ไม่พบผลการค้นหา
'เพื่อไทย' เชื่อ สัมปทาน รถไฟฟ้าสายสีเขียว คือสัญญาณ 'รบ.' ทิ้งทวนก่อนยุบสภา เตรียมซักฟอกตามกฎหมาย ม.152 'ประยุทธ์' และ 'อนุพงษ์'

วันที่ 6 ก.พ. 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่พรรคเพื่อไทย ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม และรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย แถลงถึงความไม่โปร่งใสในการต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยจะนำเรื่องนี้เข้าสู่การอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติตามม.152 ที่จะเกิดขึ้นวันที่ 17-18 ก.พ. 2565 นี้ด้วย

ยุทธพงศ์กล่าวว่า ในวันอังคารที่ 8 ก.พ.นี้ หนึ่งในเรื่องลับมาก ตามที่ปรากฏในเอกสารวาระการประชุมของ ครม. ที่จะเกิดขึ้น คือ การขอความเห็นชอบผลการเจรจาและเห็นชอบร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่มี พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นเจ้าของเรื่อง พบว่ามีความผิดปกติเป็นอย่างมาก เพราะเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ประกาศไทม์ไลน์การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ว่าจะเกิดขึ้นช่วงเดือนพฤษภาคมนี้ ดังนั้น จึงอยากถามรัฐบาลว่า เหตุใดถึงไม่รอให้คนที่จะมาเป็นผู้ว่าฯ กทม. ตัดสินใจเรื่องการต่อสัมปทานรถไฟฟ้าที่จะผูกพันอนาคตคนกรุงเทพฯไปอีก 40 ปีข้างหน้า แบบนี้เท่ากับว่าเป็นการทิ้งทวนโดยรัฐบาลก่อนจะหมดวาระหรือไม่ เพราะตรงนี้มีผลประโยชน์กว่า 4 แสนล้านบาท

“เส้นทางหลักที่เป็นไข่แดง เส้นหมอชิต-ตากสิน-อ่อนนุช กว่าจะหมดสัมปทานวิ่งรถก็ปี 2572 จะรีบร้อนไปต่อสัมปทานทำไม กทม.ยังไม่มีกรรมสิทธ์ในโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายเขียวเหนือ (หมอชิต-คูคต) และเขียวใต้ (แบริ่ง-สมุทรปราการ) ดังนั้น กทม.ควรจะชำระหนี้ให้กับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม. ผู้ถือกรรมสิทธิ์ส่วนต่อขยายในขณะนี้ให้เรียบร้อยก่อน จะไปยกสัมปทานตรงนี้ให้ BTS ได้อย่างไร ในเมื่อกทม.เองยังไม่ทันได้เป็นเจ้าของ แบบนี้ผิดกฎหมายชัดเจน” ยุทธพงศ์กล่าว 

นอกจากนี้ ยุทธพงศ์ยังระบุว่า การต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ด้วยคำสั่ง คสช.ที่ 3/2562 นั้น พบพิรุธความไม่ปกติหลายประการ คือ 1. ผิดกฎหมายเพราะหนี พ.ร.บ.ร่วมทุน ขัดมติ ครม. 2. เอื้อประโยชน์แก่ BTS โดยไม่มีการประมูล ทำให้รัฐเสียหาย 3. ทำให้ประชาชนเดือดร้อนเพราะค่าโดยสารที่แพงเกินจริง และ 4. ขัดต่อรัฐธรรมนูญ

“ที่ BTS เคยออกมาทวงหนี้รัฐบาล 30,000 ล้านบาทมีที่มาจากหนี้สะสม 2 ก้อนใหญ่ คือ 1. ค่าจ้าง BTS เดินรถส่วนต่อขยาย โดยให้ประชาชนนั่งฟรีตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา ราว 10,000 ล้านบาท และ 2. ค่าระบบเครื่องกลและไฟฟ้าเพื่อการเดินรถ ที่ กทม.ซื้อจาก BTS ราว 20,000 ล้านบาท โดยไม่มีการประมูลแข่งขันประกวดราคาแต่อย่างใด” ยุทธพงศ์ระบุ

ภายใต้คำสั่ง คสช. ดังกล่าว ยังพบว่า มีการแต่งตั้ง สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ แคนดิเดตผู้ว่าฯกทม. สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ขึ้นมาเป็นประธานคณะกรรมการเจรจาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 2562 ซึ่งเห็นชอบให้มีการต่อสัมปทานด้วย 

ดังนั้น ในการประชุมครม.ในวันที่ 8 ก.พ. นี้ อยากฝากคำถามถึงพรรคร่วมรัฐบาลว่า 1. พรรคประชาธิปัตย์ จะเห็นชอบให้สัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวถูกต่อออกไปอีก 40 ปี หรือไม่ 2. ทำไม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถึงต้องมาทิ้งทวนสัมปทานมูลค่า 4 แสนกว่าล้านในช่วงที่จะมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. เพราะตัวนายกฯเอง เป็นคนพูดว่าไม่มั่นใจว่าจะมีการยุบสภา หรือเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ก่อนกัน 3. อยากถามหาจุดยืนของพรรคร่วมรัฐบาลกันเองด้วย เพราะพรรคภูมิใจไทย คัดค้านเรื่องนี้มาโดยตลอด และ 4. การต่อสัญญาสัมปทานเหลือเวลาถึงปี 2572 ซึ่งไม่ได้เป็นเรื่องเร่งด่วน รัฐบาลควรไปแก้ปัญหาอื่นที่เร่งด่วนกว่านี้ อาทิ ปัญหาปากท้องของประชาชน จะดีกว่าหรือไม่ 

ยุทธพงศ์ เปิดเผยว่า ตนเตรียมนำเรื่องนี้อภิปราย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในการอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติตาม ม.152 ต่อไป