นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า จากกรณีที่มีข่าวประชาชนในจังหวัดแพร่และน่าน เกิดอาการผิดปกติเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาล และมีบางรายเสียชีวิต หลังจากรับประทานแหนมหมูดิบ หมูป่าดิบ จึงให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเร่งลงพื้นที่สอบสวนโรค และให้ความรู้ประชาชนในการบริโภคอาหารที่ถูกสุขลักษณะ เบื้องต้นได้รับรายงานว่า ผู้ป่วยเป็นโรคไข้หูดับ ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อสเตร็ปโตค็อกคัส ซูอิส (Streptococcus suis) มักพบใน เนื้อหมู เครื่องในและเลือดหมูที่เป็นโรค จากข้อมูลสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค พบผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีอายุ 65 ปีขึ้นไป ตั้งแต่ 1 ม.ค. 62 – 10 พ.ค. 62 มีผู้ป่วยแล้วจำนวน 113 ราย จาก 22 จังหวัด และเสียชีวิต 15 ราย
นายแพทย์สุขุม กล่าวต่อว่า การรับประทานเนื้อหมูดิบ หรือปรุงสุกๆ ดิบๆ เสี่ยงต่อการการเกิดโรคไข้หูดับได้ แนะนำให้ปรุงเนื้อหมูให้สุกด้วยความร้อนจนเนื้อไม่มีสีแดง รวมถึงเลือกซื้อวัตถุดิบมาจากแหล่งที่ได้มาตรฐาน สะอาด ผ่านการตรวจจากโรงฆ่าสัตว์หรือจากแหล่งที่เชื่อถือได้ ไม่ซื้อเนื้อหมูที่มีกลิ่นคาว สีคล้ำ หรือมีลักษณะเป็นเม็ดสาคู หลังจากสัมผัสกับเนื้อหมูควรรีบล้างมือทันที ส่วนการใช้มะนาวหรือไข่มดแดงนั้นไม่สามารถทำให้สุกหรือฆ่าเชื้อโรคได้
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ผู้ป่วยโรคไข้หูดับจะมีอาการหลังรับประทานเนื้อหมูดิบ 3-5 วัน มักมีอาการไข้สูง ปวดศีรษะอย่างรุนแรง เวียนศีรษะจนทรงตัวไม่ได้ อาเจียน คอแข็ง หูหนวก ท้องเสีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ หากปล่อยไว้เชื้อจะเข้าไปทำลายอวัยวะภายในและระบบประสาท ทำให้เยื่อหุ้มสมอง เยื่อบุหัวใจอักเสบ ประสาทหูทั้ง 2 ข้างอักเสบและเสื่อมอย่างรุนแรง ทำให้หูหนวกตลอดชีวิต รวมถึงพบเลือดออกใต้ผิวหนังได้ เมื่อพบอาการผิดปกติหลังรับประทานเนื้อหมูดิบขอให้รีบพบแพทย์ทันทีและบอกประวัติการกินหมูดิบให้ทราบ เนื่องจากหากวินิจฉัยได้เร็ว จะช่วยลดอัตราการหูหนวกและการเสียชีวิตได้ ทั้งนี้ กลุ่มที่ติดเชื้อแล้วจะมีอาการป่วยรุนแรง ได้แก่ ผู้ที่ติดสุราเรื้อรัง ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคไต โรคมะเร็ง โรคหัวใจ ผู้ที่เคยตัดม้ามออก เป็นต้น
สำหรับ โรคไข้หูดับ เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย สเตร็ปโตค็อกคัส ซูอิส (Streptococcus suis) สามารถติดต่อได้ 2 ทาง คือ
1.การสัมผัสกับหมูที่ติดเชื้อ รวมทั้งเนื้อหมู เครื่องในและเลือดหมูที่เป็นโรค โดยติดต่อสู่คนทางบาดแผล รอยขีดข่วนตามร่างกายหรือทางเยื่อบุตา
2.เกิดจากการบริโภคเนื้อหมู หรือเลือดหมูที่ปรุงดิบ หรือสุกๆ ดิบๆ ที่มีเชื้ออยู่ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :