นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์มุ่งมั่นนำเทคโนโลยีมาใช้ยกระดับการบริการประชาชนของกระทรวงให้ดียิ่งขึ้น โดยส่วนหนึ่งเป็นเรื่องการใช้ประโยชน์จาก Big Data เพื่อขับเคลื่อนการค้ายุคใหม่ เริ่มนำร่องระบบปักหมุดร้านสมาร์ตโชห่วยช่วงโควิด ระบบข้อมูลเพื่อเชื่อมโยงขยายตลาดผลไม้เชิงรุกรองรับช่วงผลไม้ออกสู่ตลาด
รวมทั้งมีแผนเปิดตัวระบบบริการข้อมูลเศรษฐกิจการค้าเชิงลึกสำหรับผู้ประกอบการ ประชาชน ได้ใช้ประโยชน์จากข้อมูลเพื่อวางแผนการดำเนินธุรกิจในช่วงเดือนส.ค.2563 ฉลองครบรอบ 100 ปีกระทรวงพาณิชย์
ในการผลักดันการใช้ Big Data กระทรวงได้ตั้งคณะทำงานเพื่อขับเคลื่อนภารกิจด้านการเชื่อมโยงข้อมูล และการใช้ประโยชน์ข้อมูลขนาดใหญ่ โดยตนทำหน้าที่เป็นประธานฯ เพื่อเป็นกลไกการดำเนินงานด้านการเชื่อมโยงข้อมูลและใช้ประโยชน์จาก Big Data มากยิ่งขึ้น โดยมีแผนแม่บทการพัฒนา MOC Big Data Roadmap เป็นแนวทางขับเคลื่อน
นำร่องระบบปักหมุดบริการข้อมูลค้นหาร้านโชห่วยใกล้บ้านช่วงโควิด
สำหรับผลงานที่ได้ทำไปแล้ว เช่น เมื่อวันที่ 30 มี.ค.2563 กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้าร่วมกับสำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) และสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (DGA) ได้เริ่มนำร่องเปิดตัวระบบปักหมุดบริการข้อมูลค้นหาร้านโชห่วยใกล้บ้าน เพื่อให้ประชาชนทราบข้อมูลร้านค้า เพื่อสั่งซื้อสินค้าหรือเลือกใช้ร้านค้าที่มีบริการส่งถึงบ้านในช่วงกักตัวอยู่บ้านรับมือกับการระบาดของโควิดที่ผ่านมา รวมทั้งยกระดับร้านโชห่วยให้ปรับตัวและยกระดับสู่โลกออนไลน์มากขึ้น ด้วยการบริการผ่านเว็บไซต์ https://สมาร์ทโชวห่วยเดลิเวอรี่.moc.go.th และ Line ของ DGA (@dgachatbot)
พัฒนาระบบข้อมูลเชื่อมโยงขยายตลาดผลไม้เชิงรุก
นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ โดยสำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ร่วมกับ สนค. ออกแบบและพัฒนาระบบข้อมูลเพื่อเชื่อมโยงขยายตลาดผลไม้เชิงรุกรองรับช่วงผลไม้ออกสู่ตลาด (Dashboard ผลไม้) โดยมุ่งเน้นผลไม้สำคัญ นำร่อง 9 ชนิด ได้แก่ ทุเรียน เงาะ มังคุด ลำไย ลองกอง ลิ้นจี่ สับปะรด มะพร้าวโรงงาน และมะม่วง เกรดส่งออก เพื่อเป็นเครื่องมือให้พาณิชย์จังหวัดช่วยเชื่อมโยงตลาดผลไม้เชิงรุก แก้ปัญหาผลไม้ล้นตลาดหรือขยายตลาดผลไม้ ตามนโยบายกระทรวงพาณิชย์ที่จะยกระดับพาณิชย์จังหวัดให้เป็นเซลส์แมนผลไม้รองรับฤดูกาล โดยผ่านกลไกการทำงานของพาณิชย์จังหวัดสนับสนุนข้อมูลการผลิตและความต้องการในพื้นที่ รวมไปถึงเชื่อมโยงการค้าจากจังหวัดที่มีผลไม้ไปยังจังหวัดอื่นๆ ที่มีความต้องการได้ โดยการสั่งจองผลไม้ในระบบ ซึ่งจะช่วยลดปัญหาผลไม้ล้นตลาด ช่วยรักษาเสถียรภาพและยกระดับราคาให้กับเกษตรกร รวมทั้งขยายตลาดผลไม้ในระยะยาว
เตรียมแผนพัฒนาระบบ 3 โครงการใหญ่
น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ระบุว่า ในปีนี้ สนค. มีแผนการพัฒนาระบบข้อมูลขนาดใหญ่ต่อเนื่องจากปี 2562 อยู่ 3 โครงการใหญ่ คือ
1.ต่อยอดระบบติดตามสินค้าเกษตรพื้นฐาน คือ ข้าว ปาล์มน้ำมัน ยางพารา มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และทุเรียน โดยส่วนที่ทำเสร็จเมื่อปี 2562 จะเป็นการทำฐานข้อมูลการค้าสินค้าเกษตรพื้นฐาน ทั้งด้านการผลิต ราคา การนำเข้าส่งออก เพื่อให้ผู้บริหารสามารถกำหนดนโยบายที่ทันต่อเหตุการณ์และคาดการณ์ได้ และปี 2563 จะพัฒนาข้อมูลให้มาจากแหล่งต่าง ๆ อย่างสมบูรณ์มากขึ้น โดยในส่วนของข้อมูลสินค้าเกษตรด้านการส่งออก ทั้งปริมาณ ตลาดที่ส่งออก และตลาดที่มีศักยภาพ จะเปิดให้ประชาชนเข้าใช้ได้ในช่วงกลางปี 2563 นี้
2.ระบบข้อมูลจังหวัดและฐานราก จะพัฒนาระบบการเชื่อมโยงข้อมูลจากพาณิชย์จังหวัดและหน่วยงานอื่นในระดับจังหวัด เช่น เกษตร อุตสาหกรรม สภาหอ สภาอุตสาหกรรมรายจังหวัด เข้ามาอย่างเป็นเอกภาพและเป็นระบบมากขึ้น ซึ่งเป้าหมายคือ สามารถวิเคราะห์สถานการณ์เศรษฐกิจและการค้าในระดับจังหวัดและระดับภูมิภาค วิเคราะห์ศักยภาพธุรกิจรายจังหวัด สินค้าเกษตรที่มีศักยภาพเพาะปลูกในเขตนั้น พร้อมทั้งการขยายโอกาสการส่งออกของท้องถิ่น ที่จะช่วยส่งเสริมความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากได้
3.ระบบบริการข้อมูลการค้าเชิงลึก (Trade Analytics Information) เป็นระบบให้บริการข้อมูลต่อผู้ประกอบการและประชาชน โดยเป็นข้อมูลการค้าเชิงลึกเพื่อวางแผนธุรกิจ รวมไปถึงขยายโอกาสทางการค้า พัฒนาธุรกิจสินค้าหรือบริการให้สอดคล้องความต้องการของตลาดมากยิ่งขึ้น ในส่วนนี้จะเน้นข้อมูลที่มีการวิเคราะห์มาแล้วในลักษณะเป็นบทวิเคราะห์ บทความ เอกสารศึกษา และข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการค้า ทั้งรายประเทศ รายสินค้า และแนวโน้มที่น่าสนใจ แต่ไม่ใช่ตัวเลขดิบ ซึ่งตรงนั้นแต่ละกรมที่ดูแลเก็บข้อมูล จะเป็นผู้ดูแลต่อไป โดยส่วนนี้จะเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนเข้าใช้ได้ในช่วงประมาณเดือนต.ค.2563
น.ส.พิมพ์ชนก กล่าวด้วยว่า จากการเกิดปัญหาโรคโควิด-19 ทำให้ทุกคนเห็นความสำคัญของการเก็บข้อมูล และการนำข้อมูลมาใช้ในงานด้านต่าง ๆ ซึ่งในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ จะเน้นการนำระบบ Big Data มาใช้เพื่อการบริหารนโยบายเชิงรุกและการให้บริการข้อมูลการค้าเชิงลึกกับผู้ประกอบการและประชาชน โดยหวังว่าเมื่อมีข้อมูลที่มีคุณภาพและเป็นระบบ ก็จะสามารถคาดการณ์สถานการณ์ (Prediction) เตือนภัยล่วงหน้า (Early Warning) ได้ ซึ่งจะเป็นข้อมูลในการตัดสินใจเชิงนโยบายและการตัดสินใจทางธุรกิจ ให้เท่าทันสถานการณ์การค้าโลกยุคใหม่ และตรงความต้องการตลาดมากยิ่งขึ้นอีกด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :