ไม่พบผลการค้นหา
เฟซบุ๊ก เตรียมเพิ่มคำว่า ฟรอมเฟซบุ๊ก (from Facebook) ต่อท้ายชื่อแอปฯ อินสตาแกรมและวอตส์แอปป์ ชี้ถึงความเป็นบริษัทแม่ และส่งสัญญาณถึงการแผ่อำนาจเหนือบริษัทลูก แม้จะกำลังถูกคณะกรรมาธิการการค้าสหรัฐ สอบสวนด้านการผูกขาดและกรณีการเข้าซื้อทั้งสองบริษัทว่าเป็นการกีดกันคู่แข่งทางการค้าหรือไม่

เว็บไซต์ดิอินฟอร์เมชัน (The Information) รายงานว่า เฟซบุ๊กตัดสินใจจะรีแบรนด์อินสตาแกรมและวอตส์แอปป์ เป็น อินสตาแกรม จาก เฟซบุ๊ก (Instagram from Facebook) และวอตส์แอปป์ จาก เฟซบุ๊ก (WhatsApp from Facebook) ส่งสัญญาณถึงการเข้ามาควบคุมบริษัทลูกทั้งสองเต็มรูปแบบ จากเดิมที่เฟซบุ๊กปล่อยทั้งสองแอปป์ดำเนินงานด้วยตัวเอง

เบอร์ตี ทอมสัน โฆษกเฟซบุ๊ก ยืนยันว่ามีการรีแบรนด์อินสตาแกรมและวอตส์แอปป์จริง

"เราต้องการทำให้ชัดเจนขึ้นว่าผลิตภัณฑ์และบริการทั้งสองเป็นส่วนหนึ่งของเฟซบุ๊ก" ทอมสัน กล่าวกับทางดิอินฟอร์เมชัน พร้อมชี้ว่าผลิตภัณฑ์อื่นของเฟซบุ๊ก อย่างแพล็ตฟอร์มส่งข้อความสำหรับภายในองค์กรอย่าง เวิร์กเพลซ โดย เฟซบุ๊ก (Workplace by Facebook) ก็ใช้แบรนดิ้งแบบเดียวกัน

ปัจจุบัน ทั้งสองแอปฯ บริหารงานโดยผู้บริหารของเฟซบุ๊กซึ่งขึ้นตรงต่อมาร์ก ซักเกอร์เบิร์ก หลังผู้ก่อตั้งทั้งหมดไม่ลงรอยกับซักเกอร์เบิร์ก และลาออกไปในช่วง 2 ปี ที่ผ่านมา

อินสตาแกรม ซึ่งก่อตั้งโดย เควิน ซิสทรอม และไมก์ ครีเกอร์ ในปี 2010 ถูกเฟซบุ๊กเข้าซื้อด้วยราคา 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และเป็นเจ้าของมาตั้งแต่ปี 2012 โดยซิสทรอม และครีเกอร์ ยังคงเป็นซีอีโอและซีทีโอ บริหารอินสตาแกรมอยู่ กระทั่งลาออกกันไปในเดือนกันยายนปี 2018 หลังมีปัญหากับบริษัทแม่อย่างเฟซบุ๊ก

ทางด้าน วอตส์แอปป์ ซึ่งก่อตั้งโดย ไบรอัน แอ็กตัน และ ยาน คูม ในปี 2009 และถูกเฟซบุ๊กเข้าซื้อที่ราคาประมาณ 19,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2014 ก็ไม่ต่างจากอินสตาแกรม โดย แอ็กตันลาออกในปี 2017 และคูมลาออกในปี 2018 โดยทั้งคู่ให้เหตุผลว่าไม่พอใจแนวทางของมาร์ก ซักเกอร์เบิร์กที่คุกคามความเป็นส่วนตัวและหากำไรจากข้อมูลของผู้ใช้งาน

ด้วยชื่อเสียงน่ากังขาด้านการใช้งานข้อมูลส่วนตัวของเฟซบุ๊ก การที่ซักเกอร์เบิร์กตัดสินใจจะขยายอำนาจเหนือบริษัทลูกในเวลานี้จึงยิ่งน่าประหลาดใจ เพราะเมื่อ 24 กรกฎาคม ทางเฟซบุ๊กเองเพิ่งเผยว่าบริษัทกำลังถูกสอบสวนในประเด็นด้านการผูกขาด โดยคณะกรรมาธิการการค้าสหรัฐ หรือเอฟทีซี (Federal Trade Commission: FTC) โดยเฉพาะเรื่องการเข้าซื้ออินสตาแกรมและวอตส์แอปป์ ซึ่งถูกตั้งคำถามว่าเป็นกลยุทธ์ในการกีดกันคู่แข่งเจ้าอื่นๆ หรือไม่

ก่อนหน้านี้ในเดือนพฤษภาคม คริส ฮิวจ์ส หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งเฟซบุ๊กเอง ซึ่งลาออกไปเมื่อปี 2007 ก็ยังชี้ว่านอกจากเฟซบุ๊กจะผูกขาดตลาดแล้ว ยังมีอำนาจควบคุมทิศทางการเสพข้อมูลของคนมากเกินไป พร้อมเสนอให้หน่วยงานของสหรัฐฯ เพิกถอนการควบรวมกิจการอินสตาแกรมและวอตส์แอปป์ ให้บริษัทมีโซเชียลมีเดียในมือน้อยลง และเปิดพื้นที่สำหรับการแข่งขันมากขึ้น

เฟร็ด โวเกิลสไตน์ จากไวร์ด (Wired) เว็บไซต์สื่อด้านเทคโนโลยี ตั้งข้อสังเกตว่านี่อาจเป็นความพยายามแบบกำปั้นทุบดินของเฟซบุ๊ก ในการโน้มน้าวทีมนักกฎหมายของรัฐบาลว่าทั้งสามแอปฯ คือเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม และวอตส์แอปป์ ได้กลายเป็นแอปฯ เดียวกันไปเรียบร้อยแล้ว

โวเกิลสไตน์ อ้างถึงกรณีคดีของไมโครซอฟต์ในช่วง 20 ปีก่อน ซึ่งกระทรวงยุติธรรมสหรัฐสั่งฟ้องไมโครซอฟต์ โดยหนึ่งในข้อกล่าวหาคือการที่ไมโครซอฟต์กีดกันเบราเซอร์คู่แข่งอย่างเน็ตสเคป (Netscape) ด้วยการผูกอินเทอร์เน็ตเอกซ์พลอเรอร์ (Internet Explorer) ซึ่งเป็นเบราเซอร์ที่พัฒนาโดยไมโครซอฟต์เอง เข้ากับระบบปฏิบัติการวินโดวส์ (Windows) ให้เป็นเบราเซอร์ตั้งต้นที่ไม่สามารถลบออกได้

ไมโครซอฟต์ชนะคดีนี้ในศาลอุทธรณ์ ด้วยการให้เหตุผลคล้ายกับที่เฟซบุ๊กกำลังทำอยู่ คือชี้ว่านี่ไม่ใช่การผูกขาด เพราะอินเทอร์เน็ตเอกซ์พลอเรอร์ไม่ใช่สินค้าของไมโครซอฟต์ แต่เป็นเพียงหนึ่งในฟีเจอร์ของวินโดวส์เท่านั้น และไม่ได้หารายได้ด้วยการ ‘ขาย’ อินเทอร์เน็ตเอกซ์พลอเรอร์เลย

ซักเกอร์เบิร์กก็อาจอ้างได้เช่นกันว่าโซเชียลเน็กเวิร์กเหล่านี้ ‘ฟรี’ แม้ว่าจะมีราคาที่ผู้ใช้งานต้องจ่ายด้วยข้อมูลก็ตาม


ที่มา: Information / Wired

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: