วันที่ 21 ก.ย. พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงกรณีความคืบหน้าของ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่อยู่ระหว่างการรักษาตัวที่ รพ.ตำรวจ โดยเมื่อวานนี้ (20 ก.ย.) ทางกรมราชทัณฑ์ได้ออกหนังสือต่อเวลาการรักษาตัว ให้อยู่ใน รพ.ต่อไปอีก 30 วัน ทำให้เกิดความสงสัยถึงอาการป่วยของ ทักษิณ
โดย พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า สำหรับการผ่าตัดของ ทักษิณ ที่ผ่านมา ล่าสุดยังไม่ทราบว่าเป็นการผ่าตัดเนื่องด้วยโรคอะไร ขณะนี้ยังไม่ได้รับรายงานถึงอาการและรายละเอียดจากอธิบดีกรมราชทัณฑ์ เนื่องจากเป็นไปตาม พ.ร.บ.กรมราชทัณฑ์ ปี 2560 ที่ให้อธิบดีกรมราชทัณฑ์มีอำนาจอนุญาตให้นักโทษรักษาตัวใน รพ. รวม 60 วัน แต่หากเกิน 60 วัน เป็น 90 วัน เป็นอำนาจการพิจารณาของปลัดกระทรวงยุติธรรม และถ้าเกิน 90 วัน เป็น 120 วัน จะเป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
ทั้งนี้ ต้องขึ้นอยู่กับดุลยพินิจและการวินิจฉัยของแพทย์ ซึ่งกระทรวงฯ ไม่สามารถเข้าไปแทรกแซงคำวินิจฉัยแพทย์ได้
ส่วนกรณีที่มีกลุ่มมวลชนร้องให้ทางกระทรวงยุติธรรมเปิดเผยข้อมูลการรักษา ทักษิณ พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า ให้เป็นดุลยพินิจแพทย์
สำหรับกรณีที่ แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย เตรียมศึกษาการพักโทษ พ.ต.อ.ทวี บอกว่า ตอนนี้ยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับคำร้องพักโทษของ ทักษิณ
ขณะที่การต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ เมื่อการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ผ่านมา ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ พ.ต.อ.ทวี บอกว่า ในที่ประชุม มีผู้เสนอให้ต่อ พ.ร.ก. ไป 3 เดือน แต่นายกรัฐมนตรีขอให้ใช้เวลาเพียง 1 เดือน โดยให้ความสำคัญ ความสมดุล และเตรียมพิจารณาว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ควรมีต่อไปหรือไม่
โดยหน่วยงานด้านความมั่นคง ได้ชี้แจงในที่ประชุมว่า ควรบังคับใช้เพิ่มต่อไปอีก 1 เดือน และมีการแต่งตั้ง สมศักดิ์ เทพสุทิน เป็นคณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน (กบฉ.) และรัฐมนตรีอีกหลายกระทรวงร่วมนั่งด้วย โดยในระหว่าง 1 เดือนนี้ จะพิจารณาถึงรายละเอียด และผลกระทบ
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาตามหลักทางกฎหมาย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ถือว่าสิ้นสภาพแล้ว นับตั้งแต่ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการซ้อมทรมานและการอุ้มหายฯ ได้ประกาศบังคับใช้ไปแล้วทำให้ระบบการสืบสวนต้องมีการบันทึกภาพและหลักฐาน ทำให้อำนาจการควบคุมตัวตามกฎหมาย 3 ฉบับ ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ถือว่าสิ้นสภาพในทางปฏิบัติ