ไม่พบผลการค้นหา
วงเสวนา ชี้! 30 ปีพฤษภา 35  คนไทยไม่จำประวัติศาสตร์จึงซ้ำรอย ชัดแจน! ชนชั้นนำเริ่มใช้ศิลปวัฒนธรรมขมวดอำนาจ และวาทกรรมการเมืองเทพ-มาร คือ วงศาวิทยาของ 'สลิ่ม'

คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒจัดเสวนา "เรียนรู้ เข้าใจ ให้อภัย จดจำ : การรับรู้ การสร้างความหมายและความทรงจำเหตุการณ์พฤษภาประชาธรรม" วาระ 30 ปี เหตุการณ์พฤษภา'35 ผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย 1.) ผศ.ดร. ชาติชาย มุกสง อาจารย์ประวัติศาสตร์ (มศว) / 2.) ผศ.ดร. บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย / 3.) ดร.ถนอม ชาภักดี นักวิชาการด้านศิลปกรรมศาสตร์ (อดีต อ.มศว) / 4.) ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการและสื่อมวลชนอิสระ 

ผศ.ดร. ชาติชาย ย้อนไปในสมัยเรียนอยู่ระดับมัธยมปลาย และในโรงเรียนมีนักเรียนออกมาประท้วงการรัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์ 2534 จำนวนมากซึ่งครูก็อนุญาต ขณะที่ทั่วประเทศก็มีการลุกฮือขึ้นมาทั้งประชาชนนักเรียนและนิสิตนักศึกษา จากเหตุการณ์นั้นถือว่าเปลี่ยนชีวิตตนพอสมควร เนื่องจากปีถัดมา 2535 จะสอบเข้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมีแกนนำนักศึกษายุคนั้นเป็นไอดอล 

ส่วนลำดับเหตุการณ์ตั้งแต่การรัฐประหารปี 2534 จนถึงเหตุการณ์พฤษภาประชาธรรม ปี 2535 ภายใต้ข้อเรียกร้องหลัก "นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง" แต่หลังจากนั้นในทางวิชาการการเมืองมีการพูดเรื่อง "พระราชอำนาจนำ" รวมถึงการตั้งคำถามต่อบทบาทชนชั้นกลางในการต่อต้านเผด็จการและผลักดันการสร้างประชาธิปไตย ว่ายังคาดหวังได้หรือไม่ในยุคปัจจุบันด้วย


รัฐประหารต่างยุค ความเสียหายของประเทศ

ด้าน ‘ศิโรตม์’ กล่าวว่าทราบข่าวรัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์ 2534 จากนักพัฒนาเอกชน (NGOs) ด้านแรงงาน โทรศัพท์เข้ามาที่บ้าน ก่อน NGO คนดังกล่าวจะถูกจับกุมเพราะจะพิมพ์แถลงการณ์ต้านรัฐประหาร จึงได้ฝากฝังให้ตนนำแถลงการณ์ดังกล่าวไปเผยแพร่ จึงสรุปได้ว่าเช้าวันนั้นตื่นขึ้นมาพร้อมข่าวคนใกล้ชิดที่รู้จักถูกจับกุม เพราะออกมาคัดค้านการรัฐประหาร

ศิโรตม์ ยืนยันว่า รัฐบาลปี 2534-2535 มีความเลวร้าย แต่สร้างความสูญเสียและเสียหาย น้อยกว่าช่วงปี 2557-2565 ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งหนักกว่ามาก ดูจากการคุกคามหรือจับกุมประชาชน 

ดังนั้นจึงเห็นว่าในรอบ 30 ปีที่ผ่านมาในปี 2563 คนยุคพฤษภา 35 ออกมาต่อต้านรัฐบาลเยอะ แต่แง่หนึ่งก็เห็นได้ว่า คนส่วนมากในสังคมอาจยอมจำนน ที่ปล่อยให้ความเลวร้ายอยู่มา 7-8 ปี ซึ่งยังเป็นคำถามอยู่ว่าเพราะเหตุใด


วงศาวิทยาของสลิ่ม

ขณะที่ ผศ.ดร. บัณฑิต ระบุว่า ตนกำลังศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีกระแสกดดัน 'รัฐบาลเปรม' ยุบสภากระทั่งมีการเลือกตั้ง และคาดว่าประเทศจะเจริญก้าวหน้าได้แล้วและเศรษฐกิจก็พุ่งทยาน แต่เมื่อเกิดรัฐประหาร รู้สึกเพียงว่า "ฉิบหายเเล้ว" และเป็นจุดเริ่มต้นความเลวร้ายต่างๆ 

ผศ.ดร. บัณฑิต กล่าวด้วยว่า ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยได้เพราะคนในสังคมไม่จดจำ ในแง่วิชาการ ทั้งการค้นหาความจริง 2 รายการและเยียวยาแค่ 2 รายการ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ 'อนุสรณ์สถานสวนสันติพร' ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นลานจอดรถ และสิ่งหนึ่งที่เป็นปัญหาคือสังคมไทยมักสั่งสอนมา "ให้อภัยโดยคนที่ทำผิดยังไม่สำนึก" ไม่ได้สร้างมาตรการหรือปฏิรูปกองทัพและตำรวจตามที่ควรจะเป็น ต่างจากกรณีกวางจู ประเทศเกาหลีใต้ ที่ประกาศให้วันที่ 18 พฤษภาคม เป็นวันต่อต้านเผด็จการ ต่อต้านอำนาจนิยมของโลก

ในวงวิชาการไทยมีการระบุถึงจุดจบเหตุการณ์ปี 2535 ว่า มีฉันทามติภูมิพล (ร.9) คือ ระหว่างชนชั้นกลางและฝ่ายซ้ายส่วนหนึ่งกับสถาบันกษัตริย์ นอกจากนี้ มีการผลิตวาทะกรรม "การเมืองของคนดี-การเมืองของเทพและมาร" เกิดขึ้นหลังเหตุการณ์พฤษภา'35 ซึ่งลดทอนประชาธิปไตยให้เหลือเเค่การเลือกตั้งเท่านั้น ถือเป็นปัญหาใหญ่ทางวิชาการด้านการเมืองการปกครองไทยหรืออาจเรียกว่าเป็น "วงศาวิทยาของสลิ่ม" ก็ได้

ผศ.ดร. บัณฑิต ย้ำว่า หากไม่สรุปบทเรียนเผด็จการก็จะกลับมาอีก พร้อมทิ้งท้ายและเเสดงปลอกกระสุนกลางวงเสวนาว่า "กระสุนซ้ายมือจากราชดำเนิน กระสุนขวามือจากแยกดินแดง" 

ชนชั้นนำเริ่มใช้ศิลปวัฒนธรรมขมวดอำนาจ

ด้าน ดร. ถนอม กล่าวว่าศิลปะวัฒนธรรมของไทยกำลังจะฟื้นฟูในช่วงปี 2530 กระทั่งมีการรัฐประหารปี 2534 ทำให้ศิลปะที่คิดว่าจะงอกงามภายใต้การควบคุมของภาคประชาชนดับวูบลงไป ศิลปะเข้าไปอยู่ใต้ปีกของรัฐอีกครั้งหนึ่ง และเป็นศักราชของการเริ่มต้นที่เป็นมาถึงทุกวันนี้ ที่ศิลปะเข้าไปอยู่ภายใต้ระบบอุปถัมภ์ที่แข็งแกร่งของรัฐโดยที่ประชาชนไม่สามารถฉกฉวยกลับคืนมาได้เลย แม้แต่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครในปัจจุบันด้วย ซึ่งได้เคยเป็นศูนย์บัญชาการของ กปปส. ในการล้มรัฐบาล

พร้อมขยายความว่า ราวปี 2530 ชนชั้นนำไทยกลัวกระแสโลกาภิวัฒน์ จึงกระตุ้นการสร้างอัตลักษณ์ไทยขึ้นมาต่อต้านโลกาภิวัฒน์และครอบงำประชาชนในชาติด้วย ซึ่งการที่ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ผู้นำการชุมนุมปี 2535 ที่มีสายสัมพันธ์กับชนชั้นนำ ได้ถูกจับกุมและเข้าเฝ้าในชุด 'ม่อฮ่อม' ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ พร้อมย้ำว่า คนไทยตอกย้ำผ่านการผลิตซ้ำทางศิลปะ เป็นซอฟต์พาวเวอร์ ที่ขมวดอำนาจชนชั้นนำเพื่อกระชับอำนาจของประชาชน 

ดร. ถนอม อธิบายเพิ่มว่า หลังปี 2535 มีการประกาศความเป็นเอกลักษณ์ไทยขึ้น เกิดคณะศิลปกรรมในหลายมหาวิทยาลัย, เกิดโรงเรียนนาฏศิลป์ ,โรงเรียนช่าง 10 หมู่ ,โรงเรียนในวังทั้งชายและหญิง ดังนั้น จึงเห็นว่า ความรุนแรงทางศิลปวัฒธรรมนี้ ไม่ต่างจากความรุนแรงทางกฎหมาย 

เพราะประชาชนไม่สามารถสร้างสรรผลงานที่วิพากษ์วิจารณ์สังคมได้ ทั้งยังมีการตั้งกระทรวงวัฒนธรรม มาความคุมศิลปะและศิลปิน แม้แต่หมอลำในภาคอีสาน ยังต้องมีการลำสรรเสริญก่อน และยังมีรางวัลศิลปินแห่งชาติ มาล่อใจและจำกัดกรอบให้ศิลปินอีกด้วย