วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 11.00 น. พรรคเพื่อไทยจัดเสวนา “เพื่อไทยมา ปัญหาโจรไซเบอร์ต้องจบ” โดยมี สยาม หัตถสงเคราะห์ ส.ส. หนองบัวลำภู พรรคเพื่อไทย ศรัณย์ ทิมสุวรรณ ส.ส.เลย พรรคเพื่อไทย จุฑาพร เกตุราทร คณะทำงานเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย ร่วมเสวนา และ อนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด เป็นผู้ดำเนินรายการ
สยาม หัตถสงเคราะห์ ส.ส. หนองบัวลำภู พรรคเพื่อไทย รองประธานคณะกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ กมธ.ดีอีเอส กล่าวว่า จากการติดตามปัญหาภัยไซเบอร์ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาพบว่าความเสียหายจากโจรไซเบอร์ ถือเป็นปัญหาด้านความมั่นคงของประเทศแล้ว ตนได้รับฟังเรื่องร้องเรียนจากผู้เสียหายจำนวนมาก ที่พบมากคือเรื่องซื้อขายของออนไลน์ อาทิ การซื้อขายของไม่ตรงปก รวมไปถึง เด็กเยาวชนที่เล่นเกม อยากอัพเลเวลต้องไปซื้อไอเท็มเพิ่มซึ่งต้องใช้เงิน เมื่อต้องใช้เงิน เด็กบางคนถูกชักชวนไปเปิดบัญชีม้า รวมทั้งมีการฉ้อโกงทางโทรศัพท์ ทั้งในลักษณะของการโทรและข้อความ
นอกจากนี้ ที่ปรึกษาของตน ยังเคยถูกแฮ็กไลน์ (LINE) จึงดำเนินการเข้าแจ้งความที่ สน.โชคชัย แต่ว่าตำรวจยังไม่รับแจ้งความ เนื่องจากยังไม่มีความเสียหายในเรื่องเงิน ซึ่งถือว่าเป็นปัญหาที่ประชาชนพบเจอด้วย
ทั้งนี้ที่ผ่านมา กมธ.ดีอีเอส ได้พยายามแก้ไขปัญหาร่วมกันกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงการคลัง ที่ดูแลเรื่องบัญชีม้า ตัวแทนสมาคมธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ สอท.มาโดยตลอด ซึ่งหลังจากได้รวบรวมปัญหาจากผู้เสียหายและอุปสรรคในการแก้ไขความเดือดร้อนของประชาชน จึงนำเสนอแนวทางที่ควรจะแก้ไขคือ 6 แนวทาง ได้แก่
1. การออกกฏหมายที่สำคัญจำเป็น รวดเร็ว ในการระงับยับยั้งอาชญากร
2. ต้องตั้งกองกำกับการไซเบอร์ทุกจังหวัด เพื่ออำนวยความสะดวกของประชาชนแต่ละพื้นที่
3. กำหนดการใช้ซิมการ์ดของแต่ละบุคคล
4. การปราบปรามบัญชีม้า ซึ่งมีจำนวนหลายล้านบัญชี
5. การเสริมสร้างบุคลากรที่มีความรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) ให้กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
6. การเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้เด็กเยาวชน ติดความรู้ให้ชาวบ้าน ไม่ให้ถูกชักชวนการลงทุนจากอาชญากร
“รัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลฯ 4 ปีมายังไม่ทำอะไร ถ้าเป็นรัฐบาลเพื่อไทยจะเสนอให้ปิดแอปพลิเคชันพวกนี้ไว้ก่อน เพราะถือว่าเป็นภัยความมั่นคง” ส.ส.สยาม กล่าว
ด้าน ศรัณย์ ทิมสุวรรณ ส.ส.เลย พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ตอนนี้ประเทศไทยมีวิธีการที่สามารถแก้ไขปัญหาอาชญากรรมทางไซเบอร์ แต่รัฐบาลยังปล่อยผ่านมาจนถึงทุกวันนี้ พรรคเพื่อไทยได้อภิปรายในสภาว่า เว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันที่หลอกหลวง มีประชาชนเป็นผู้เสียหายแล้วมูลค่ารวมมากกว่า 10 - 100 ล้าน บาท จนถึงวันนี้เว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันดังกล่าวยังไม่ถูกดำเนินการแต่อย่างใด ทุกอย่างไม่ใช่ปัญหาที่เราไม่สามารถรับมือได้ ปัญหาตอนนี้คือรัฐบาลไม่ทำ หน่วยงานที่ต้องรับผิดชอบไม่สามารถปิดได้ คดีส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยไม่ใช่อาชญากรรมที่มีความซับซ้อนมากขนาดนั้น เช่น การชักชวนหรือหลอกให้ลงทุน
ศรัณย์ กล่าวต่อว่า ตนเคยพูดคุยกับเหยื่อหลายคน ทุกเสียงเห็นตรงกันว่า สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากสภาพเศรษฐกิจ การบริหารบ้านเมือง ประชาชนต้องหารายได้เพิ่มขึ้นนอกเหนือจากรายได้หลัก ซึ่งไม่ใช่เกิดจากความโลภ ประชาชนไม่เคยได้ ไม่เคยมีความหวังจากรัฐบาล ทำให้ประชาชนต้องเลือกไปหาความเสี่ยงนั้น กว่าภาครัฐจะมีท่าทีก็กินเวลานาน อย่างกรณีที่มีการเปิดเผยชื่อเว็บไซต์ที่ไม่น่าไว้วางใจ ตอนนี้เว็บไซต์ดังกล่าวก็เปลี่ยนชื่อไปแล้ว
“ถ้าเพื่อไทยมา ปัญหาโจรไซเบอร์ต้องจบ เรามีความสามารถทำให้เกิดขึ้นได้ ซึ่งจะอาศัยเทคโนโลยีที่มีอยู่แล้ว และความร่วมมือจากภาคเอกชน พรรคเพื่อไทยรู้วิธีและทำจริง เราจะไม่ปล่อยให้ปัญหานี้กระทบต่อพี่น้องประชาชน ขอแค่เรามีโอกาสที่จะทำ” ส.ส. ศรัณย์ กล่าวทิ้งท้าย
ด้าน จุฑาพร เกตุราทร ผู้ซึ่งประสงค์สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.กทม.เขตบางรัก พรรคเพื่อไทย และคณะทำงานเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ปัญหานี้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจภาคธุรกิจและบุคคล ในประเทศไทย มีมูลค่าความเสียหายเกือบ 30,000 ล้านบาทซึ่งถือว่าเยอะมาก ข้อมูลจากศูนย์แจ้งความออนไลน์ของทางตำรวจ ในปีที่ผ่านมามีคดีที่แจ้งมากกว่า 200,000 คดี ส่วนใหญ่เป็นการแจ้งความในเรื่องอาชญากรรมทางเทคโนโลยีกว่า 170,000 กว่าคดี ซึ่งประเภทที่มีสัดส่วนมากที่สุดคือการถูกหลอกให้ซื้อขายของออนไลน์
ดังนั้น ถึงเวลาแล้วที่ปัญหานี้จะต้องได้รับการแก้ไขอย่างตรงจุด โดยในระยะสั้น หน่วยงานทั้งภาครัฐ และเอกชนควรมุ่งเน้นประชาสัมพันธ์ผ่านทางสื่อออนไลน์ต่างๆ ให้แต่ละกลุ่มประชากร รู้เท่าทัน ภัยจากอาชญากรรมไซเบอร์ ในระยะยาว ต้องมีการทำงานร่วมกันมากขึ้นระหว่างหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย (law enforcer) อย่างสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และตัวแทนจากภาคธนาคาร ซึ่งถือเป็นผู้มีฐานข้อมูลบัญชี (Database Account) หากได้มีการพิสูจน์ทราบแล้วว่ามีการเปิดบัญชีม้า ให้ทำการอายัดบัญชีได้ทันท่วงที โดยการฟรีซบัญชีม้าไว้ ก่อนที่เงินจะถูกโอนออกนอกประเทศ หรือถูกโอนเป็นสกุลเงินดิจิทัลได้ นอกจากนี้ หน่วยงาน กสทช. จะสามารถเข้ามาป้องกันและปราบปรามการโกงทางไซเบอร์นี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ในปัจจุบันการอายัดเงินยังทำได้ค่อนข้างยากมาก เจ้าหน้าที่ตำรวจมักจะติดปัญหาในเรื่องของการขอข้อมูลแต่ละคดี บางคดีขอข้อมูลต้องทำหนังสือสอบถามไปยังธนาคารต่างๆ ตามเส้นทางการโอนเงิน ซึ่งทำให้เสียเวลา จึงต้องจัดตั้งกองปราบโกงออนไลน์ ที่มีอำนาจจัดการการโกงมากขึ้น ขจัดอุปสรรคขั้นตอนการปฏิบัติงานที่ไม่ทันอาชญากร ขอให้พึงระลึกไว้เสมอว่ายิ่งนาน โอกาสได้เงินคืนจะยิ่งลดน้อยลง
“ในระยะยาวควรมีหลักสูตรให้กระทรวงศึกษาธิการบรรจุหลักสูตรป้องกันปัญหานี้ให้เหมาะสมกับช่วงวัย เปรียบเสมือนการฉีดวัคซีนภูมิปัญญาเพื่อป้องกันการตกเป็นเหยื่อ ซึ่งพรรคเพื่อไทยทำได้ดีกว่าเดิมแน่นอน” จุฑาพร กล่าวทิ้งท้าย
ด้านอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองเลขานุการคณะกรรมการยุทธศาสตร์และทิศทางการเมืองพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้ดำเนินการเสวนา กล่าวสรุปว่าจากข้อเสนอแนะดังกล่าว โดยพรรคเพื่อไทยขอเสนอแนวนโยบายของพรรคในการปราบปรามการโกงออนไลน์และอาชญากรรมทางไซเบอร์ 6 ด้าน ได้แก่
1.ให้มีคณะกรรมการระดับชาติ เพื่อป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางไซเบอร์ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อความรวดเร็วในการกำหนดนโยบายและการปฏิบัติ
2. มีการจัดตั้งกองปราบไซเบอร์ มีอำนาจจัดการปัญหาอาชญากรรมไซเบอร์ให้ครบวงจรมากขึ้น
3. ควบคุมการใช้เครื่องมือเกี่ยวกับการอาชญากรรมทางไซเบอร์ เช่น IP Box Generator เพิ่มความเข้มในการจดทะเบียนซิมการ์ดโทรศัพท์
4. เพิ่มโทษบัญชีม้า เว้นว่าถูกหลอกลวง
5. เพิ่มอำนาจ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) ในการควบคุมจัดการเงิน ที่ได้มาจากโกงประชาชนที่จะแปรไปเป็นสินทรัพย์ดิจิทัล
6.มีกองทุนเยียวยาเหยื่อการโกง โดยนำทรัพย์สินของผู้กระทำความผิดที่ถูกยึดหรืออายัดมาใช้เพื่อการนี้