ไม่พบผลการค้นหา
ฝุ่นควันมลพิษในจีน นอกจากจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจจีนอย่างมหาศาลโดยเฉพาะในภาคการเกษตร ขณะที่รัฐบาลพยายามควบคุมการผลิตในระบบอุตสาหกรรมเพื่อลดการปล่อยมลพิษ

รายงานของมหาวิทยาลัยจีนแห่งฮ่องกง เรื่องมลพิษทางอากาศจากฝุ่นควันที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมระบุว่า มลพิษทางอากาศที่จีนประสบปัญหามาอย่างยาวนานนั้น ทำให้จีนสูญเสียรายได้ทางเศรษฐกิจเป็นเงินกว่า 267,000 ล้านหยวนในแต่ละปี โดยเฉพาะด้านค่าใช้จ่ายทางสาธารณสุขและผลผลิตทางการเกษตรที่ลดลง

สตีฟ ยิม ฮวง-แลม ผู้ช่วยศาสตราจารย์คณะบริหารทรัพยากรและภูมิศาสตร์กล่าวว่า "มลพิษทางอากาศก่อให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ซึ่งมูลค่าทางเศรษฐกิจที่สูญเสียจากมลพิษทางอากาศนี้คิดเป็นอัตราส่วน 0.7 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีจีน"

งานวิจัยชิ้นดังกล่าวประเมินจากดัชนีปริมาณฝุ่นมลพิษอนุภาคขนาดเล็ก PM2.5 ในระดับอากาศภาคพื้นดินที่มีส่วนทำให้อากาศในชั้นบรรยากาศปิด ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน และยังนำไปสู่การขัดขวางการเจริญเติบโตของพืช 

รายงานดังกล่าวเก็บข้อมูลผลกระทบทางเศรษฐกิจจาก 6 ภาคเศรษฐกิจของจีน ทั้งภาคส่วนอุตสาหกรรม พาณิชย์และครัวเรือน การเกษตร การคมนาขนส่ง การผลิตพลังงาน และภาคส่วนอื่นๆ เช่น การบิน เป็นต้น พบว่าภาคส่วนอุตสาหกรรมนั้นเป็นตัวการหลักในการปล่อยมลพิษทางอากาศ แต่สำหรับฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 นั้นส่วนใหญ่ถูกปล่อยมาจากภาคครัวเรือนและพาณิชย์มากที่สุด โดยเฉพาะการเผาฟืนและถ่านหินเพื่อให้ความอบอุ่นในช่วงฤดูหนาว ขณะที่ในเมืองใหญ่บางเมืองนั้นมลพิษจากรถยนต์จะเป็นตัวการที่ปล่อย PM 2.5 รองลงมา 

ในรายงานยังระบุว่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 นั้นยังส่งผลกระทบต่อประชาชน เพราะในแต่ละปีมีประชากรจีนกว่า 1.1 ล้านคนและประชากรฮ่องกงอีกราว 1,000 คน เสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศที่สะสมในร่างกาย ขณะที่ในภาคการเกษตรแต่ละปีพบว่า ข้าว ข้าวสาลี ข้าวโพด และถั่วเหลือง ได้รับความเสียหายประมาณ 20 ล้านตัน เพราะไม่สามารถสังเคราะห์แสงและเจริญเติบโตได้เต็มที่ คิดเป็นความเสียหายทางเศรษฐกิจในแต่ละปีอีกกว่า 267,000 ล้านหยวน หรือคิดเป็นสัดส่วน 0.66 เปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์มลรวมภายในประเทศ

000_1A133B.jpg

(ท้องฟ้าในกรุงปักกิ่งหลังจากรัฐบาลจีนประกาศนโยบายต่อสู้กับมลพิษทางอากาศมานับตั้งแต่ปี 2013 /บนท้องฟ้าในกรุงปักกิ่งปี 2018 ภาพล่างกรุงปักกิ่งในปี 2013)

สถานการณ์ฝุ่นควันในจีนถือเป็นปัญหาใหญ่ของรัฐบาลจีน นับตั้งแต่ปี 2013 เป็นต้นมา รัฐบาลได้ประกาศ 'สงครามต่อต้านมลพิษ' ด้วยการออกมาตรการต่างๆ เพื่อบรรเทามลพิษทางอากาศ ทั้งการสั่งปิดโรงงานอุตสาหกรรม การสั่งลดการใช้ถ่านหินในอุตสาหกรรม มาตรการจำกัดและควบคุมรถยนต์ และมาตราการด้านสิ่งแวดล้อมอื่นๆ เพื่อต่อสู้กับมลพิษทางอากาศที่เกิดขึ้นในเมืองใหญ่ๆ หลายเมืองของจีน และช่วงปี 2018 - ปี 2020 รัฐบาลจีนได้ตั้งเป้าว่าจะต้องลดการใช้ถ่านหินและการปล่อยมลพิษจากแหล่งต่างๆ ให้ได้ใน 82 เมืองใหญ่ของจีน

อย่างไรก็ตาม ด้วยสภาวะเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวลงในช่วงปีที่ผ่านมา การสั่งปิดโรงงานอุตสาหกรรมและการผลิตถ่านหิน ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกของจีนอย่างหนึ่ง ทำให้รัฐบาลท้องถิ่นของจีนต่างตกอยู่ในสภาวะกลืนไม่เข้า-คายไม่ออก เนื่องจากการปิดโรงงานอุตสาหกรรม รือการลดกำลังการผลิตในภาคอุตสาหกรรมลงนั้น ทำให้แรงงานที่เคยทำงานในโรงงานต่างๆ ต้องตกงาน ซึ่งเฉพาะในปักกิ่ง เทียนจิน และเมืองอื่นๆ ของมณฑลเหอเป่ย จะมีคนตกงานประมาณ 40,000 ทั้งๆ ที่ในปี 2018 ที่ผ่านมา รัฐบาลจีนได้ประกาศให้เงินทุนสนับสนุนภาคการผลิตของจีนให้เข้มแข็งมากยิ่งขึ้นท่ามกลางการแข่งขันทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวทั่วโลก

000_10T4U6.jpg

(โรงงานอุตสาหกรรมในมณฑลส่านซี หนึ่งในมณฑลที่มีการปล่อยควันจากอุตสาหกรรมหนักมากที่สุด)

นักเคราะห์หลายคนระบุว่า การชะลอตัวทางเศรษฐกิจอาจจะทำให้รัฐบาลอยู่ในภาวะ 'ปิดตาข้างหนึ่ง' อีกครั้งในเรื่องการควบคุมมลพิษ เห็นได้จากช่วงเดือนพฤศจิกายน 2018 ที่ผ่านมา ข้อมูลค่า PM2.5 ใน 79 เมืองใหญ่ต่างสูงกว่า ช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้านี้ถึง 14 เปอร์เซ็นต์ มีเพียง 32 เมืองเท่านั้นที่สามารถปรับปรุงคุณภาพอากาศให้ได้มาตรฐานตามข้อกำหนดของรัฐบาลจีน

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าสงครามมลพิษของจีนและนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจของจีนจะยังสวนทางกัน โดยเฉพาะในเศรษฐกิจระดับท้องถิ่นที่ยังต้องพึ่งพาอุตสาหกรรมหนักต่างๆ อย่างถ่านหินและเหล็ก

ทั้งนี้ ในอนาคตอันใกล้ รัฐบาลจีนจะต้องหาข้อตกลงร่วมกัน เพื่อให้ทั้งภาคอุตสาหกรรมและการลดมลพิษทางอากาศสามรถดำเนินไปด้วยกันได้ ไม่เช่นนั้นแล้ว จีนอาจจะต้องสูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจจำนวนมหาศาลจากมลพิษทางอากาศที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาเศรษฐกิจของจีนอีกครั้งหนึ่ง

ที่มา Reuters / SCMP