ไม่พบผลการค้นหา
ส.ส.รัฐบาล-ฝ่ายค้าน เห็นพ้องต้องแก้รัฐธรรมนูญ ม.256 ไม่แตะต้องหมวด 1 และ 2 หวั่นขยายควงามขัดแย้ง 'สมพงษ์' ย้ำต้องยกเลิก ส.ว.โหวตนายกฯ-ยกเลิกคำสั่ง คสช.

สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ผู้นำฝ่ายค้าน และ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย อภิปรายชี้แจงหลักการและเหตุผลญัตติร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เรื่องที่ 1 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1 หรือตั้ง สสร.เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ยกเว้นหมวด 1 และ หมวด 2 เนื่องจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา 256 ต้องมีเสียง ส.ส.เกินกึ่งหนึ่ง และเสียง ส.ว.เห็นชอบไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 อีกทั้งในวาระที่ 3 ยังต้องมี ส.ส. จากฝ่ายค้านเห็นชอบไม่น้อยกว่า 20% รวมทั้งต้องมีการออกเสียงประชามติ ทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญทำได้ยากจนไม่อาจแก้ไขได้และไม่ทันต่อสถานการณ์ของประเทศ จึงเห็นควรให้กลับไปชี้เสียงข้างมากเกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภา รวมถึงเสียงเรียกร้องประชาชนที่ชี้ว่ารัฐธรรมนูญควรแก้ไขเพื่อให้เป็นประชาธิปไตย จึงควรจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญหรือ ส.ส.ร.ขึ้นมายกร่างรัฐธรรมนูญ

ส่วนหลักการร่างแก้ไขยกเลิกมาตรา 270 ถึง 272 สมพงษ์ ชี้แจงหลักการและเหตุผลว่า เป็นหลักการที่ไม่เป็นประชาธิปไตยและขัดกับหลักการถ่วงดุลอำนาจ โดยเฉพาะมาตรา 272 เกี่ยวกับการให้ ส.ว.ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน มีสิทธิร่วมลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย ไม่สอดคล้องกับหลักการและประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จึงไม่ควรให้ ส.ว.มีสิทธิ์เลือกนายกรัฐมนตรีอีกต่อไป จึงเห็นควรยกเลิกมาตรา 272 และแก้ไขมาตรา 159 ให้การเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีต้องมาจาก ส.ส.

บยก. ประชุมสภา (1 สมพงษ์ อมรวิวัฒน์)_๒๐๐๙๒๓.jpg

ผู้นำฝ่ายค้าน ยังชี้แจงหลักการและเหตุผลให้ยกเลิกมาตรา 279 เกี่ยวกับการประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำของ คสช.และหัวหน้า คสช. ซึ่งมีผลกระทบต่อประชาชน ขัดหลักสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ แต่ได้รับการรับรองให้ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ทั้งที่ คสช.สิ้นสุดไปแล้ว แต่ยังคงบทบัญญัติไว้ ทำให้ไม่เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จึงควรแก้ไขเพิ่มเติมยกเลิก ส่วนหลักการและเหตุผลการแก้ไขระบบเลือกตั้ง

สมพงษ์ กล่าวอีกว่า การใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียวมีปัญหาหลายด้าน ยุ่งยากในทางปฏิบัติ ไม่สะท้อนเจตนารมณ์ประชาชน ไม่เป็นธรรมต่อพรรคการเมือง การคิดคำนวณไม่แน่นอนชัดเจน สมควรนำวิธีการเลือกตั้งในรัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้าที่ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ กลับมาใช้ ซึ่งเคยใช้มาหลายครั้ง ประชาชนเข้าใจ ไม่เกิดปัญหาในทางปฏิบัติ

เลี่ยงแตะหมวด 1-2 ตัดไฟขัดแย้ง

วิรัช รัตนเศรษฐ ประธานวิปรัฐบาล และ ส.ส.นครราชสีมา พรรคพลังประชารัฐ อภิปรายชี้แจงหลักการและเหตุผลร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1 โดยกล่าวว่าสภาพปัญหาในบ้านเมืองปัจจุบันทำให้เป็นอุปสรรค์ในการพัฒนาของบ้านเมือง และเพื่อการแก้ไขความขัดแย้งในประเทศ ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญ 2540 ที่คิดว่าดีที่สุด แต่ก็ยังมีส่วนที่ยังมีข้อบกพร่อง ปี 2550 ก็ยังมีข้อบกพร่อง และปี 2560 หลายพรรคการเมืองหาเสียงว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ

แม้พรรคพลังประชารัฐจะไม่มีนโยบายในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่พรรคร่วมมีนโยบายนี้ และจากการใช้รัฐธรรมนูญมา 2 ปี มีหลายกลุ่มออกมาเดินขบวนและชุมนุมล้วนเกิดมาจากความต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ก็มีกลุ่มไทยภักดีที่จะมีการขยายตัวในอนาคต ดังนั้นการแก้ไขรัฐธรรมนูญอาจจะนำมาซึ่งความขัดแย้งได้ด้วย พรรคจึงเห็นว่าแก้ไขในส่วนที่เป็นปัญหา และเลี่ยงส่วนที่จะนำมาซึ่งความขัดแย้งคือหมวด 1 และ 2

'อนุดิษฐ์' ยก 'ประชาธิปไตยกินได้' ขอฝ่ายนิติบัญญัติร่วมดับไฟการเมือง

อนุดิษฐ์ เพื่อไทย สภา อภิปราย_200909.jpg

น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ส.ส. กทม. พรรคเพื่อไทย อภิปรายสนับสนุนญัตติร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1 หรือตั้ง สสร. เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ยกเว้นหมวด 1 และ หมวด 2 โดยมีเหตุผลคือ ตนเป็นผู้หนึ่งที่ยืนหยัดต่อต้านรัฐธรรมนูญฉบับนี้มาตั้งแต่ต้น เพราะเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ขัดหลักการประชาธิปไตย เพราะมีความประสงค์ที่จะทำให้การเมืองอ่อนแอ ส่งผลให้เศรษฐกิจถดถอย หมดความน่าเชื่อถือต่อประชาคมโลก 

ทั้งนี้ น.อ.อนุดิษฐ์ ยกคำว่า 'ประชาธิปไตยกินได้' เป็นคำพูดในสมัยที่ประเทศไทย มีประชาธิปไตยเบ่งบาน จากรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่ได้มาจากการตั้ง สสร. หลังวิกฤติการณ์ปี 2535 ตอนนั้นประเทศไทยได้กลายเป็นประเทศที่มั่งคั่ง เป็นสวรรค์ของนักลงทุน จากรัฐธรรมนูญที่ประชาชนชนร่วมกันร่างประเทศไทยกลายเป็นเสือตัวที่ 5 เป็นประเทศแนวหน้าของเอเชีย นำมาสู่โครงการต่างๆ ในประเทศ เช่น พักหนี้เกษตรกร แปลงสินทรัพย์เป็นทุน หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ OTOP ปรับปรุงโครงสร้างภาษี ปรับฐานภาษีเงินได้และลดภาษี ปลดหนี้ IMF โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค เป็นต้น

"หลับตาเห็นอนาคต ลืมตาเห็นความสำเร็จ เมื่อตาดูดาว เท้าติดดิน สิ่งต่างๆ เหล่านี้ จึงไม่ได้เกิดขึ้นมาเพราะโชคช่วย รัฐบาลสมัยนั้นก็ไม่ใช่ยอดมนุษย์ แต่ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้น จากกติกาที่เป็นธรรม กติกาที่เป็นประชาธิปไตย ภายใต้รัฐธรรมนุญ 40 จนนำมาซึ่งความรุ่งเรืองสถาพรของประเทศ แม้รัฐธรรมนูญ 40 จะถูกฉีกทิ้งไป แต่รัฐธรรมนูญ 40 ได้เป็นผู้ทำคลอดโอกาสและความเท่าเทียม ทำคลอดรัฐบาลของประชาชน ทำคลอดประชาธิปไตยที่กินได้ จนนำมาซึ่งนโยบายที่ประชาชนได้ประโยชน์จนถึงทุกวันนี้"

'จุรินทร์' ชี้ ปชป.พร้อมร่วมหนุนร่างทั้งวิป 'ส.ว.มณเฑียร' ค้านแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ

ต่อมาเวลา 11.25 น. จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์ชัดเจนตั้งแต่สนับสนุนให้แก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เพราะ 1.รัฐธรรมนูญยังมีหลายประเด็นที่ยังไม่เป็นประชาธิปไตยแบบที่ควรจะเป็น และ2.แม้รัฐธรรมนูญจะผ่านการทำประชามติ แต่เมื่อถึงเวลาก็ควรได้รับการแก้ไข แม้แต่ในรัฐธรรมนูญก็ยังเปิดเทางไว้ให้แก้ไข

“การแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องเป็นไปตามเงื่อนไขในมาตรา 256 คือ ต้องใช้เสียงของรัฐสภาเกินกว่ากึ่งหนึ่ง และในเสียงดังกล่าวต้องมีเสียงฝ่ายค้าน 48 เสียงโดยประมาณ และจะต้องมีเสียงของส.ว. ประมาณ 84 เสียง หลังจากนั้นเมื่อรัฐธรรมนูญผ่านรัฐสภาต้องทำประชามติอีกครั้งหนึ่ง ดังนั้น ความร่วมมือจากรัฐสภาจึงจำเป็นอย่างยิ่ง” จุรินทร์ กล่าว

ทั้งนี้ จุรินทร์ กล่าวว่า ตนสนับสนุนให้มีวุฒิสภา เพราะจากประสบการณ์รัฐสภามีความจำเป็นต้องมีวุฒิสภาประกอบ แต่ถ้าวุฒิสมาชิกไม่ได้มาจากเลือกตั้งก็ต้องมีอำนาจโดยจำกัด คือ กลั่นกรองกฏหมาย และควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน อย่างไรก็ตาม พรรคประชาธิปัตย์จะสนับสนุนร่างของพรรคร่วมรัฐบาล และร่างของพรรคร่วมฝ่ายค้านที่มีหลักการใกล้เคียงกัน

ด้าน มณเฑียร บุญตัน ส.ว. อภิปรายว่า ส.ว. ทุกคนมีเอกสิทธิ์และมีความคิดเห็นเป็นของตัวเองทำหน้าที่เป็นตัวแทนปวงชนอิสระ ตนไม่ได้สะท้อนความคิดของ ส.ว. คนไหน ตั้งแต่กระบวนการยกร่างและผลักดันให้เกิดรัฐธรรมนูญปี 2540 พี่น้องกลุ่มเปราะบางได้รับการปักธงไว้ในรัฐธรรมนูญแต่ก็อายุสั้น ตนคิดว่าถ้าตอนนั้นเราแก้รัฐธรรมนูญในปี 2548 หรือ ปี 2549 ก็จะไม่เป็นแบบนี้ แต่ผู้มีอำนาจต้องไม่ฝืนให้เกิดแรงต้านในสังคม ตนเชื่อว่าการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่หมดทั้งฉบับ จะนำมาสู่ความขัดแย้งไม่สิ้นสุด ประเทศที่เจริญแล้วอย่างสหรัฐอเมริกา มีการแก้ไขหลายครั้งแต่เป็นการแก้ไขในบางประเด็น ไม่ใช่การแก้ทั้งฉบับ

ภท.ชำแหละรธน.60 ผลพวงรัฐประหาร หนุนตั้งส.ส.ร.-คงส.ว.

ศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย อภิปรายว่า เมื่อครั้งที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีการทำประชามติตนคือหนึ่งในผู้ที่ลงมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญด้วยเหตุผล 1.เห็นว่ารัธรรมนูญฉบับนี้เป็นผลพวงต่อเนื่องการรัฐประหาร 2.ส่วนตัวเห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นเครื่องมือในการสืบทอดอำนาจที่มาจากการรัฐประหาร

ยอมรับว่า เหตุการณ์ในปี 2557 ทำให้ประเทศเดินทางมาถึงทางตัน การมีผู้มีอำนาจออกมาสลายทางตันเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ในตอนนั้นแต่ถึงวันนี้มองว่าท่านอยู่นานไปนิด อีกทั้งรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังทำให้รัฐบาลที่มาจากรัฐประหารเป้นรัฐบาลที่ถูกต้องตามกฎหมาย 3. รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันยังเป็นรัฐซ้อนรัฐมียุทธศาสตร์ชาติมีองค์กรอิสระที่ดูเหมือนไม่อิสระ และยังแก้ไขได้ยาก เมื่อสถานการณ์โลกและสถานการณ์ประเทศเปลี่ยนไปรับธรรมนูญจึงกลายเป้นอุปสรรคในการพัฒนาประเทศ 

ก่อนหน้านี้พรรคภูมิใจไทยเคยแถลงจุดยืนอย่างชัดเจนว่าต้องแก้ไข ถือเป็นขั้นตอนหนึ่งในการนำฟืนออกจากกองไฟ โดยให้แก้ไขที่มาตรา256ให้มี ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้งส่วนในร่างพรรคร่วมที่ให้มีบางส่วนมาจากตัวแทนองค์กรเรากรับได้แต่ที่สำคัญต้องไม่แตะหมวด 1 หมวด 2 และอยากให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นรัฐธรรมนูญที่กินได้โดยให้ใหเผู้ร่างใส่ใจการดูแลปากท้องของประชาชนและให้ความสำคัญกับการกระจายอำนาจ   

ส่วนการดำรงอยู่ของส.ว.นั้นเราเห้นว่ายังมีความจำเป็นสำหรับการคัดกรองกฎหมายและพิจารณาบุคคลสำคัญไปอยู่หน่วยงานต่างๆ เมื่อ ส.ส.รร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้วก็ต้องนำเข้ารัฐสภาจะได้ช่วยกันพิจารณาหาทางออกให้ประเทศ