องค์การการค้าโลก (WTO) กล่าวว่า การขึ้นอัตราภาษีสินค้านำเข้าจากจีนของรัฐบาลประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์นั้นละเมิดกฎการค้าระหว่างประเทศ หลังจากที่จีนร้องเรียนไปยัง WTO เนื่องจากสหรัฐอเมริกาเก็บภาษีสินค้านำเข้าเพิ่ม 234,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 7 ล้านล้านบาทเมื่อปี 2561
WTO ระบุว่า สหรัฐฯ ได้ละเมิดกฎการค้าระหว่างประเทศหลายข้อ ซึ่งหนึ่งในนั้นรวมถึงกฎที่ระบุว่า ให้ทุกประเทศใช้อัตราการเก็บภาษีการค้ากับประเทศสมาชิกอย่างเท่าเทียมกัน แต่สหรัฐฯ บังคับใช้มาตรการเก็บภาษีในอัตราที่สูงสุดกับจีนเพียงประเทศเดียวและไม่มีหลักฐานที่กล่าวว่าจีนขโมยเทคโนโลยีอย่างไม่เป็นธรรมตามที่สหรัฐฯ กล่าวอ้างมาตลอด
ทั้งนี้สหรัฐฯ ออกมาตอบโต้ WTO โดยชี้ว่า การเก็บภาษีนำเข้าเพิ่มเติมจากจีนนั้นเป็นนโยบายที่ชอบธรรม เนื่องจากจีนขโมยทรัพย์สินทางปัญญา และบังคับให้บริษัทเทคโนโลยีของสหรัฐฯ ถ่ายทอดเทคโนโลยีหากเข้าไปลงทุนในจีน
นอกจากนี้สหรัฐฯ ยังกล่าวว่า สหรัฐฯ อาจจะกระทำบางสิ่งกับ WTO เนื่องจาก WTO ปล่อยให้จีนหลุดพ้นข้อหาจากการเป็นอาชญากร ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลของ ปธน.ทรัมป์นำสหรัฐฯ ออกจากการเป็นสมาชิกขององค์กรระหว่างประเทศอื่นๆ อย่างยูเนสโกและองค์การอนามัยโลก โดยอ้างว่า องค์การอนามัยโลกดำเนินนโยบายเข้าข้างจีนและช่วยปกปิดข้อมูลการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่มีต้นตอของการแพร่ระบาดมาจากประเทศจีน
ขณะที่กระทรวงการค้าของจีนออกมากล่าวว่า การตัดสินใจของ WTO นั้นยุติธรรมและมีความชัดเจน ทั้งยังยืนยันด้วยว่าจะปฏิบัติตามกฎของ WTO และสนับสนุนระบบการค้าพหุภาคี จึงหวังว่าสหรัฐฯ จะปฏิบัติเช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมาธิการพิจารณาข้อพิพาทระหว่างจีนและสหรัฐฯ ได้ออกมากล่าวว่าให้สหรัฐฯ และจีนไกล่เกลี่ยข้อขัดแย้งทางการค้าโดยเร็ว เพื่อลดความตึงเครียดทางการค้าที่เกิดขึ้นทั่วโลก และยังแนะนำให้สหรัฐฯ ดำเนินมาตรการทางการค้าให้สอดคล้องกฎการค้าระหว่างประเทศ
ในช่วงระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา สหรัฐฯ ขู่เก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่มกว่า 500,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 15 ล้านล้านบาท ก่อนที่ทั้งสองประเทศจะเจรจาลงนามข้อตกลงทางการค้าใหม่เมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา แต่ทั้งนี้ก็ยังคงอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนอยู่ที่ 370,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 11 ล้านล้านบาท ซึ่งสหรัฐฯ สัญญาที่จะลดอัตราภาษีนำเข้าสินค้ามูลค่า 1.2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (3.6 ล้านล้านบาท) จากร้อยละ 15 เป็นร้อยละ 7.5 ภายในระยะเวลา 30 วัน
ที่มา CNN / The guardian / BBC
ข่าวที่เกี่ยวข้อง