ฟรานซิส เปเรซ ช่างภาพใต้น้ำ เจ้าของรางวัล World Press Photo สาขาภาพถ่ายธรรมชาติ ปี 2017 เผยแพร่ภาพวาฬนำร่องหางขาดในบัญชีอินสตาแกรมส่วนตัว @francisperez000 โดยระบุว่า เขาถ่ายภาพวาฬนำร่องหางขาดเมื่อวันที่ 27 มี.ค.2562 ขณะติดตามนักชีววิทยาทางทะเลและสัตวแพทย์ซึ่งถูกเรียกมาทำการุณยฆาตวาฬตัวดังกล่าวซึ่งมีผู้พบเห็นบริเวณหมู่เกาะคะแนรีของสเปน
ผลชันสูตรบ่งชี้ว่ารอยแผลที่หางไม่ได้เกิดจากฉลามกัด แต่เกิดจากวัตถุมีคม เช่น ใบพัดเรือ ทำให้เปเรซกล่าวว่า มนุษย์นั้นเป็น 'สัตว์ที่ไร้เหตุผล' และวันดังกล่าวเป็นวันที่น่าเศร้าที่สุดในชีวิตการเป็นช่างภาพใต้น้ำของเขา
ภาพวาฬนำร่องหางขาดถูกเผยแพร่ในอินสตาแกรมของเปเรซตั้งแต่วันที่ 17 เม.ย. ก่อนจะกลายเป็นกระแสโด่งดังในโลกออนไลน์หลายพื้นที่ทั่วโลกเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากคริสตินา มิตทีไมเยอร์ ช่างภาพสารคดีของ National Geogrpahic และผู้ร่วมก่อตั้งองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมทางทะเล SeaLegacy ได้นำภาพดังกล่าวไปเผยแพร่ต่อทางบัญชีอินสตาแกรมของตัวเอง และมีผู้สนใจร่วมแสดงความรู้สึกต่อภาพวาฬหางขาดหลายหมื่นคน
ผู้ใช้อินสตาแกรมหลายรายเห็นด้วยกับการการุณยฆาตวาฬดังกล่าว เพราะหางที่ขาดไม่สามารถรักษาได้ และมีผู้สนับสนุนข้อเรียกร้องของมิตทีไมเออร์ที่ระบุว่า เรือต่างๆ ที่แล่นผ่านท้องทะเลซึ่งเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์น้ำ ควรต้องลดความเร็วลง เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับสัตว์ เพราะที่ผ่านมามีทั้งเรือโดยสาร เรือนักท่องเที่ยว หรือเรือส่วนตัว แล่นผ่านบริเวณดังกล่าวอยู่เป็นประจำ แต่ผู้ขับเรือจำนวนมากไม่สนใจว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างกับสัตว์น้ำซึ่งอาศัยอยู่ในเส้นทางที่เรือแล่นผ่าน
มิตทีไมเยอร์ระบุด้วยว่า คณะทำงานขององค์กร SeaLegacy จะรณรงค์ผลักดันเพื่อให้มีการออกกฎหมายควบคุมความเร็วเรือในน่านน้ำทะเลที่เป็นแหล่งธรรมชาติที่สำคัญ เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุหรือโศกนาฏกรรมเช่นที่เพิ่งเกิดขึ้น และหวังว่าประเด็นเหล่านี้จะถูกขับเคลื่อนโดยกลุ่มผู้ที่สนใจเรื่องธรรมชาติทั่วโลก
นอกจากนี้ เว็บไซต์นิวส์วีกยังได้เผยแพร่บทสัมภาษณ์มิตทีไมเยอร์เพิ่มเติม โดยเธออธิบายว่าสัตว์ทะเลที่เลี้ยงลูกด้วยนมที่ได้รับบาดเจ็บเพราะถูกเรือชนหรือใบพัดเรือเฉือนขาด อาจจะไม่ตายในทันที แต่อาการบาดเจ็บจะทำให้สัตว์เหล่านี้ไม่สามารถโผล่ขึ้นมาบริเวณผิวน้ำได้อีก โดยส่งผลกระทบต่อการว่ายน้ำ การหาอาหาร และการหายใจ ทำให้พวกมันตายลงอย่างช้าๆ
มิตทีไมเยอร์ระบุว่า วาฬหรือสัตว์น้ำอื่นๆ ทั่วโลกต้องบาดเจ็บและตายจากใบพัดเรือ หรือถูกชนด้วยยานพาหนะทางน้ำเป็นจำนวนมากในแต่ละปี แต่การรณรงค์ขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดการบังคับใช้กฎหมายควบคุมความเร็วเรือต้องเริ่มจากบางพื้นที่ซึ่งมีผู้เห็นด้วยมากพอ เพื่อให้เกิดโมเดลต้นแบบ และนำไปเป็นบทเรียนในที่อื่นๆ ภายหลัง
ที่มา: IG @francisperez000/ NewsWeek
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: