ที่พรรคเพื่อไทย ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พร้อมด้วย จิรพงษ์ ทรงวัชราภรณ์ ส.ส.นนทบุรี และมานิตย์ สังข์พุ่ม ส.ส.สุรินทร์ ร่วมกันแถลง “เปิดหลักฐานเด็ด ยับยั้งการขึ้นค่าโดยสาร BTS”
ยุทธพงศ์ กล่าวว่า การที่พลตำรวจเอกอัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่ากทม.ยืนกรานที่ต้องขึ้นค่าโดยรถไฟฟ้าสายสีเขียว ทั้งสายเหนือคือช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และสายเขียวใต้ ช่วงซอยแบริ่งไปถึงตัวจังหวัดสมุทรปราการ เป็น 104 บาทตลอดสาย ระยะทาง 84 กิโลเมตรเฉลี่ยกิโลเมตรละ 1.23 บาท จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์นั้น มีข้อพิรุธหลายอย่าง ทั้งเป็นการเอาประชาชนเป็นตัวประกัน และ ซ้ำเติมประชาชนด้านเศรษฐกิจ
ยุทธพงศ์ กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยจะใช้ประเด็นในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลด้วย แต่การนำออกมาเปิดเผยก่อน เพราะหากปล่อยให้ล่วงเลยไป ประชาชนจะเดือดร้อน ดังนั้น ตนจึงจะทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รวมถึงผู้ว่าฯ กทม. ให้เช่ารอการขึ้นค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวไว้ก่อนด้วย
ทั้งนี้นอกจากเสนอให้ชะลอการขึ้นค่าโดยสารภายในวันที่ 16 กุมภาพันธ์นี้ออกไปก่อนเพื่อไม่เป็นการซ้ำเติมประชาชนแล้ว ยังต้องยึดหลักว่ารถไฟฟ้าเป็นบริการสาธารณะไม่ควรคำนึงถึงกำไร ดังนั้น ค่าโดยสารต้องเหมาะสมและประชาชนรับได้
ยุทธพงศ์ ระบุถึงสาเหตุที่ผู้เกี่ยวข้องอ้างการขึ้นค่าโดยสารรถไฟฟ้าว่า เพราะต้องการเงินไปใช้หนี้บริษัทขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ BTS ที่รับจ้างเดินรถส่วนต่อขยายทั้งเหนือ-ใต้ตั้งแต่ปี 2561 จนถึงปัจจุบันเป็นเงินกว่า 8,000 ล้านบาท เนื่องจากกทม.ให้ประชาชนนั่งฟรีนั้น เป็นการมัดมือชกประชาชนและยังมีปัญหาว่า กทม.เอาอำนาจอะไรมาให้ประชาชนนั่งฟรี แล้วกลับมาขึ้นค่าโดยสารทีหลัง
นอกจากนี้ ช่องทางที่ กทม.สามารถใช้หนี้ ได้นับแต่ปี 2561 ที่ กทม.ขอให้ รฟม.ซึ่งสังกัดกระทรวงคมนาคม รับโอนส่วนต่อขยาย โครงการรถไฟฟ้าสีเขียว รวม 51,785 ล้านบาท มาให้ กทม.บริหารเอง และพลตำรวจเอกอัศวิน ออกข้อบัญญัติกทม. ปี 2561 เพื่อขอกู้เงิน โดยให้กระทรวงการคลังเป็นคนค้ำประกัน และ ครม.อนุมัติแล้ว แต่ยังไม่ดำเนินการขอกู้ ซึ่งล่วงมากว่า 3 ปีแล้ว จึงมีคำถามว่าผู้เกี่ยวข้องอาจเข้าข่ายละเว้นปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ด้วย
อีกทั้งมติ ครม.วันที่ 30 พฤศจิกายน 2561 ข้อที่ 6.1 ให้ กทม.บริหารจัดการรายได้และตั้งงบประมาณของให้เพียงพอต่อการชำระหนี้ดังกล่าวอย่างเคร่งครัดและพิจารณากำหนดค่าโดยสารให้เหมาะสมและสอดคล้องกับค่าครองชีพผู้ใช้บริการด้วย
ยุทธพงศ์ ชี้ว่า การจะขึ้นค่าโดยสาร 104 บาทตลอดสายขณะที่ค่าแรงขั้นต่ำ 300 กว่าบาทนั้นไม่ใช่ราคาที่เหมาะสม อีกอย่างคือ ราคาตลอดสายมี 70 กว่าสถานี แต่คนทั่วไปนั่งเพียงสูงสุดเพียง 12 สถานี จึงควรมีวิธีการคำนวณค่าโดยสารใหม่ด้วย โดยควรคำนวนราคาต่ำสุดถึงราคาสูงสุดแต่ละสถานี มาประกอบการพิจารณา กำหนดราคาค่าโดยสาร