ไม่พบผลการค้นหา
เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (10 ก.ค.) ประชาชนศรีลังกานับพันบุกเข้าไปยังทำเนียบประธานาธิบดี เปิดเผยให้เห็นภาพความฟุ่มเฟือยของตระกูลราชปักษา ที่ครองอำนาจศรีลังกามานานนับทศวรรษ การประท้วงที่ลุกลามในศรีลังกาตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา เกิดขึ้นหลังจากประเทศประสบกับปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ที่สุด นับตั้งแต่ได้รับเอกราชจากสหราชอาณาจักรเมื่อ 70 ปีก่อน

หลังจากการบุกยึดทำเนียบประธานาธิบดีศรีลังกา ส่งผลให้ โกตาบายา ราชปักษา ประธานาธิบดีของประเทศตัดสินใจลาออกจากตำแหน่ง หลังจากราชปักษาพยายามยื้อเก้าอี้ผู้นำประเทศของตนเองมาอย่างยาวนาน และเมินเฉยต่อการประท้วงขับไล่ตนเองมาตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี ประชาชนยังคงยืนยันว่า พวกตนจะยังคงยึดทำเนียบประธานาธิบดีเอาไว้ จนกว่าราชปักษาจะลาออกจากการเป็นประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการ ทั้งนี้ ราชปักษาสัญญาว่าตนจะลาออกในวันที่ 13 ก.ค.นี้ อย่างไรก็ดี ราชปักษาได้หนีออกนอกประเทศสำเร็จแล้ว

การประท้วงในอีกระลอกล่าสุด เกิดขึ้นหลังจากราชปักษาแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่อย่าง รานิล วิกรมสิงเห แทนนายกรัฐมนตรีคนเดิมที่เป็นพี่ชายของตนเองอย่าง มหินทรา ราชปักษา อย่างไรก็ดี วิกรมสิงเหไม่สามารถบริหารให้ศรีลังกามีสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ล้มละลายกระเตื้องขึ้นมาได้ ประชาชนผู้โกรธแค้นตัดสินใจบุกและเผาบ้านพักส่วนตัวของวิกรมสิงเห จนทำให้วิกรมสิงเหตัดสินใจประกาศว่า ตนจะลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันที่ 9 ก.ค.ที่ผ่านมา

ประชาชนศรีลังกาไม่มั่นใจว่า 13 ก.ค. จะเป็นวันที่ราชปักษาลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีตามคำพูดหรือไม่ อย่างไรก็ดี ท่ามกลางความดีใจของประชาชน ที่กล่าวว่าการขับไล่ผู้นำของตนได้ประสบกับชัยชนะแล้วนั้น หนทางในการฟื้นตัวของศรีลังกายังคงเต็มไปด้วยอุปสรรคขวากหนาม ทั้งจากเศรษฐกิจที่ล้มละลาย การขาดชำระหนี้ต่างประเทศ ไปจนถึงการขาดพลังงานขั้นวิกฤต ‘วอยซ์’ ชวนย้อนทบทวนต้นเหตุของปัญหา ว่าอะไรทำให้ศรีลังกามาถึงจุดนี้ได้

ศรีลังกา-01-01.jpg


อะไรคือจุดเริ่มต้นของวิกฤติเศรษฐกิจศรีลังกา?

ผู้เชี่ยวชาญหลายฝ่ายลงความเห็นว่า วิกฤตเศรษฐกิจของศรีลังกาตั้งท่าจะล้มละลาย อันมีสาเหตุมาจากโชคร้ายเพียงเล็กน้อย ผสมกับการบริหารงานที่ผิดพลาดของรัฐบาลราชปักษาอย่างมหาศาล โดยตลอดระยะเวลานับทศวรรษที่ผ่านมา ศรีลังกาก่อหนี้ด้วยการกู้ยืมเงินจากต่างชาติจำนวนมาก เพื่อนำเงินมายัดใส่บริการสาธารณะต่างๆ ของประเทศ

AFP - ศรีลังกา โกตาบายา ราชปักษา

การกู้หนี้ยืมสินของรัฐบาลศรีลังกา ซึ่งเป็นประเทศเกษตรกรรม ถูกซ้ำเติมด้วยภัยพิบัติทางธรรมชาติ หลังพายุมรสุมเข้าพัดถล่มเกาะ อย่างไรก็ดี ผลผลิตทางการเกษตรถูกซ้ำเติมด้วยนโยบายของรัฐบาล ในการสั่งห้ามการใช้ปุ๋ยเคมี ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตร ให้พบกับสถานการณ์ที่ซ้ำร้ายลงไปยิ่งกว่าเดิม

วิกฤตต่างๆ ถูกทวีคูณให้หนักขึ้นเมื่อเข้าสู่ปี 2561 หลังจากที่ประธานาธิบดีของศรีลังกาไล่นายกรัฐมนตรีออกจากตำแหน่ง ส่งผลให้เกิดวิกฤตทางรัฐธรรมนูญของประเทศ ในปีต่อมา ศรีลังกาพบกับเหตุการลอบวางระเบิดโบสถ์และโรงแรมหรูในช่วงวันอีสเตอร์ของปี 2562 วิกฤตที่เข้ามาเปิดฉากการล้มละลายอย่างไม่มีทางหวนคืนของศรีลังกา ตามมาด้วยการเกิดการระบาดของโควิด-19 ในปี 2563 มาจนถึงปัจจุบัน


โควิด-19: ยมบาลปลิดชีพเศรษฐกิจศรีลังกา

วิกฤตโควิด-19 ที่ตามมาซ้ำเติมศรีลังกาซ้ำ กับการบริการของรัฐบาลที่ผิดพลาดเป็นเดิมทุน ส่งผลให้รัฐบาลศรีลังกาประสบกับภาวะขาดดุลงบประมาณอย่างหนัก ราชปักษาในฐานะประธานาธิบดีของประเทศจึงตัดสินใจประกาศลดการเก็บภาษีลง เพื่อหวังว่านโยบายดังกล่าวจะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศได้ ความพยายามดังกล่าวกลับไม่ได้ทำให้มีเม็ดเงินไหลในศรีลังกาเพิ่มขึ้น แต่มันกลับทำให้ศรีลังกาถูกลดสถานะให้ไม่สามารถเข้าถึงตลาดต่างประเทศได้

รัฐบาลศรีลังกาติดหนี้กว่า 5.1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 1.8 ล้านล้านบาท) และไม่สามารถจ่ายชำระหนี้ดังกล่าวคืนได้ นอกจากนี้ วิกฤตการระบาดของโควิด-19 ยังได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อตลาดการท่องเที่ยวของศรีลังกา สกุลเงินรูปีศรีลังกาพังทลายลงกว่า 80% การนำเข้าสินค้าเต็มไปด้วยราคาที่แพง ภาวะเงินเฟ้อที่เลวร้ายลงส่งผลให้ค่าอาหารในศรีลังกาปรับตัวพุ่งสูงขึ้นกว่า 57%

ศรีลังกา โควิด

ศรีลังกาหันมาลดทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ เพื่อพยายามชำระหนี้รัฐบาลให้ได้ ด้วยการลดปริมาณเงินสำรองต่างประเทศจาก 6.9 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 2.5 แสนล้านบาท) ในปี 2561 ไปเป็น 2.2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 8 หมื่นล้านบาท) ในปีนี้ การลดทุนสำรองเงินตราต่างประเทศส่งผลให้ศรีลังกาพบกับค่านำเข้าเชื้อเพลิง และสิ่งของจำเป็นต่อการอุปโภคบริโภคปรับตัวพุ่งสูงขึ้นอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

เมื่อถึงจุดวิกฤตในเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา รัฐบาลศรีลังกาตัดสินใจประกาศลอยตัวค่าเงินรูปีศรีลังกา เพื่อให้ราคาสินค้าในประเทศ อ้างอิงกับกลไกอุปสงค์และอุปทานของตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ โดยจุดมุ่งหมายของรัฐบลราชปักษา คือ การลดค่าสกุลเงินของตนเอง เพื่อให้ศรีลังกาสามารถรับเงินกู้ช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ตลอดจนการส่งเสริมการโอนเงิน อย่างไรก็ดี สกุลเงินรูปีศรีลังกาที่ลดลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินเหรียญสหรัฐฯ กลับทำให้สถานะทางเศรษฐกิจของประชาชนศรีลังกาย่ำแย่หนักลงไปกว่าเดิม


ผลกระทบตกที่ประชาชนคนศรีลังกา

ค่าสินค้าที่พุ่งสูงขึ้นจากอัตราเงินเฟ้อ การไม่สามารถนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ประชาชนชาวศรีลังกาเผชิญหน้ากับการใช้ชีวิตวนลูปในการต่อแถวรอซื้อของ โดยตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา ร้านค้าต่างๆ ต้องทำการปิดตัวลง เนื่องจากพวกเขาไม่สามารถเปิดใช้เครื่องแช่แข็ง เครื่องปรับอากาศ หรือแม้แต่กระทั่งพัดลมได้ นอกจากนี้ ทหารของกองทัพศรีลังกาต้องเข้าประจำในปั๊มน้ำมัน เพื่อสงบอารมณ์ประชาชนที่ต่อแถวยาวหลายกิโลเมตรเพื่อรอเติมน้ำมัน มีรายงานประชาชนเสียชีวิตขณะต่อแถวรอซื้อสินค้าด้วยเช่นกัน

ชาวศรีลังกาต้องต่อแถวเพื่อรอซื้อสินค้ายาวหลายชั่วโมง ราคาขนมปังในศรีลังกาปรับตัวสูงขึ้นกว่าเดิมสองเท่าตัว ในขณะที่คนขับสามล้อและแท็กซี่ของศรีลังกาไม่เหลือกำไรในการเดินรถ และขาดแคลนน้ำมันที่ใช้เติมเพื่อแล่นรถตนเองในการประกอบสัมมาอาชีพได้ บางครอบครัวต้องให้ลูกของตนแอบหนีเวลางานมาต่อแถวรอซื้อของ

AFP - ศรีลังกา วิกฤตเศรษฐกิจ

ไม่เพียงแต่คนรากหญ้าในศรีลังกา เพราะครอบครัวชนชั้นกลางต่างพบกับความหมดหวังในเศรษฐกิจของประเทศตนเอง ประกอบกับความกลัวว่ายาและก๊าซในศรีลังกาจะหมดลง การใช้ชีวิตในกรุงโคลัมโบของศรีลังกาเลวร้ายลงไปยิ่งกว่าเดิม เมื่อรัฐบาลศรีลังกาประกาศตัดไฟยาวนานกว่า 10 ชั่วโมง เพราะไม่มีไฟฟ้าพอจ่ายได้

โครงการด้านอาหารสหประชาชาติเปิดเผยว่า มี 9 ใน 10 ครอบครัวของชาวศรีลังกา ที่ต้องเลือกอดมื้อกินมื้อ เพื่อให้พวกตนมีอาหารเพียงพอต่อการบริโภคไปวันๆ ในขณะที่มีประชาชนจำนวน 3 ล้านคนแล้วในศรีลังกา ที่ต้องได้รับความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมจากต่างชาติ

ความทนทุกข์ทรมานของประชาชน เริ่มก่อตัวกลายมาเป็นความไม่พอใจที่พวกเขามีต่อรัฐบาลของราชปักษา ศรีลังกาเจอกับวิกฤตเศรษฐกิจครั้งรุนแรงที่สุดของประเทศเท่าที่เคยประสบมา นับตั้งแต่ได้รับเอกราชจากสหราชอาณาจักรตั้งแต่ปี 2491 ทั้งนี้ ตระกูลราชปักษาปกครองศรีลังกามานานกว่าสองทศวรรษ แต่การบริหารเศรษฐกิจที่ล้มเหลวกลับทำให้บัลลังก์ทางอำนาจของตระกูลราชปักษาต้องสั่นคลอน


จุดเริ่มต้นการประท้วงใหญ่ขับไล่ราชปักษา

ประชาชนชาวศรีลังกาตัดสินใจลงถนน เพื่อขับไล่ตระกูลราชปักษาในช่วงปลายเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา โดยในวันที่ 31 มี.ค. ประชาชนชาวศรีลังกาเริ่มรวมตัวกันที่หน้าบ้านพักส่วนตัวของประธานาธิบดี เจ้าหน้าที่ตำรวจตัดสินใจใช้ก๊าซน้ำตาและน้ำแรงดันสูงฉีดสลายการชุมนุม ส่งผลให้พวกเขาเริ่มขว้างปาก้อนอิฐและจุดไฟเผารถของเจ้าหน้าที่

รัฐบาลตัดสินใจประกาศเคอร์ฟิวเป็นเวลา 36 ชั่วโมง เพื่อควบคุมสถานการณ์การประท้วงของประชาชน ก่อนที่ราชปักษาจะประกาศภาวะฉุกเฉินทั่วทั้งประเทศในวันที่ 1 เม.ย. เพื่อมอบอำนาจให้เจ้าหน้าที่สามารถจับกุมตัวประชาชนโดยไม่ต้องมีหมายจับ ตลอดจนการสั่งปิดและห้ามการเข้าถึงแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียในศรีลังกา ราชปักษาผู้พี่ที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอ้างว่า วิกฤตขอศรีลังกาเกิดขึ้นจาการระบาดของโควิด-19 ไม่ใช่การบริหารที่ผิดพลาดของรัฐบาล

AFP - ศรีลังกา ประท้วง บ้านพัก นายกรัฐมนตรี มหินทรา ราชปักษา

ประชาชนที่โกรธแค้นเดินหน้าการประท้วงต่อ ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะประกาศภาวะฉุกเฉินและกดปราบผู้ชุมนุม จนปัจจุบัน มีผู้ประท้วงเสียชีวิตอย่างน้อย 10 ราย ได้รับบาดเจ็บอย่างน้อย 250 ราย และถูกจับกุมตัวอีก 600 ราย การประท้วงเดินหน้าต่อไปด้วยความสงบเป็นส่วนใหญ่ ประชาชนที่นำโดยม็อบนักศึกษาเข้าล้อมบ้านพักของราชปักษาอีกครั้ง เพื่อเรียกร้องให้ประธานาธิบดีลาออกจากตำแหน่ง ทั้งนี้ รัฐบาลตัดสินใจยกเลิกการประกาศภาวะฉุกเฉินในวันที่ 5 เม.ย.ที่ผ่านมา

ก่อนการยกเลิกภาวะฉุกเฉิน รัฐมนตรีกว่า 26 คนในคณะรัฐมนตรีตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งในวันที่ 3 เม.ย. ซึ่งรวมถึงหลานของราชปักษาที่เป็นประธานาธิบดีของประเทศอีกด้วย ทั้งนี้ ราชปักษาตัดสินใจฝืนชะตากรรมของตนเอง และประกาศแต่งตั้งรัฐมนตรีขึ้นใหม่ 4 คน โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่ราชปักษาอ้างว่าจะเข้ามาทำหน้าที่ในการทำให้ประเทศของตนเองเข้ารูปเข้ารอยอีกครั้ง

สถานการณ์ทางอำนาจของราชปักษาเลวร้ายลงกว่าเดิม หลังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่เพิ่งได้รับการแต่งตั้งขึ้นมาทำหน้าที่ชั่วคราว ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่ง นอกจากนี้ ในช่วงต้นเดือน เม.ย. พรรคร่วมรัฐบาลของราชปักษายังเสียที่นั่งในรัฐสภาไปกว่า 41 ที่นั่ง หลังจากกลุ่มพันธมิตรของตนเองตัดสินใจประกาศถอนตัวจากการเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ส่งผลให้รัฐบาลเหลือที่นั่งในรัฐสภาเพียง 104 เสียง และสูญเสียสถานะการเป็นเสียงข้างมากในรัฐสภาไป

AFP - ประท้วง ศรีลังกา

รัฐบาลของราชปักษาสั่นคลอนอย่างหนัก จนกระทั่ง 9 พ.ค. มหินทรา ราชปักษา พี่ชายของประธานาธิบดีศรีลังกาตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่ประชาชนยังคงโกรธแค้นก่อนบุกเข้าเผาบ้านพักส่วนตัวของมหินทรา ภาระทั้งหมดตกมาที่วิกรมสิงเห ซึ่งขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของประเทศแทนมหินทรา 

ทั้งนี้ วิกรมสิงเหภายใต้การนำของประธานาธิบดีราชปักษา ยังคงไม่สามารถผ่อนคลายสถานการณ์เศรษฐกิจ และการประท้วงในประเทศได้ ตลอดระยะเวลาตั้งแต่เดือน พ.ค. มาจนถึงช่วงต้นเดือน ก.ค. ทุกอย่างเลวร้ายลงเมื่อรัฐบาลประกาศปิดการทำงานของภาคราชการจนถึงช่วงวันที่ 10 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยในระหว่างนั้นเมื่อวันที่ 5 ก.ค. วิกรมสิงเหออกมาประกาศว่า ศรีลังกาประสบกับภาวะ “ล้มละลาย” แล้ว


ปิดฉากราชปักษาบนทำเนียบศรีลังกา (?)

หลังจากการลาออกของวิกรมสิงเหเนื่องจากการถูกเผาบ้านพักส่วนตัวลง และการบุกเข้าไปยังทำเนียบประธานาธิบดีของประชาชนจำนวนนับพัน ราชปักษาประกาศยืนยันว่าตนจะลาออกจากตำแหน่งผู้นำประเทศในวันที่ 13 ก.ค.นี้ แต่ประชาชนชาวศรีลังกายังคงไม่ไว้ใจคำพูดของราชปักษา และยืนยันว่าพวกตนจะยังคงยึดทำเนียบประธานาธิบดีต่อไป จนกว่าราชปักษาจะลาออกจากตำแหน่งอย่างเป็นทางการ 

AFP - ศรีลังกา ประท้วง

สื่อเปิดเผยภาพของประชาชนนับพันที่บุกเข้าไปยังทำเนียบประธานาธิบดี หลายคนกระโดดลงสระว่ายน้ำ บางคนถ่ายรูปคู่กับเฟอร์นิเจอร์สุดหรู เพื่อเก็บภาพที่ระลึกถึงชัยชนะที่ประชาชนมีเหนือประธานาธิบดีของประเทศ ผู้ที่พยายามยื้อไม่ยอมลาออกจากตำแหน่ง 

ปัจจุบันนี้ ราชปักษาแอบขึ้นเครื่องบินของกองทัพ ก่อนหนีออกนอกประเทศสำเร็จ ในขณะที่สื่อบางสำนักได้รับการรายงานว่าก่อนหน้านี้ สองพี่น้องราชปักษาขนข้าวของของตนเองไปยังเรือของกองทัพเรือ ทั้งนี้ คำประกาศการลาออกของราชปักษาได้รับการประกาศในรัฐสภาของศรีลังกา แต่ไม่ได้มีการยืนยันจากปากของราชปักษาเอง ส่งผลให้ประชาชนยังคงลังเลสงสัยว่าราชปักษาจะยอมลาออกจากตำแหน่งจริงหรือไม่ ถึงแม้ว่าพวกเขาพยายามจะขับไล่ตระกูลราชปักษาออกไปจากการเมืองศรีลังกามานานแสนนาน

การบริหารที่ผิดพลาดของราชปักษา ส่งผลให้ประชาชนชาวศรีลังกา 22 ล้านคนต้องประสบกับวิกฤตเศรษฐกิจครั้งเลวร้ายที่สุดใรรอบ 70 ปี นับตั้งแต่ประเทศได้รับเอกราชจากสหราชอาณาจักร การลาออกของราชปักษายังคงถูกจับตาต่อไปว่าจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ แต่ประชาชนชาวศรีลังกากำลังจะได้กำหนดอนาคตของพวกเขา หลังผ่านพ้นการปกครองของรัฐบาลที่บริหารงานล้มเหลว อย่างไรก็ดี เส้นทางข้างหน้าของชาวศรีลังกายังคงไม่สดใสมากนัก


ที่มา:

https://edition.cnn.com/2022/04/05/asia/sri-lanka-economic-crisis-explainer-intl-hnk/index.html

https://indianexpress.com/article/explained/explained-sri-lanka-economy-collapse-8020532/

https://www.bbc.com/news/world-asia-62117763