ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก พ.ต.ท.โชคอำนวย วงษ์บุญฤทธิ์ พนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม นำตัวอานนท์ นำภา แกนนำคณะราษฎร 2563 ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญาที่ 1588/2563 ลงวันที่ 15 ต.ค. 2563 ในความผิดฐานยุยงปลุกปั่นฯ, มั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 (3), 215 วรรคแรก, 385, 83, พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ, พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน, พ.ร.บ.จราจรทางบก และ พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง มาฝากขังครั้งแรก เป็นเวลา 12 วัน ตั้งแต่วันที่ 27 ต.ค. - 7 พ.ย. 2563 เนื่องจากการสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น รอผลตรวจสอบประวัติอาชญากร และผลการตรวจสอบประวัติการต้องโทษของผู้ต้องหา
คำร้องฝากขังระบุพฤติการณ์ กรณีวันที่ 19-20 ก.ย. 2563 มีการชุมนุม '19 กันยา ทวงอำนาจคืนราษฎร' ของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม นำโดยพริษฐ์ ชิวารักษ์ กับพวก ที่ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และท้องสนามหลวง มีกลุ่มผู้ชุมนุมทยอยเดินทางเข้ามารวมตัวกันอยู่ที่บริเวณฟุตบาท ด้านหน้า ม.ธรรมศาสตร์ รอบพื้นที่สนามหลวง เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ชนะสงคราม จึงประชาสัมพันธ์และแจ้งข้อกฎหมายผ่านรถติดเครื่องขยายเสียงให้กลุ่มผู้ชุมนุมยุติกิจกรรม
ต่อมาปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล กดดันเจ้าหน้าที่ของ ม.ธรรมศาสตร์ ให้เปิดประตู เวลา 12.05 น. ภาณุพงศ์ จาดนอก พร้อมกับกลุ่มผู้ชุมนุมได้ร่วมกันผลักดันประตูรั้ว ม.ธรรมศาสตร์ จนแม่กุญแจที่ล็อคประตูรั้วได้รับความเสียหาย ต่อมาได้เคลื่อนกลุ่มผู้ชุมนุมออกจากบริเวณ ม.ธรรมศาสตร์ เพื่อไปยังพื้นที่ท้องสนามหลวง โดยมีกิจกรรมสลับกับการปราศรัยบนเวทีของแกนนำเรื่อยมา
เวลาประมาณ 22.53 น. วันเดียวกันอานนท์ ผู้ต้องหาในคดีนี้ได้ขึ้นไปปราศรัยบนเวทีใหญ่สนามหลวงโดยใช้เครื่องขยายเสียงต่อหน้ากลุ่มผู้มาร่วมชุมนุม เนื้อหาในการปราศรัยได้กล่าวพาดพิงและโจมตีสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ต่อมาเมื่อวันที่ 20 ก.ย. 2563 เวลาประมาณ 06.44 น. อานนท์ ผู้ต้องหาพร้อมกับกลุ่มผู้ชุมนุม ทำพิธีปักหมุดคณะราษฎร โดยนำหมุดมาฝังลงบนพื้นที่ท้องสนามหลวงบริเวณหน้าเวทีการปราศรัย ซึ่งกลุ่มผู้ชุมนุมได้มีการเจาะทำลายพื้นบริเวณดังกล่าวเพื่อใช้ในการประกอบพิธี เหตุเกิดบริเวณ ม.ธรรมศาสตร์ และท้องสนามหลวง แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวน ผู้ต้องหาให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา
ท้ายคำร้อง พนักงานสอบสวนขอคัดค้านการประกัน เนื่องจากผู้ต้องหามีพฤติการณ์จะไปชุมนุมก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองในลักษณะเดิมเหมือนที่ผ่านมา และผู้ต้องหาอยู่ระหว่างถูกดำเนินคดีอยู่หลายคดีและหลายท้องที่ ซึ่งล้วนเป็นคดีที่มีอัตราโทษสูง หากผู้ต้องหาได้รับการประกันตัวไปเกรงว่าผู้ต้องหาน่าจะหลบหนี
ต่อมาเวลา 15.30 น. ทนายความของผู้ต้องหาได้ยื่นคัดค้านการฝากขังและเตรียมเงินสด 2 แสนบาท เป็นหลักทรัพย์ขอประกันตัว ซึ่งในเวลา 16.50 น. มีรายงานว่า ศาลพิจารณาถึงเหตุแห่งความจำเป็นแล้ว ได้อนุญาตฝากขังผู้ต้องหาครั้งแรกเป็นเวลา 7 วัน ในส่วนการยื่นการประกันตัว ศาลพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งข้อหาแล้ว เห็นว่า หากผู้ต้องหาได้รับการปล่อยตัวอาจไปก่อให้เกิดเหตุวุ่นวายต่อบ้านเมืองขึ้นอีก ตลอดจนพนักงานสอบสวนคัดค้าน ในชั้นนี้จึงให้ยกคำร้อง ดังนั้น เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จะได้ควบคุมตัวนายอานนท์ไปคุมขังยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ในชั้นฝากขังนี้ต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคดีชุมนุม 19-20 ก.ย. 2563 ส่วนของพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน และปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง แกนนำผู้ชุมนุมคณะราษฎร 2563 วันนี้พนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม ได้ยื่นฝากขังครั้งที่ 2 เนื่องจากการสอบสวนไม่เสร็จสิ้น โดยศาลอนุญาตให้ฝากขังครั้งที่ 2 นี้ เพียง 5 วันตั้งแต่วันที่ 28 ต.ค. - 1 พ.ย.นี้ โดยก่อนหน้านี้ศาลอนุญาตเพียง 7 วัน จากที่พนักงานสอบสวนส่งคำร้องขอ 12 วัน
ด้าน กฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความ เผยว่า ศาลไต่สวนพิจารณา โดยรับฝากขัง ตามคำขอของพนักงานสอบสวน เป็นเวลา 7 วัน และไม่อนุญาตให้ประกันตัว อ้างเหตุว่า หากผู้ต้องหาได้รับการปล่อยตัวอาจไปก่อความวุ่นวายต่อบ้านเมืองขึ้นอีก ประกอบกับ มีการคัดค้านการให้ประกันในชั้นพนักงานสอบสวนด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง