ไม่พบผลการค้นหา
นักเศรษฐศาสตร์ 87% ยอมรับ 'ข้อพิพาททางการค้า' จีน-สหรัฐฯ ยกระดับเป็น 'สงคราม' โดยอ้างอิงแบบสอบถามของ WSJ ซึ่งปีที่แล้วมีเพียง 50% เท่านั้นที่เห็นด้วยกับการใช้คำว่า 'สงครามการค้า'

ผลสำรวจล่าสุดจากหนังสือพิมพ์เดอะวอลล์สตรีทเจอร์นัล (WSJ) ซึ่งจัดทำในช่วงวันที่ 2 - 6 สิงหาคม สะท้อนให้เห็นว่า นักเศรษฐศาสตร์มองว่าข้อพิพาททางการค้าระหว่างจีน-สหรัฐฯ คือ ภาวะ 'สงคราม' อย่างแท้จริง อ้างอิงสถิติผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 87 ที่ยอมรับการใช้คำว่า 'สงครามการค้า' ถือว่าเพิ่มขึ้นจากผลสำรวจของปีก่อนหน้า ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 50 เท่านั้น 

มุมมองของนักเศรษฐศาสตร์ส่วนหนึ่งในปีที่แล้วยังมองว่า 'สงครามการค้า' ครั้งนี้ เป็นเพียง 'การต่อสู้ทางการค้า' 'ความตึงเครียดทางการค้า' 'การเผชิญหน้าทางการค้า' หรือ 'ข้อพิพาททางการค้า' เท่านั้น

'รัสเซล ไพรส์' นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส จากอเมริไพรส์ ไฟแนนซ์เชียล กล่าวว่า ตอนนี้นักเศรษฐศาสตร์หันมาใช้คำว่า 'สงคราม' กันอย่างแพร่หลายแล้ว


"มันน่าเศร้าใจที่ตอนนี้ คำว่า (สงคราม) กลายเป็นคำที่เหมาะสมไปแล้ว" รัสเซล กล่าว


ขณะที่หนังสือพิมพ์เดอะวอลล์สตรีทเจอร์นัล ซึ่งหลีกเลี่ยงการใช้คำว่า 'สงครามการค้า' มาตลอด ก็ถือว่าคำศัพท์นี้ "เหมาะสมที่จะใช้" แม้จะไม่เห็นด้วยกับระดับความรุนแรงของคำก็ตาม

ผลสำรวจนี้ออกมาในช่วงที่มีการตอบโต้ระหว่างสหรัฐฯ กับจีนระลอกใหม่ หลังทรัมป์ประกาศขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนมูลค่า 3 แสนล้านบาท อีกร้อยละ 10 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 กันยายน ที่จะถึงนี้

ขณะที่จีนก็ออกมาปล่อยให้เงินหยวนอ่อนค่าต่ำสุดในรอบ 11 ปี จนสหรัฐฯ ประกาศให้จีนเป็นประเทศบิดเบือนค่าเงิน แต่ธนาคารกลางของประเทศจีนออกมาแก้ตัวภายหลังว่า สถานการณ์เงินหยวนอ่อนค่าเป็นผลจาก "มาตรการภาษีและการป้องกันการค้าที่มีต่อจีน" เท่านั้น

'คริส เคอร์เกอร์' นักวิเคราะห์นโยบายอาวุโส จากบริษัทวิจัยโคเวน วอร์ชิงตัน กล่าวว่า สิ่งที่จีนกำลังทำคือมาตรการการตอบโต้การขึ้นภาษีของสหรัฐฯ อย่างแน่นอน


"ในช่วงคะแนนจาก 1 - 10 จีนตอบโต้สหรัฐฯ กลับที่ระดับ 11" คริส กล่าว


ภายหลังจากที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นประเทศบิดเบือนค่าเงิน ธนาคารกลางของจีนก็ออกมาดูแลเงินหยวนให้แข็งค่ากลับไปอยู่ที่น้อยกว่า 7 หยวน / 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งหลายฝ่ายมองว่า การที่จีนยอมอ่อนข้อให้กับสหรัฐฯ หลังโดนกล่าวหาว่าเป็นประเทศบิเบือนค่าเงิน แท้จริงแล้วไม่ใช่การยอมแพ้หรือยอมอ่อนข้อแต่อย่างใด แต่เป็นการวางแผนเล่นเกมการค้าระยะยาว

แม้จีนจะออกมาปฏิเสธว่า รัฐบาลไม่มีความคิดจะใช้ค่าเงินเป็นเครื่องมือในการต่อสู้ทางการค้า แต่นักลงทุนจากทั่วโลกก็ยังมองเห็นความเป็นไปได้ที่จีนจะลุกขึ้นมาทำ 'สงครามค่าเงิน' อยู่ดี นักลงทุนบางส่วนจึงหันไปลงทุนในทองแทน ส่งผลให้ราคาทองพุ่งสูงขึ้นไปแตะที่ราคา 1,460 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 44,900 บาท ต่อ 1 ออนซ์ ซึ่งเป็นราคาขายสูงที่สุดตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ปี 2556 

อ้างอิง; WSJ, CNN