นายทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) เปิดเผยว่า จากผลสำรวจความคิดเห็นภาคธุรกิจและนักลงทุน ในงานสัมมนาประจำปีของธนาคารฯ ใน 7 เรื่อง พบว่า นักธุรกิจและนักลงทุน ซึ่งเป็นลูกค้าของธนาคารที่ดำเนินกิจการธุรกิจขนาดใหญ่หรือเป็นธุรกิจข้ามชาติ (MNcs) มีมุมมองว่า ในอีก 6 เดือนข้างหน้าสถานการณ์เศรษฐกิจและธุรกิจจะยังไม่ดีขึ้น โดยร้อยละ 60 มองว่า ไม่ดี ร้อยละ 21 มองว่า ไม่แน่ใจ และร้อยละ 20 เท่านั้นที่มองว่าจะดีขึ้น
โดยความกังวลหลักมาจากสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน ซึ่งในจำนวนนี้ร้อยละ 50 ได้รับผลกระทบเชิงลบจากสถานการณ์ดังกล่าว อีกร้อยละ 30 ยังไม่ได้รับผลกระทบ แต่คาดว่าจะมีผลในเร็วๆ นี้ และมีเพียงร้อยละ 10 ที่ยังมองในแง่ดีหรือแม้จะยังไม่ได้รับผลกระทบก็ยังมีว่าจะมีผลเชิงบวก
อย่างไรก็ตาม นักธุรกิจและนักลงทุนยังเห็นเป็นส่วนใหญ่ว่า สิ่งที่จะทำให้เศรษฐกิจโลกเติบโตขึ้นในระยะ 1-3 ปีข้างหน้า คือ การมีทางออกในประเด็นเรื่องสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน รองลงมาคือ การลงทุนเทคโนโลยี 5G การเพิ่มมาตรการด้านการคลัง และการทำนโยบายการเงินเพิ่มเติม ตามลำดับ
"ตอนนี้นักธุรกิจและนักลงทุนส่วนใหญ่กังวลว่า สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับ จีนมีแนวโน้มจะรุนแรงขึ้น ปะทุมากขึ้น หลังจากต้นปีมีหลายสำนักพยากรณ์เศรษฐกิจประเมินก่อนหน้านี้ว่า ไทยจะได้ประโยชน์จากสงครามการค้ารอบนี้ ถึงเวลานี้ ผมเริ่มไม่แน่ใจกับสมมติฐานดังกล่าวแล้ว" นายทิม กล่าว
ดังนั้น การดูแลเศรษฐกิจภายในประเทศจึงสำคัญ และจากผลสำรวจที่ทำขึ้นก็ชี้ชัดว่า หากสงครามการค้ามีทางออกที่คลี่คลาย จะเป็นแรงกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญไปอีก 2-3 ปีข้างหน้า แต่หากยังไม่มีทางออก ก็ไม่เห็นปัจจัยหรือมาตรการอื่นที่จะช่วยผลักดันการเติบโตของเศรษฐกิจโลกได้
ขณะที่ มุมมองต่อนโยบายการเงิน (ดอกเบี้ย) ของไทย นักธุรกิจและนักลงทุนเกือบร้อยละ 80 มองว่า มีโอกาสที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเหลือร้อยละ 1.25 จากปัจจุบันอยู่ที่ระดับร้อยละ 1.50
ส่วนมุมมองของธนาคารฯ มองว่า มีโอกาสที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมวันที่ 7 พ.ย. นี้ ลงอีก ด้วยเหตุผลว่า ประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ที่ระดับร้อยละ 2.8-3.0 ไม่ได้ต่างกันมาก แต่ก็เป็นตัวเลขที่ชะลอตัวลงจากจีดีพี 2 ปีก่อนหน้า
ขณะที่ค่าเงินบาทยังแข็งค่า โดยตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน เงินบาทเทียบดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าแล้วร้อยละ 7 มากที่สุดในภูมิภาคและเดือน ต.ค. ก็แข็งค่ามากสุดเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้าน ซึ่งการที่เงินบาทแข็งค่า ในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวยิ่งกระทบภาคส่งออกและท่องเที่ยวของไทย ดังนั้น ธนาคารฯ จึงประเมินว่า ธปท. มีทางเลือกไม่มากที่จะไม่ลดดอกเบี้ยนโยบาย
อีกด้านหนึ่ง เมื่อพิจารณาจากสถานการณ์ดอกเบี้ยนโยบายของทั่วโลก ที่ผ่านมา ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้ลดดอกเบี้ยลงแล้ว 2 ครั้ง และคาดว่าในเดือน ธ.ค. นี้ น่าจะลดลงอีกครั้ง ส่วนธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ก็ลดลงมาแล้วอยู่ที่ติดลบร้อยละ 0.5 ซึ่งคาดว่า ปลายปีน่าจะลดลงอีก และเมื่อเดือนที่ผ่านมา ธนาคารกลางออสเตรเลียก็ลดดอกเบี้ยแล้วเช่นกัน
ขณะที่ เงินเฟ้อในประเทศไทยทั้งปี ยังต่ำกว่าร้อยละ 1 ตามกรอบที่ ธปท. กำหนดไว้ โดยในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา เงินเฟ้อไทยอยู่ที่ร้อยละ 0.8 ดังนั้นด้วยปัจจัยต่างๆ ที่กล่าวว่า ธนาคารฯ จึงประเมินว่า ธปท.จะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมรอบ พ.ย. นี้
ต.ค.-พ.ย. บาทแข็งต่อเนื่อง ปลายปีปรับฐานมาอยู่ที่ 31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
นักธุรกิจและนักลงทุนร้อยละ 60 บอกด้วยว่า เงินบาทที่แข็งค่ายังทำให้การบริหารจัดการความเสี่ยงจากการอัตราแลกเปลี่ยนในการทำธุรกิจยากขึ้น และทำให้สูญเสียส่วนแบ่งการตลาดของการส่งออก ขณะที่มุมมองของสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) ประเมินว่า เงินบาทที่แข็งค่ามากที่สุดในรอบ 6 ปีในปัจจุบันเป็นการแข็งค่าจากระดับ 32.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงต้นปี มาอยู่ที่ 30.40 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในปัจจุบัน (11 ต.ค. 2562)
อย่างไรก็ตาม มองว่าในระยะ 2 เดือนนี้ (ต.ค.-พ.ย.) เงินบาทยังมีแนวโน้มแข็งค่าต่อไปและน่าจะเคลื่อนไหวอยู่ที่ 30.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แต่ระยะยาวในช่วงปลายปีคาดว่า เงินบาทจะอ่อนตัวลงไป และอยู่ที่ระดับ 31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากที่ผ่านมาเงินบาทแข็งค่ามากเกินไปจนไม่สอดคล้องภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว และน่าจะมีการปรับฐานในช่วงปลายปีได้
นักลงทุนนักธุรกิจจับตา อภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย 2563
นักธุรกิจและนักลงทุนร้อยละ 43 ยังคาดว่า นโยบายการคลังจะสามารถเพิ่มโอกาสการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้ โดยนักลงทุนจะจับตาการประชุมสภาฯ ในวันที่ 17 ต.ค. นี้ ในเรื่องการอภิปราย ร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายปี 2563 ซึ่งตามกรอบเวลา คือเข้าสภาฯ วาระแรกวันที่ 17 ต.ค.และใช้เวลา 4 เดือนในวาระที่ 2-3 และน่าจะทำให้เบิกจ่ายงบประมาณ 2563 ได้ประมาณเดือน ก.พ. 2563
"ในเวลาที่ทั่วโลกลดดอกเบี้ยนโยบาย พร้อมทั้งประเทศไทย จากผลสำรวจชี้ว่า นักธุรกิจและนักลงทุนต่างอยากเห็นบทบาทนโยบายการคลังมากขึ้น ดังนั้นการรอความคืบหน้าของนโยบายการคลัง ผ่านพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย 2563 จึงเป็นสิ่งที่นักลงทุนรอคอยและถ้าหากมีอะไรที่ทำให้ พ.ร.บ. นี้สะดุดลง ก็จะทำให้เกิดความผิดหวังมากขึ้น แม้ว่า ในงบประมาณ 2563 จะมีงบลงทุนเพิ่มจากปีก่อนหน้าเพียงร้อยละ 1 ก็ตาม" นายทิมกล่าว
อย่างไรก็ตาม แม้งบประมาณ 2563 ไม่ผ่านตามกรอบเวลา ก็สามารถใช้งบประมาณปี 2562 ไปก่อนได้ แต่จะมีผลกระทบเกิดขึ้นกับการลงทุนในโครงการใหม่หรือโครงการขนาดใหญ่ที่ต้องชะลอออกไปอีก
ทั้งนี้ งบประมาณรายจ่าย ปี 2563 วงเงิน 3.2 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 7 ขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้นร้อยละ 4 ส่วนงบลงทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 1
"การมีงบลงทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 1 ก็ทำให้ตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อประเทศไทยจะเป็นสังคมสูงวัย การเติบโตของเศรษฐกิจในอนาคต บทบาทของภาคการบริโภคน่าจะน้อยลง แต่การลงทุนจะมีบทบาทเพิ่มขึ้น" นายทิม กล่าว
ทั้งนี้ ผลสำรวจดังกล่าวของธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) จัดทำขึ้นระหว่างการจัดสัมมนา Global Research Briefing ในกรุงเทพฯ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยสำรวจจากความเห็นของตัวแทนธุรกิจขนาดใหญ่ 100 ราย ซึ่งประกอบด้วย บริษัทข้ามชาติ (MNCs) ผู้จัดการกองทุนในประเทศ และบริษัทขนาดใหญ่ต่างๆ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :