ไม่พบผลการค้นหา
‘ทวี‘ เผยงบฯ กรมราชทัณฑ์ เอื้อประโยชน์ผู้คุมขังกว่าหมื่นราย ยัน ‘ทักษิณ‘ เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม แม้พักรักษาตัวในห้องสี่เหลี่ยมแต่เหมือนสูญเสียเสรีภาพ ย้ำกรมราชทัณฑ์เป็นสถานที่สร้างคน ไม่ใช่สถานที่ฆ่าคน

ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 5 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง นัดพิเศษ เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ ปี 2567 พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ชี้แจงในกรณีที่ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ์ สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายถึงงบประมาณรายจ่ายของกรมราชทัณฑ์ ในสัดส่วนโครงการดูแลผู้ต้องขังจำนวน 38,000 ล้านบาท ระยะเวลา 6 ปี ซึ่งถูกมองว่า แผนยุทธศาสตร์ดังกล่าวส่อที่จะไปช่วยเหลือ หรือเลือกปฏิบัติกับบางท่าน 

พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า การเป็นรัฐบาลต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ และหลักนิติธรรม ซึ่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ราชทัณฑ์ พ.ศ.2560 เกิดขึ้นก่อนจะมีรัฐบาลชุดนี้ เนื่องจาก พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ ฉบับเดิมไม่สอดคล้องกับหลักสากล รวมถึงไม่สามารถนำระบบพัฒนาพฤตินิสัยมาใช้กับผู้ต้องขังได้ 

อีกทั้งในกฎหมายดังกล่าวยังมีบทเฉพาะกาลที่เขียนไว้ใน ม.76 ระบุว่า ในระหว่างยังไม่มีกฎกระทรวง หรือระเบียบกรมราชทัณฑ์ ให้ใช้กฎกระทรวง หรือระเบียบเดิมไปพลางก่อน แต่ให้ดำเนินการออกกฎกระทรวงให้เสร็จสิ้นใน 90 วัน และหากเจ้าหน้าที่รัฐไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย จะถือว่าเจ้าหน้าที่รัฐไม่ธำรงไว้ซึ่งหลักนิติธรรม 

พ.ต.อ.ทวี กล่าวอีกว่า เหตุผลของการออกกฎหมายฉบับนี้ เนื่องจากเรือนจำในปัจจุบันมีผู้ต้องขังประมาณ 280,000 ราย แต่อัตราการคุมขังขณะนี้ไม่ถึง 200,000 ราย และเรามีผู้ต้องขังเกินในระบบราชทัณฑ์ประมาณ 100,000 ราย แต่ที่รุนแรงกว่านั้น ประเทศไทยเราถูกตราหน้าว่า สอบตกด้านหลักนิติธรรมทางอาญา ซึ่งกรมราชทัณฑ์ไทยได้คะแนน 0.25 จากคะแนนเต็ม 1 จากจำนวนทั้งหมด 44 รายการ 

พ.ต.อ.ทวี ยืนยันว่า การออกระเบียบดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับอดีตนายกรัฐมนตรี เพราะกฎหมายราชทัณฑ์ให้ความสำคัญกับคณะกรรมการราชทัณฑ์จำนวน 17 คน มีเพียง 3 คนที่เป็นคนของกระทรวงยุติธรรม แต่ไม่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ส่วนบุคคลอื่นๆ นั้นมาจากหลายภาคส่วน อาทิ เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม อัยการสูงสุด กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) 

สำหรับระเบียบดังกล่าว ยังมีการจำแนกคนเป็นกลุ่ม ซึ่งมีกลุ่มที่เราปฏิบัติด้วยระบบจำแนก และแยกคุมขังจำนวน 18,000 ราย กลุ่มพัฒนาพฤตินิสัย 16,0000 ราย และยังมีกลุ่มผู้ต้องขังที่เจ็บป่วยต้องรักษาพยาบาลเกือบ 1,000 ราย นี่จึงเป็นการเตรียมความพร้อมก่อนปล่อยคืนคนดีสู่สังคม 

“ราชทัณฑ์ไม่ใช่สถานที่ฆ่าคน การรักษาไม่ใช่แค่ ทักษิณ แต่ยังมีคนจำนวนมาก ท่าน (ทักษิณ) เข้ามาสู่กระบวนการยุติธรรม ท่านคือนักสร้างสันติภาพ แม้จะไม่เห็นด้วยกับการยึดอำนาจ แต่ต้องการให้บ้านเมืองมีความปรองดอง ท่านก็กลับเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และการป่วยนั้นก็เกิดก่อนที่รัฐบาลชุดนี้จะเข้ามา“ พ.ต.อ.ทวี กล่าว 

พ.ต.อ.ทวี ระบุว่า การไปอยู่ในห้องสี่เหลี่ยมไปไหนไม่ได้ นั่นคือการสูญเสียเสรีภาพแล้ว แม้หลายท่านจะสงสัยว่า ทักษิณ ป่วยจริงไหม ตนเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม แม้จะไม่เคยไปเยี่ยม แต่ก็สอบถามแพทย์อยู่ตลอด และแพทย์ก็ยืนยันว่า ทักษิณ ป่วยจริง มีอาการเยอะ ซึ่งการพักรักษาตัวเกินกว่า 120 วัน ต้องให้อธิบดีกรมราชทัณฑ์เป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบ โดยมีเหตุผลของแพทย์ผู้รักษาประกอบ 

พ.ต.อ.ทวี กล่าวอีกว่า งบประมาณในสัดส่วนที่ จุรินทร์ อภิปรายจำนวน 38,000 ล้านบาทนั้น หากแบ่ง 6 ปี จะตกอยู่ประมาณ 6,000 ล้านบาท และเป็นค่าอาหารเกือบ 5,000 ล้านบาท ส่วนที่เหลือจะเป็นค่าตอบแทนของข้าราชการ ตนในฐานะรมว.ยุติธรรม ซึ่งนายกฯ มอบหมายให้ยกระดับความเข้มแข็งของหลักนิติธรรม จึงไม่มีทางทำอะไรนอกกฎหมาย ถ้าใครก็ตามเป็นผู้ทรงอิทธิพลจะต้องดำเนินการอย่างตรงไปตรงมา พร้อมย้ำว่า งบประมาณของกรมราชทัณฑ์ เราต้องการพัฒนาเป็นสถานที่สร้างคนเพื่อให้คนเหล่านั้นออกมาสร้างชาติ 

ทั้งนี้ ยังมีคนอีกหลายหมื่นคนที่จะได้รับประโยชน์จากส่วนนี้ ซึ่งเราจะใช้ ป.วิอาญา ม.89 วรรค 1 ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการทำประชาวิจารณ์ โดย น้องๆ เด็กๆ นักต่อสู้ก็สามารถใช้ช่องนี้ในการต่อสู้คดีได้ ตราบใดที่ศาลยังไม่ตัดสิน ซึ่งจะต้องปฏิบัติกับผู้ถูกกล่าวหาเหมือนผู้กระทำผิดไม่ได้ โดยเราจะปฏิบัติตามหลักการนี้