นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า โดรน หรือ อากาศยานไร้คนขับ เป็นโอกาสของธุรกิจยุคใหม่ ที่จะช่วยสนับสนุนธุรกิจได้หลายมิติ โดยเฉพาะธุรกิจสร้างสรรค์ อาทิ การถ่ายรูป/วิดิทัศน์ ธุรกิจโลจิสติกส์ อาทิ การขนส่งสินค้า (เชื่อมโยงกับธุรกิจ E-Commerce) ธุรกิจเกษตร อาทิ การฉีดพ่นปุ๋ย/ยากำจัดศัตรูพืช ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสารเคมีและเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูกได้ รวมทั้งใช้ในการสำรวจเก็บข้อมูลเพื่อการพยากรณ์อากาศและสภาพดิน
อย่างไรก็ตาม การใช้โดรน ข้างต้น ต้องมีมาตรการไม่ให้กระทบสิทธิส่วนบุคคลและการรักษาความปลอดภัย เนื่องจากเป็นอุปกรณ์ที่เข้าถึงพื้นที่ส่วนบุคคลได้โดยง่าย ดังนั้น
ธุรกิจและผู้ใช้งานจึงต้องศึกษาและปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่องหลักเกณฑ์การอนุญาตและเงื่อนไข ในการบังคับหรือปล่อยอากาศยาน ซึ่งไม่มีนักบิน โดยสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นการลงทะเบียนผู้บังคับโดรน (ใบขับขี่) และประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ สำหรับอากาศยานซึ่งไม่มีนักบิน ซึ่งเป็นการลงทะเบียนเครื่องโดรน และขอใช้ความถี่ที่กำหนด (ใบทะเบียนพาหนะ)
นอกจากนี้ การใช้โดรนต้องขออนุญาตเจ้าของพื้นที่ก่อนใช้งานด้วยปัจจุบันโดรน ในโลกมีประมาณ 3 ล้านเครื่อง ร้อยละ 75 ผลิตที่ประเทศจีน โดยเฉพาะเมือเสินเจิ้น ที่เป็นทั้งแหล่งผลิต การวิจัยพัฒนา การสัมมนาระดับโลก (ประชุมโดรนโลก) ทั้งนี้ โดรนในโลกมีการวิจัยและพัฒนาโดยบริษัทยักษ์ใหญ่ของประเทศต่างๆ อาทิ Amazon ของอเมริกา Alibaba และ JD Group ของจีน จึงนับว่าโดรนเป็นอีกหนึ่งแนวโน้มที่สำคัญระดับโลกของเทคโนโลยีและธุรกิจยุคใหม่
ตัวอย่างพัฒนาการของโดรน ระดับโลก อาทิ JD Group สามารถบรรทุกสินค้าหนักได้ถึง 30 กิโลกรัม บินได้ไกลถึง 100 กิโลเมตร รองรับการขนส่งสินค้าไปยังพื้นที่ห่างไกลและยากต่อการเข้าถึง สำหรับ Alibaba อยู่ระหว่างศึกษาและทดลองผลิตโดรนให้บินได้ไกลถึง 1,500 กิโลเมตร เพื่อการขนส่งระยะไกลข้ามมณฑล บริษัท DJI ประเทศจีน ซึ่งเป็นผู้ผลิตโดรน ชั้นนำของโลกได้นำเสนอรูปแบบการใช้โดรนกับการเกษตร โดยใช้พ่นสารเคมีสามารถบรรทุกของเหลวได้สูงสุด 10 กิโลกรัม ครอบคลุมพื้นที่ 3-4 ไร่ ใช้เวลาเพียง 10 นาที ประหยัดเวลาและแรงงานมนุษย์ถึง 40-60 เท่า บินได้นานเกือบครึ่งชั่วโมง (ขึ้นอยู่กับน้ำหนักบรรทุก) นอกจากนี้ยังมีเทคโนโลยีสำรวจและคำนวณพื้นที่ สามารถวาดแผนที่ดิจิทัลของพื้นที่เกษตรได้อีกด้วย
พร้อมกันนี้ สนค. จึงอยากเชิญชวนนักธุรกิจไทยให้ศึกษาทดลองนำโดรน และเทคโนโลยียุคใหม่อื่นๆ โดยเฉพาะ ABCD ได้แก่ A (AI : Artificial Intelligence), B (Blockchain), C (Cloud), D (Big Data) มาประยุกต์ใช้กับธุรกิจยุคใหม่ เพื่อพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจไทยให้สอดคล้องกับบริบทของเศรษฐกิจยุคใหม่ต่อไป