นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า สถานการณ์โรคไข้เลือดออกในปีนี้ (62) โดยสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค พบผู้ป่วยแล้ว 26,430 ราย เสียชีวิต 41 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 5 มิ.ย. 2562) ผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในวัยเรียน จึงขอความร่วมมือทุกคนช่วยกันทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในบ้านและโรงเรียน เพื่อป้องกันบุตรหลานจากโรคไข้เลือดออก และขอให้สังเกตอาการของตนเองและผู้ใกล้ชิด โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กที่ยังไม่สามารถบอกอาการของตนเองได้ชัดเจน หากมีไข้สูงลอยเกิน 2 วัน แนะนำให้ไปโรงพยาบาล
โดยอาการไข้เลือดออกมีระดับความรุนแรงต่างกันออกไป ตั้งแต่อาการน้อยไปถึงรุนแรงมาก แต่ส่วนใหญ่มักมีอาการไม่รุนแรง ซึ่งแพทย์จะตรวจประเมินอาการผู้ป่วย หากพบว่าอาการไม่รุนแรงอยู่ในระยะไข้ ยังรับประทานอาหาร ดื่มน้ำได้ แพทย์จะแนะนำการดูแลที่บ้านให้ญาติทราบ และวิธีสังเกตอาการที่ควรรีบมาพบแพทย์ โดยเฉพาะช่วงไข้ลด หากมีอาการซึมลง รับประทานอาหารและดื่มน้ำไม่ได้ อ่อนเพลีย ปวดท้องมาก คลื่นไส้อาเจียน กระวนกระวาย อาจเข้าสู่ระยะช็อค ให้รีบไปโรงพยาบาลทันที
ด้านนายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า อาการผู้ป่วยไข้เลือดออก หลังจากได้รับเชื้อประมาณ 5 - 8 วัน ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูงลอย อุณหภูมิ 38.5 – 40.0 องศาเซลเซียส ติดต่อกัน 2 - 7 วัน อาการทั่วไปคล้ายเป็นหวัด แต่ไม่ไอ ไม่มีน้ำมูก หน้าแดง ปวดศีรษะ บางรายอาจมีปวดท้อง อาเจียน มีจุดแดงเล็กตามแขน ขา ลําตัว หากมีอาการไข้สูง 2 วันไข้ไม่ลดขอให้รีบไปพบแพทย์
สำหรับการดูแลผู้ป่วยที่แพทย์ให้กลับมาพักฟื้นที่บ้าน ควรดื่มน้ำผลไม้หรือน้ำเกลือแร่บ่อย ๆ เช็ดตัวลดไข้ด้วยน้ำธรรมดา รับประทานอาหารอ่อนและกินยาตามแพทย์สั่ง ห้ามกินยาแอสไพรินหรือไอบูโปรเฟน เพราะจะทำให้เลือดออกง่ายขึ้น โดยทั่วไปผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้นอย่างชัดเจนภายใน 2-3 วันหลังจากไข้ลด หากผู้ป่วยมีเลือดกําเดาไหล อาเจียนเป็นเลือดและอุจจาระเป็นสีดํา หมดสติ ให้รีบนําส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด เพื่อรับการรักษาอย่างทันท่วงทีเพื่อลดการเสียชีวิต
ข่าวที่เกี่ยวข้อง