ที่ SCC Creative Space เวลา 18.00-20.00 น. ได้มีการจัดวงเสวนาพูดคุยถึงเรื่อง บทบาทการเมืองกับการชุมนุม โดยมีวิทยากรได้แก่ ดร.จันจิรา สมบัติพูนศิริ นักวิชาการประจำสถาบันเอเชีย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย น.ส.ชลธิชา แจ้งเร็ว นักกิจกรรม น.ส.ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ ทนายความประจำ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ดำเนินรายการโดย นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผํจัดการโครงการอินเทอร์ฌน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw)
ในวงเสวนาดังกล่าวได้มีการพูดคุยถึงการชุมนุมของนักศึกษา หรือที่รู้จักกันว่า "แฟลชม็อบ" ซึ่งวิทยากรแต่ละคนได้แลกเปลี่ยนในหัวข้อที่แตกต่างกัน โดยมีจุดร่วมกัน คือมองว่าการต่อสู้ครั้งนี้ยังต้องใช้เวลาอีกยาวนาน
ดร.จันจิรา ในฐานะนักวิชาการที่ศึกษาเกี่ยวการชุมนุมในต่างประเทศ เธอวิเคราะห์ว่า ในปัจจุบันสังคมโลกเกิดการหดตัวลงของพื้นที่ภาคประชาสังคม ซึ่งมาจากการที่ระบอบประชาธิปไตยทั่วโลกเข้าสู่สภาวะถดถอย และมีระบอบการเมืองเป็นลูกผสมมากขึ้น ทว่าในหลายประเทศยังคงมีการเลือกตั้ง แต่ตัวกฎหมาย รัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระ ไม่ได้ทำงานตามระบอบประชาธิปไตยอีกต่อไป ดังนั้น พื้นที่ภาคประขาสังคมที่เล็กลงนี้เอง เป็นผลจากการออกกฎหมาย เพื่อให้การเคลื่อนไหวของภาคประชาสังคมทำได้ยากขึ้น
ดร.จันจิรา กล่าวว่า จากการเก็บข้อมูลในพื้นที่ "เอเชียตะวันออกเฉียงใต้" พบว่า กฎหมายที่ใช้ควบคุมการแสดงความคิดเห็นมีเยอะมาก เป็นกระแสที่มีร่วมกันทั่วโลก ข้อหาที่ได้รับความนิยม คือ กฎหมายที่เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ นอกจากนี้ ยังพบว่า กฎหมายหมิ่นประมาท มักถูกใช้ควบคู่กับกฎหมายที่เกี่ยวกับไซเบอร์ รวมถึงแนวโน้มของการใช้กฎหมายยุยงปลุกปั่น ในเกือบทุกประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
อย่างไรก็ดี ดร.จันจิรา กล่าวว่า แม้จะมีกฎหมายที่คุมภาคประชาสังคม แต่คนก็ยังประท้วง ในหลายพื้นที่ทั่วโลก ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับในหลายประเทศ ประเทศไทย ยังถือว่าถูกปิดกั้นไม่มาก ซึ่งในหลายประเทศต่อสู้ลำบาก
ดร.จันจิรา อธิบายว่า หลายประเทศเจอกับสภาวะที่เรียกว่า "ระยะห่างระหว่างชนชั้นนำกับประชาชน" ซึ่งเริ่มห่างจากเสียงประชาชนเรื่อยๆ การเลือกตั้งของคนเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้มากนัก คนเลือกตั้งน้อยลง ไม่ค่อยเชื่อมั่นในระบบ และออกมาประท้วงในท้องถนนมากขึ้น
เธอตั้งข้อสังเกตจากการชุมนุมทั่วโลกใน 4 ข้อ สำคัญ คือ
หนึ่ง มีการใช้เทคโนโลยีค่อนข้างมาก ในการระดมคน ในการทำให้กิจกรรมการประท้วงเป็นที่รู้จักในสาธารณะมากขึ้น เช่น ฮ่องกง ใช้เทคโนโลยี เพื่อให้การชุมนุมหลบหลีกการติดตามของเข้าหน้าที่ได้ ไม่ประกาศขึ้นเฟซบุ๊ก แต่มีการคิดค้นแอพลิเคชั่น เพื่อที่จะติดต่อสื่อสารในกลุ่มนักกิจกรรม การใช้เทคโนโลยีที่ขับเคลื่อนก็เกิดขึ้นมากขึ้น เกิดขึ้นพร้อมกับการปรับเทคนิคในการชุมนุม เมื่อก่อนเห็นคนออกมาประท้วงเป็นพันเป็นหมื่น แต่ว่าหลายที่เริ่มเป็นการออกแบบกระจายมากขึ้น เป็นการชุมนุมที่ไม่ใหญ่มาก แต่ผุดขึ้นหลายที่
สอง ขบวนการที่มีความหลากหลายมากขึ้น เช่น แบบบนลงล่าง และการเคลื่อนไหวที่เหมือนจะไม่มีผู้นำ แต่มี แต่ไม่ใช่ใครคนเดียว สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้ ขบวนการเริ่มปรับเปลี่ยนตัว collective leadership เปลี่ยนกันเป็นแกนนำ เพื่อป้องกันการถูกปราบปราม
สาม คนรุ่นใหม่ลุกขึ้นมาแสดงความไม่พอใจเยอะมากขึ้น
สี่ ผู้ชุมนุมยังใช้สันติวิธีเป็นส่วนใหญ่ แต่ประสิทธิภาพของขบวนการสันติวิธีลดลง 10 ปีที่ผ่านมา การประสบความสำเร็จจากสันติวิธีลดลง แต่ก็ยังมากกว่าการใช้ความรุนแรง
“เราเห็นความโกรธของคน อึดอัดคับค้องใจในหลายปีที่ผ่านมา ความน่าสนใจในตอนนี้ความเสี่ยงลดลง แม้กฎหมายยังอยู่ แต่คนก็บอกว่ากูไม่ไหวแล้ว ถึงจุดที่บอกว่ากูไม่ไหว อันนี้เป็นอารมณ์ของผู้ประท้วง”
เปลี่ยนจากม็อบให้เป็นชบวนการเคลื่อนไหวอย่างไร?
นี่เป็นคำถามที่ ดร.จันจิรา ตั้งโจทย์ขึ้นมา ท่ามกลางกระแสแฟลชม็อบของนักศึกษา เธอกล่าวว่า ม็อบเกิดมาแล้วหายไป นี่คือสิ่งที่ชนชั้นนำเองก็รับรู้ สิ่งที่อีกฝ่ายหนึ่งทำก็คือรอ เดี๋ยวคนหายโกรธ คนก็จะรู้สึกไม่มีอะไรเปลี่ยนอยู่บ้านดีกว่าทำอย่างไรให้ม็อบเป็นขบวนการเคลื่อนไหว (Movement) ทึ่อยู่ได้อย่างต่อเนื่อง และสร้างแรงกระเพื่อมเพื่อให้อีกฝ่ายยอมเปลี่ยนแปลงได้ เป็นโจทย์ที่ต้องคิดต่อไป
"เราต้องสื่อสารกับคนในสังคมว่า ความทุกข์ความโกรธของเรา เป็นเรื่องของคนทุกคน เรามีจุดร่วมกัน ในระยะยาว การต่อสู้ของเรา ต้องเป็นการต่อสู่ของคนอื่น อันนี้เป็น Movement ต้องอาศัยสิ่งที่เรียกว่าการรณรงค์ มีการออกแบบกิจกรรมเพื่อเป้าหมาย ไม่ใช่ทำกิจกรรมเพื่อระบาย ต้องเชื้อชวนคนอื่นได้ด้วยว่าเป้าหมายของเรา คือเป้าหมายของเขา"
สู้ถึงไหนจึงจะสำเร็จ?
นี่คือคำถามที่สำคัญว่า แล้วขบวนการต่อสู้จะสำเร็จได้ไหม มีที่ไหนในโลกที่สามารถต่อสู้จนสามารถเอาชนะระบอบเดิมได้
เราสู้อยู่ในประเทศ เรารู้สึกว่าทางตันมากเลย แต่ว่าเวลาที่ราเห็นโดมิโนมันล้ม มันเร็วมากนะ
ดร.จันจิรา ยกตัวอย่าง การปฏิวัติอิหร่าน เหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการโค่น พระเจ้าชาห์ โมฮัมหมัด เรซา ปาห์ลาวี ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกา เธอกล่าวว่า ระบอบการเมืองอยู่ได้ ต้องมีความชอบธรรม เราอยู่ในภาวะที่ความชอบธรรมถูกตั้งคำถาม ไปจี้จุดการโต้ตอบของระบอบ ระบอบที่ฉลาดโต้ตอบด้วยความเมตตา คือดึงมาเป็นพวก (เช่นการเชิญนักศึกษาไปอภิปรายในสภา) ระบอบที่บอบบางใช้กฎหมายปราบปราม ซึ่งระบอบชาห์ จับกุมผู้เห็นต่างทั้งหมด เช่น นักบวช ผู้ที่ได้รับความเคารพมากในสังคม อย่างไรก็ดี ดร.จันจิรา กล่าวว่า อิหร่านใช้เวลาถึง 50 ปี กว่าที่จะเปลี่ยนแปลงระบอบได้สำเร็จ
"ระบอบที่เปราะบาง เผยให้เห็นว่าตัวระบอบเองไม่มีความชอบธรรม เมื่อถึงเวลา การประท้วงนิดเดียว สุดท้าย นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงระบอบ" ดร.จันจิรา กล่าว
การที่รัฐบาลพยายามเปิดพื้นที่ในสภาฯ เพื่อให้นักศึกษาไปพูดคุยแนะนำแสดงความคิดเห็น สะท้อนอะไร?
ดร.จันจิรา กล่าวว่า การเจรจาทำได้ก็ต่อเมื่อเรามี "อำนาจ" การประท้วงโดยเฉพาะการใช้สันติวิธี เรากำลังพูดถึงอำนาจ ถามใจตัวเราเองว่าเรามีอำนาจไหม ถ้าไม่มีการต่อรองของเราคือการถูกดึงเข้าไปเป็นพวก
ส่วนการที่พรรคฝั่งรัฐบาลพยายามใช้พื้นที่ในสภาให้นักศึกษาแสดงออก เธอกล่าวว่า "มันไม่ได้เป็นการปราบปรามด้วยการใช้กำลัง แต่เป็นการยุบกระแสเรื่องการชุมนุม"
ด้าน น.ส.ชลธิชา ในฐานะที่เธอเป็นอดีตแกนนำนักศึกษาที่ออกมาเคลื่อนไหวในช่วงรัฐประหารปี 2557 เธอมองว่า สถานการณ์ในปัจจุบันแตกต่างไปจากเดิม ที่ คสช. ใช้อำนาจพิเศษ ม.44 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ห้ามชุมนุมทางการเมือง ซึ่งเป็นคำสั่งที่สามารถถูกดำเนินคดีได้
น.ส.ชลธิชา มองว่า จุดเปลี่ยนสำคัญของการที่นักศึกษาออกมาชุมนุม คือ ปรากฏการณ์หลังเลือกตั้ง ว่าทำไม คสช. ยังอยู่ นอกจาก คสช. ยังอยู่ พรรคการเมืองที่เป็นตัวแทนของเรา ก็ไม่อยู่กับเราแล้ว คล้ายๆ กับเชือกฟาง มันค่อยๆ หลุดไปทีละเส้นๆ เป็นสิ่งที่ผลักให้คนออกมา รวมถึงบทบาทของโซเชียลมีเดีย ทวิตเตอร์ ที่ไหลไปอย่างเร็ว
น.ส.ชลธิชา กล่าวว่า การละเมิด พยายามขัดขวาง แฟลชม็อบ มี 4 เรื่องหลักๆ คือ หนึ่ง การดำเนินคดี เช่น การใช้ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ ข้อหาการใช้เครื่องขยายเสียง สอง บทบาทของสถาบันการศึกษา อ้างเรื่องระเบียบสถานศึกษา สาม การติดตาม การถ่ายรูป การไปเยี่ยมบ้าน สี่ การคุกคามในโลกออนไลน์ไลน์ การสร้าง hate speech ขบวนการ io สร้างความชอบธรรมใช้ความรุนแรงต่อนักกิจกรรมที่จะเกิดขึ้น
ด้าน น.ส.ศศินันท์ ทนายความที่ติดตามคดีเกี่ยวกับการชุมนุมมาตลอดระยะเวลา 5 ปี คสช. เธอกล่าวว่า บางครั้งเจ้าหน้าที่ก็ทำเกินกว่าที่ข้อกฎหมายกำหนดไว้ เพราะฉะนั้น แกนนำ ผู้ชุมนุม มีสิทธิที่จะไม่ทำตามที่เจ้าหน้าที่สั่งได้ เช่น การจะเรียกตัวให้ไปรายงานตัวต้องมีการตั้งข้อกล่าวหา เรามีสิทธิไม่ไปได้ และควรพยายามติดต่อคนไว้ ให้รู้ว่ามีกระบวนการนี้เกิดขึ้นกับเรา ซึ่งศูนย์ทนายก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งในการรับเรื่องที่เกี่ยวกับการละเมิดสิทธิ และการคุกคามที่เกิดจากการใช้เสรีภาพในการแสดงออกทางการเมือง นอกจากนี้ น.ส.ศศินันท์ ยังกล่าวว่า หากถูกดำเนินคดี จากการชุมนุม สิ่งที่ต้องทำคือยืนยันว่าการชุมนุมเป็นสิทธิ เป็นสิ่งที่สามารถทำได้
การสู้คดีต้องยืนยันสิทธิของตัวเอง ว่าเป็นสิ่งที่ทำได้
น.ส.ศศินันท์ ยังกล่าวว่า ใน พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ หน้าที่ของตำรวจคือการคุ้มครอง แต่กลายเป็นว่า กลายเป็นการขัดขวางการชุมนุมมากกว่า หรือทำให้การชุมนุมไปต่อไม่ได้ เป็นการข่มขู่ว่าถ้าออกไปข้างนอกจะเจออะไรบ้าง มันเป็นวิธีคิดที่ผิดจากเจตนารมณ์ของกฎหมาย ซึ่งสะท้อนวิธีคิดว่า ตำรวจอาจจะคุ้นชินการใช้อำนาจกับประชาชน เลยไม่ได้ทำหน้าที่ที่ถูกต้อง
นอกจากนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นคือความเป็นห่วงของครอบครัว ในการออกมาชุมนุมของคนรุ่นใหม่ น.ส.ศศินันท์ เน้นย้ำว่า ในทางกฎหมาย การชุมนุมในสถานศึกษากระทำได้ พ่อแม่ไม่ต้องกังวล ส่วนในเรื่องของ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ถ้ามีการข่มขู่ว่าจะไล่ออกจากสถานศึกษา ทางทนายไปค้นระเบียบ ก็ไม่สามารถจะทำได้ เพราะกฎระเบียบข้อบังคับเล็กกว่ารัฐธรรมนูญ
"ในทางกฎหมายเราใช้สิทธิสู้ได้อยู่แล้วอยากให้กำลังใจลูกมากกว่า อย่าไปทำให้สิ่งที่เขาทำใันผิด เพราะมันคืออยาคตของเรา เด็กจะสู้เพื่ออนาคตตัวเองเขาก็ทำได้" น.ส.ศศินันท์ กล่าว