูกฉีดน้ำ สลายการชุมนุม มีปรากฏการณ์ม็อบชนม็อบ

· 18 พ.ย. รัฐสภาโหวตปัดตกร่าง iLaw

· 19 พ.ย.ชุมนุมใหญ่ราชประสงค์ พ่นสี เขียนข้อความหน้า สตช.

· 20 พ.ย. ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์สื่อ “ใช้กฎหมายทุกมาตรา” ยืนยันการใช้ ม.112

(แถลงการณ์นายกรัฐมนตรีวันที่ 19 พ.ย.ระบุว่า จากสถานการณ์การชุมนุมในห้วงที่ผ่านมา ซึ่งรัฐบาลและทุกฝ่ายกำลังร่วมกันหาทางออกโดยสงบและสันติ บนพื้นฐานของกระบวนการตามกฎหมาย และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข...ปัจจุบันสถานการณ์ยังคงไม่คลี่คลายไปในทิศทางที่ดีนัก และมีแนวโน้มจะพัฒนาไปสู่ความขัดแย้ง นำไปสู่ความรุนแรงมากยิ่งขึ้น หากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไปอาจเกิดความเสียหายต่อประเทศชาติ และสถาบันอันเป็นที่รักยิ่ง รวมทั้งความสงบสุขปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนโดยทั่วไป รัฐบาลและหน่วยงานด้านความมั่นคงจึงจำเป็นต้องเพิ่มความเข้มข้นในการปฏิบัติ โดยจะบังคับใช้กฎหมายทุกฉบับ ทุกมาตราที่มีอยู่ ดำเนินการต่อผู้ชุมนุมที่กระทำ....”) 

· 24 พ.ย. 112 คดีแรก “หมายเรียก” เพนกวิน รับทราบข้อกล่าวหา ม.112 จากการชุมนุม 19-20 ก.ย.

· 25 พ.ย. ม็อบหน้าสำนักงานใหญ่ SCB

· 29 พ.ย. ม็อบหน้าราบ 11

· พ.ย.-ธ.ค.ตำรวจมี “หมายเรียก” แกนนำการชุมนุมเป็นจำนวนมาก ทุกคนได้รับการปล่อยตัว

(ศูนย์ทนายรายงานว่านับตั้งแต่ 24 พ.ย.63-8 ก.พ.64 มีคดี 112 เกิดขึ้น 44 คดี ผู้ต้องหา 58 ราย ในจำนวนนี้ มีเพียง 5 รายที่มีการขอฝากขังและทั้งหมดได้รับการประกันตัว)

2564

· 2 ก.พ. ม.จ.จุลเจิม ยุคล นายทหารพิเศษประจำกรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ โพต์เฟซบุ๊กว่า ตุลาการบกพร่องในหน้าที่เพราะให้ประกันตัวผู้ต้องหามากระทำผิดซ้ำๆ หรือไม่ มีความจงรักภักดีหรือไม่

· 3 ก.พ. อานนท์โพสต์เฟซบุ๊กระบุศาลกำลังรับแรงกดดันไม่ไหว และตั้งคำถามถึงการใช้อำนาจนอกรัฐธรรมนูญ

· 8 ก.พ.ศาลยกคำร้องดีอีเอส ระงับคลิป “ธนาธร” ไลฟ์วัคซีนโควิด

· 9 ก.พ. อัยการสั่งฟ้องแกนนำ 4 คน อานนท์ เพนกวิ้น สมยศ หมอลำแบงค์ ต่อศาล ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้ประกัน จำเลยอุทธรณ์

(“พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้วเห็นว่าคดีมีอัตราโทษสูงพฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรง อีกทั้งการกระทำของจำเลยเป็นการกระทำซ้ำๆต่างกรรมต่างวาระตามข้อกล่าวหาเดิมหลายครั้งหลายครา กรณีมีเหตุอันควรเชื่อว่าหากอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยอาจไปก่อเหตุลักษณะเดียวกันกับความผิดที่ถูกกล่าวหาอีก จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวให้ยกคำร้องแจ้งคำสั่งให้ทราบ และคืนหลักประกัน”)

· 15 ก.พ. ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่ให้ประกันตัว 4 แกนนำ

(พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว เห็นว่า ความผิดตามฟ้องมีอัตราโทษสูง การกระทำตามฟ้องมีลักษณะเป็นการร่วมกันกระทำความผิดของกลุ่มบุคคลอันอาจก่อให้เกิดความเสียหายหรือความวุ่นวายขึ้น และส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง โดยจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ขึ้นปราศรัยด้วยถ้อยคำที่นำมาซึ่งความเสื่อมเสียสู่สถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นที่เทิดทูนและเคารพสักการะ กระทบกระเทือนจิตใจของปวงชนชาวไทย ผู้จงรักภักดีอย่างไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย และมีลักษณะชักนำประชาชนให้ล่วงละเมิดต่อกฎหมายของแผ่นดิน นอกจากนี้ยังปรากฎพฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ว่าถูกกล่าวหาดำเนินคดีเกี่ยวกับความผิดในลักษณะทำนองเดียวกันนี้ในคดีอื่นอีก ส่วนจำเลยที่ 4 เคยต้องโทษตามคำพิพากษาถึงที่สุดว่าได้กระทำความผิด ในลักษณะทำนองเดียวกันนี้มาก่อน อีกทั้งคดีนี้จเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ถูกจับกุมตามหมายจับกรณีมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าหากอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างพิจารณาแล้ว จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 อาจจะก่อให้เดิดเหตุอันตรายหรือความเสียหายประการอื่นอีก และน่าเชื่อว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 อาจจะหลบหนี จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ในระหว่างพิจารณา คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวนั้นชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง)

พูนสุข พูนสุขเจริญ

พูนสุข พูนสุขเจริญ ทนายความจากศูนย์ทนาความเพื่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่ให้ความช่วยเหลือด้านคดีแก่นักกิจกรรมให้ความเห็นไว้เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ว่า ศาลไม่ควรหวั่นไหวกับข้อความของม.จ.จุลเจิม เพราะเป็นข้อความของคนที่ไม่เข้าใจกระบวนการยุติธรรม การให้ประกันตัวเป็นสิทธิของผู้ต้องหา/จำเลย คือหัวใจของกฎหมายอาญา ซึ่งมีหลักของการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด และทำให้ผู้ต้องหา/จำเลย ได้รับสิทธิต่างๆ ตามมารวมถึงสิทธิในการประกันตัว

*รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 29 ระบุว่า “ในคดีอาญา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจําเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคําพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทําความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทําความผิดมิได้” อันเป็นหลักการสากลที่ได้รับรองไว้ในกติกตาระหว่างประเทศ ว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR)

“โดยสถานะของม.จ.จุลเจิมที่มีความใกล้ชิดกับสถาบัน การโพสต์เรื่องศาลกับคดี 112 หากต่อมาศาลเปลี่ยนแปลงการบังคับใช้ไปในแนวดังกล่าว อาจทำให้กระบวนการยุติธรรมถูกมองว่าไม่เป็นอิสระ และยิ่งซ้ำเติมสถานการณ์ปัจจุบันให้รุนแรงมากขึ้น”

“ถ้าประเมินว่าศาลให้ประกันเป็นการเข้าข้างหรือสนับสนุนหรือเป็นปฏิปักษ์กับสถาบันเป็นการตีความที่ไม่ถูกต้อง และจะทำให้กระบวนการยุติธรรมไม่สามารถทำงานได้อย่างเป็นอิสระ ดังนั้นตุลาการไม่ควรจะหวั่นไหวกับการทำหน้าที่หรือรักษากฎหมาย กระบวนการยุติธรรม”

“มีการพูดด้วยว่าตุลาการพิพากษาในพระปรมาภิไธย ทั้งที่นี่เป็นเพียงรูปแบบเฉยๆ แต่ต้องยืนยันในหลักการว่าสถาบันกษตริย์ไม่ได้เข้ามาเกี่ยวข้อง หรือสถาบันตลุาการไม่ได้ ทำแทนสถาบันกษัตริย์แต่อย่างใด สุดท้ายต้องเป็นอำนาจของประชาชน การที่จุลเจิมพูดแบบนี้ทำให้สร้างแรงกดดันให้ศาล และความไม่สง่างามให้สถาบันกษัตริย์ เพราะเรื่องนี้เป็นข้อครหาของจำเลย 112 เหมือนกัน เช่น กรณีของทนายประเวศ ประภานุกูล ที่ติดคุกและต่อสู้คดีแบบไม่ยอมรับกระบวนการยุติธรรมเพราะศาลพิพากษาภายใต้พระปรมาภิไธย ดังนั้น การพดแบบนี้และโดยสถานะของเขาที่มีความใกล้ชิด จะทำให้กระบวนการยุติธรรมถูกมองว่าสามารถแทรกแซงได้ ไม่เป็นอิสระ และยิ่งซ้ำเติมสถานการณ์ปัจจุบันให้รุ่นแรงมากยิ่งขึ้น” พูนสุขกล่าว 


ภาคีนักกฎหมายสิทธิฯ ออกคำแถลงถึงคนในกระบวนการยุติธรรม

ภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นการรวมตัวของหลายองค์กร ได้ออกคำประกาศภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนถึง "คน" ในกระบวนการยุติธรรม ในวันที่ 16 ก.พ.2564 ดังนี้

ประมวลจริยธรรมข้าราชการตุลาการ หมวด ๑ อุดมการณ์ของผู้พิพากษา ข้อ ๑ ระบุว่า

“หน้าที่สำคัญของผู้พิพากษา คือ การประสาทความยุติธรรมแก่ผู้มีอรรถคดี ซึ่งจักต้องปฏิบัติด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต เที่ยงธรรม ถูกต้องตามกฎหมาย และนิติประเพณี ทั้งจักต้องแสดงให้เป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณชนด้วยว่า ตนปฏิบัติเช่นนี้อย่างเคร่งครัดครบถ้วน เพื่อการนี้ผู้พิพากษาจักต้องยึดมั่นในความเป็นอิสระของตนเอง และเทิดทูนไว้ซึ่งเกียรติศักดิ์แห่งสถาบันตุลาการ”

จากประมวลจริยธรรมข้าราชการตุลาการข้างต้น จึงอาจกล่าวได้ว่า “อำนาจตุลาการ” จะศักดิ์สิทธิ์ มีเกียรติ และเป็นที่เชื่อถือไว้วางใจของสังคม ไม่ใช่เพราะศาล “มีอำนาจตุลาการ” แต่เพราะศาล “ใช้อำนาจตุลาการโดยปราศจากอคติให้เป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณชน” ไม่ว่าคู่ความในคดีจะเป็นฝ่ายผู้มีอำนาจหรืออยู่ฝ่ายตรงข้ามกับผู้มีอำนาจ

คำสั่งศาลอุทธรณ์ที่ไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวระหว่างพิจารณานายพริษฐ์ หรือ เพนกวิ้น ชิวารักษ์ ที่ ๑ กับพวกรวม ๔ คน ในคดีของศาลอาญา หมายเลขดำที่ อ.๒๘๗/๒๕๖๔ เมื่อวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ ความว่า

“พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว เห็นว่า ความผิดตามฟ้องมีอัตราโทษสูงการกระทำตามฟ้องมีลักษณะเป็นการร่วมกันกระทำความผิดของกลุ่มบุคคลอันอาจก่อให้เกิดความเสียหายหรือความวุ่นวายขึ้น และส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง โดยจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๔ ขึ้นปราศรัยด้วยถ้อยคำที่นำมาซึ่งความเสื่อมเสียสู่สถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นที่เทิดทูนและเคารพสักการะ กระทบกระเทือนจิตใจของปวงชนชาวไทยผู้จงรักภักดีอย่างไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย และมีลักษณะชักนำประชาชนให้ล่วงละเมิดต่อกฎหมายของแผ่นดิน นอกจากนี้ ยังปรากฏพฤติการณ์ของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ว่า ถูกกล่าวหาดำเนินคดีเกี่ยวกับความผิดในลักษณะทำนองเดียวกันนี้ในคดีอื่นอีก ส่วนจำเลยที่ ๔ เคยต้องโทษตามคำพิพากษาถึงที่สุดว่าได้กระทำความผิดในลักษณะทำนองเดียวกันนี้มาก่อน อีกทั้ง คดีนี้จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๔ ถูกจับกุมตามหมายจับ กรณีมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า หากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวในระหว่างพิจารณาแล้วจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๔ อาจจะก่อให้เกิดเหตุอันตรายหรือความเสียหายประการอื่นอีก และน่าเชื่อว่าจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๔ อาจจะหลบหนี จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๔ ในระหว่างพิจารณา คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวนั้นชอบแล้วให้ยกคำร้อง” นั้น

เสมือนประหนึ่งว่า ศาลได้แสดงให้เห็นเป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณชนแล้วว่า ผลแห่งคำพิพากษาในคดีดังกล่าวจะออกมาในแนวทางใด ทั้งที่เป็นเพียงคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวเท่านั้น คำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวที่มีลักษณะของการวินิจฉัยคดีดังกล่าว ย่อมขัดต่อหลักการและเจตนารมณ์แห่งประมวลวิธีพิจารณาความอาญา หมวดปล่อยชั่วคราว มาตรา ๑๐๘ และ ๑๐๘/๑ ยิ่งไปกว่านั้นยังขัดต่อ “หลักสันนิฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์” (presumption of innocence) ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๙ วรรคสอง ที่บัญญัติว่า “ในคดีอาญา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจําเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคําพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทําความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทําความผิดมิได้” โดยสิ้นเชิง

ด้วยความเคารพต่อคำสั่งศาลดังกล่าว ภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน มีความเห็นในฐานะผู้มีวิชาชีพนักกฎหมายเช่นเดียวกับศาล มีศักดิ์และสิทธิโดยทัดเทียมกันต่อหน้ากฎหมายว่า ศาลมิได้มีหน้าที่เพียงตัดสินคดีระหว่างบุคคลกับบุคคลให้เป็นไปโดยยุติธรรมเท่านั้น แต่มีหน้าที่สำคัญคือการพิจารณาและพิพากษาอรรถคดีให้มีความเป็นธรรมระหว่างบุคคลกับรัฐและ/หรือสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วย หากจำเลยและประชาชนโดยทั่วไป ไม่อาจสัมผัสได้ถึงการใช้อำนาจตุลาการโดยปราศจากอคติ ภายใต้กระบวนพิจารณาคดีที่เป็นธรรม (Fair Trial) อันจะนำไปสู่ความยุติธรรมในปลายทางเสียแล้ว สถาบันตุลาการนั่นเองที่จะถูกพิพากษาโดยมติของสาธารณชน