วันที่ 15 มิ.ย. 2566 ที่ จ.นครพนม ภายหลังมีการเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในพื้นที่ ทั้ง หมด 4 เขต โดยมีว่าที่ ส.ส.ชนะการเลือกตั้ง ประกอบด้วย ภูมิพัฒน์ พชรทรัพย์ ว่าที่ ส.ส.นครพนม เขต 1 พรรคเพื่อไทย ดร.มนพร เจริญศรี ว่าที่ ส.ส.นครพนม เขต 2 พรรคเพื่อไทย นพ.อลงกต มณีกาศ ว่าที่ ส.ส.นครพนม เขต 3 พรรคภูมิใจไทย และ ชูกัน กุลวงษา ว่าที่ ส.ส.นครพนม เขต 4 พรรคภูมิใจไทย
โดยคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด (กกต.จว.)นครพนม ได้สรุปความเห็นเบื้องต้น เสนอไปยัง กกต.กลาง ให้รับรองทั้งหมด 4 เขต ในส่วนของประเด็นการร้องเรียน มีเพียงการร้องเรียนเกี่ยวกับการหาเสียงของบางพรรคการเมือง ที่ยังอยู่ระหว่างการสอบสวน ตามขั้นตอนกฎหมาย และเสนอไปยัง กกต.พิจารณา ยังไม่พบปัญหาความผิดการซื้อเสียง สำหรับข่าวลือสะพัดเกี่ยวกับผลการรับรองเลือกตั้ง ที่มีการแขวนว่าที่ ส.ส. พรรคเพื่อไทย เขตเลือกตั้งที่ 1 กับ 2 ยังไม่มีการยืนยันความชัดเจน จาก กกต.กลาง
ด้าน สมพล พงษ์พิพัฒน์ ผู้อำนวยการคณะการการการเลือกตั้งประจำจังหวัดนครพนม เปิดเผยว่า ตามระเบียบข้อกฎหมาย ในการพิจารณารับรองผลการเลือกตั้ง ส.ส. จะต้องมีการพิจารณารับรอง แล้วเสร็จภายใน 60 วัน นับจากวันเลือกตั้ง คือวันที่ 14 พ.ค. 2566 โดยในส่วนของ กกต.จว.นครพนม ได้สรุปความเห็นเบื้องต้น เสนอไปยัง กกต.กลาง ให้มีการรับรองผลการเลือกตั้ง ทั้งหมด 4 เขต ส่วนปัญหาการร้องเรียนยังมีประเด็นในเรื่องของการหาเสียงของบางพรรคการเมือง แต่ไม่สามารถระบุรายละเอียดได้ และอยู่ระหว่างการไต่สวนข้อเท็จจริง และเสนอไปยัง กกต.กลาง ตามขั้นตอนของกฎหมาย ถึงแม้จะมีการเสนอความเห็นเบื้องต้นเพื่อรับรองผลการเลือกตั้ง แต่ยังสามารถไต่สวน หรือสอบสวนข้อเท็จจริง ได้ในระยะเวลา 1 ปี แต่สามารถรับรองผลการเลือกตั้งไปก่อน ตามกฎหมาย
นอกจากนี้กรณีในช่วงก่อนการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 12 พ.ค. 2566 ที่ผ่านมา ทางตำรวจชุดสืบสวนนครพนม มีการตรวจยึดเงินสดพ่อค้า รายหนึ่ง เกือบ 2 แสนบาท เป็นการดำเนินการของตำรวจชุดสืบสวน ไม่มีเจ้าหน้าที่ กกต.นครพนม ร่วมด้วย จนกระทั่งภายหลัง มีการแจ้งมายัง เจ้าหน้าที่ กกต.นครพนม ให้ทำการสอบสวนข้อเท็จจริง ตามอำนาจหน้าที่ แต่พบเพียงเงินสด ไม่พบเอกสารหลักฐานที่เชื่อมโยงเกี่ยวกับการกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง เป็นเงินสดส่วนตัวที่นำติดตัวมาซื้อของ ถือว่าปกติทั่วไปทุกคนสามารถพกพาเงินสดได้ในช่วงการเลือกตั้ง หลังการตรวจสอบ จึงได้นำเงินสดดังกล่าวคืนกับเจ้าของ โดยไม่มีความผิดการซื้อเสียง
อีกทั้งในส่วนของกรณีอื่นๆ ในการเลือกตั้ง ส.ส. ที่ผ่านมา ไม่มีการจับกุมผู้กระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งในการซื้อเสียง มีเพียงการร้องเรียนทั่วไปเกี่ยวกับการหาเสียง แต่ยังไม่ยืนยันความผิด โดยทาง กกต.อยู่ระหว่างการดำเนินการไต่สวนตามขั้นตอนของกฎหมาย เพื่อหาความชัดเจน อย่างไรก็ตามเกี่ยวกับผลการรับรองการเลือกตั้ง จะต้องรอทาง กกต.กลาง ยืนยันมาเป็นหนังสือเท่านั้น ที่มีการเผยแพร่ข้อมูลทางสื่อโซเชียล ถือว่ายังไม่มีความชัดเจน