รายงานของหน่วยงานตรวจเงินแผ่นดินอูกันดาระบุว่า หนี้สาธารณะของอูกันดานับตั้งแต่เดือนมิถุนายนปี 2017 - 2018 นั้นเพิ่มขึ้นกว่า 2,000 ล้าน ดอลลาร์สหรัฐฯ จาก 9,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐเป็น 11,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งทำให้อูกันดาตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะเสียทรัพย์สินที่เป็นของรัฐให้แก่เจ้าหนี้ ทั้งนี้รายงานฉบับดังกล่าวไม่ได้ระบุว่า เจ้าหนี้ของอูกันดาเป็นใคร
นายมาเทีย คาไซจา รัฐมนตรีกระทรวงการคลังของอูกันดากล่าวว่า หนี้สาธารณะของอูกันดานั้นกู้ยืมในระดับพหุภาคีเป็นส่วนใหญ่ โดยกว่า 68 เปอร์เซ็นต์เป็นการกู้ยืมเงินในระดับพหุภาคีและ 31 เปอร์เซ็นต์นั้นเป็นการกู้ยืมในระดับทวิภาคี
เงินกู้ที่อูกันดายืมมานั้นมีทั้งมาจากธนาคารโลก ธนาคารเพื่อพัฒนาอิสลาม และธนาคารเพื่อการพัฒนาแอฟริกัน รวมไปถึงแหล่งเงินกู้อื่นๆ ที่ให้ดอกเบี้ยต่ำกว่าร้อยละ 1.5 ต่อปี นอกจากนี้ยังมีระยะการชำระหนี้ยาวถึง 35 ปีอีกด้วย
ทั้งนี้ในโครงการพัฒนาต่างๆ ของประเทศที่ผ่านมารัฐบาลอูกันดาได้กู้ยืมเงินจากจีนเป็นเงินกว่า 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อนำมาใช้ในโครงการพัฒนาต่างๆ ผ่านธนาคารของรัฐ โดยธนาคารเอ็กซิมแบงค์ของจีนเป็นผู้ลงทุนกว่าร้อยละ 85 ในโครงการเขื่อนพลังงานไฟฟ้าขนาดใหญ่ 2 แห่งของอูกันดา นอกจากนี้ยังมีโครงการทางด่วนเชื่อมต่อสนามบิน ขณะที่ยังมีการร่วมทุนระหว่างอูกันดา จีน ฝรั่งเศสและอังกฤษในการจัดตั้งโครงการขุดเจาะน้ำมันในทางตะวันตกของอูกันดาอีกด้วย
(โครงการทางด่วนเชื่อมต่อสนามบิน หนึ่งในโครงการที่จีนเข้ามาลงทุนในอูกันดา)
นายคาไซจากล่าวว่า "บริษัทจากจีนหลายแห่งสามารถประมูลโครงการต่างๆ ในอูกันดา เนื่องจากพวกเขาให้ราคาที่ถูกที่สุดในการลงทุน ซึ่งเจ้าของบริษัทเหล่านี้มีเพียงผู้เดียว คือ 'รัฐบาลจีน'"
นอกจากนี้นายคาไซจายังยืนยันว่า "ตราบใดที่เขายังอยู่ในตำแหน่งจีนไม่สามารถที่เข้ามาครอบครองทรัพย์สินของอูกันกาได้ ยกเว้นมันจะเกิดหายนะขึ้นมาจริงๆ ซึ่ง ณ ตอนนี้เขายังไม่เห็นว่าจะมีทางใดที่จีนเข้ามาครอบครองทรัพย์สินของรัฐได้ พวกเขาสามารถกระทำได้ในที่อื่นแต่ไม่ใช่ในอูกันดา"
ขณะที่นายเฟรด มูฮูมูซา นักเศรษฐศาสตร์กล่าวว่า แม้ว่าอูกันดาจะสามารถขุดเจาะและผลิตน้ำมันได้ แต่โครงการดังกล่าวก็อาจจะยังไม่ใช่คำตอบในการแก้ปัญหาเรื่องหนี้สินที่อูกันดาจะสามารถจ่ายคืนจีนได้
ทั้งนี้ความกังวลในเรื่องการเข้าครอบครองทรัพย์สินของรัฐในแอฟริกา อูกันดาไม่ได้เป็นประเทศแรกที่แสดงความกังวลนี้ ที่ผ่านมาทั้งเคนยา แซมเบีย และอีกหลายประเทศในแอฟริกาต่างตกอยู่ในสภาวะเสี่ยงในการจ่ายหนี้เงินกู้คืนให้แก่จีน
เมื่อเดือนกันยายนปี 2018 มีรายงานว่าจีนได้เข้าครอบครองบริษัทการไฟฟ้าของแซมเบีย เพื่อใช้หนี้ในโครงการกู้ยืมต่างๆ แต่รัฐบาลแซมเบียได้ออกมาปฏิเสธเรื่องดังกล่าว และเดือนธันวาคมก็มีรายงานว่าท่าเรือมอบบาซาของเคนยาก็มีความเสี่ยงที่จีนจะเข้ามาบริหาร เพื่อชดใช้หนี้กว่า 3,000 ล้านดอลลาร์จากโครงการเส้นทางรถไฟจากท่าเรือถึง กรุงไนโรบีของเคนยา อย่างไรก็ตามทั้งจีนและเคนยาต่างออกมาปฏิเสธเรื่องดังกล่าว
ที่มา Independent / Africanstand
ข่าวที่เกี่ยวข้อง