หากดูจากข้อเรียกร้องของนิสิตนักศึกษา จะพบว่า ก้าวข้ามเรื่องพรรคอนาคตใหม่ออกมาแล้ว โดยชูประเด็นเรื่องการ ‘สืบทอดอำนาจ’ ของรัฐบาลที่เปรียบเป็น ‘เผด็จการ’ และชูเรื่อง ‘ประชาธิปไตย’ ขึ้นมาต่อสู้ เหตุผลสำคัญเพื่อให้การเมืองออกห่างจากการชุมนุมของนักศึกษา ไม่เช่นนั้นจะถูกมองว่าเป็น ‘แฟลชม็อบจัดตั้ง’ จากฝั่งตรงข้ามในการเมือง
จึงทำให้ ส.ส.อดีตพรรคอนาคตใหม่ ต่างสงวนท่าทีไม่ไปข้องเกี่ยวกับแฟลชม็อบ แต่ทำเพียงให้กำลังใจหรือให้คำปรึกษาเท่านั้น โดยเฉพาะเรื่องข้อกฎหมาย เพราะมี พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯที่บังคับใช้นั่นเอง จึงทำให้นักศึกษา-นักเรียน ต่างจัดแฟลชม็อบในรั้วสถานศึกษา ที่ได้รับการคุ้มครองแทน
ทั้งนี้ ฝ่ายความมั่นคงได้ประเมินสถานการณ์อยู่ตลอด หนึ่งในมาตรการคือการให้ ‘สถานศึกษา’ นั้นๆ ทำการควบคุมดูแลนักศึกษา-นักเรียน และใช้ดุลพินิจพิจารณาว่าสมควรให้จัดกิจกรรมหรือไม่ ซึ่ง ‘เจ้ากระทรวง’ โดย ‘ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ’ รมว.ศึกษาธิการ ก็ได้มีสั่งการไปยังสถานศึกษาต่างๆ แล้ว อีกทั้งมีมาตรการคัดกรองป้องกันการแพร่ระบาดของ‘โควิด-19’ ควบคู่ด้วย
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม เคยกล่าวถึงมาตรการรับมือแฟลชม็อบของเจ้าหน้าที่ ว่า ไม่เคยสั่งการให้มีการปะทะ เว้นแต่เป็นการป้องกันตัวเอง โดยจะต้องใช้ ‘มาตรการที่เบาที่สุด’ จึงขอให้เห็นใจเจ้าหน้าที่ด้วย เพราะถ้าไม่ทำ ก็มีความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่
โดยกลุ่มที่ถูกจับตาว่ามีบทบาทหลัก คือ สหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษา แห่งประเทศไทย (สนท.) โดยมีแกนนำคนสำคัญ เช่น ‘เพนกวิน-พริษฐ์ ชีวารักษ์' ที่ขึ้นเวทีปราศรัย แต่กลับถูกกระแสต่อต้านขึ้น ผ่าน #ไม่เอาเพนกวินปราศรัย
ส่วน ‘บอล-ธนวัฒน์ วงค์ไชย’ ไม่ได้แสดงบทบาทนำมากนักในการเกิดขึ้นของแฟลชม็อบครั้งนี้ แต่หากย้อนอดีตไป ‘บอล-ธนวัฒน์’ คือ แกนนำที่จัดกิจกรรม ‘วิ่งไล่ลุง’ โดยมี ‘ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ’อดีต หน.พรรคอนาคตใหม่ นำ อดีต ส.ส.พรรค มาร่วมวิ่งด้วย
นอกจากนี้ยังมี ‘เจมส์-ประสิทธิ์ ครุธาโรจน์’ จากกลุ่มสมัชชาเสรีแห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เพื่อประชาธิปไตย ที่ขึ้นเวทีแฟลชม็อบเช่นกัน ซึ่ง ‘เจมส์-ประสิทธิ์’ ก็มีความใกล้ชิดกับกลุ่มคนทำงานในพรรคอนาคตใหม่ ที่เป็นคนรุ่นใหม่
แม้ว่าพรรคอนาคตใหม่จะไม่ได้มาเป็น ‘แกนนำแฟลชม็อบ’ เอง แต่หากดูแกนนำที่ขึ้นเวที ‘แฟลชม็อบ’ ก็ยากจะปฏิเสธถึง ‘คอนเน็กชั่น’ ที่มีถึงกัน
อีกทั้งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นขณะมีแฟลชม็อบที่ จุฬาฯ กลับมีนิสิตหญิง คณะอักษรศาสตร์ ชั้นปี 3 มีความพยายามชัก ‘ธงดำ’ ขึ้นเสาธง เพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ จึงทำให้เกิดกระแสวิจารณ์จากฝั่งเดียวกันและฝั่งตรงข้าม จึงทำให้ฝั่งนิสิต-นักศึกษา ต้องกลับมาทบทวนแนวทางการจัดกิจกรรมต่อไป จึงทำให้แฟลชม็อบหลายที่ มี ‘แกนนำ’ ที่ขึ้น ‘ไฮปาร์ค’ เป็นนิสิตนักศึกษาหน้าใหม่มากขึ้น เพื่อแสดงถึงเจตนาบริสุทธิ์ของพวกเขาอีก
ขณะที่ฝ่ายความมั่นคงมองว่าเป็นการ ‘ควบคุมกันเองไม่ได้’ ของการจัดแฟลชม็อบ ซึ่งนิสิตหญิงคนดังกล่าว เป็นรองประธานสภานิสิตฯ คนที่ 2 และเคยเป็นแกนนำจัดกิจกรรมวิ่งไล่ลุง ร่วมกับ ‘บอล-ธนวัฒน์‘ ด้วย
รวมทั้งการออกมาพูดสนับสนุนของแฟลชม็อบของบรรดา ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ ยิ่งเป็นสิ่งที่ตอกย้ำ ‘แฟลชม็อบ’ ไม่พ้นเงา ‘อนาคตใหม่’ แต่ก็ต้องเข้าใจพรรคอนาคตใหม่เช่นกันว่า เพราะนิสิตนักศึกษาที่ออกมาร่วมแฟลชม็อบในมหาวิทยาลัยต่างๆ ล้วนเป็น ‘New Voter’ ที่เป็นฐานเสียงของพรรคนั่นเอง อีกทั้งมีความพยายามให้กระแสจุดติดโดยยึดภาพ ‘14 ตุลาโมเดล’ ด้วย
ทั้งนี้มีรายงานว่า เมื่อวันที่ 2 มี.ค.ที่ผ่านมา นอกจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ ได้นำ ‘7 เสือกลาโหม’ ได้แก่ ตนเองในฐานะ รมว.กลาโหม , พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม , พล.อ.ณัฐ อินทรเจริญ และ ผบ.เหล่าทัพ ประชุมคณะกรรมการปรับย้ายนายทหารชั้นนายพล ในโผทหารกลางปี ได้มีการพูดคุยถึงปรากฏการณ์แฟลชม็อบด้วย
ก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์ เคยชี้แจงต่อสภา ซึ่งก็ทราบดีถึง ‘14ตุลาโมเดล’ และกล่าวไปถึงเหตุการณ์ 6 ต.ค.2519 ด้วย โดยนายกฯ ชี้ว่าเงื่อนไขในอดีตและปัจจุบันต่างกัน แต่ยังคงมองว่านิสิตและนักศึกษาเหล่านี้ ‘รู้เท่าไม่ถึงการณ์’ และถูกปลุกระดมด้วยข้อมูลเพียงด้านเดียว อีกทั้งเปิดเผยว่ามีเรื่องของการ ‘หมิ่นสถาบัน’ ในแฟลชม็อบด้วย จึงทำให้เกิดกระแสวิจารณ์ พล.อ.ประยุทธ์ ตามมาจากผู้สนับสนุนแฟลชม็อบ ว่าเป็นแนวทางการ ‘ดิสเครดิต’ ด้วย ‘ข้อหา’ แบบเดิมๆ
"ผมเป็นกังวลกับเด็กเหล่านี้อาจรู้เท่าไม่ถึงการณ์ อาจถูกชักชวน อาจถูกปลุกมาโดยฟังความข้างเดียว ผมขอให้นักศึกษาทุกคนที่ชุมนุมเวลานี้ช่วยฟังข้อมูลของรัฐบาลที่ได้แถลงออกไปและเลือกฟังดูว่าจะเชื่อทางไหนอย่างไร ผมไม่ต้องการให้ไปทางใดทางหนึ่งทั้งสิ้น เว้นเสียแต่ว่ามีบางฝ่ายต้องการให้ไปทางใดทางหนึ่ง" นายกฯ กล่าว
"สิ่งที่เป็นกังวล คือ กฎหมายมีความศักดิ์สิทธิ์ ไม่ว่าวันนี้วันหน้า ผมไม่ได้ขู่ หลายๆ อย่างถูกดำเนินการอยู่ในคดีความทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเมื่อปี 2553 หรือ 2557 ยังเป็นคดีทั้งหมด ไม่ว่าจะสีไหนก็ตาม ที่ผ่านมาปี 2514 ปี 2519 มันก็อีกกรณีหนึ่ง ซึ่งวันนี้เราไม่ได้ทำแบบนั้น ที่จะทำให้เกิดเงื่อนไข” นายกฯ กล่าว
"ผมต้องเตือนว่าขณะนี้ได้มีการนำเรื่องหมิ่นสถาบันเข้ามาไปขับเคลื่อนด้วย ยอมไหม ถ้าท่านยอมผมก็โอเค ถ้าท่านเห็นว่าถูกต้อง ผมก็ไม่รู้จะทำอย่างไรเหมือนกัน จำเป็นต้องว่าไปตามกฎหมาย อย่าไปทำอย่างนั้นนะครับ ผมขอโดยเด็ดขาด ผมคิดว่าสภาแห่งนี้เป็นสภาที่เคารพสถาบัน ผมเชื่อมั่นอย่างนั้นนะครับ อย่าทำโดยเด็ดขาด” นายกฯ กล่าวต่อสภา
อย่างไรก็ตาม ต้องจับตาการเคลื่อนไหวต่างๆ หลัง 8 มี.ค.นี้ ที่อดีตพรรคอนาคตใหม่จะจัดประชุม 55 ส.ส.ของพรรค ก่อนเปิดตัว ‘พรรคใหม่’ ในสัปดาห์หน้า
ที่ขณะนี้มีอยู่ 3 ชื่อ ได้แก่ พรรคก้าวไกล พรรคไทยเท่าเทียม และ พรรคอนาคตไทย
โดยชื่อที่เต็งหนึ่งถูกพูดถึงตั้งแต่วันยุบพรรคอนาคตใหม่ คือชื่อ ‘พรรคก้าวไกล’ จึงต้องจับตากิจกรรมของนิสิตนักศึกษาและของอดีตพรรคอนาคตใหม่-คณะอนาคตใหม่ จะคู่ขนานกันไปอย่างไร และจะมีเอฟเฟกต์ต่อสังคมหรือไม่ด้วย
งานนี้ ‘ไฟจะมอด หรือ จะลามทุ่ง’ อย่าได้กะพริบตา ?
ข่าวที่เกี่ยวข้อง