พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า แค่เริ่มต้นปีใหม่ 2566 กองทัพไทย ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ก็มีประเด็นมากมายที่ประชาชนต้องหัวเสีย และเบื่อหน่าย เพราะไม่สามารถเห็นความเปลี่ยนแปลงไปสู่ความเป็นกองทัพที่อยู่เคียงข้างประชาชนได้สักที
ไม่ว่าจะเป็นกรณีนายทหารเรือเมาแล้วกร่าง ที่นอกจากเรื่องพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมแล้ว สังคมยังตั้งคำถามถึง จำนวนพาหนะหรูต่างๆ ที่มีมูลค่าเกินกว่ารายได้ข้าราชการทหารแล้ว แต่ดูเหมือนหน่วยงานต้นสังกัด อย่างกองทัพเรือ จะไม่มีความระแคะระคายที่ต้องตรวจสอบที่มาที่ไปเลย
หรือในสถานการณ์โควิดที่ยังแพร่ระบาดสูงขึ้น ไม่เว้นแม้แต่ในค่ายทหาร เช่น ค่ายที่อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น ที่มีการติดเชื้อนับร้อย แต่กองทัพบก กลับยังคงเดินหน้าให้มีการฝึกภาคสนามของนักศึกษาวิชาทหาร (ร.ด.) ประจำปีการศึกษา 2564 ต่อไป ซึ่งไม่รู้ว่า กองทัพได้ประเมินหรือไม่ ว่าการนำเด็กนักเรียน ร.ด.ไปฝึกร่วมกัน นอนร่วมกัน กินร่วมกัน จะไม่นำไปสู่คลัสเตอร์ขนาดใหญ่ ที่ไม่ควรจะเสี่ยงให้เกิดขึ้น
"อีกเรื่องที่สร้างความเหนื่อยหน่ายให้ประชาชนอย่างมากคือ เกิดสถานการณ์ข้าวยากหมากแพงท่ามกลางเศรษฐกิจตกต่ำขนาดนี้ โครงการจัดหาเครื่องบินขับไล่ ทดแทน F-16 งบประมาณ 13,800ล้านบาท จำนวน 4 ลำ ก็ยังผ่าน มติ ครม. วาระลับ เมื่อวันที่ 11 ม.ค. จนได้ จะทำให้เกิดภาระงบประมาณ ในปี 2566 ที่ 2,760 ล้านบาท และ ในปี 67-69 อีกปีละประมาณ 3,680 ล้านบาท และเชื่อได้ว่า การจัดหาจะดำเนินต่อไปอีกจนได้ครบทั้งหมดที่ 12 ลำ เพราะโครงการนี้เป็นการแบ่งซื้อ 3 ระยะๆละ 4 ลำ ในปีงบประมาณต่อๆไป ดังนั้น สิ่งเรากำลังพูดถึงความจริงในโครงการนี้ก็คืองบประมาณที่จะต้องใช้ทั้งสิ้น ประมาณ 41,400 ล้านบาท"
พิจารณ์ กล่าวต่อไปว่า การจัดซื้ออาวุธดังกล่าวของ ครม.อยู่บนหลักที่ไม่สมเหตุสมผลกับสถานการณ์ที่ประเทศกำลังเผชิญ โดยหากย้อนไปเปรียบเทียบ 2 วิกฤติที่เราเคยผ่านมา ในวิกฤตต้มยำกุ้ง เรายังต้องลดงบกลาโหมลง 21% วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ลดงบกลาโหมลดลง 9.5%
นอกจากนั้น ปัจจุบันที่ประชาชนกำลังเผชิญ สถานการณ์วิกฤตโรคระบาด และเศรษฐกิจอยู่ ก็ต้องถามว่า งบด้านสาธารณสุข ด้านสวัสดิภาพ สวัสดิการของประชาชน งบเหล่านี้ได้รับการจัดสรรอย่างเหมาะสมและเพียงพอแล้วหรือยัง
"ภายใต้วิกฤติโรคระบาด วิกฤติเศรษฐกิจ ข้าวยากหมากแพง ครม. มีมติแบบนี้ออกมายังเห็นหัวของประชาชนอยู่หรือไม่ ยิ่งขณะนี้รัฐบาลเองกำลังเผชิญปัญหาการจัดเก็บรายได้ ดังนั้นการจัดสรรงบประมาณจะต้องจัดลำดับความสำคัญให้ดี คิดอยู่บนพื้นฐานที่ประชาชนได้ประโยชน์
"ในปีงบ 66 รัฐบาลตั้งกรอบวงเงินงบประมาณที่ 3.185ล้านบาท ซึ่งเราคาดการณ์ว่าจะไม่สามารถจัดเก็บรายได้ได้ตามเป้าและจะต้องกู้เงินเพื่อชดเชยขาดดุลงบประมาณอีกจำนวนมาก เพราะหากนำการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลปีงบ 63-64 มามอง จะเห็นว่าการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลพลาดเป้ามาแล้วสองปีติดต่อกัน
"ดังนั้น ในความเห็นของผม หากกองทัพยืนยันว่าจะขอซื้ออาวุธ ก็ต้องสามารถบริหารจัดการ ภายใต้กรอบงบประมาณของกระทรวงกลาโหมที่ต้องลดลงจากปี 65 อย่างน้อยอีก 10% ให้ได้ หาก ครม. ไม่ได้ตัดสินใจบนหลักการและเหตุผลลักษณะนี้ ก็คงจะกล่าวโทษการใช้จ่ายงบประมาณของกลาโหมไปที่ พล.อ.ประยุทธ์ เพียงคนเดียวไม่ได้เป็นความรับผิดชอบต่อบาปกรรมที่กระทำไว้กับประชาชนร่วมกันฐานสมรู้ร่วมคิดทั้งคณะ"
พิจารณ์ ทิ้งท้ายว่า อีกเรื่องหนึ่งที่ต้องพูดถึงด้วยในฐานะที่ติดตามงบก้อนนี้มานานคือ การที่กองทัพเรือยอมถอย ไม่เสนอซื้อเรือดำน้ำ ในปีงบ 66 นั้น คงต้องบอกว่าไม่ใช่เรื่องที่น่างยกย่อง หรือต้องขอบคุณใครทั้งนั้น เพราะถึงแม้ไม่ซื้อเรือดำน้ำ แต่สัดส่วนของงบกองทัพเรือหรืองบกลาโหม เมื่อเทียบกับภาพรวมของประเทศ ยังคงเท่าเดิมหรือไม่ได้ลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ จึงยังคงแปลความได้ว่า พลเอก ประยุทธ์ จัดงบประมาณเหมือนไม่มีวิกฤต และไม่ได้ลำดับความสำคัญในการใช้จ่ายงบประมาณเหมือนเดิม
"จากข่าว เหตุผลที่ถอยการซื้อเรือดำน้ำ ก็เพราะว่าโครงการนี้ถูกสังคมจับจ้อง หากเสนอเข้ามา อาจถูกสภาผู้แทนราษฎร ตัดลดงบประมาณ ซึ่งจะทำให้งบของกองทัพเรือลดลง เสียโอกาสในการใช้เงินก้อนนี้ จึงเห็นว่าควรตั้งงบประมาณไปที่โครงการอื่นดีกว่า พูดง่ายๆคือ เอาไปซื้ออย่างอื่นที่ไม่ใช่เรือดำน้ำดีกว่า เพราะน่าจะได้ซื้อ มากกว่าดันทุรังขอซื้อเรือดำน้ำ จึงแสดงให้เห็นว่า กองทัพเรือเองก็ไม่ได้มองที่ความจำเป็น ไม่ได้มีเจตนาที่จะลดงบประมาณ เพื่อให้เกิดเม็ดเงินมากขึ้นในการใช้จ่ายด้านอื่นที่เป็นประโยชน์กับประชาชน โดยเฉพาะงบที่เกี่ยวข้องกับสวัสดิการประชาชน ในช่วงวิกฤตนี้ถือว่าเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนมาก" พิจารณ์ ระบุ