ไม่พบผลการค้นหา
นิสิตหญิง จากรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ประกาศมองให้ไกลกว่าแค่ตัวบุคคล ร่วมเรียนรู้ เข้าใจและไม่เพิกเฉยต่อปัญหา เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตผู้คนในชาติ

ตัวเล็ก หน้าใส ผมไฮไลต์สีแดงอ่อน ทำให้ภายนอก ‘ลูกไม้’ ญาณิศา วรารักษพงศ์ ดูโดดเด่นและมีเสน่ห์ ส่วนภายใน แนวคิดการต่อต้านความไม่ยุติธรรม และสนับสนุนประชาธิปไตย ทำให้เธอเปล่งประกาย 

จากอดีตผู้ร่วมก่อตั้ง ‘กลุ่มเกียมอุดมไม่ก้มหัวให้เผด็จการ’ กับเพื่อนๆ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา วันนี้ญาณิศา เติบโตเปลี่ยนบทบาทสู่นิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลักสูตรการเมืองและโลกสัมพันธ์ศึกษา (Politics and Global Studies) เพื่อเรียนรู้และผลักดันประชาธิปไตยอย่างต่อเนื่อง

“เราต้องเปลี่ยนเกม ไม่ใช่แค่เปลี่ยนคนค่ะ” ญาณิศาเสียงเข้มยืนยันถึงสถานการณ์การเมืองปัจจุบัน 


จากโลกสู่ไทย – มองเล็กไปใหญ่ 

การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2559 ที่โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้ง กลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ ‘ญาณิศา’ ซึ่งเวลานั้นเรียนอยู่ในระดับชั้นมัธยมต้นสนใจการเมือง

“กระแสการเมืองช่วงนั้นอยู่ในเมนสตรีม (mainstream) ดาราคนดังพูดถึงการเลือกผู้นำอย่างเต็มที่ เราเริ่มสนใจ ติดตาม และหันกลับมามองในไทย โดยไม่ได้ติดอยู่ในเลนส์หรือกรอบใดๆ ที่หลายคนอาจติดอยู่ มันเหมือนกับว่าเราได้มองจากมุมมองของคนนอกนิดหนึ่ง ได้เปรียบเทียบและเห็นว่ามันมีอะไรที่ไม่ถูกต้อง”

เธอไล่อ่านประวัติศาสตร์ ‘การเมือง’ ย้อนหลัง เริ่มจากการรัฐประหารในปี 2557 โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไปจนกระทั่งเหตุการณ์ประท้วง ความวุ่นวาย การจับกุมนักกิจกรรม การยึดอำนาจและเส้นทางรัฐธรรมนูญหลายฉบับของไทย 

“เราเรียนรู้ว่าเรากำลังอยู่ภายใต้ความไม่ถูกต้อง หลายอย่างถูกตัดสินใจเพื่อผลประโยชน์ของคนบางกลุ่ม” เธอบอกต่อ “เมื่อย้อนกลับมามองการเมืองที่ใกล้ตัว ภายในโรงเรียน ก็พบว่ามันมีโครงสร้างของระบบอำนาจนิยม มีค่านิยมที่ผิดแปลก เห็นคนไม่เท่ากัน ตั้งแต่ในเรื่องเพศ ศาสนา ชาติพันธุ์ ชนชั้น อภิสิทธิ์ชน ตลอดจนความเห็นต่างทางการเมือง มันกดทับคนหลายๆ คนอยู่”

นักเรียน-นักศึกษา-นิสิต-การศึกษา-โรงเรียน-ศธ.-มหาวิทยาลัย

ปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งที่เห็นในโรงเรียนเป็นผลมาจากการเมืองในระดับประเทศ เมื่อเยาวชนเห็นและสัมผัสได้โดยตรง เขาจึงเชื่อมโยงจนกระทั่งเริ่มมองเห็นในภาพใหญ่และนำไปสู่การเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในที่สุด

“มันต่อกันติดและเห็นภาพใหญ่ ทำให้นักเรียนหลายๆ คนหันมาสนใจการเมืองในปัจจุบันและออกมาเคลื่อนไหว”

สมัยเรียนมัธยม ‘ญาณิศา’ ได้ร่วมกับเพื่อนๆ กลุ่มเกียมอุดมฯ ผลักดันการแก้ไขระเบียบการแต่งกายว่าด้วยการไว้ทรงผมและการใส่เสื้อทับชั้นใน เรียกเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางภายในโรงเรียนและสื่อมวลชน ท้ายที่สุดแม้จะไม่สำเร็จ แต่บรรดาอาจารย์ก็เกิดความตระหนักเรื่องเสรีภาพของเด็กกันมากขึ้น


‘เปลี่ยนเกม’ ไม่ใช่แค่ ‘เปลี่ยนคน’

การเคลื่อนไหวและเรียกร้องของกลุ่มประชาชนปลดแอก ‘ญาณิศา’ อธิบายเป้าหมายว่า “พวกเราต้องการเปลี่ยนกฎกติกา” ซึ่งมีที่มาจากความไม่ชอบธรรม ภายหลังการยึดอำนาจรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของ คสช. เมื่อปี 2557 และนำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญโดยคณะกรรมการที่มาจากการคัดเลือกของ คสช. 

“ถ้าเราเปลี่ยนระบบและค่านิยมที่สร้างสังคมขึ้นมาอย่างไม่เท่าเทียม ตัวผู้เล่นจะเปลี่ยนไปเอง” เธอบอกกลับกันหากเปลี่ยนแปลงเพียงแค่ผู้มีอำนาจเท่านั้น จะหนีไม่พ้นมีผู้เล่นหน้าใหม่เกิดขึ้นภายใต้ระบบและวิธีคิดแบบเดิม 

“ทหาร เทคโนแครต หรือนายทุน มันจะมีคนใหม่ๆ ขึ้นมา เพราะระบบเก่ามันสร้างคนแบบนี้ ต้องเปลี่ยนระบบที่มันจะไม่สร้างคนเหล่านี้ขึ้นมา ไล่ได้ตั้งแต่ระบบข้าราชการรวมศูนย์ ระบบยุติธรรม ตุลาการ แม้กระทั่งค่านิยมของคน”

เธอบอกในเวลาเดียวกันจำเป็นต้องสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการเมืองอัตลักษณ์ ประเด็นทางสังคมอื่นๆ ความเหลื่อมล้ำ คอร์รัปชัน คนชายขอบ คนในพื้นที่เสี่ยง ซึ่งไม่สามารถบอกได้ว่าสิ่งใดสำคัญกว่า 

“เราต้องเปลี่ยนมันไปพร้อมๆ กัน” 

สัมภาษณ์น้องญาณิศา

นักวิเคราะห์และผู้มากประสบการณ์หลายท่านแนะนำให้กลุ่มเยาวชนเลือกที่จะ ‘เดินทีละก้าว เคี้ยวข้าวทีละคำ’ ซึ่งหมายถึงการค่อยๆ ขยับประเด็นการเรียกร้องตามจังหวะและเวลา เพราะสิ่งที่เรียกร้องในเวลานี้ รวดเร็วและรุนแรงเกินไป 

“ตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 การเมืองไทยและประชาชนทุกๆ คน เราค่อยๆ เปลี่ยนมาตลอด มีการต่อสู้เรื่อยมา แต่ถูกแทรกแซงและตัดบทจากเผด็จการรัฐประหารอยู่เป็นระยะ เราไม่สามารถ “ค่อยๆ ได้” ในระดับเดียวกับที่ผ่านมา”

“ต้องถามกลับว่าการค่อยๆ เปลี่ยน มันตามมาด้วยค่าเสียหายของอะไร? ของชีวิต คุณภาพชีวิต สถานะทางเศรษฐกิจ เพราะฉะนั้นเรามองว่ามันเป็นสิ่งที่ถูกต้องที่จะเรียกร้องสิ่งที่ถูกต้องอย่างเต็มที่ที่สุดอย่างที่จะเป็นไปได้”


เกมนี้อีกยาว ต้องช่วยกันสู้ 

ญาณิศา วัย 18 ปี บอกว่าการชุมนุมและเคลื่อนไหว เมื่อวันที่ 19 ก.ย.ที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นถึงจุดร่วมของประชาชนหลากหลายกลุ่มอาชีพและช่วงอายุ ตลอดจนเอ็นจีโอต่างๆ ไม่ใช่เพียงแค่เยาวชนนักศึกษาเหมือนในช่วงเริ่มต้น 

“นี่คือพลังที่แท้จริง เราควรขยายการเคลื่อนไหวนี้ให้ครอบคลุมคนหลายๆ กลุ่มมากที่สุด” เธอยอมรับว่าน่าเสียดายอยู่บ้างที่มีผู้ปราศรัยบางท่านใช้คำพูดลักษณะเหยียดเพศหรือไม่เหมาะสม 

“สิ่งที่แสดงออกบนเวทีมันเหมือนสัญญาณของอนาคตที่พวกเราต้องการและเป็นสัญญาด้วยว่าเราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เพราะฉะนั้นต้องระวัง”

เธอไม่รู้และเดาไม่ออกว่าการต่อสู้ครั้งนี้จะไปจบที่ตรงไหน และแม้จะเห็นท่าทีร้อนรนของผู้มีอำนาจอยู่บ้าง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าอีกฝ่ายมีพลังอำนาจเหนือกว่าทุกด้าน ทั้งทางเศรษฐกิจ เจ้าหน้าที่รัฐผู้บังคับใช้กฎหมาย สิ่งที่ทำได้มากสุดคือการยกระดับและขยายความเข้าใจในวงกว้าง 

“หวังว่าคนจะหันมาอยู่ข้างเดียวกับเรา เพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุดคนที่กุมอำนาจไว้จะปฏิเสธเราไม่ได้อีกต่อไป” 

การศึกษา นักเรียน ชุมนุม   แฟลชม็อบ นักเรียนเลว

แม้เสียงของเยาวชนจะได้รับการยอมรับมากขึ้นเรื่อยๆ พวกเขาเองก็กระตือรือร้น แต่เนื่องจากส่วนใหญ่ยังเปราะบางต้องพึ่งพาครอบครัวในด้านการเงินและที่อยู่อาศัย ทำให้หลายคนที่ถูกห้ามปรามหรือปฏิเสธให้ออกไปร่วมต่อต้านรัฐบาล โดยนำเงื่อนไขทางการเงินมากดดัน

“กลุ่มนักเรียนเลวหลายๆ คนถูกครอบครัวตัดหาง ซึ่งเป็นสิ่งที่สะเทือนใจและรับไม่ได้เพราะผู้ปกครองต้องมีหน้าที่ดูแล การตัดหางหรือไม่ให้เงินเป็นการทำร้ายเด็ก เป็นความรุนแรงในครอบครัวด้วยซ้ำ” 


รักชาติ – หนีพูดถึงสถาบันไม่ได้ 

วาทกรรม ‘ชังชาติ’ ที่อีกฝ่ายโจมตีกลุ่มผู้ชุมนุมมาตลอด ญาณิศา ยิ้มรับและส่ายหัวเบาๆ ให้กับคำดังกล่าว โดยยืนยันว่าสิ่งที่ทำนั่นเรียกว่า ‘รักชาติ’ 

“พวกเราพูดกันมาก หลายครั้งแล้ว เหตุผลที่เราออกมาเคลื่อนไหว เราอยากให้ประเทศ บ้านของเรามันดีขึ้น เพื่อให้คนที่เรารักและคนรอบๆ ตัวเรา รวมถึงคนที่มีจุดยืนทางการเมืองอีกฝั่ง มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เพราะฉะนั้นไม่ใช่ว่าเราชังชาติ แต่รักชาติด้วยซ้ำ” 

อย่างไรก็ตาม จะรักหรือเกลียดไม่ใช่โฟกัสสำคัญ นิสิตจุฬาฯ รายนี้บอกว่า สิ่งที่ควรให้น้ำหนักคือ ระบบและบุคคลที่กำลังหากินจากความทุกข์ของคนอื่น  

“เขาทำให้ชีวิตของคนอื่นแย่ลง ไม่ได้รับความเป็นธรรมอย่างที่ควรหรือเปล่า” เธอตั้งคำถาม

ญาณิศาเห็นว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยมีบทบาททางการเมืองมาอย่างยาวนาน เพราะฉะนั้นการเคลื่อนไหวของกลุ่มประชาชนปลดแอกจึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องพูดถึงการปฏิรูปสถาบันผู้ปกครองสูงสุด ควบคู่ไปกับการพูดถึงสถาบันทหาร ซึ่งทั้งสองกลุ่มคานอำนาจกันมาตลอดในประวัติศาสตร์ไทย 

“เราต้องพูดถึงและร่วมกันปฏิรูป การที่เราไม่กล้าพูดถึงมันเป็นความผิดปกติที่เราถูกทำให้เข้าใจว่าปกติมาตลอด ถูกทำให้เข้าใจว่าเป็นเรื่องที่ดีและถูกต้องด้วยซ้ำ ทั้งๆ ที่มันไม่ใช่ เราควรมีสิทธิที่จะวิจารณ์ทั้งสถาบันกษัตริย์และทหาร รวมถึงกลุ่มทุน”


สิทธิของผู้บริโภค 

ช่วงที่ผ่านมาเกิดกระแส cancel culture หรือวัฒนธรรมคว่ำบาตร เลิกสนับสนุนคนมีชื่อเสียงจากการกระทำที่ไม่เหมาะสม หรือทำให้แฟนๆ ผิดหวัง รวมถึงไปการเรียกร้องให้คนดัง Call out ออกมาประกาศจุดยืน 

ญาณิศาบอกว่าในระบอบประชาธิปไตย ทุกคนมีสิทธิที่จะพูด ถ้าสิ่งที่เราต่อต้านเป็นสิ่งที่สนับสนุนค่านิยมที่ไปกดขี่ ห้ามไม่ให้คนคิดต่างพูด ซึ่งเห็นแล้วว่ามีผู้ได้รับผลกระทบจากกลุ่มอำนาจเผด็จการจริง ทั้งทางกฎหมายและร่างกาย

“ในฐานะผู้บริโภคเรามีสิทธิที่จะเรียกร้องสิ่งที่เราต้องการ หรือเรียกร้องความรับผิดชอบจากสิ่งที่คนดังหรือบริษัททำ”

สัมภาษณ์น้องญาณิศา

ต่างๆ นานา 

  • ญาณิศาเห็นว่าความหลากหลาย แตกต่างทั้งในแง่ตัวบุคคลและประเด็น เป็นสิ่งสำคัญที่จะนำไปสู่ความสำเร็จในการเปลี่ยนแปลง 
  • ญาณิศาเกิดปี พ.ศ. 2544 ที่กรุงเทพฯ ในครอบครัวชนชั้นกลางค่อนบน 
  • เธอยอมรับว่าโชคดีที่เกิดในครอบครัวชนชั้นกลาง มีอิสระและไร้ปัญหาเรื่องเงินในการออกมาร่วมชุมนุม
  • เธอบอกไม่ผิดที่ใครจะเกิดมารวยหรืออยู่ในครอบครัวที่เป็นอภิสิทธิ์ชน แต่จำเป็นต้องใช้ให้เกิดประโยชน์และยกระดับสังคม
  • เวลาผู้ใหญ่แนะนำให้ไปใช้ชีวิตที่มีความสุขแทนที่จะมาร่วมชุมนุม เธอจะตอบว่า “ถ้าไม่เปลี่ยนแปลง หนูก็ไม่ได้ใช้ชีวิตที่ดีหรอกค่ะ”
  • ชอบเรียนรู้เรื่องสังคมและประวัติศาสตร์ผ่านหนังสือและอินเทอร์เน็ต 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

วรรณโชค ไชยสะอาด
ผู้สื่อข่าวสังคม Voice Online
118Article
0Video
0Blog