‘ภาษา’ คือเป็นระบบสื่อสารที่สร้างขึ้นจากภูมิปัญญาเฉพาะของแต่ละกลุ่มเพื่อการดำรงชีวิต และถูกใช้ต่อเนื่องกันมาเป็นระยะเวลาร้อยปีพันปี ‘ภาษา’ จึงเป็นทั้งระบบคิด ระบบความรู้ความเข้าใจต่อโลกและสิ่งแวดล้อม เป็นแหล่งภูมิปัญญาหลายแขนง รวมถึงเป็นอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมและตัวตนของแต่ละกลุ่มทางสังคม
เรื่องราวของ ‘ภาษา’ มีหลายแง่มุมที่น่าสนใจ ทั้งในมิติของพลังและอำนาจในฐานะเครื่องมือของมนุษยชาติในการติดต่อสื่อสารหรือ บ่งชี้อัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ (Ethnic identity marker) รวมถึงเครื่องมือในการสร้างตัวตนของรัฐชาติ ด้วยการสถาปนาอำนาจภาษาแห่งชาติ (National language)
ในขณะที่อำนาจของภาษาแห่งชาติทรงพลังมากขึ้นๆ พร้อมกันนั้นก็เกิดการกดทับเบียดขับ หรือ ย่อยสลายพลังของชุมชนภาษาอื่นๆ ในรัฐชาติให้อ่อนด้อยลงจนถึงสูญสิ้นไปด้วยเช่นเดียวกัน
เนื่องในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ของทุกปี คือวันภาษาแม่สากล หรือ International Mother Language Day วอยซ์ ชวนย้อนประวัติศาสตร์ไปยังจุดกำเนิดวันภาษาแม่สากล ในเหตุการณ์ประท้วงของกลุ่มนักศึกษาถึงสิทธิและเสรีภาพในการใช้ภาษา ‘เบงกาลี’ และสถานการณ์ของ ‘ภาษา’ ที่กำลังสูญพันธุ์ ทั้งในประเทศไทยและระดับโลก
การต่อสู้เพื่อสิทธิในภาษาแม่ และการหายไปของหลากหลายทาง ‘ภาษา’ กำลังบอกอะไรเรา?
ย้อนไปยังช่วงเวลาที่อินเดียได้รับเอกราชจากการปกครองของอังกฤษ ในปี 1947 ขณะนั้น อินเดียมีประชากรที่เป็นชาวมุสลิมอยู่ราว 25% โดยที่ประชากรที่เหลือส่วนใหญ่เป็นชาวฮินดู นอกจากนี้ยังมีชาวซิกข์ ชาวพุทธ และชนกลุ่มน้อยที่นับถือศาสนาอื่นๆ อีกมากมาย
ชาวอินเดียมุสลิมจำนวนมาก ต่างก็เริ่มกังวลเรื่องของการต้องอยู่ในประเทศที่ปกครองโดยคนฮินดู ซึ่งเป็นประชากรหมู่มาก กล่าวคือ ชาวมุสลิมต่างก็ไม่ไว้ใจชาวฮินดู และวิตกว่าพวกเขาอาจไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการปกครองของพรรคคองเกรส ซึ่งเป็นแกนนำในการเรียกร้องเอกราช และมีสมาชิกส่วนใหญ่เป็นชาวฮินดู ประกอบกับทัศนคติความเป็นภราดรภาพของชาวมุสลิมอันเนื่องจากคำสอนในพระคัมภีร์ จึงทำให้สันนิบาตมุสลิมพยายามเรียกร้องให้ชาวมุสลิมได้ปกครองตนเองในดินแดนที่มีคนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลามหลังจากอินเดียได้รับเอกราช
ชาวอินเดียมุสลิมจึงเริ่มสนับสนุนผู้นำการเมืองที่มีนโยบายรณรงค์ให้แบ่งแยกประเทศของชาวมุสลิมออกมา ขณะที่ฝั่งของ มหาตมะ คานธี และ ชวาหะร์ลาล เนห์รู แกนนำขบวนการเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษ ก็ออกมาแสดงจุดยืนว่าพวกเขาต้องการให้อินเดียเป็นหนึ่งเดียวที่โอบรับคนทุกศาสนาไว้ด้วยกัน
ที่สุดแล้ว อนุทวีปอินเดียก็ถูกแบ่งออกเป็นสองประเทศได้แก่ อินเดียที่มีชาวฮินดูเป็นส่วนใหญ่ และ ‘ปากีสถาน’ ที่มีชาวมุสลิมเป็นส่วนใหญ่ การแบ่งอินเดียครั้งนั้น ทำให้ประชาชน 10-20 ล้านคนต้องพลัดถิ่น
หลังการแบ่งเส้นพรมแดนใหม่ ในปี พ.ศ. 2491 ประเทศปากีสถานก็ได้ถือกำเนิดขึ้น โดยมีผู้นำคือ มูฮัมหมัด อาลี จินนาห์ โดยปากีสถานในช่วงแรก มีดินแดน 2 ส่วน คือ ปากีสถานตะวันตก (บริเวณประเทศปากีสถานในปัจจุบัน) และปากีสถานตะวันออก (บริเวณประเทศบังคลาเทศในปัจจุบัน)
แม้ประชากรในปากีสถานทั้งสองดินแดนจะนับถือศาสนาอิสลามเหมือนกัน แตก็ยังมีความแตกต่างกันทั้งทางเชื้อชาติ วัฒนธรรม และฐานะทางเศรษฐกิจ กล่าวคือ ดินแดนปากีสถานตะวันตก ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวปัญจาบ พูดภาษา ‘อูรดู’ มีฐานะทางเศรษฐกิจและมีความรู้สูงกว่า ชาวมุสลิมกลุ่มอื่น จึงได้เข้าครองตำแหน่งสำคัญในรัฐบาล ส่วนดินแดนปากีสถานตะวันออก ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวเบงกอล พูดภาษา ‘เบงกาลี’ แม้จะเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ คือร้อยละ 55 แต่ก็มีฐานะทางเศรษฐกิจที่ค่อนข้างต่ำ
ความขัดแย้งทางวัฒนธรรมนี้ ได้เริ่มปะทุขึ้นหลังรัฐบาลปากีสถานมีมติให้ภาษา ‘อูรดู’เป็นภาษาประจำชาติ ในการประชุมสุดยอดด้านการศึกษาระดับชาติในการาจี เหตุการณ์ครั้งนี้ได้จุดประกายความขัดแย้งในรัฐเบงกอลตะวันออกทันที เมื่อนักเรียนนักศึกษากลุ่มกรุงธากา นำโดน Abul Kashem นักการเมือง นักเขียน และนักการศึกษาที่มีชื่อเสียง เขาได้เรียกร้องให้รัฐบาลยอมรับ ‘ภาษาเบงกาลี’ เป็นภาษาราชการและเป็นสื่อกลางในการศึกษา เนื่องจากประชากรส่วนใหญ่ของปากีสถานในขณะนั้นมีเชื้อชาติเบงกาลี ภาษาจึงควรได้รับความสำคัญในระดับที่มากขึ้น ขณะเดียวกันคณะกรรมการบริการสาธารณะของปากีสถาน ยังยืนยันที่จะให้ประชาชนใช้ภาษาอูรดูเป็นภาษทางการเพียงหนึ่งเดียวเช่นเดิม และนั่นยิ่งทำให้ความโกรธแค้นของประชาชนรุนแรงขึ้น
สิ่งนี้นำไปสู่การประท้วงครั้งใหญ่ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2495 เมื่อนักศึกษาในกรุงธากาฝ่าฝืนคำสั่งห้ามการชุมนุมในที่สาธารณะ เกิดเหตุการณ์ที่ตำรวจตอบโต้ด้วยแก๊สน้ำตาและปืน ส่งผลให้กลุ่มนักศึกษา ประกอบด้วย อับดุส ซาลาม, อาบุล บาร์กัต, ราฟิก อุดดิน อาเหม็ด, อับดุล จับบาร์ และชาฟิอูร์ เราะห์มาน ถูกสังหาร และบาดเจ็บอีกจำนวนมาก
อาจกล่าวได้ว่า เหตุการณ์นี้ถือเป็น ครั้งแรก ที่ผู้คนถูกยิงเสียชีวิตจากการประท้วงเรื่องสิทธิในการพูดภาษาแม่ของตน
แม้ว่าในที่สุด รัฐบาลปากีสถานจะยอมรับภาษาเบงกาลีเป็นภาษาประจำชาติในปี 2499 แต่นั่นก็สายเกินไปแล้ว เหตุการณ์ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2495 สร้างบาดแผลใหญ่ให้ชาวปากีสถานตะวันออก และเป็นส่วนหนึ่งใความขัดแย้งที่ทำให้เกิดการแยกตนเป็นเอกราช และกลายเป็นประเทศ ‘บังคลาเทศ’ ในปัจจุบัน
จากโศกนาฏกรรมดังกล่าว องค์การยูเนสโก (UNESCO) ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการใช้ภาษาของมวลมนุษยชาติ ทำให้ในการประชุมเมื่อปี 2542 ได้มีการกำหนดให้วันที่ 21 กุมภาพันธ์ ของทุกปี เป็นวันภาษาแม่สากล และเริ่มจัดงานในปี 2543 เป็นปีแรก เพื่อแสดงให้เห็นถึงความสำคัญ ต่อภาษาแม่ของทุกกลุ่มชนต่างๆ ทั่วโลก
ประเทศไทย คือสังคมพหุภาษา (Multilingual society) ที่มีประวัติศาสตร์และแบบแผนวิถีทางสังคมวัฒนธรรมที่ดำรงอยู่บนความอุดมมั่งคั่ง ด้วยวิถีวัฒนธรรมของชุมชนหลากชาติพันธุ์ภาษา ทว่าที่ผ่านมา ปฏิบัติการทางนโยบายของรัฐไทยตั้งแต่ยุคสร้างรัฐชาติ จนถึงยุคเทคโนโลยีการสื่อสารไร้พรมแดน ผ่านระบบการศึกษา การเมืองการปกครอง การพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม กลับมุ่งสถาปนาเพียงอำนาจในภาษาไทยมาตรฐานเท่านั้น ภาวะเช่นนี้ได้สร้างสภาพการกดทับและเบียดขับสังคมภาษาอื่นๆ ที่ดำรงอยู่ในประเทศ ให้อยู่ในสภาพที่ไร้คุณค่า ไร้พลัง และไร้พื้นที่ทางสังคมมาเป็นเวลายาวนาน
เช่นเดียวกับ ‘ภาษา’ มากมายทั่วโลกในปัจจุบัน ที่ก็ตกอยู่ในสถานการณ์ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ในงานศึกษาของมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (ANU) ได้ระบุว่า ประมาณครึ่งหนึ่งของ 7,000 ภาษาในโลก กำลังตกอยู่ใน ‘สถานะอันตราย’ ที่เสี่ยงต่อการ ‘สาบสูญ’ ในอีก 100 ปีข้างหน้า
ในประเทศไทยก็เช่นกัน ข้อมูลของเว็บไซต์องค์กรยูเนสโก ระบุว่า กว่า 25 ภาษา ในประเทศไทยที่เสี่ยงต่อการเป็นภาษาที่สาบสูญ และมีหนึ่งภาษาที่ถูกจัดว่าสาบสูญไปแล้วคือภาษาพะล็อก (Phalok)
ยูเนสโกระบุว่า “การสาบสูญไปของภาษาที่ไม่ได้เขียนและไม่ได้มีการบันทึกไว้นั้น อาจจะทำให้มนุษยชาติไม่เพียงแค่สูญเสียความรุ่มรวยทางวัฒนธรรมแต่จะสูญเสียความรู้จากบรรพชนที่แฝงอยู่ในตัวภาษาเหล่านี้ไปด้วย โดยเฉพาะกับภาษาพื้นเมือง”
ในงานศึกษาเรื่อง ‘แผนที่ภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในประเทศไทย’ โดย ดร.สุวิไล เปรมศรีรัตน์ และคณะ ระบุว่า ประเทศไทยตั้งอยู่ใจกลางแผ่นดินใหญ่เอเชียอาคเนย์ ที่มีความหลากหลายและซับซ้อนทางภาษาและชาติพันธุ์มากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยมีกว่า 60 กลุ่มภาษา ซึ่งมีความสัมพันธ์เชิงสังคมเป็นระดับชั้น
กล่าวคือ ภาษาไทยกลางที่ใช้ปัจจุุบันนั้นอยู่ในระดับสูงสุด เพราะเป็นภาษาที่ใช้การศึกษาและการสื่อสารมวลชน (39%) รองลงมาคือภาษาถิ่นตามภูมิภาค เช่น ภาษาลาวอีสาน (28%) ภาษาคำเมือง (10%) ภาษาปักต์ใต้ (9%) ภาษาเขมรถิ่นไทย (3%) ภาษาไทยโคราช ผู้ไทย กูย (หรือส่วย) ญ้อ ไทยเลย ลาวหล่ม กะเหรี่ยง (1%)
งานศึกษาชิ้นนี้ยังกล่าวถึง อิทธิพลของยุคสมัยและนโยบายภาษาของรัฐ คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้ภาษาต่างๆ อยู่ในภาวะถดถอย และมีอย่างน้อย 14 ภาษาในประเทศไทยกำลังอยู่ในภาวะที่ใกล้สูญพันธุ์ ได้แก่
ตัวอย่างกลุ่มญัฮกุร ในจังหวัดนครราชสีมา เดิมทีมีผู้ใช้ภาษาญัฮกุรจำนวนมาก แต่ต่อมาได้มีกลุ่ม ‘ไทยโคราช’ ซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่ในพื้นที่อพยพเข้ามาอยู่ปะปนด้วยกัน เป็นผลให้กลุ่มญัฮกุรพยายามถอยหนีเข้าไปอยู่ในป่าลึกเรื่อยๆ จนเมื่อไม่มีทางไปต่อ ที่สุดก็ต้องอยู่ร่วมกัน ผลที่ตามมาคือ ภาษาญัฮกุร ถูกใช้น้อยลงเรื่อยๆ และภาษาที่ใช้มีลักษณะเพี้ยนไปตามอิทธิของภาษาไทยราชการ (หมายถึงไทยโคราชและไทยกลาง)
หรืออีกตัวอย่างคือ ภาษาโซ่ (ทะวืง) เดิมทีเป็นภาษาของกลุ่มชนที่อพยพมาจากแถบคำม่วนประเทศลาวมายังฝั่งประเทศไทยเมื่อประมาณ 100 ปีมาแล้ว และได้ตั้งหลักแหล่งอยู่ที่จังหวัดสกลนคร กาฬสินธุ์ อุดรธานี โดยปัจจุบัน เหลือผู้พูดภาษา ภาษาโซ่ (ทะวืง) เพียงแต่ในอำเภอส่องดาว จังหวัดสกลนครเท่านั้น ส่วนที่กาฬสินธุ์ อุดรธานี แทบจะไม่มีคนพูดภาษานี้แล้ว และมีแนวโน้มว่า ในอีก 1-2 ช่วงอายุ ภาษานี้อาจตายได้ เนื่องจากคนรุ่นใหม่เปลี่ยนไปใช้ภาษาไทย-ลาว มากขึ้นจากปัจจัยทางสังคมและเศรษฐกิจหลายด้าน
นอกจาก 14 กลุ่มภาษาที่กำลังอยู่สถานการณ์วิกฤต ภาษากลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ที่แม้จะเป็นกลุ่มใหญ่ ก็อยู่ในสถานะถดถอย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเยาวชน เช่น ภาษามอญ ภาษามลายูถิ่น ภาษาเขมรถิ่นไทยฯ หรือแม้แต่ภาษาคำเมือง ลาวอีสาน ปักษ์ใต้ ที่ถึงแม้ปัจจุบันผู้คนจะยังพูดโดยใช้สำเนียงท้องถิ่น แต่คำศัพท์และลักษณะทางไวยากรณ์จำนวนมากถูกเปลี่ยนเป็นภาษาไทยกลางเรื่องจากระบบการศึกษาและการสื่อสารมวลชน
กล่าวได้ว่า ณ ขณะนี้ การเปลี่ยนแปลงของภาษาและวัฒนธรรม การเลิกใช้ภาษาหรือการล้มตายของภาษาที่เกิดขึ้น กำลังเป็นปัญหาระดับโลก โดย Michel Krauss (1992) ได้ทำนายไว้ว่า 90% ของภาษาในโลก ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 6,000-7,000 ภาษา อาจไม่สามารถดำรงอยู่ได้ และจะมีเพียง 10% ของภาษาเท่านั้นที่ถูกใช้ในโลก ได้แก้ภาษาราชการหรือภาษาประจำชาติต่างๆ
คำถามคือ การหายไปของกลุ่มภาษามากมายเหล่านี้ คือสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติและเป็นการเปลี่ยนแปลงตามปกติของโลกใช่หรือไม่ เราจำเป็นต้องกังวลจริงหรือ ในเมื่อภาษาราชการที่ใช้ในปัจจุบันก็ทำให้เราสามารถสื่อสารและเข้าถึงความรู้ได้เช่นกัน
ในงานของ ดร. สุวิไล เสนอว่า การสูญเสียภาษา หมายถึงการสูญเสียระบบความรู้ ความคิดและโลกทัศน์ ภูมิปัญญาด้านต่างๆ รวมถึงอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมและชาติพันธุ์
กล่าวคือ ความหลากหลายทางภาษาและชาติพันธุ์ มีความสำคัญไม่ต่างกับความหลากหลายทางชีวภาพอื่นๆ เช่น การที่สัตว์และพืชบางชนิดสูญพันธุ์ไป ทำให้มนุษยชาติสูญเสียความรูั้ที่มีคุณค่ามหาศาลเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตในโลก … ภาษาก็เช่นกัน การล้มหายตายจากของภาษา ทำให้เราขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับมนุษย์ ซึ่งสามารถนำมาใช้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของกลุ่มชนและสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
มากกว่านั้น ภาษาเป็นอัตลักษณ์ที่สำคัญของกลุ่มชน ที่ทำให้เกิดความเชื่อมั่นในตนเองและเป็นรากฐานที่สำคัญของพัฒนาคนและชุมชน
ในปี 1951 ยูเนสโก จึงได้ออกรายงานว่าด้วยความสำคัญของภาษากลุ่มชนต่างๆ ในฐานะที่เป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพที่สุด ในการจัดการเรียนการสอนแก่กลุ่มชนผู้พูดภาษานั้นๆ และประกาศว่า กลุ่มชนหนึ่งๆ มีสิทธิที่จะใช้ภาษาของตนในที่สาธารณะโดยเปิดเผย มีสิทธิที่จะพัฒนาภาษาของตนให้ดำรงอยู่ได้ และมีสิทธิที่จะเรียนรู้หนังสือผ่าน ‘ภาษาแม่’ ของตน