วันที่ 18 ต.ค. ที่อาคารรัฐสภา พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมเพื่อร่วมรับฟังความคิดเห็นการให้ความรู้ ความเข้าใจการเลี้ยงนกปรอดหัวโขน การเพาะพันธุ์ ขยายพันธุ์ การอนุรักษ์ รวมไปถึงข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องที่ส่งผลกระทบกับผู้เลี้ยง กล่าวรายงานโดย อรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โดยมี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ผู้บริหารสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร นักวิชาการ และประชาชนที่สนใจ เข้าร่วมรับฟัง รวมแล้วเป็นจำนวนหลายพันคน
การสัมมนาดังกล่าว จัดโดย กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างรอบด้าน นกปรอดหัวโขนที่อาศัยในธรรมชาติ ถือเป็นสื่อที่สำคัญ ที่ผู้เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นส่วนราชการ ผู้เพาะเลี้ยง ผู้ประกอบการที่ประกอบอาชีพเกี่ยวข้องกับนก รวมไปถึงนักอนุรักษ์ ได้รับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ และหาข้อสรุปที่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ทั้งนี้ ข้อมูลในปี 2566 พบว่ามีการกระจายตัวของนกปรอดหัวโขนในธรรมชาติ พบได้ทั่วไปในป่าโปร่งที่อยู่ใกล้ชุมชนโดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันตก และภาคใต้ฝั่งอันดามัน
ปัจจุบันนกปรอดหัวโขนจัดอยู่ในกลุ่มสัตว์ป่าคุ้มครองจำพวกนก ลำดับที่ 550 ตามกฎกระทรวงกำหนดให้สัตว์ป่าบางชนิดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง พ.ศ. 2546 ห้ามล่า หรือจับมาจากธรรมชาติ ปัจจุบันกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้มีกระบวนการส่งเสริมการอนุรักษ์นกปรอดหัวโขนให้กับผู้ที่สนใจเลี้ยง สนับสนุนพ่อแม่พันธุ์ให้ภาคเอกชนสามารถครอบครอง เพาะพันธุ์ และค้าได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย รวมถึงปรับลดขั้นตอนในการอนุญาตครอบครองหรือเพาะพันธุ์ แต่ยังมีผู้เพาะเลี้ยงที่ไม่ได้รับอนุญาตจำนวนมาก เนื่องจากมีขั้นตอนการขออนุญาตหลายขั้นตอน ต้องใช้หลักฐานหลายอย่าง และต้องลงทุนสูง
ในช่วงหนึ่ง นณณ์ ผาณิตวงศ์ กรรมการสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย เผยว่า จากข้อมูลย้อนหลัง 7 ปีก่อน จะพบว่า นกกรงหัวจุกยังคงหาพบได้เป็นจำนวนมาก แต่ปัจจุบันประชากรนกในธรรมชาติเริ่มหายไปในหลายภูมิภาค ดังนั้น หากนกในธรรมชาติเพิ่มขึ้นเมื่อใด ส่วนตัวก็ไม่ขัดข้องที่จะปลดล็อกนกกรงหัวจุก
นณณ์ กล่าวว่า ตนเองเข้าใจคนเลี้ยงนกทุกคน เพราะตนเองก็เลี้ยงนกเหมือนกัน แต่ก็ต้องเหลือนกไว้ในธรรมชาติด้วย และเชื่อว่าในที่นี้คงไม่มีใครออกไปจับนกตามธรรมชาติ แต่กฎหมายทำให้คนส่วนใหญ่ลำบาก เพราะมีไว้จัดการกับคนส่วนน้อยที่ไปดักนกมาขาย แต่ถ้าปลดล็อกออกไปหมด ก็จะมีคนไม่ดีกลุ่มนั้นไปจับนกที่เรารักจากธรรมชาติอยู่ดี
นณณ์ จึงเสนอว่า ควรแก้กฎหมายเฉพาะจุดให้การเพาะเลี้ยงและซื้อขายเป็นไปโดยสะดวก แต่การจะปลดล็อกโดยทันทีเป็นไปไม่ได้ เพราะจะทำให้นกธรรมชาติหมดไป ควรต้องแก้กฎหมายให้เอาผิดคนจับนกตามธรรมชาติ เพื่อให้มีการเลี้ยงนกได้อย่างถูกต้อง
หลังจากนั้น พิเชษฐ์ กล่าวสรุปว่า ถ้าหากจะมองว่าคนเลี้ยงนกในกรง เป็นการทารุณสัตว์ ถ้างั้นกรมปศุสัตว์ก็ไปยกเลิกไก่ไข่ให้หมด ก่อนถามนักวิชาการที่มาร่วมแสดงความคิดเห็นในวันนี้ว่ามาในฐานะอะไร ถ้าหากบอกว่ามาในนามมหาวิทยาลัย ก็ขอให้เอาหนังสือมายืนยันด้วย ซึ่งถ้าไม่มีเท่ากับเป็นการแสดงความคิดเห็นส่วนตัว
พิเชษฐ์ ย้ำว่าวันนี้จะเป็นเวทีแสดงความคิดเห็นเวทีสุดท้าย หลังจากนี้จะไม่เจรจา ไม่พูดคุย ไม่แสดงความคิดเห็นอีก “หลังจากนี้จะไม่มีการขึ้นทะเบียนอีกต่อไป เราจะปลดล็อก การกดขี่ ข่มเหง ต้องถูกแก้ไข” ก่อนประกาศลั่นห้องประชุมว่า “ปลดล็อกนกเดี๋ยวนี้” พร้อมให้กำลังใจประชาชนทุกคนที่เดินทางมาในวันนี้ และทราบถึงเจตนารมณ์ร่วมกัน ทำผู้ร่วมฟังเสวนาต่างปรบมือ ส่งเสียงสนับสนุนลั่นห้องประชุม
เช่นเดียวกับ ศาสตรา ศรีปาน สส.สงขลา พรรครวมไทยสร้างชาติ ที่ก็บอกว่าเวทีนี้จะเป็นเวทีสุดท้ายที่จะพูดคุย “เราจะสู้จนหัวชนฝา นอกจากให้ไปจับคนเลี้ยงไก่แล้ว ไปจับกำนันนก อย่ามาจับคนเลี้ยงนก” ก่อนตะโกนถามประชาชนว่า พวกเราไม่เคยไปจับนกในป่าใช่หรือไม่ “วันนี้เป็นนิมิตรหมายที่ดี ผมนอนไม่หลับเลย กลัวพวกท่านไม่มา แต่พอมาเห็นบรรยากาศวันนี้แล้ว ไม่ปลดล็อกไม่ได้แล้วพี่น้อง ขอบคุณทุกคนที่มา” ก่อนสัญญากับประชาชนว่าสนับสนุนให้มีการปลดล็อก
ด้าน จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สส.แบบบัญชีรายชื่อ รักษาการหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ บอกว่า ตนมาฟังในฐานะสังเกตการ ตั้งใจมารับฟังความคิดเห็นของทุกคน พร้อมถามประชาชนถึงสิ่งที่ต้องการคือให้แยกออกเป็น 2 ประเภท คือ 1.นกป่า สนับสนุนให้มีการอนุรักษ์ 2.นกบ้าน ต้องการให้ปลดล็อก เพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ตามวิถีชีวิตที่สืบทอดกันมากว่า 100 ปี ตนพร้อมสนับสนุน อีกทั้งตนยังได้ถามอธิบดีกรมอุทยานว่าหากต้องการปลดล็อก ควรทำอย่างไร จึงได้ทราบว่าต้องมีการแก้กฎกระทรวงผ่านคณะกรรมการออกมติไปให้รัฐมนตรีเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบ ซึ่งตนจะรับไปดำเนินการโดยเร็วที่สุด