ผศ.น.สพ. ดร.ไชยยันต์ เกษรดอกบัว หัวหน้าหน่วยฟื้นฟูนกล่าเหยื่อเพื่อปล่อยคืนธรรมชาติ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยว่า เมื่อวานนี้ (28 ก.ย.2562) หน่วยฟื้นฟูนกล่าเหยื่อเพื่อปล่อยคืนธรรมชาติ ได้ร่วมมือกับสถานีวิจัยสัตว์ป่าคลองแสง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สนง.ประจวบคีรีขันธ์ นำเหยี่ยวผึ้งชื่อ 'โขงหลง' KU718 ไปปล่อยบนเขาเรดาร์ อ.บางสะพานน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์ เพื่อให้บินกลับเข้าฝูงเหยี่ยวอพยพ เพราะในช่วงปลายเดือนกันยายนและเดือนตุลาคม เป็นช่วงที่มีฝูงเหยี่ยวอพยพนับแสนตัวบินผ่าน จ.ประจวบคีรีขันธ์
ทั้งนี้ โขงหลงเป็นเหยี่ยวอพยพเพศเมียซึ่งบาดเจ็บจากการหมดแรงจนไม่สามารถบินได้ และตกลงบริเวณบึงโขงหลง จ.บึงกาฬ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2562 และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องได้นำมารักษาอาการและฟื้นฟูสุขภาพ รวมถึงฝึกบินจนกระทั่งมั่นใจว่า 'โขงหลง' มีสุขภาพที่แข็งแรง และพร้อมสำหรับการกลับคืนสู่ธรรมชาติแล้ว จึงได้ทำการเก็บข้อมูล บันทึกชื่อ เจ้าโขงหลง รหัส เหยี่ยวผึ้ง KU718 ติด #ห่วงขาขวา15A00040 และ #ห่วงขาซ้าย F11/สีเขียว ก่อนนำไปปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ
นายเกรียงศักดิ์ ศรีบัวรอด หัวหน้าสถานีวิจัยสัตว์ป่าคลองแสง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า เหยี่ยวผึ้งเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง จึงต้องทำการร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช โดยเหยี่ยวผึ้งตัวนี้ ชาวบ้านนำมามอบให้หน่วยฟื้นฟูนกล่าเหยื่อเพื่อปล่อยคืนธรรมชาติ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งเดือน พ.ค.เป็นช่วงเวลาที่เหยี่ยวอพยพ หรือนกล่าเหยื่อบินกลับไปยังประเทศต้นกำเนิดเพื่อทำรังวางไข่ หากเราฟื้นฟูแล้วปล่อยเหยี่ยวผึ้งตัวนี้ทันที มันจะบินอยู่ในประเทศไทย ไม่กลับไปทำรังตามธรรมชาติ เนื่องจากสภาพอากาศและกระแสลม เจ้าหน้าที่จึงเลือกที่จะปล่อยเหยี่ยวในช่วงนี้ ซึ่งเป็นช่วงที่ฝูงเหยี่ยวอพยพบินผ่านประเทศไทย จะทำให้ 'โขงหลง' มีโอกาสที่จะเจอฝูงหรือเหยี่ยวผึ้งตัวอื่นแล้วพากันบินกลับไปได้
ทั้งนี้ หากประชาชนพบเห็นนกล่าเหยื่อหรือสัตว์ป่าได้รับบาดเจ็บ สามารถแจ้งเจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ ได้ที่เบอร์ 1362 โดยขอให้บันทึกภาพสัตว์ป่าที่พบ เพื่อเจ้าหน้าที่จะได้ตรวจสอบชนิด และส่งต่อไปรักษาได้อย่างรวดเร็ว
ภาพโดย: ไชยยันต์ เกษรดอกบัว,พนม ยิ่งไพบูลย์สุข