กระทรวงนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อมรายงานว่า ในช่วงตั้งแต่เดือนม.ค.- ก.ค. ที่ผ่านมา ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ในประเทศจีนลดลง 10.8% หลังจากโรงงานอุตสาหกรรมถูกปิดเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19
ช่วง 7 เดือนแรกของปี 2563 ค่าเฉลี่ย PM 2.5 ในประเทศจีนลดลงเหลือ 33 ไมโครกรัมต่อลบ.ม. โดยวัดจากสถานีอากาศในกว่า 300 เมืองทั่วประเทศ
อย่างไรก็ตาม ค่าเฉลี่ย PM 2.5 ในจีนยังคงสูงกว่าที่องค์การอนามัยโลกกำหนดที่ให้มีค่า PM 2.5 ไม่เกิน 10 ไมโครกรัมต่อลบ.ม. ขณะที่จีนตั้งเป้าค่าเฉลี่ย PM 2.5 อยู่ที่ 35 ไมโครกรัมต่อลบ.ม.
ด้านกลุ่มนักเคลื่อนไหวสิ่งแวดล้อมในจีนออกมาเตือนว่า ค่ามลพิษในจีนอาจจะกลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้ง เนื่องจากกระบวนการใช้พลังงานในอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้
หลี่ โช นักวิเคราะห์พลังงานและสภาพภูมิอากาศอาวุโสกล่าวว่า ค่ามลพิษในจีนเพิ่มขึ้นเมื่อเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา แต่ลดลงอย่างรวดเร็วอีกครั้งในเดือนพ.ค.
ทางการเมืองเทียนจิน หนึ่งในเมืองอุตสาหกรรมที่สำคัญของจีนรายงานว่า ในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ ค่าเฉลี่ย PM 2.5 ลดลง เหลือ 53 ไมโครกรัมต่อลบ.ม. ซึ่งลดลง 7% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว
ขณะที่ เมื่อเดือน ก.ค. ค่าเฉลี่ย PM 2.5 ในจีนลดลง 5% แต่หลายเมืองในจีนมีค่าเฉลี่ย PM 2.5 เพิ่มขึ้น เช่น ในปักกิ่งค่า PM 2.5 เพิ่มขึ้น 10.8% เป็น 41 ไมโครกรัมต่อลบ.ม. รวมถึงภาพรวมในเขตปักกิ่ง เทียนจินและเหอเป่ยมีค่าเฉลี่ย PM 2.5 เพิ่มขึ้น 5.9%
รายงานชี้ว่า ในแต่ละปีมีประชากรจีนกว่า 1.1 ล้านคนและประชากรฮ่องกงอีกราว 1,000 คน เสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศที่สะสมในร่างกาย ขณะที่ในภาคการเกษตรแต่ละปีพบว่า ข้าว ข้าวสาลี ข้าวโพด และถั่วเหลือง ได้รับความเสียหายประมาณ 20 ล้านตัน เพราะไม่สามารถสังเคราะห์แสงและเจริญเติบโตได้เต็มที่ คิดเป็นความเสียหายทางเศรษฐกิจในแต่ละปีอีกกว่า 267,000 ล้านหยวน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง