จากการให้สัมภาษณ์ผ่านรายงานพอดแคสต์ของ ฮาน็อค ดัม ผู้สื่อข่าวอิสราเอล ซึ่งได้รับการเผยแพร่เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (5 ก.พ.) เบนเนตต์ได้รับการยืนยันจากปากปูตินเองว่า ชีวิตของประธานาธิบดียูเครนจะไม่ตกอยู่ภายใต้ความเสี่ยง โดยการพบปะกันระหว่างทั้งสองเกิดขึ้นในการเดินทางเยือนแบบลับ เมื่อช่วงเดือน มี.ค.ของปีก่อน เพื่อมีจุดประสงค์ในการไกล่เกลี่ยความขัดแย้ง ณ ช่วงแรกของสงคราม
“ผมถามว่า ‘คุณวางแผนที่จะฆ่าเซเลนสกีหรือเปล่า’ เขาตอบว่า ‘ผมจะไม่ฆ่าเซเลนสกี’ จากนั้นผมก็พูดกับเขาว่า ‘ผมต้องเข้าใจว่าคุณให้คำมั่นว่าคุณจะไม่ฆ่าเซเลนสกี' เขาพูดว่า ‘ผมจะไม่ฆ่าเซเลนสกี’” เบนเนตต์กล่าวในการให้สัมภาษณ์ โดยหลังจากนั้น เบนเนตต์ได้โทรหาผู้นำยูเครน ขณะที่ตัวเองกำลังเดินทางไปสนามบินมอสโก ซึ่งเซเลนสกีถามเบนเนตต์ว่า “‘คุณแน่ใจนะ’ และผมก็ตอบเขาว่า ‘ใช่ 100% เขาจะไม่ฆ่าคุณ’”
ความเห็นของเบนเนตต์มีขึ้น หลังจากที่ บอริส จอห์นสัน อดีตนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร อ้างกับสำนักข่าว BBC เมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า ปูตินขู่เขาด้วยขีปนาวุธที่จะ “ใช้เวลาเพียงไม่กี่นาที” ก็สามารถยิงมาถึงเกาะอังกฤษได้ ทั้งนี้ สำนักประธานาธิบดีรัสเซียกล่าวว่าจอห์นสันโกหก
นอกจากนี้ ในวันอาทิตย์ โอลาฟ โชลซ์ นายกรัฐมนตรีเยอรมัน กล่าวกับหนังสือพิมพ์ Bild am Sonntag ว่าปูติน “ไม่ได้คุกคามผมหรือเยอรมนีเลย” แม้ว่าโชลซ์จะวิจารณ์โดยตรงหลายครั้ง เกี่ยวกับการรุกรานยูเครนโดยประธานาธิบดีรัสเซีย
ตามคำกล่าวอ้างของเบนเนตต์ ในระหว่างความพยายามในการไกล่เกลี่ย เซเลนสกีตกลงที่จะล้มเลิกความคิด ในการนำยูเครนเข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (NATO) และปูตินได้ถอนความตั้งใจที่ว่า รัสเซียจะหาทางปลดยูเครนเพื่อยุติสงคราม “ทุกสิ่งที่ผมทำได้รับการประสานงานกับสหรัฐฯ เยอรมนี และฝรั่งเศส” เบนเนตต์กล่าว
แต่ท้ายที่สุดแล้ว ความพยายามของผู้นำอิสราเอลในการไกล่เกลี่ยความขัดแย้ง แทบไม่ได้หยุดการนองเลือดในยูเครน ซึ่งขณะนี้สงครามกำลังเข้าใกล้เวลาครบรอบหนึ่งปี โดยในตอนนี้เบนเนตต์ได้ก้าวออกจากการเมืองมาใช้ชีวิตประชาชนธรรมดา ก่อนการเลือกตั้งในเดือน พ.ย.ที่ผ่านมาของอิสราเอล แต่ความคิดเห็นของเบนเนตต์แสดงให้เห็นถึงความพยายามในช่วงแรกๆ ของอิสราเอล เพื่อลดสถานการณ์ความขัดแย้งยูเครน-รัสเซียที่บานปลาย
เบนเนตต์ในขณะการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ไม่ได้ผ่านบทการทดสอบในเวทีระหว่างประเทศ และรัฐบาลของเขาดำรงตำแหน่งเพียง 1 ปี ก่อนที่จะล่มลงในเดือน มิ.ย. 2565 จนอิสราเอลกลายเป็นรัฐตัวกลางที่ไม่สามารถประสานไกล่เกลี่ยช่วงเริ่มต้นของความขัดแย้งได้ ทั้งนี้ เบนเนตต์เป็นผู้นำในแนวร่วมชาติตะวันตกคนแรกที่เข้าพบปูตินในกรุงมอสโก เพื่อพยายามสร้างความสมดุลให้กับความต้องการของอิสราเอล สำหรับความร่วมมือของรัสเซียในปฏิบัติการทางทหารในซีเรีย ขณะเดียวกันก็ไกล่เกลี่ยความขัดแย้งในนามของพันธมิตรตะวันตก
เบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันของอิสราเอล ซึ่งกลับมาดำรงตำแหน่งหลังจากความขัดแย้งช่วงสั้นๆ หลังจากที่กลุ่มพันธมิตรขวาจัดและเคร่งศาสนาของเขาชนะการเลือกตั้งเมื่อปีที่แล้ว โดยรัฐบาลของเนทันยาฮูยังคงมีนโยบายส่วนใหญ่ ที่ยังคงดำเนินนโยบายของรัฐบาลเบนเนตต์ต่อไป โดยอิสราเอลปฏิเสธคำขอจากเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ และยูเครนหลายครั้ง ในการส่งอาวุธยุทโธปกรณ์และระบบป้องกันภัยทางอากาศไปยังยูเครน โดยอิสราเอลเน้นการมอบความช่วยเหลือไปในด้านมนุษยธรรมและการแพทย์แทน
อย่างไรก็ตาม การใช้โดรนติดอาวุธของอิหร่านในยูเครนโดยรัสเซีย กลับสร้างความไม่พอใจให้กับอิสราเอล เนื่องจากทางการอิหร่านถูกมองว่าเป็นภัยคุกคามต่อการมีอยู่ของอิสราเอล ทั้งนี้ มีรายงานว่าอิสราเอลได้แบ่งปันข้อมูลข่าวกรองเกี่ยวกับโครงการโดรนของอิหร่านกับเจ้าหน้าที่ของยูเครน และเสนอที่จะช่วยเหลือยูเครนในการสร้าง “ระบบช่วยชีวิตเตือนภัยล่วงหน้าสำหรับพลเรือน” เพื่อป้องกันการโจมตีทางอากาศจากรัสเซีย
ที่มา: