ไม่พบผลการค้นหา
ศาลรัฐธรรมนูญวินัจฉัยปฏิรูปเท่ากับล้มล้าง, กลุ่มปกป้องสถาบันรวมตัวออกมาขับไล่แอมเนสตี้, กลุ่มคนสวมเสื้อสีเหลืองใช้ความรุนแรงกับประชาชนชูป้ายยกเลิก 112 ในวันรับเสด็จฯ ที่วงเวียนใหญ่ ฯลฯ หลายปรากฏการณ์เกิดขึ้นภายในปี 2564 คำถามสำคัญคือ อะไรทำให้กลุ่มพลังฝ่ายขวาเดินทางมาถึงจุดนี้ พวกเขาแตกต่างจากรอยัลลิสต์ในอดีตอย่างไร และคำถามสำคัญกว่านั้น การประกอบสร้างพระราชอำนาจนำในช่วงรัชสมัย ร.9 เกิดขึ้นได้อย่างไร

วอยซ์ชวน อาสา คำภา ผู้เขียนหนังสือ ‘กว่าจะครองอำนาจนำ’ นักวิชาการจากสถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักประวัติศาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับกลุ่มเครือข่ายสถาบันกษัตริย์ในสมัยรัชกาลที่ 9 พูดคุยถึงการประกอบสร้างพระราชอำนาจนำในห้วงเวลาหลายสิบปีของรัชกาลก่อน และมองกลุ่มพลังเคลื่อนไหวฝ่ายขวาในปัจจุบัน


Highlight
  • ยุคสมัยหนึ่ง กองทัพคือ senior partnership โดยเฉพาะหลังรัฐประหาร 2500 เป็นต้นมา พูดง่ายๆ ว่า ภายใต้ระบอบสฤษดิ์-ถนอม กองทัพคือ senior partnership ในเครือข่ายชนชั้นนำไทยทั้งหมด เหนือกว่าแม้กระทั่งเครือข่ายในหลวง
  • ฉันทามติฐานรากสำคัญ ก็คือ ฉันทามติว่าด้วยการไม่ควบรวมอำนาจ เหมือนกับว่า ถ้าคุณมีอำนาจ มันก็จะมีหลายกลุ่มทางการเมืองใช่ไหม แต่มันจะไม่มีกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่สามารถที่จะขยายอำนาจไปกินแดนของกลุ่มต่างๆ ภาษาของอาจารย์เกษียร เตชะพีระ ใช้คำว่า ‘แบ่งกันกินแบ่งกันใช้’
  • ช่วงหลัง 14 ตุลา กระแสฝ่ายซ้ายมันแรง คุณจำเป็นที่จะต้องพิสูจน์ตัวเองท่ามกลางกระแสฝ่ายซ้ายที่ถาโถม ฉะนั้นกระบวนการราชประชาสมาสัยที่ลงไปสู่ประชาชนจึงค่อนข้างเห็นได้ชัด เช่น การไปปฏิสัมพันธ์กับลูกเสือชาวบ้าน... อันนี้ผมคิดว่าเป็นราชประชาสมาสัยแบบเชิงรุก เข้าไปเหมือนกับช่วงชิงจิตใจมวลชน
  • ผมคิดว่าคนไทยจำนวนมาก ไปคุ้นชินกับภาพจำที่พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจนำมากๆ โดยลืมไปว่าภาวะเงื่อนไขที่ส่งเสริมให้พระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจนำมากๆ อาจจะขัดกับหลัก Constitutional monarchy คือหลักการ The King can do no wrong และที่ The King can do no wrong เพราะ The King can do nothing แต่คนไทยมีภาพจำว่ากษัตริย์ทำอะไรบางอย่างได้ The King can do something แถมยังชื่นชมด้วย อันนี้เป็นภาพจำที่สำคัญมาก ซึ่งมันทำให้พวกเขายอมรับข้อเรียกร้องการปฏิรูปที่เป็นการลดสถานะของสถาบันกษัตริย์ได้ยาก
  • กลุ่มพลังฝ่ายขวาในปัจจุบันจะพบว่ามันเล็กลง และในความที่เล็กลงก็มีแนวโน้มไปในทางสุดโต่งมากขึ้น เช่น เวลามีพสกนิกรไปเฝ้ารับเสด็จฯ เราก็จะเห็นว่ามันไม่เหมือนแต่ก่อน ในลักษณะที่มาเองไม่ใช่จัดตั้ง ข้อบ่งชี้อันหนึ่งก็อาจเป็นสิ่งที่เราพูดๆ กัน เช่น ปรากฏการณ์ไม่ยืนในโรงหนัง แสดงว่ากลุ่มที่ทัศนะไปทางขวาเริ่มหดแคบลง และอีกกลุ่มหนึ่งมันเริ่มปรากฏตัวมากขึ้น


ถาม: การประกอบสร้างพระราชอำนาจนำช่วงรัชกาลที่ 9 เกิดขึ้นได้อย่างไร ?

อาสา: ถ้าพูดถึงคำว่าพระราชอำนาจนำมันก็แสดงว่าเรากำลังโฟกัสไปที่ตัวบุคคล นั่นก็คือ ในหลวงรัชกาลที่ 9 หรือ Royal Hegemony ในหลวงรัชกาลที่ 9 ถูกพิจารณาในฐานะที่เป็นตัวเล่นเอกของสถาบันกษัตริย์

ผมศึกษาในสิ่งที่เรียกว่า ‘เครือข่ายในหลวง’ เพราะฉะนั้นพระราชอำนาจนำของในหลวงรัชกาลที่ 9 จึงไม่ได้เกิดขึ้นที่องค์พระมหากษัตริย์แต่เพียงอย่างเดียว แต่เกิดขึ้นโดยบุคคลในเครือข่ายซึ่งเป็นสิ่งที่มีส่วนช่วยในการสนับสนุนให้เกิดพระราชอำนาจนำ

นอกจากบทบาทของกลุ่มคนที่อยู่ในเครือข่ายแล้ว ผมคิดว่ามันก็ยังสัมพันธ์กับช่วงเวลาและจังหวะทางประวัติศาสตร์ที่มีการหนุนส่งให้พระราชอำนาจนำขึ้นสู่กระแสสูงด้วย เช่น เหตุการณ์ 14 ตุลา ถ้าเราลองเขาไปศึกษาดูจะพบว่าเป็นช่วงที่พระราชอำนาจนำเกิดขึ้นอย่างจริงๆ จังๆ และเห็นอย่างเป็นมรรคเป็นผล หรือกรณีของเหตุการณ์พฤษภา 35 ก็เช่นกัน เรียกได้ว่าเป็นจุดพีคของพระราชอำนาจนำ นอกเหนือไปจากงานศึกษาที่ผมพูดถึงก็อาจจะรวมถึงพระราชอำนาจนำช่วงหลังจากนั้น เช่น พระราชพิธีกาญจนาภิเษก ปี 2539 หรือวิกฤตเศรษฐกิจ 2540 ก็มีส่วนหนุนส่งให้เกิดพระราชอำนาจนำได้ เป็นต้น

ในหลวง 9 มิถุนายน 2549
  • พระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี เมื่อ 9 มิถุนายน 2549

ส่วนกลุ่มคนที่มีส่วนหนุนพระราชอำนาจนำประกอบไปด้วยกลุ่มไหนบ้าง งานศึกษาของผมให้ความสำคัญกับกลุ่มที่เรียกว่า เครือข่ายในหลวง ซึ่งประกอบด้วยตั้งแต่กลุ่มที่ใกล้ชิดที่สุดของพระเจ้าอยู่หัวเองอย่างเครือข่ายกลุ่มข้าราชบริพาร กลุ่มอื่นๆ ที่ปรากฏในงานศึกษาก็เช่น ‘กลุ่มข้าราชการสายวัง’ โดยปกติแล้วคนที่เป็นกลุ่มข้าราชการก็จะเป็นฟังก์ชั่นอยู่แล้วในระบบราชการ แต่คำว่า ข้าราชการสายวัง พวกเขาจะมีสัมพันธ์อย่างเป็นพิเศษกับสถาบันกษัตริย์ อาจเป็นด้วยเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์ ประสบการณ์ชาติตระกูลของพวกเขาที่ทำให้เขามีความใกล้ชิดกับสถาบันกษัตริย์ รวมไปถึงพระราชกรณียกิจการทรงงานบางอย่างของกษัตริย์ที่ทำให้พวกเขาต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับการทรงงานนั้น 

ข้าราชการสายวังที่ผมเห็นว่ามีส่วนประกอบสร้างพระราชอำนาจนำอย่างสำคัญก็คือ กระทรวงเกษตร แต่ถ้าเราไปดูจะพบว่าข้าราชการสายวังมีหลากหลาย ตั้งแต่ กลุ่มสิงห์ (ข้าราชการมหาดไทย), หมอ, ตชด., ทหาร รวมไปถึงตุลาการ กลุ่มเหล่านี้เป็นข้าราชการในระบบปกติ แต่ว่าบางคนเขาจะมีความใกล้ชิดกับสถาบันกษัตริย์เป็นพิเศษ โดยเราอาจจะพิจารณาจากเงื่อนไข เช่น การได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูลจุลจอมเกล้า เพราะนี่คือการได้รับพระราชทานตามอัธยาศัย ไม่ใช่ว่าคุณทำงานสูงขึ้นแล้วคุณจะได้ แต่มันเป็นสิ่งที่คุณต้องมีความสัมพันธ์อย่างเป็นพิเศษ ได้ถวายงานรับใช้ ซึ่งคนกลุ่มเหล่านี้เป็นกลุ่มข้าราชการสายวังที่มีส่วนในการหนุนสร้างพระราชอำนาจนำของในหลวง ร.9

นอกจากคนกลุ่มนี้ที่เป็นกลุ่มข้าราชการสายวังก็อาจจะมีเครือข่ายของชนชั้นนำไทยเต็มไปหมด เช่น ชนชั้นนำไทยในทางเศรษฐกิจ ก็คือ กลุ่มเจ้าสัวต่างๆ โดยปกติเจ้าสัวเขาเข้ากับทุกกลุ่มอยู่แล้ว แต่ในบางช่วงเวลาเราก็จะเห็นว่าการสนับสนุนการทรงงานในพระราชกรณียกิจบางเรื่องบางอย่างก็จะมีคนเหล่านี้เข้ามาสนับสนุนค่อนข้างมาก ผมเห็นว่าในกรณีของกลุ่มชนชั้นนำทางเศรษฐกิจที่มีเชื้อสายจีนจะค่อนข้างจะมีนัยสำคัญอย่างสังเกตได้ พวกเขาจะมาใกล้ชิดและเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมโปรเจ็กต์ของพระเจ้าอยู่หัว ตั้งแต่ช่วงปี 2500 เป็นต้นมา หรือในสมัยของสฤษดิ์เป็นต้นมา เพราะก่อนปี 2500 สัมพันธภาพระหว่างสถาบันกษัตริย์กับผู้นำรัฐบาลไม่ได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ฉะนั้น พวกเจ้าสัวเขาก็พยายามที่จะไม่เข้าหาวังอย่างตรงไปตรงมาชัดเจน เราจะเห็นว่าวัฒนธรรมการบริจาคเงินเพื่อสนับสนุนงานทางด้านราชประชาสมาสัยต่างๆ ซึ่งเป็นโปรเจคของสถาบันกษัตริย์ ต่อมามันก็จะมีวัฒนธรรมการบริจาคโดยเสด็จฯ พระราชกุศลซึ่งเกิดขึ้นหลังจากปี 2500 เป็นต้นมา

Network 2.jpg
  • เครือข่ายชนชั้นนำไทย

ในกลุ่มก้อนตัวแสดงที่อยู่ในชนชั้นนำไทย สมมติว่า A เป็นเครือข่ายในหลวง B อาจจะเป็นกองทัพ C อาจจะเป็นกลุ่มข้าราชการพลเรือน กลุ่ม D อาจจะเป็นเจ้าสัว หรือชนชั้นนำทางเศรษฐกิจ พวกเขาจะมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน เรียกได้ว่าเป็นพาร์ทเนอร์ชิพทางอำนาจซึ่งกันและกัน เกี่ยวข้องกัน แต่เนื่องจากในหลวงสัมพันธ์กับสิ่งที่เรียกว่า ‘พระราชอำนาจนำ’ ในตัวของพระองค์เอง เมื่อใดก็ตามที่แนวโน้มของพระราชอำนาจนำขึ้นสู่กระแสสูง คุณก็จะเห็นว่ากลุ่มอื่นๆ จะเข้ามาเกี่ยวข้องกับกลุ่ม A หรือกลุ่มเครือข่ายในหลวงมากขึ้น ซึ่งหมายถึงว่าเครือข่ายในหลวงก็จะได้มีโอกาสใช้คน ใช้ทรัพยากร ใช้กำลังเงินจากคนกลุ่มต่างๆ ที่อยู่ในสังคม เครือข่ายในหลวงอาจจะขยายตัวใหญ่ขึ้นและมีเพาเวอร์มากขึ้น แต่เมื่อใดก็ตามที่พระราชอำนาจนำอยู่ในกระแสลง เครือข่ายในหลวงจะเล็กเรียวลง 

แสดงว่าเรื่องพระราชอำนาจนำและการคลี่คลายการขยายตัวของเครือข่ายในหลวงมันก็เป็นสิ่งที่สัมพันธ์อยู่กับฉันทามติของชนชั้นนำไทยกลุ่มต่างๆ บางช่วงระยะเวลาถ้าเกิดเราลองไปศึกษาดูดีๆ เราจะพบว่าเครือข่ายในหลวงอาจจะเคยมีการขยายตัวมากขึ้น แต่บางช่วงหดตัวเรียวลง หลัง 14 ตุลา มีแนวโน้มจะขยายตัว แต่พอหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา ในช่วงสมัยของรัฐบาลของคุณธานินทร์ กรัยวิเชียร ซึ่งขวาจัดมากเกินไป ขวาจัดจนกระทั่งชนชั้นนำไทยกลุ่มต่างๆ พูดง่ายๆ ก็ ‘เท’ เหมือกับว่าปฏิเสธการ exercise power ของกลุ่มนี้ คุณธานินทร์เรียกว่าเป็นนายกฯ พระราชทานคนที่ 2 แต่สุดท้ายก็ถูกพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ รัฐประหารไป พูดง่ายๆ คือความเห็นชอบของชนชั้นนำไทยกลุ่มต่างๆ ช่วงนั้น พระราชอำนาจนำผมคิดว่าหดลง เพราะฉะนั้นพระราชอำนาจนำก็จะเป็นสิ่งที่มีขึ้นมีลง 

จนกระทั่งมาถึงเหตุการณ์พฤษภา 35 ซึ่งเป็นช่วงที่พระราชอำนาจนำขึ้นสู่กระแสสูงที่สุด เหมือนกับว่าสุดท้ายแล้วพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงคลี่คลายพระราชสถานะจากการเป็นประมุขของกลุ่มปกครอง กลายเป็นประมุขของชนชั้นปกครองทั้งหมด อันนี้เป็นแนวคิดอาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล และที่สุด Bhumibol consensus เกิดขึ้นจากเงื่อนไขนี้ คือชนชั้นนำไทยต่างยอมรับและสถาบันกษัตริย์ก็มีอำนาจนำที่หมายถึงทุกคนยินยอมพร้อมใจตามสิ่งที่พระองค์คิด สิ่งที่พระองค์เห็นโดยดุษณี เหมือนกับว่าไม่ต้องสั่งไม่ต้องบังคับ แต่พร้อมที่จะทำตามสิ่งที่พระองค์มีความเห็นชอบ

พฤษภา 35
  • เวลาประมาณ 21:30 น. ของวันพุธที่ 20 พ.ค. 2535 ในหลวงรัชกาลที่ 9 ให้สัญญา ธรรมศักดิ์ ประธานองคมนตรี และพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ องคมนตรีในขณะนั้น นำพลเอกสุจินดา คราประยูร นายกรัฐมนตรี และพลตรีจำลอง ศรีเมือง เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท

คุณอาจจะเคยฟัง สมัยก่อนจะมีพระราชดำรัสในวันที่ 4 ธันวาคมของทุกปี มันเคยเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ทุกคนต่างจดจ้องดูว่าในวันที่ 4 ธันวา ในหลวงรัชกาลที่ 9 ท่านจะทรงมีพระราชดำรัสถึงเรื่องอะไร เหมือนกับเป็นสปีชแห่งปี บางครั้งเมื่อพระองค์พูดถึงว่าเราน่าจะทำสิ่งโน้นสิ่งนี้ ภาคส่วนต่างๆ ในสังคมก็จะกระตือรือร้นทำตาม พูดง่ายๆ ว่าท่านทรงแนะนำมา มันเป็นการทำอย่างจริงใจด้วยนะ อยากจะทำตามสิ่งที่พระองค์พูด ซึ่งเป็นลักษณะอำนาจนำ คือ ไม่ต้องบังคับเขาก็ทำ เพราะฉะนั้นพระราชอำนาจนำใช้เวลานานพอสมควร มันจึงเกิดสิ่งที่เรียกว่า “กว่าจะครองอำนาจนำ”


ความสัมพันธ์ระหว่างเครือข่ายชนชั้นนำกับกองทัพในช่วงแรกเป็นอย่างไร ?

ยุคสมัยหนึ่ง กองทัพคือ senior partnership โดยเฉพาะหลังรัฐประหาร 2500 เป็นต้นมา พูดง่ายๆ ว่า ภายใต้ระบอบสฤษดิ์-ถนอม กองทัพคือ senior partnership ในเครือข่ายชนชั้นนำไทยทั้งหมด เหนือกว่าแม้กระทั่งเครือข่ายในหลวง แต่สถานการณ์นี้มันค่อยๆ เปลี่ยนไปหลัง 14 ตุลา เราจะพบว่าบทบาทของเครือข่ายในหลวงหลายตัวแสดงที่เคยเป็น informal network หรือเครือข่าย อย่างไม่เป็นทางการในเครือข่ายในหลวง กลายมาเป็น formal organization หรือสถาบันที่เป็นทางการ เช่น อาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ จากองคมนตรีกลายมาเป็นนายกฯ พระราชทาน หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ที่ใกล้ชิดอยู่กับวัง มาเป็นประธาน สนช. เพราะฉะนั้นช่วงนี้บทบาทกองทัพก็ค่อยๆ ลดลงไป

อันหนึ่งที่ผมเห็นคือ ผมคิดว่าคาแรกเตอร์ของกองทัพก็มีความเปลี่ยนแปลงไปด้วย จากยุคหนึ่งคุณเคยเป็น senior partnership อัตลักษณ์ของนายทหารใหญ่ๆ ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยก็คือเป็นพวกจอมพลทั้งนั้น แต่ผมว่าคาแรกเตอร์อย่างยุคจอมพลมันค่อยๆ คลายไป พอยุคที่สถาบันกษัตริย์มีพระราชอำนาจนำมากๆ เราจะเห็นว่ามันเกิดอัตลักษณ์ของทหารพระราชา สถานการณ์นี้เกิดมาพร้อมๆ กับที่กองทัพหมดบทบาทในเรื่องป้องกันความมั่นคงในเมื่อภัยคอมมิวนิสต์หมดไปแล้ว ทีนี้คุณจะเกาะกับอะไรเพื่อให้มีความชอบธรรมในสังคมการเมืองไทยต่อไป คุณก็ต้องมายึดโยงอยู่กับสถาบันกษัตริย์ที่กำลังจะมีพระราชอำนาจนำขึ้นสูง 

กลุ่มทหารพระราชาเป็นกลุ่มที่กำลังมาแทนที่ระบอบจอมพลในสมัยก่อน ก็คือ พวกทหารเสือราชินี นั่นก็คือกลุ่มประยุทธ์ จันทร์โอชา ประวิตร วงษ์สุวรรณ และอนุพงษ์ เผ่าจินดา ‘3 ป.’ เพราะฉะนั้นเขาก็ยึดโยงกันมาด้วยการคลี่คลายตัวเองด้วย กองทัพจากที่เคยเป็น senior partnership เป็นระบอบจอมพล ก็เปลี่ยนมาเป็นทหารที่คุณจะต้องยึดโยงกับวังเพื่อความชอบธรรม การทำรัฐประหาร แน่นอน ก็ต้องได้รับความชอบธรรมจากสถาบันกษัตริย์ ในการรับรู้ของเราในทางการเมือง มันเหมือนกับว่าภายใต้ Bhumibol consensus ชนชั้นนำไทยเหมือนกับเขารู้กันว่า รัฐประหารคือเงื่อนไขในการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้ โดยความเห็นชอบอะไรบางอย่าง แต่ในขณะที่ปัจจุบันมันขัด สมัยก่อนการเมืองเป็นเรื่องคนชนชั้นบน แต่สมัยนี้คุณทำรัฐประหารแล้วมีมวลชนเยอะแยะมากมายที่ไม่โอเคกับสิ่งนี้ มันไม่ได้จบแค่คนข้างบน Bhumibol consensus มันเลยสะดุดและไม่ทำงานในปัจจุบัน


ฉันทามติของเครือข่ายชนชั้นนำไทยเป็นอย่างไร ?

เครือข่ายของชนชั้นนำไทยนั้นใหญ่กว่าเครือข่ายในหลวง แสดงว่าเครือข่ายของชนชั้นนำไทยจะประกอบขึ้นมาเป็นหุ้นส่วนทางอำนาจกัน มันก็ต้องมีฉันทามติอะไรร่วมๆ กันหลายอย่าง ฉันทามติของชนชั้นนำไทยที่คิดและเห็นร่วมกันก็มีในช่วงสงครามเย็น เช่น คุณต้องไม่เป็นฝ่ายซ้าย ไม่ว่ายังไงก็ตามคุณจะต้องไม่เห็นดีเห็นงามกับลัทธิแบบฝ่ายซ้าย คุณเดินตามโลกเสรี คุณเป็นพันธมิตรกับอเมริกา หรือว่ารับการพัฒนาแบบเวิลด์แบงค์ นี่คือสิ่งที่พวกเขาเห็นชอบร่วมกัน แต่บางช่วงเราก็จะเห็นว่าสุดท้ายแล้วมันก็เป็นเรื่องที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างเช่น ช่วงหนึ่งชนชั้นนำไทยรู้สึกว่า 3 ประเทศในอินโดจีนเป็นคอมมิวนิสต์หมด เราสวิงไปหาจีนในช่วงสมัยรัฐบาลคึกฤทธิ์ อันนี้ก็แสดงว่าฉันทามติว่าด้วยการจะต้องอยู่กับข้างโลกเสรีอย่างเดียวก็เปลี่ยนแปลงได้ พอทศวรรษ 2520 เราจะเห็นว่าเราก็เข้าไปใกล้ชิดกับจีนมากขึ้น และชัดเจนมากในปัจจุบัน 

แต่ฉันทามติฐานรากสำคัญ ก็คือ ฉันทามติว่าด้วยการไม่ควบรวมอำนาจ เหมือนกับว่า ถ้าคุณมีอำนาจ มันก็จะมีหลายกลุ่มทางการเมืองใช่ไหม แต่มันจะไม่มีกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่สามารถที่จะขยายอำนาจไปกินแดนของกลุ่มต่างๆ ภาษาของอาจารย์เกษียร เตชะพีระ ใช้คำว่า ‘แบ่งกันกินแบ่งกันใช้’ ผมยกตัวอย่างให้เห็นง่ายๆ ว่า ยุคหนึ่งสมัยหนึ่งมันเป็นที่รับรู้กันว่าคนอย่างจอมพลประภาส จารุเสถียร แกคุมแดนในกระทรวงมหาดไทย และเป็นรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยมาเป็นสิบๆ ปี ในขณะที่จอมพลถนอม กิตติขจร ก็เป็นทั้งนายกรัฐมนตรีและเป็นรัฐมนตรีกลาโหม ประเสริฐ รุจิรวงศ์ ก็ดูแลกรมตำรวจมา เพราะฉะนั้นทุกคนมี circle หรืออำนาจของตัวเอง แต่มันจะไม่มีใครมาควบรวมอำนาจ แต่ใช้ดุลยภาพนี้อยู่ร่วมกันมาอย่างยาวนาน 

ถ้าเกิดภาวะที่มีการขยายอำนาจของตัวเองมากินอำนาจของคนอื่น ชนชั้นนำไทยกลุ่มต่างๆ ก็จะรู้สึกว่าคุณจะต้องเอาผู้ปกครองแบบนี้ลงจากอำนาจ ความจริงแล้วผมคิดว่า เหตุการณ์ 14 ตุลา มันคือกลุ่ม ถนอม ประภาส และณรงค์ กำลังไปควบรวมอำนาจกลุ่มอื่นๆ เช่นกำลังไปล้ำแดนฝ่ายตำรวจของคุณประเสริฐ รุจิรวงศ์ ความพยายามที่จะต่ออายุราชการตัวเองของจอมพลประภาส มันทำให้คนอย่างพลเอกกฤษณ์ สีวะรา     ซึ่งจ่อคิวจะมาเป็นผู้บัญชาการทหารบกอยู่ รู้สึกว่ามันทำให้เขาไม่อาจโต ความขัดแย้งที่เป็นมูลเหตุเบื้อหลังของชนชั้นนำไทยมันทำให้เกิดเหตุการณ์ 14 ตุลา ด้วย นอกจากเรื่องที่มีประชาชนเรียกร้องเป็นเงื่อนไขหลักอยู่แล้ว

หรือในกรณีของคุณธานินทร์ที่ขวาจัดมากเกินไป ขวาจนประเภทว่าปฏิเสธไม่ให้กลุ่มขวาต่างๆ ในสังคมไทยขึ้นมามีบทบาทได้เลย ต้องทำตามสิ่งที่เขาคิดอย่างเดียว ที่เรียกว่า ‘โปรเจ็กต์ประชาธิปไตย 12 ปี’ โปรเจ็กต์นี้ทำให้แม้แต่นักการเมืองฝ่ายขวาเองก็ตายไปด้วย เลยเหมือนกับไปควบรวมอำนาจของคนอื่นมากเกินไป หรือแม้แต่กลุ่มลูกเสือชาวบ้านเองก็ไม่ได้มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในสมัยรัฐบาลคุณธานินทร์ สุดท้ายแล้วคุณธานินทร์ที่แม้ว่าจะเป็นตัวแทนจากในวัง ก็ถูกชนชั้นนำไทยเอาลงจากอำนาจง่ายๆ เพราะว่าคุณไม่ฟังเสียงคนอื่น


กรณีของคุณทักษิณ ถูกนับว่าเป็นการละเมิดกฎการควบรวมอำนาจไหม ?

ก็อาจจะพูดอย่างนั้นก็ได้ถ้าใช้กรอบคิดในการมองว่าคุณทักษิณเองกำลังขยายอำนาจสร้างเครือข่ายใหม่ ที่คุณไปละเมิด Bhumibol consensus คือคุณทักษิณเองอาจจะควบรวมอำนาจทางด้านตำรวจแต่งตั้งนายทหารในยุคนั้นมันก็มีผล หรือไม่ก็ไปบายพาสกลุ่ม NGO แสดงให้เห็นว่ามันมีคนไม่พอใจคุณ แต่สุดท้ายแล้วชนชั้นนำไทยหลากหลายกลุ่มเอาคุณทักษิณลง


ความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกษัตริย์กับประชาชนเกิดขึ้นช่วงเวลาไหน ?

ในงานศึกษาผม กรอบคิดอันหนึ่งคือสิ่งที่เรียกว่า ‘ราชประชาสมาสัย’ หมายถึงพระมหากษัตริย์กับประชาชนพึ่งพาอาศัยกัน ทำไมจะต้องราชประชาสมาสัย คือ การเมืองไทยหลัง 2475 สถาบันกษัตริย์ถูกลดบทบาทลง อยู่ในช่วงกระแสลง หรือเผชิญหน้าอยู่ในภาวะลุ่มๆ ดอนๆ ทางการเมือง สุดท้ายแล้วผมคิดว่า พวกเขาในฐานะเครือข่ายที่มีบุคคลต่างๆ ที่อยู่ในสถาบัน พวกเขาพยายามแสวงหาจุดยืนทางการเมืองที่สถาบันกษัตริย์จะอยู่กับระบอบใหม่ได้อย่างอยู่รอดปลอดภัย ก่อนหน้านี้เราอาจจะพบว่ามันเคยมีความคิดเอาตัวเองไปสัมพันธ์อยู่กับขั้วอำนาจอื่นๆ เพื่อล้มขั้วอำนาจอื่น เช่นรัฐประหารปี 2490 สถาบันกษัตริย์อนุรักษนิยมจับมือกับคณะรัฐประหารโค่นฝ่ายปรีดี พนมยงค์ ลงมา เป็นต้น แต่ทีนี้เราก็จะพบว่า วิธีการร่วมมือแบบนี้มันไม่ได้ยั่งยืน เพราะพอปี 2491 จอมพล ป. ก็กลับมายึดอำนาจ 2494 จอมพล ป. เอารัฐธรรมนูญฉบับ 2475 กลับมาใช้ ทำให้ยกเลิกการเมืองระบบรัฐสภาไป นักการเมืองฝ่ายอนุรักษนิยมอย่างเสนีย์ ปราโมช จากพรรคประชาธิปัตย์ หมดบทบาททางการเมือง เรียกว่ารัฐประหารเงียบ ซึ่งเป็นรัฐประหารที่เกิดขึ้นก่อนที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 จะเสด็จฯ กลับประเทศไทยแค่ 3 วัน

ฉะนั้น คุณจะเห็นว่า สถาบันกษัตริย์จำเป็นที่จะต้องหาจุดยืนเพื่อที่ตัวเองจะอยู่รอดปลอดภัย จะทำอย่างไร คอนเซ็ปท์ราชประชาสมาสัย หรือกษัตริย์กับประชาชนต้องพึ่งพากัน มันเลยก็เกิดในช่วงระยะเวลาประมาณนี้ แล้วก็อย่างที่บอกราชประชาสมาสัยพูดง่ายๆ มันเป็นผลงานรวมหมู่ของปัญญาชนอนุรักษนิยมต่างๆ

ผมคิดว่าอาจจะย้อนไปได้ถึงสมัยกรมพระยาดำรงที่เคยเสนอแนวคิดมโนทัศน์พระปิยมหาราช กษัตริย์อันเป็นที่รักของประชาชน ยุคของพระองค์เจ้าธานีนิวัต งานเขียนที่สำคัญอย่าง The old siamese conception of the monarchy มันก็มีคอนเซ็ปท์เรื่องความใกล้ชิดระหว่างกษัตริย์กับประชาชนโดยเอากษัตริย์ในยุคสุโขทัยมาเป็นแม่แบบ หรือว่างานของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช อย่าง 4 แผ่นดิน ก็มีส่วนประกอบสร้างให้เห็นว่า สุดท้ายแล้วความผูกพันธ์ระหว่างสถาบันกษัตริย์กับประชาชนมันเกิดขึ้น และราชประชาสมาสัยก็เริ่มต้นขึ้น

ดังนั้น ด้านหนึ่งผมคิดว่าราชประชาสมาสัยเป็น Mass politic ของสถาบันกษัตริย์ ในการที่จะสู้กับกลุ่มอำนาจอื่นๆ ด้วยอยู่ในตัว และเพื่อสร้างความอยู่รอดปลอดภัยให้กับสถาบันกษัตริย์ 

ช่วงแรกๆ ผมคิดว่าราชประชาสมาสัยเกิดขึ้นในช่วงต้นรัชกาล เกิดขึ้นโดยพยายามปฏิสัมพันธ์กับคนในเมืองก่อนในช่วงประมาณ 10 ปีแรกของรัชการที่ 9 ยังเกิดขึ้นในเฉพาะกลุ่มคนในเมือง คุณอาจเคยได้ยินสถานีวิทยุ อส.สมัยก่อน เนื่องจากในหลวงรัชการที่ 9 ท่านถูกจำกัดบทบาทพระราชอำนาจตามหลักการ Constitutional monarchy ในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. ท่านทำอะไรมากไม่ได้ หรือไม่ได้เสด็จฯ ออกไปต่างจังหวัด การจัดรายการในวิทยุ อส.บางครั้งท่านถึงกับเป็นดีเจรับโทรศัพท์เอง นี่เป็นการปฏิสัมพันธ์กับประชาชนหรือการแต่งเพลงพรปีใหม่ เพื่อเป็นของขวัญให้กับประชาชน ในยุคแรกจะเป็นอย่างนี้

วิทยุ อ.ส.
  • เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ พระราชดำเนินกลับมา ประทับอยู่ในประเทศไทยเป็นการถาวร ในปี พ.ศ. 2495 พระองค์ได้ทรงตั้งสถานีวิทยุ อ.ส. ขึ้นที่พระราชวังสวนดุสิต ภาพจากเพจ: สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จังหวัดเลย

พอหลังปี 2500 เป็นต้นมา เราจะพบว่าราชประชาสมาสัยเริ่มไปแตะกับสังคมชนบทมากขึ้น ซึ่งเป็นโปรเจ็กต์ของทางมหาอำนาจสหรัฐอเมริกาด้วย ถ้าไปอ่านงานของอาจารย์ณัฐพล ใจจริง จะพบว่าสหรัฐอเมริกาเห็นแล้วว่าสถาบันกษัตริย์เป็นสัญลักษณ์ที่ดีในการหยิบชูมาใช้ในการต่อต้านคอมมิวนิสต์ เพราะฉะนั้นราชประชาสมาสัยในยุคตั้งแต่ 2500 เป็นต้นมา จึงเป็นการเข้าไปปฏิสัมพันธ์กับประชาชนในชนบท 

คุณจะเห็นว่ามันมีข่ายงานที่ขึ้นต้นว่า ‘ราชประชา’ อยู่เต็มไปหมดเลย เช่น มูลนิธิราชประชาสมาสัย, มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ มันคือ ‘ข่ายงานราชประชา’ ซึ่งเกิดขึ้นในยุคประมาณทศวรรษ 2500 หรือหน่วยงานอย่าง พอ.สว. มูลนิธิแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี อันนี้ก็อยู่ในข่ายงานของราชประชาสมาสัย

ทีนี้ราชประชาสมาสัยเองก็มีพลวัฒน์ในตัวของมัน พอหลัง 14 ตุลา ราชประชาสมาสัยเคลื่อนไปในลักษณะที่เป็น “ราชประชาสมาสัยเชิงรุก” หมายความว่า ช่วงหลัง 14 ตุลา กระแสฝ่ายซ้ายมันแรง คุณจำเป็นที่จะต้องพิสูจน์ตัวเองท่ามกลางกระแสฝ่ายซ้ายที่ถาโถม ฉะนั้นกระบวนการราชประชาสมาสัยที่ลงไปสู่ประชาชนจึงค่อนข้างเห็นได้ชัด เช่น การไปปฏิสัมพันธ์กับลูกเสือชาวบ้าน ในหนังสือของผมจะมีภาพเปิดอยู่บทหนึ่งที่ว่า ในหลวงรัชกาลที่ 9 สมเด็จพระพันปีหลวง กรมสมเด็จพระเทพฯ เหมือนกับลงไปรำวงกับลูกเสือชาวบ้าน อันนี้ผมคิดว่าเป็นราชประชาสมาสัยแบบเชิงรุก เข้าไปเหมือนกับช่วงชิงจิตใจมวลชน

ราชประชาสมาสัยเชิงลุก 2
  • ในหลวงรัชกาลที่ 9, สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พร้อมด้วยพระราชโอรสพระราชธิดา ร่วมรำวงกับเหล่าลูกเสือชาวบ้านอย่างสนิทสนมเป็นกันเอง เมื่อครั้งเสด็จฯ พระราชทานธงประจำรุ่นของลูกเสือชาวบ้าน ณ สนามโรงเรียนไกลกังวล อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เมื่อ 1 มิ.ย. 2518 (ภาพจากหนัง 'กว่าจะครองอำนาจนำ' หน้า 264

จนกระทั่งทศวรรษ 2520 ผมคิดว่าราชประชาสมาสัยก็เริ่มคลี่คลายตัวเอง ในยุคที่สถาบันกษัตริย์เริ่มมีอำนาจนำมากขึ้นแล้ว คอนเซ็ปท์แบบราชประชาสมาสัยหรือทัศนความคิดแบบสถาบันกับประชาชนจะต้องมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันอย่างสนิทสนมใกล้ชิดกัน มันเปลี่ยนเป็นอุดมการณ์แบบที่เรียกว่า ‘พ่อแห่งชาติ’ เช่นการเกิดงานวันพ่อครั้งแรกประมาณปี 2523 พอคุณเป็นพ่อแห่งชาติแล้ว ความเป็นพ่อมันสูงกว่าแล้ว มันไม่ได้ใกล้ชิดสัมพันธ์กัน แต่ว่าคุณมีลักษณะสูงกว่าและเป็นที่พึ่ง ยุคสมัยหนึ่งเพลงของเบิร์ด ธงไชยก็แต่งทำนองว่าพระเจ้าอยู่หัวเป็นพ่อของแผ่นดิน อันนี้ก็คือราชประชาสมาสัยที่สัมพันธ์กับมิติเรื่องพระราชอำนาจนำด้วย

ราชประชาสมาสัย ในช่วงทศวรรษ 2520 เป็นต้นมายังเป็นช่วงของการเริ่มสวิงกลับมาให้ความสำคัญกับกลุ่มคนในเขตเมืองมากขึ้น ก่อนหน้านี้อยู่ในชนบทก็เริ่มกลับมาในในเขตเมือง การกลับมาในเขตเมืองก็เริ่มมีภาพจำอย่างเช่นในหลวงเสด็จฯ ตรวจน้ำท่วมใหญ่ หรือในหลวงเสด็จฯ ที่บึงมักกะสันเพื่อจัดการดูแลปัญหาน้ำเสีย จะเห็นได้ว่าโปรเจ็กต์ราชประชาสมาสัยที่ทำให้เกิดความศรัทธาความใกล้ชิดกับประชาชนมีพัฒนาการไปตามระยะเวลาและสัมพันธ์กับกลุ่มคนแล้วแต่ช่วงระยะเวลา

ทั้งหมดตั้งแต่จากราชประชาสมาสัยในยุคต้นจนมาสู่การเป็นอุดมการณ์แบบพ่อแห่งชาติ มันคือ Mass politic ของสถาบันกษัตริย์ นอกจากเป็น Mass politic เพื่อสร้างความนิยมแล้ว ยังมีผลในแง่ที่เป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้ในการเมืองไทย ที่ต้องนำไปใช้ต่อสู้รองกับชนชั้นนำกลุ่มอื่นๆ ด้วย 

เราอาจจะตั้งข้อสังเกตได้ว่า เอาเข้าจริงแล้วพอมันเป็น Mass politic สิ่งนี้มันสอดคล้องกับหลักการ Constitutional monarchy ในทางสากลมากน้อยขนาดไหน แล้วคนไทยก็คุ้นชินกับภาพนี้ มันทำให้บางทีเราก็ลืมไปว่า บทบาทที่พระเจ้าอยู่หัวการทรงงานพระราชกรณียกิจบางอย่าง ที่ถูกมองอย่างไม่เป็นการเมือง จริงๆ แล้วมันเป็นการเมือง


ปัจจุบันนี้โมเดลราชประชาสมาสัยยังใช้ได้ผลอยู่ไหม ?

ผมว่าราชประชาสมาสัยจะใช้งานได้ดีก็ต่อเมื่อยังอยู่ในเงื่อนไขทางสังคมที่ต้องมีการพัฒนาเพื่อช่วงชิงจิตใจประชาชน ยุคหนึ่งสมัยหนึ่งเราจะรู้สึกว่า แนวคิดอุดมการณ์แบบราชประชาสมาสัยที่ขับเคลื่อนโดยเครือข่ายในหลวงดูก้าวหน้ามาก เช่นว่าหน่วยแพทย์อาสาฯ หรือ พอ.สว.คุณส่งหมอขึ้นเฮลิคอปเตอร์ไปตรวจประชาชนในชนบท ระดับนั้นเลย นี่เราไม่ได้พิจารณาในแง่ประสิทธิภาพ แต่ในแง่ของการประชาสัมพันธ์เชิงภาพลักษณ์ในแง่ความกระตือรือร้นลงไปสู่พื้นที่ชนบท ลงไปปฏิสัมพันธ์กับประชาชน ไปช่วยเหลือประชาชนเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต

แต่ปัจจุบันคอนเซ็ปท์แบบราชประชาสมาสัยเราอาจจะเห็นได้ตามข่าวพระราชสำนัก การแจกถุงยังชีพราชประชานุเคราะห์ อันนี้คือสิ่งที่ทำเมื่อ 50 ปี ที่แล้ว ไม่ได้เปลี่ยนเลย เพราะฉะนั้น ราชประชาสมาสัยมันเวิร์คในยุคที่สังคมยังต้องการการแข่งขันเพื่อช่วงชิงมวลชน เพื่อช่วงชิงการพัฒนา แต่ปัจจุบันนี้มันก็เหมือนกันเป็นเรื่องเล่า อาจจะช่วยแสดงให้เห็นว่าสถาบันกษัตริย์ยังทำงานในมิติเกื้อกูลอยู่ แต่ไม่ได้มีพลังมากเหมือนสมัยก่อน


รัชสมัยของรัชกาลที่ 9 มีลักษณะพิเศษอย่างไรบ้าง ?

ผมลองตั้งไว้ประมาณ 2 ประเด็น คือ ในยุครัชสมัยของในหลวงรัชการที่ 9 ไม่ว่าจะอย่างไร เราพอจะเห็นความพยายามที่จะไม่ให้ผิดพลาดในหลักการบางอย่าง ถ้ารู้สึกผิดไปหรือพลาดไปเราจะเห็นความพยายามที่จะชี้แจงโดยตัวของในหลวงรัชกาลที่ 9 เอง เพราะตลอดรัชสมัยอันยาวนานของในหลวงรัชกาลที่ 9 ท่านอยู่ในกรอบที่เรียกว่า ‘ฉันทามติเรื่องการไม่ควบรวมอำนาจของชนชั้นนำไทย’ ท่านเคยอยู่ในกรอบเงื่อนไขนี้มาก่อน เลยทำให้การทำอะไรหลายๆ อย่างของพระองค์ พูดง่ายๆ ว่า มีความระมัดระวังตัวอยู่พอสมควร ยกตัวอย่างเช่นตอนหลัง 14 ตุลา ตอนนั้นนอกจากกระแสประชาชนจะมีพลังมากแล้ว กระแสอำนาจนำของสถาบันกษัตริย์ก็ขึ้นสูงมากด้วย ตอนนั้นรัฐธรรมนูญฉบับ 2517 ออกมาและ สนช. ก็เขียนว่าให้ประธานองคมนตรีเป็นผู้รับสนองการแต่งตั้งวุฒิสภา พระเจ้าอยู่หัวท่านเห็นว่า อย่างนี้มันเหมือนกับเอาไฟมาลนท่าน เพราะในหลวงเองเป็นคนแต่งตั้งองคมนตรี เพราะฉะนั้นท่านของให้เปลี่ยน เป็นต้น 

ผมเคยอ่านเจอในพระราชดำรัส 4 ธันวาคม รู้สึกจะเป็นปี 2524 หลังเหตุการณ์เมษาฮาวาย ตอนนั้นอาจารย์ประภาศน์ อวยชัย เป็นผู้กล่าวถวายพระพรประมาณว่า พระเจ้าอยู่หัวทรงพระปรีชาสามารถทั้งในด้านการบริหาร ทั้งในด้านนิติบัญญัติ ทั้งในด้านตุลาการ เราจะพบว่าในหลวงรัชกาลที่ 9 ท่านรีบท้วงทันทีว่า ประมาณว่าพูดแบบนี้ทำให้ท่านหนักใจเพราะมันจะทำให้เข้าใจว่าทรงเข้าไปก้าวก่ายเรื่องพวกนี้ หรือว่าคุณอาจจะเคยได้ยินหรือรับรู้พระราชดำรัสของคนที่สนใจการเมืองในช่วงหลัง 14 ตุลา ที่ในหลวงท่านเคยพูดกับหม่อมราชวงศ์ทองน้อย ทองใหญ่ ว่า เหตุการณ์ 14 ตุลา สถาบันกษัตริย์จำเป็นที่จะต้องลงไปเพื่อช่วยจัดการภาวะสุญญกาศทางอำนาจ การเกิดขึ้นของนายกรัฐมนตรีพระราชทาน สัญญา ธรรมศักดิ์ หรือการเกิดขึ้นของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ แต่เมื่อจัดการภาวะสุญญากาศทางการเมืองเรียบร้อยแล้ว ก็ต้องรีบขึ้นไปอยู่เหนือการเมืองเหมือนเดิม

ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นว่า พระองค์ระมัดระวังอยู่พอสมควร ถ้าเกิดสถานการณ์ที่อาจจะเป็นที่ครหาได้ว่าเข้าไปควบรวมอำนาจหรือก้าวก่าย เราจะเห็นได้ว่าท่านก็วิ่งกลับไปที่หลักการ Constitutional monarchy และสิ่งนี้ค่อนข้างชัดในยุคที่ยังไม่ทรงมีอำนาจนำ แต่ถ้าเราดูในรัชสมัยปัจจุบัน ผมคิดว่ามุมมองหลักการแบบนี้มันเลือนไป 

อีกประเด็นหนึ่งก็คือ พระราชอำนาจนำ เป็นสิ่งที่เป็นลักษณะเฉพาะมากๆ ของรัชกาลที่แล้ว (ร.9) ผมใช้คำว่ามันเป็น ‘ปรากฎการณ์มหัศจรรย์ทางสังคมการเมืองไทย’ ที่เห็นภาพตั้งแต่ประมาณทศวรรษ 2530-2540 

"ประเด็นสำคัญ ผมคิดว่าคนไทยจำนวนมาก ไปคุ้นชินกับภาพจำที่พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจนำมากๆ โดยลืมไปว่าภาวะเงื่อนไขที่ส่งเสริมให้พระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจนำมากๆ อาจจะขัดกับหลัก Constitutional monarchy คือหลักการ The King can do no wrong และที่ The King can do no wrong เพราะ The King can do nothing แต่คนไทยมีภาพจำว่ากษัตริย์ทำอะไรบางอย่างได้ The King can do something แถมยังชื่นชมด้วย อันนี้เป็นภาพจำที่สำคัญมาก ซึ่งมันทำให้พวกเขายอมรับข้อเรียกร้องการปฏิรูปที่เป็นการลดสถานะของสถาบันกษัตริย์ได้ยาก"  

สถาบัน พระมหากษัตริย์ ในหลวง เสื้อเหลือง D95C0DC0F7.jpeg
  • กลุ่มปกป้องสถาบันเดินขบวนเฉลิมพระเกียรติไปยังคณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล เพื่อรับเสด็จฯ ในหลวง ร.10 เนื่องใน “วันมหิดล” เมื่อ 24 ก.ย. 2564


เครือข่ายชนชั้นนำไทยยังมีพลังตกทอดมาถึงรัชสมัยปัจจุบันไหม ?

เครือข่ายของชนชั้นนำไทยที่มีส่วนเสริมอำนาจนำของในหลวงรัชการที่ 9 จำนวนหนึ่งเขาก็ล้มหายตายจากไป คุณอาจจะเคยได้ยินข้อมูลในวิกิลีกส์ช่วงหนึ่งที่บอกว่า พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ขณะที่เป็นประธานองคมนตรี พลอากาศเอกสิทธิ์ เศวตศิลา ตอนนั้นเป็นองคมนตรี และคุณอานันท์ ปันยารชุน เหมือนกับไปคุยกับเอกอัครราชทูตของอเมริกา คนเหล่านี้มีความกังวลในช่วงระยะเวลาของสิ่งที่กำลังจะเปลี่ยนผ่านรัชกาล คนเหล่านี้คือกลุ่มเครือข่ายอำนาจเดิมของรัชกาลที่แล้ว แต่พวกเขาค่อยๆ ทยอยล้มหายตายจากไป หรืออย่างคุณอานันท์ ปันยารชุน ที่เป็นชนชั้นนำไทยที่เหมือนมีกรอบคิดแบบเสรีนิยมใหม่ แต่ทัศนะแบบคุณอานันท์ไม่ได้เข้ามาอยู่ในวงจรของกลุ่มอีลีทในปัจจุบัน อีลีทแบบประยุทธ์ จันทร์โอชา

เพราะฉะนั้นกลุ่มเดิมอาจไม่ได้มีบทบาทในการสนับสนุนอะไรมากนัก แต่เราก็จะเห็นกลุ่มใหม่ที่เรียกว่า ‘ระบอบประยุทธ์’ อันนี้มีงานของอาจารย์ประจักษ์ ก้องกีรติ กับอาจารย์วีระยุทธ กาญจนชูฉัตร ที่ศึกษาไว้อย่างน่าสนใจ มันแสดงให้เห็นว่าระบอบใหม่ที่เกิดขึ้นมา มันจะแทนที่ Bhumibol consensus ได้หรือเปล่า แต่คำถามที่ว่ามีส่วนเสริมพระราชอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ได้มากน้อยแค่ไหน เป็นเรื่องที่ยังไม่จบ สถานการณ์ยังเป็นเรื่องปัจจุบัน


ย้ายมาโฟกัสที่ประชาชนบ้าง มองกลุ่มพสกนิกรปัจจุบันอย่างไร แตกต่างจากเมื่อก่อนยังไง ?

ถ้าพิจารณากลุ่มพลังฝ่ายขวาในปัจจุบันจะพบว่ามันเล็กลง และในความที่เล็กลงก็มีแนวโน้มไปในทางสุดโต่งมากขึ้น ทำไมมองว่าเล็กลง เช่น เวลามีพสกนิกรไปเฝ้ารับเสด็จฯ เราก็จะเห็นว่ามันไม่เหมือนแต่ก่อน ในลักษณะที่มาเองไม่ใช่จัดตั้ง ข้อบ่งชี้อันหนึ่งก็อาจเป็นสิ่งที่เราพูดๆ กัน เช่น ปรากฏการณ์ไม่ยืนในโรงหนัง แสดงว่ากลุ่มที่ทัศนะไปทางขวาเริ่มหดแคบลง และอีกกลุ่มหนึ่งมันเริ่มปรากฏตัวมากขึ้น แต่ว่ามันก็มีอะไรหลายๆ อย่างที่แสดงให้เห็นว่าในกลุ่มที่อาจจะเล็กลง พวกเขาก็สุดโต่งมากขึ้น เช่น ถ้าไปอ่านความคิดความเห็นของพวกเขาจะเจอความเห็นประมาณว่า ถ้า 3 นิ้วต้องการจะเสนอให้ลดพระราชอำนาจ พวกเขาก็อยากจะเสนอให้ลดพระราชอำนาจในการพระราชทานอภัยโทษไปเลยเพื่อให้พวก 3 นิ้วติดคุกยาวๆ ความเห็นแบบนี้เป็นความเห็นเอาล่อเอาเถิด ซึ่งมันไม่ได้มีประโยชน์อะไร หรือบางทัศนะที่เคยอ่านเจอก็สุดโต่งมากๆ เช่น เสนอให้มีการเปิดเพลงสรรเสริญพระบารมีหลังจากที่หนังฉายไปแล้วครึ่งชั่วโมง และเปิดอีกครั้งอีกหนังจะจบสัก 10 นาที เราจะเจอความคิดแปลกๆ แบบนี้อยู่ในกลุ่มคนที่มีแนวคิดเอียงขวา

เสื้อเหลือง สถาบัน ในหลวง เฝ้ารับเสด็จ พระมหากษัตริย์ -4982-B03A-CB9424255743.jpeg
  • กลุ่มปกป้องสถาบันรับเสด็จฯ ในหลวง ร.10 เนื่องในวันมหิดล ที่โรงพยาบาลศิริราช เมื่อ 24 ก.ย. 2564

บ่อยครั้งเราก็จะพบว่าบทสนทนาจะจบประมาณว่า “ก็ที่นี่ประเทศไทย” เหมือนกับว่าคุณอ้างอิงลักษณะพิเศษอะไรบางอย่างโดยที่ไม่ได้พูดถึงเหตุผลของมันสักเท่าไหร่ ถ้าลองเปรียบเทียบกับกลุ่มฝ่ายขวาสมัยก่อน ฝ่ายขวาสมัยก่อนมีลักษณะที่ค่อนข้างหลากหลาย มีคุณภาพมากกว่า อย่างขวาอนุรักษนิยมแบบ คึกฤทธิ์ ปราโมช มีขวาจัดแบบคุณธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นต้น แต่ทั้งหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ และคุณธานินทร์ ก็เคยอยู่ในโปรเจ็กต์ราชประชาสมาสัยที่มีส่วนในการหนุนพระราชอำนาจนำของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาแล้ว แสดงว่าแม้เขาจะเป็นขวา แต่คนละเฉด ตอนที่คุณธานินทร์เป็นนายกฯ หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์วิพากษ์วิจารณ์คุณธานินทร์เยอะแยะมากมายเลย ฉะนั้นการที่คุณมีความหลากหลายและวิพากษ์วิจารณ์กันเอง สุดท้ายแล้วมันก็จะยกระดับความเป็นขวาของคุณเอง สมัยก่อนจะเป็นอย่างนี้

จำได้ว่าคุณคึกฤทธิ์พูดถึงแม่พลอยซึ่งเป็นตัวละครเอกในเรื่อง 4 แผ่นดินของคึกฤทธิ์เอง ประมาณว่า ถ้าเกิดแม่พลอยยังมีชีวิตอยู่จนถึงปัจจุบัน แม่พลอยก็คงจะลุกขึ้นมารำละครบ้าๆ บอๆ แบบลูกเสือชาวบ้าน แสดงให้เห็นว่าสำหรับคึกฤทธิ์ การเป็นขวาแบบลูกเสือชาวบ้านคือขวาสุดโต่ง ขวาบ้าๆ บอๆ นี่เขาวิจารณ์กันเอง

หรือสมัยก่อน เราจะพบว่า เรามีพวกทหารซึ่งเป็นปีกขวาปฏิรูปอย่าง พลเอกเกรียงศักดิ์ หรือขวาที่จงรักภักดีและประนีประนอมกับคนอื่นได้อย่างพลเอกเปรม หรือประวัติศาสตร์ยุคใกล้เข้ามาหน่อย เราอาจจะมีภาพคุณอานันท์ ปันยารชุน ซึ่งเป็นอนุรักษนิยม แต่เป็นอนุรักษนิยมที่อยู่บนฐานคิดของเสรีนิยมใหม่ การเป็นเสรีนิยมใหม่ก็ทำให้คุณเกี่ยวข้องกับอะไรได้หลายๆ อย่าง เช่น เรื่องหลักธรรมาภิบาล เรื่องการเพิ่มพลังให้กับภาคประชาสังคม แสดงให้เห็นว่าเป็นคนที่เราคุยกับเขาได้ แต่เปรียบเทียบกับขวาในยุคปัจจุบัน มันเหมือนคุณเดินไปสู่ความรุนแรงแต่เพียงอย่างเดียว ไม่น่าคุยด้วยอีกต่อไป คาแรกเตอร์ของความเป็นขวามันเรียวลงๆ 


อะไรที่ทำให้ขวาในปัจจุบันเล็กลงและสุดโต่งมากขึ้น ?

อาจจะเหมือนกับว่าอับจนหนทางหรือเปล่า ไม่แน่ใจ อันนี้ให้นึกเร็วๆ นึกไม่ออก


กรณีกลุ่มไทรักษา ประกาศสนับสนุนสถาบัน มีเนื้อหาสนับสนุนพระราชประชาสมาสัยของสถาบัน มันสะท้อนอะไรหรือเปล่า ?

อย่างที่ผมบอกไป เหมือนกับว่าคนไทยจำนวนมากคุ้นชินกับรัชสมัยที่ยาวนานของในหลวงรัชกาลที่ 9 บางอย่างในความคุ้นชินเขาอาจไม่รู้สึกว่าสิ่งนี้มันขัดกับ Constitutional monarchy หรือเปล่า แต่ว่าในความคุ้นชิน ด้านหนึ่งมันก็สะท้อนมุมมองของพวกเขาต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในรัชกาลปัจจุบันด้วยว่า มันไม่เหมือนกับก่อนหน้านี้ การเรียกร้องสิ่งที่เรียกว่าราชประชาสมาสัย ก็แสดงว่า เขาเห็นว่าก่อนหน้านี้มีอะไรบางอย่าง เลยเรียกร้องกรอบความคิดเหล่านั้น ซึ่งก็อาจจะทำการบ้านทางความคิดมาด้วยว่า ราชประชาสมาสัยคือกษัตริย์กับประชาชนพึ่งพาอาศัยกัน ถึงแม้จะเป็น Mass politics ของสถาบันกษัตริย์ก็ตาม แต่ในสมัยรัชกาลก่อนหน้านี้เป็นอย่างนี้ มันแสดงให้เห็นว่าการทำงานชุดความคิดอุดมการณ์ปฏิบัติการแบบนี้ทำให้สถาบันกษัตริย์อยู่รอดปลอดภัยมาได้ ผมจำได้ว่าในช่วงปลายปี 2563 เราเห็นสถาบันกษัตริย์ เราเห็นรัชกาลที่ 10 และพระราชวงศ์ทรงออกมาใกล้ชิดกับประชาชน แต่เป็นช่วงเวลาสั้นๆ ตอนนั้นมีบทความหรือข้อเขียนอะไรต่างๆ ประมาณว่านี่คือการกลับมาของราชประชาสมาสัยหรือเปล่า แต่สถานการณ์นี้ก็เงียบไปแล้ว

ไทรักษา ราชประชาสมาสัย
  • 1 ใน 10 ข้อสนับสนุนสถาบันกษัตริย์ของกลุ่ม 'ไทรักษา' ว่าด้วยเรื่องการสนับสนุน "ราชประชาสมาสัย"


คิดว่าพลังฝ่ายขวาจะสามารถพาสถาบันกษัตริย์ย้อนเวลากลับไปช่วงกระแสสูง หรือช่วงมีอำนาจนำได้อีกหรือไม่ ?

คงจะเป็นไปได้ยาก อย่างที่บอกว่าพระราชอำนาจนำเป็นปรากฏการณ์เฉพาะจริงๆ ของรัชกาลที่ 9 และผมใช้คำว่าเป็นปรากฏการณ์มหัศจรรย์ของสังคมการเมืองไทย ถ้ารัชกาลที่ 9 มีพระราชอำนาจนำสูง ในสมัยปัจจุบันเรายังไม่เห็นปรากฏการณ์นี้ในองค์พระมหากษัตริย์เอง เพราะจำเป็นที่จะต้องใช้ระยะเวลาในการพัฒนาสั่งสมมาอย่างยาวนาน รัชกาลที่ 9 ครองราชย์มาตั้ง 70 ปี 


ในขณะที่ฝ่ายอนุรักษนิยมเล็กลงและสุดโต่งขึ้นเรื่อยๆ ฝ่ายก้าวหน้าก็ต้องการความเปลี่ยนแปลงสูงขึ้น เรื่องความรุนแรงถือเป็นสิ่งน่ากังวลไหม ?

ประเด็นนี้ผมก็คิดคล้อยไปทางเดียวกันกับนักวิชาการหลายๆ ท่าน ก็คือมันคงจะรุนแรงมากขึ้น และการใช้อำนาจอย่างรุนแรง สุดท้ายมันก็เหมือนกับภาวะตอนนี้ที่เหมือนกับกาน้ำที่มันเดือดมากๆ แล้วมันไม่มีรูระบายออก

ผมมีข้อสังเกตอย่างเป็นการส่วนตัว ช่วงครึ่งหลังปี 2564 มีการใช้อำนาจที่รุนแรงมากอย่างเห็นได้ชัด จำได้ว่าเว็บไซต์ 101 เขาเคยทำโปรเจ็กต์ 1 ปี ข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ซึ่งเป็นการสัมภาษณ์นักกิจกรรมทางการเมือง สัมภาษณ์นักวิชาการ กำลังจะเผยแพร่เดือนสิงหาคม 2564 ซึ่งครบรอบ 1 ปี 10 ข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ตอนแรกยังมีชื่อของทนายอานนท์ นำภา อยู่ในโปรแกรม แต่ทนายอานนท์แกตัดสินใจไปมอบตัวก่อน และหลังจากไปมอบตัวครั้งนั้นก็ยังอยู่ในคุกจนถึงปัจจุบัน ยังไม่ได้ออกจากคุกอีกเลย และหลังจากนั้น รุ้ง ปนัสยาก็โดนคดีต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำ เราจะเห็นได้ว่ารัฐใช้อำนาจในการจัดการแกนนำอย่างไม่ปรานีปราศรัย การจัดการแกนนำยังเกิดขึ้นในท่ามกลางกระแสโควิดที่รัฐจัดการได้แย่มาก คุณสมบัติ บุญงามอนงค์ จัดคาร์ม็อบไม่รู้กี่ครั้ง แต่ยังก็ไล่เขาไม่ได้ มันเหมือนกับมีความทนมากๆ และถ้าดูในคาร์ม็อบ จะเห็นว่าสิ่งที่ผู้ชุมนุมติดป้ายอยู่ตามรถว่า ใจกลางของการวิพากษ์วิจารณ์คือเรื่องอะไร

อีกอย่างหนึ่ง ผมเห็นว่าแนวโน้มของพลังฝ่ายขวามันมากขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำตัดสิน ปฏิรูปเท่ากับล้มล้าง หรืออยู่ๆ สภาก็ล้มร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน กระแสไล่แอมเนสตี้ มันเดินไปสู่แนวทางแบบขวามากขึ้นเรื่อยๆ และจัดการอย่างมันส์มือ หนักมือ ฉะนั้นเรายังไม่เห็นบรรยากาศของการเจราพูดคุยอีกต่อไปแล้ว 

ม็อบ 17 พ.ย. เสื้อเหลืองปะทะคณะราษฎร
  • กลุ่มเสื้อเหลืองและกลุ่มราษฎร ปะทะกันที่บริเวณแยกเกียกกาย เมื่อ 17 พ.ย. 63

อาจารย์อรรถจักร สัตยานุรักษ์ เพิ่งให้สัมภาษณ์ไป ประมาณว่าสถานการณ์แบบนี้มันเหมือนกับการจุดชนวนระเบิดที่สายชนวนอาจจะยาว แต่สุดท้ายมันจะเดินไปสู่เหตุการณ์แตกหัก ล่าสุด ผมได้ดูในรายการมองโลกมองไทยของ Voice TV ที่ว่าไทยถูกจัดอันดับให้ขึ้นแท่นเป็นอันดับ 19 ของประเทศที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดสังหารหมู่โดยรัฐ ซึ่งอันดับนี้มันขึ้นมาอย่างรวดเร็วจากปีที่แล้วที่อยู่อันดับ 42 เราไปอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับพม่า เพราะฉะนั้นผมก็กังวลในเรื่องนี้ มันก็น่ากลัวจริงๆ ในสถานการณ์ที่รัฐกำลังใช้อำนาจอย่างหนักมือแบบนี้ 

"ความพยายามที่จะจัดการฝ่ายตรงข้ามอย่างหนักมือ มันเกิดขึ้นพร้อมๆ กับ ทัศนะของกลุ่มคนที่เป็นขวา ที่เขารู้สึกว่าตอนนี้เขากำลังได้เปรียบ แต่ผมว่าจริงๆ มันเป็นชัยชนะที่อันตรายเกินไป สุดท้ายแล้วความรู้สึกแบบนี้ถ้าย้อนกลับไปในช่วงก่อน 6 ตุลา มันก็จะนำมาสู่เหตุการณ์แบบ 6 ตุลา"


Countries at Risk for Mass Killing
  • อันดับประเทศที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดการสังหารหมู่ (Countries at Risk for Mass Killing) ประจำปี 2021-2022 ไทยอยู่ในอันดับที่ 19 จาก 162 ประเทศ ข้อมูลจาก Early Warning Project

________________________________________________________

อ่านงานที่เกี่ยวข้องได้ที่นี่:


กิตติ พันธภาค
Journalism is not a Crime.
12Article
11Video
0Blog