มหากาพย์สงครามการค้า สหรัฐฯ-จีน ไม่ใช่เป็นเรื่องไกลตัวสำหรับเศรษฐกิจไทยและสังคมไทยอีกแล้ว เหมือนช้างสารชนกันหญ้าแพรกก็แหลกลาญ ยิ่งเศรษฐกิจไทยเป็นเศรษฐกิจขนาดเล็ก พึ่งพาการส่งออกทั้งการส่งออกสินค้าและบริการ (ท่องเที่ยว) สูงถึงร้อยละ 60-70 ของจีดีพี เศรษฐกิจไทยอยู่ในห่วงโซ่อุปทานของโลก (Global Supply Chain) เป็นข้อต่อในสายโซ่การผลิตสินค้าหลายๆ ชนิดที่จีนและสหรัฐฯ เป็นคู่ค้าต่อกันด้วยแล้ว
หนีไม่พ้นที่เศรษฐกิจไทย ผู้ประกอบการส่งออกไทย และธุรกิจท่องเที่ยวไทยจะต้องรองรับผลกระทบที่ตามมา
แต่คนค้าขายต่างรู้ดีว่าในวิกฤตมีโอกาส และสงครามการค้าระหว่างพญามังกร (จีน) กับ พญาอินทรีย์ (สหรัฐฯ) ครั้งนี้ มีทั้งวิกฤตและโอกาส
กระทรวงพาณิชย์จึงจัดสัมมนาเรื่อง 'มหากาพย์สงครามการค้า เมื่อพญาอินทรีย์ไล่ขยี้พญามังกร' เพื่อให้ผู้ประกอบการและผู้สนใจในประเด็นการค้าระหว่างประเทศได้มีข้อมูลและเข้าใจสถานการณ์
'ดร.กิริฎา เภาพิจิตร' ผู้อำนวยการวิจัยด้านการวิจัยและคำปรึกษาระหว่างประเทศ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ หนึ่งใน 4 วิทยากร บนเวทีเสวนา กล่าวว่า ในสงครามการค้าครั้งนี้ ทั้งสหรัฐอเมริกา และจีน ต่างได้รับผลกระทบทั้งสองฝ่าย เพราะช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา พบว่า ส่งออกของสหรัฐไปจีน ก็ตกลง ส่งออกจากจีนไปสหรัฐฯ ก็ทรุดลง
สินค้าประเภทเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ เป็นกลุ่มใหญ่ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้ ขณะเดียวกัน สินค้าเกษตรจากสหรัฐฯ ก็ถูกจีนกีดกันทางการค้า เพราะจีนรู้ดีว่า ภาคเกษตรกรรมในสหรัฐฯ คือฐานเสียงใหญ่ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ หลายเดือนที่ผ่านมา สินค้าเกษตรของสหรัฐฯ ที่ส่งออกไปจีนจึงมียอดการค้าลดลง
การขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของจีนและสหรัฐฯ ก็ลดลง สะเทือนถึงการขยายตัวทางเศรษฐกิจของโลกด้วย โดยปีนี้ ธนาคารโลกคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจจีนจะขยายตัวเพียงร้อยละ 6.2 จากปีที่ผ่านมา ขยายตัวร้อยละ 6.6 ส่วนสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 2.5 จากปีที่ผ่านมาขยายตัวร้อยละ 2.9
"เศรษฐกิจโลกทั้งใบกำลังโตช้าลง เพราะทั้งจีนและสหรัฐฯ ก็เป็นผู้นำเศรษฐกิจโลก เมื่อสงครามการค้ากระทบกับเศรษฐกิจประเทศยักษ์ใหญ่ ก็ย่อมกระทบกับเศรษฐกิจอาเซียน และเศรษฐกิจไทย เพราะถึงแม้ในบางสินค้าไทยไม่ได้ส่งออกไปจีน หรือ สหรัฐฯ โดยตรง แต่ไทยมีสัดส่วนการส่งออกไปอาเซียนมากสุด เมื่ออาเซียนซื้อน้อยลง ก็ทำให้ส่งออกไทยลดลง จน 6 เดือนที่ผ่านมา ก็พบว่า ติดลบ เป็นต้น" ดร.กิริฎา กล่าว
นั่นเป็นเพราะไทยส่งออกไปอาเซียนเป็นอันดับ 1 สัดส่วนร้อยละ 30-40 ขณะที่ส่งออกไปจีนและสหรัฐฯ สัดส่วนประมาณร้อยละ 10 เท่าๆ กัน โดย 6 เดือนที่ผ่านมา การส่งออกไทยไปจีนติดลบ ส่วนส่งออกไทยไปสหรัฐฯ เพิ่งติดลบเมื่อเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา โดยสินค้าที่ได้รับกระทบ เช่น ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ ที่ไทยส่งออกไปสหรัฐฯ และสหรัฐฯ นำมาประกอบที่จีน หรือกรณีไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ที่ไทยส่งออกไปจีน และจีนประกอบส่งไปสหรัฐฯ เป็นต้น
อย่างไรก็ดี ในวิกฤตยังมีโอกาส เพราะในเวลาที่จีนและสหรัฐฯ ยังมีปัญหาการค้าต่อกัน ผู้ประกอบการและนักลงทุนต่างชาติที่เคยตั้งโรงงานในจีน เพื่อใช้ประโยชน์จากค่าแรงถูกในสมัยก่อน จึงคิดถึงการสร้างตั้งโรงงานในประเทศอื่นๆ เพื่อกระจายความเสี่ยง โดยมีงานวิจัยพบว่า มีผู้ประกอบการร้อยละ 8.5 ที่เปลี่ยนใจย้ายการลงทุนจากจีนมาไทย
โดยบริษัทที่จะย้ายการลงทุนจากจีนมาไทย ส่วนใหญ่เป็นบริษัทสัญชาติไต้หวัน และญี่ปุ่น แต่ก็ยังมีอีกจำนวนมากที่ย้ายจากจีนไปเวียดนาม โดยเฉพาะนักลงทุนจากเกาหลีใต้
"นักลงทุนที่เปลี่ยนใจย้ายการลงทุนจากจีนมาอาเซียน อันดับหนึ่งเขาไปเวียดนาม ส่วนไทยเป็นปลายทางอันดับ 2 ถ้าไปเวียดนาม เช่น อุตสาหกรรมผลิตรองเท้า อุตสาหกรรมไฮเทค เช่น ซัมซุง ส่วนที่มาไทย ส่วนใหญ่เป็นบริษัทญี่ปุ่น เพราะคุ้นเคยกับไทยดี และเป็นกลุ่มสินค้าไฮเทคที่ต้องการผลิตที่ไทยและส่งออกไปสหรัฐฯ" ดร. กิริฎา กล่าว
ไม่เพียงแต่ภาคการผลิต ภาคอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าสหรัฐฯ - จีน ภาคท่องเที่ยว ภาคอสังหาริมทรัพย์ และภาคการเงินไทยก็ได้รับผลกระทบด้วย
ด้านภาคท่องเที่ยว ตั้งแต่ต้นปีนี้เป็นต้นมา จำนวนนักท่องเที่ยวจีนหดตัวอย่างมาก ทั้งจากปัจจัยเศรษฐกิจจีนชะลอตัว และค่าเงินหยวนเทียบดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อน ค่าเงินบาทแข็ง พอแลกจากหยวนเป็นบาท นักท่องเที่ยวก็ได้เงินบาทน้อยลง เพราะตั้งแต่ต้นปีถึงเวลานี้เงินหยวนอ่อนมาแล้วถึงร้อยละ 10 ส่วนเงินบาทไทยแข็งค่าร้อยละ 5 เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ
"แม้รายได้ภาคท่องเที่ยวไทยในช่วงที่ผ่านมายังบวก แต่ก็เป็นบวกจากนักท่องเที่ยวอินเดีย ที่เข้ามาชดเชยการหดตัวของนักท่องเที่ยวจีน"
ส่วนภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งประเทศไทยก็มีปัญหาสินค้าล้นตลาด หรือ over supply อยู่แล้ว พอคนจีนมาน้อยลง อสังหาริมทรัพย์ค้างสต็อกก็ยิ่งถูกซ้ำเติมมากขึ้น
สำหรับภาคการเงิน ความจริงแล้ว เงินหยวนเทียบดอลลาร์สหรัฐต้องอ่อนกว่าปัจจุบันนี้อีกมาก แต่ที่ผ่านมา ทางการจีนพยุงค่าเงินหยวนไว้ และจีนมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศมากถึง 1.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 39 ล้านล้านบาท ซึ่งนับว่าสูงสุดในโลก ดังนั้นจีนจึงมีความสามารถที่จะประคองค่าเงินหยวนมากกว่าคนอื่นๆ อย่างไรก็ตาม การที่ค่าเงินหยวนอ่อนลงไปมากกว่า 7 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐ ก็ยิ่งทำให้สหรัฐฯ ตีตราว่า จีนใช้ค่าเงินมาสร้างความได้เปรียบทางการค้าระหว่างประเทศ และทำให้หลายฝ่ายกังวลว่า จากสงครามการค้าจะนำไปสู่สงครามค่าเงินระหว่าง 2 มหาอำนาจทางเศรษฐกิจ และอาจลากค่าเงินของเอเชียและประเทศอื่นๆ เข้าสู่สมรภูมิด้วย
อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของ ดร.กิริฎา ยังยืนยันว่า สงครามค่าเงินอาจไม่รุนแรง แต่ก็ต้องจับตามอง ขณะที่ปีนี้ส่งออกไทยมีแนวโน้มรับรายได้ไม่มาก ประกอบกับต้นปีค่าบาทแข็งค่า ดังนั้นจึงมองว่า ปลายปีค่าเงินบาทจะอ่อนลงเมื่อเทียบต้นปี โดยสิ้นปีน่าจะอยู่ที่ประมาณ 31.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
'โจ ฮอร์น พัธโนทัย' กรรมการผู้จัดการ บริษัท ยุทธศาสตร์ 613 จำกัด ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านกลยุทธ์การลงทุนระหว่างประเทศ (ไทย-จีน) กล่าวว่า สิ่งที่เห็นชัดจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ครั้งนี้คือ การแย่งชิงความเป็นที่ 1 ของโลก ในทั้ง 2 ประเทศ
ขณะที่ เศรษฐกิจสหรัฐฯ เติบโตที่ร้อยละ 2 เศรษฐกิจจีนเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 6 สิ่งที่สหรัฐฯ ต้องการคือ ทำให้อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศนี้ แคบลง จากปัจจุบันห่างกันอยู่ร้อยละ 4 สิ่งที่สหรัฐฯ ต้องการคือ กระชับช่องว่างนี้ให้เหลือไม่เกินร้อยละ 3 และสหรัฐฯ จะทำให้อยู่ในเกณฑ์นี้ไปเรื่อยๆ ไม่ว่า ผู้นำสหรัฐฯ จะมาจากฟากพรรคเดโมแครต หรือ พรรครีพับลิกันก็ตาม
ด้วยเหตุนี้ สหรัฐฯ จึงต้องลงมือด้วยการขึ้นกำแพงภาษีลดการขาดดุลการค้าที่สหรัฐฯ มีต่อจีน และการทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ กระเตื้องขึ้นไปพร้อมๆ กัน
"ผมคิดว่า สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน อาจจะจบไม่ยาก แต่สงครามอุดมการณ์ระหว่างประเทศเสรีประชาธิปไตยและสาธารณรัฐประชาชนจีนอาจยังคงอยู่ต่อไป ซึ่งคาดว่าภายใน 30 ปีข้างหน้า อาจจะเห็นสงครามอุดมการณ์ ซึ่งจะเป็นสงครามตัวแทนชัดขึ้น" นายโจ กล่าว
'บรรจงจิตต์ อังศุสิงห์' อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวเสริมว่า เมื่อสงครามการค้าของสองยักษ์ใหญ่เกิด สิ่งที่จะเป็นแนวทางรับมือสำหรับผู้ประกอบการไทย มี 3 ด้าน ได้แก่
หนึ่ง การบริหารจัดการการส่งออก เพราะการทำตลาดต่างประเทศในปัจจุบันไม่เหมือนเดิมแล้ว ดังนั้น ผู้ประกอบการต้องดูความเสี่ยง มีการบริหารจัดการกระจายตลาด กระจายคู่ค้า
สอง การผลักดันการค้าออนไลน์ เพราะทุกวันนี้ ค้าออนไลน์เติบโตขึ้นมาก แม้จะมีการค้าออฟไลน์ ก็ต้องมีออนไลน์ควบคู่ด้วย อีกทั้งการค้าออนไลน์ และเป็นการลดตัวกลางทางการค้า ทำให้ผู้ผลิตได้พบกับผู้ซื้อโดยตรง อีกทั้ง กรมฯ ก็มีแพลตฟอร์มที่ช่วยผู้ประกอบการ สำหรับการเริ่มต้นค้าออนไลน์ เช่น THAITRADE และยังมีโปรแกรมจับคู่ธุรกิจกับแพลตฟอร์มต่างประเทศในหลายตลาดให้
สาม การสร้างแบรนด์ สร้างความแข็งแกร่งของธุรกิจ พร้อมกับการหาตลาดใหม่ๆ ควบคู่ไปด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :