ไม่พบผลการค้นหา
คุยกับ ‘นัท’ จากกลุ่มไทรักษา กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ยืนยันจงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์ ผู้สร้างความฮือฮาบุกเดี่ยวชูป้ายปกป้องสถาบันฯ กลางม็อบราษฎร และปฏิญาณตนว่าจะไม่เรียกม็อบฝั่งตรงข้ามว่า "สามกีบ" ยืนยันต้องต่อสู้ด้วยชุดข้อมูลอย่างสันติวิธี และให้เกียรติกัน

ปัจจุบัน คนรุ่นใหม่จำนวนมากเริ่มหันมาตั้งคำถามกับบทบาทของสถาบันฯ มากขึ้น ไปจนถึงเรียกร้องให้มีการปฏิรูปดังปรากฏในการเคลื่อนไหวของกลุ่มราษฎร ทว่ายังคงมีคนรุ่นใหม่อีกส่วนหนึ่งเลือกที่จะจงรักและภักดีต่อสถาบันกษัตริย์ ‘นัท’ จากกลุ่มไทรักษา เป็นหนึ่งในนั้นและพยายามต่อสู้ด้วยชุดข้อมูลทางประวัติศาสตร์อย่างที่เขาเชื่อและเคยลุยเดี่ยวไปชูป้ายข้อความปกป้องสถาบันฯ กลางม็อบราษฎร อีกทั้งยังเป็นกลุ่มเดียวที่ปฏิญาณตนเองว่าจะไม่เรียกกลุ่มราษฎรว่า "สามกีบ" รวมถึงรณรงค์ให้ยกเลิกการสวมเสื้อเหลืองทำกิจกรรมชุมนุม

นัท เป็นใครมาจากไหน มีความคิดความอ่านอย่างไร เคลื่อนไหวในรูปแบบไหน อะไรทำให้เขายืนยันที่จะออกมาปกป้องสถาบันฯ และความฝันอันสูงสุดของเขาคืออะไร 'วอยซ์' ชวนทำความเข้าใจทัศนะของ 'นัท ไทรักษา' 


จากความฝัน 'ผู้นำทางศาสนา' สู่ 'ผู้นำคนรุ่นใหม่ปกป้องสถาบันฯ'

กิตติศักดิ์ หรือ นัท เติบโตมาในจังหวัดพิษณุโลก ก่อนเข้ามาเรียน ม.ปลาย และเข้าคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่กรุงเทพฯ ตอนเด็กๆ มีความฝันอยากเป็น 'ศิษยาภิบาล' หรือผู้นำทางศาสนาคริสต์ เนื่องจากเขาเป็นชาวคริสเตียน และเมื่อถามความเชื่อมโยงของการเป็นผู้นำทางศาสนากับการเคลื่อนไหวในปัจจุบัน เขาตอบว่า "ในพระคัมภีร์เองก็ระบุถึงการจงรักภักดีต่อกษัตริย์"

นัทเล่าต่อว่า เมื่อเขาห่างจากศาสนา ประกอบกับเริ่มกันมาสนใจอ่านประวัติศาสตร์และเรื่องสงครามโลกมากขึ้น ทำให้เขาตัดสินใจออกมาเคลื่อนไหวปกป้องสถาบันกษัตริย์อย่างจริงจัง โดยหนึ่งในหนังสือที่เขาอ่านแล้วชอบมากที่สุดคือ '70 นักสู้แห่งเกาะตะรุเตา' ซึ่งเป็นงานเขียนฝ่ายขวาที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์หลังช่วงเหตุการณ์กบฏบวรเดชปี 2476 ส่งผลให้เขามีมุมมองต่อคณะราษฎรว่าเป็น 'ผู้ร้าย' มากกว่าผู้นำการเปลี่ยนแปลงสู่ระบอบประชาธิปไตย 

70 นักสู้แห่งเกาะตะรุเตา มีต้นฉบับมาจาก "หนังสือเขียน" (คือหนังสือซึ่งทำขึ้นแทนหนังสือพิมพ์) ที่เขียนโดย จงกล ไกรฤกษ์ ผู้ต้องขังกบฏบวรเดช ซึ่งเขียนในช่วงที่อยู่ในเรือนจำบางขวาง ปี 2476-2481 ก่อนที่ ม.ร.ว.นิมิตรมงคล นวรัตน จะนำมาใช้ชื่อเป็น 'น้ำเงินแท้' เพื่อใช้เป็นตำราทางการเมืองแทนในเวลาต่อมา (ณัฐพล ใจจริง, ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ, หน้า 159)

ปีศาจคณะราษฎร

นัทเล่าให้ฟังว่า หลังจากการอ่านหนังสือ '70 นักสู้แห่งเกาะตะรุเตา' ทำให้เขามองกลุ่มคณะราษฎรว่าไม่ได้มีคุณูปการกับประเทศไทย และ “เป็นปีศาจที่เข้ามาทำลายโอกาสของประเทศที่ควรจะมีประชาธิปไตยที่ดีเหมือนประเทศอื่นๆ"

ในความเข้าใจของนัท คณะราษฎรเข้ามาเป็นผู้นำทางการเมืองโดยที่ไม่มีอุดมการณ์ ยกเว้นอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ส่วน 4 ทหารที่เหลือ (พระยาทรงสุรเดช, พระยาพหลพลพยุหเสนา, พระยาฤทธิอัคเนย์ และพระประศาสน์พิทยายุทธ) คือกลุ่มทหารที่เข้ามาเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองเท่านั้น เขายกตัวอย่างว่า รัฐประหาร 13 ครั้งของประเทศไทย เกิดขึ้นในช่วงคณะราษฎรมีอำนาจถึง 6 ครั้ง รวมถึงรากฐานของการคอรัปชั่นก็มาจากคณะราษฎร เขายกตัวอย่างกรณีเสาไฟกินรีในปัจจุบัน

"ถ้าบอกว่าการรัฐประหารทำให้ประเทศไม่พัฒนา คณะราษฎร คือต้นเหตุ" นัท กล่าว

ในขณะที่กลุ่มราษฎร 63 ชูตัวละครคณะราษฎรอย่าง ปรีดี พนมยงค์, พหลพลพยุหเสนา, หรือแม้แต่ จอมพล ป.ฯ นัทกลับมอง 'พระองค์เจ้าบวรเดช' เป็นตัวละครที่ควรค่าต่อการเชิดชู เนื่องจากเป็นทหารที่จงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และมีอุดมการณ์อย่างแท้จริง เขารู้สึกดีใจมากที่กองทัพบกเปลี่ยนชื่อห้องประชุมเป็น 'ห้องบวรเดช' เมื่อปี 2562 และหากในอนาคตเขามีกำลังพอที่จะเคลื่อนไหวทางการเมือง ก็จะนำพระองค์เจ้าบวรเดชมาชูเป็นตัวละครในประวัติศาสตร์ของฝั่งปกป้องสถาบันฯ เช่นเดียวกับกลุ่มราษฎร ที่ชูประวัติศาสตร์คณะราษฎร

บวรเดช-กบฎบวรเดช
  • กองทัพบก เปิดห้องประชุม 'บวรเดช' ที่พิพิธภัณฑ์กองทัพบก เมื่อ 9 ต.ค. 62


ต่อสู้ด้วยชุดข้อมูล ให้เกียรติกันและกัน

“การรักสถาบันฯ ไม่จำเป็นต้องไปด่า คุกคาม หรือทำร้ายใคร การปกป้องสถาบันฯ ทำได้มากกว่านั้นอีกก็คือ การให้ข้อมูลที่ถูกต้อง และเคลื่อนไหวอย่างสุภาพชน” นัท กล่าว

นัทกล่าวต่อว่า ในการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนที่ออกมาปกป้องสถาบันฯ ก็ไม่มีข้อมูลมากพอที่จะทำให้เข้าใจอะไรเพิ่มได้ มีเพียงแค่การชูป้ายข้อความ "ปกป้องสถาบันฯ" หรือ "Save 112" เท่านั้น ซึ่งไม่สามารถทำให้คนรุ่นใหม่ที่กำลังตั้งคำถามต่อสถาบันฯ เข้าใจเนื้อหาได้ ผิดกับฝั่งที่ต้องการปฏิรูปสถาบันฯ ที่มีชุดข้อมูลค่อนข้างเยอะในการชี้ถึงปัญหา ดังนั้นจึงเป็นเหตุผลที่เขาต้องออกมาเคลื่อนไหวด้วยข้อมูลที่เขาคิดว่าถูกต้อง ด้วยรูปแบบการต่อสู้ใหม่ๆ และบอกเล่าข้อเท็จจริงที่ทางกลุ่มราษฎรไม่ได้พูดถึง 

“เขาเป็นมิตรนะ เขาเห็นเสื้อไทรักษา เขาก็แค่มอง อย่างมากก็แค่ซุบซิบยิ้มกันเท่านั้น แต่ไม่มีมาบอกว่า ไอ้นี่ฝ่ายตรงข้าม ไม่มีนะ ซึ่งผมมองว่าเขาก็มีสปิริตอยู่ระดับหนึ่ง มันไม่ได้อันตรายอะไรเลย (บรรยากาศ)มันเอื้อต่อการเคลื่อนไหวของเราด้วยซ้ำ มันมีพาวเวอร์มากพอที่จะส่งข้อมูลของเราได้กว้างไกลขึ้น จากสภาพแวดล้อมที่เขาไม่กระทืบเรา” นัท กล่าวถึงความกังวลเรื่องความปลอดภัยในวันที่เข้าไปชูป้ายในม็อบราษฎร

ไทรักษา


เผชิญหน้าราษฎรครั้งแรก มิตรภาพในความรุนแรง

นัทยังเล่าด้วยว่า ครั้งหนึ่งเขาเคยมีประสบการณ์เผชิญหน้ากับกลุ่มราษฎรวันปะทะกันระหว่างเสื้อเหลืองกับกลุ่มราษฎรที่แยกเกียกกาย รัฐสภา ในช่วงที่เริ่มมีการเผชิญหน้ากันของทั้ง 2 ฝ่าย เขาอาสาเข้าไปเจรจากับการ์ดราษฎรในแนวหน้าเพื่อขอให้งดใช้ความรุนแรง เนื่องจากฝั่งเสื้อเหลืองเองก็มีคนแก่กับเด็ก ทั้งสองฝ่ายตกลงยุติความรุนแรงด้วยการสวมกอดกัน แต่หลังจากนั้นไม่นาน กลุ่มเสื้อเหลืองด้านหลังก็เริ่มปาก้อนหินไปยังกลุ่มคณะราษฎร เข้าใจว่าเกิดจากการที่ไม่สามารถสื่อสารผลการเจรจาได้ทัน และทันทีที่ก้อนหินลอยมาราวกับห่าฝน การ์ดราษฎร 2-3 คน รีบเอาตัวมาบังก้อนหินที่ลอยข้ามมาจากฝั่งกลุ่มคนเสื้อเหลืองเพื่อไม่ให้เขาได้รับบาดเจ็บ นั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้เขาเชื่อว่ากลุ่มราษฎรไม่ใช่คนที่เลวร้าย และเป็นที่มาของการตั้งปฏิญาณกลุ่มตัวเขาเองว่าจะไม่เรียกกลุ่มราษฎรว่า "สามกีบ" เพราะต้องการให้เกียรติความเป็นมนุษย์ของกลุ่มราษฎร เหมือนที่กลุ่มราษฎรให้เกียรติความเป็นมนุษย์กับเขา (เรื่องการไม่เรียกฝั่งตรงข้าม "สามกีบ" สร้างความไม่พอใจต่อกลุ่มรักสถาบันฯ อื่นๆ และส่งผลให้เขาถูกมองเป็นกลุ่มราษฎรที่ปลอมตัวมา)


นัท ไทรักษา
  • นาทีที่นัทและกลุ่มราษฎรสวมกอดขอเจรจา ก่อนเหตุบานปลายในวันปะทะกันสองฝั่ง เมื่อ 17 พ.ย. 63 ที่แยกเกียกกาย (นาทีวิดิโอที่ 2.34.00)


ต้องมีสถาบันฯ เพื่อความสงบของบ้านเมือง

นัท เชื่อโดยสนิทใจว่า หากไม่มีสถาบันฯ จะเกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง และส่งผลกระทบต่ออนาคตของคนรุ่นใหม่ อีกทั้งสถาบันฯ ยังมีบุญคุณต่อประชาชนมาตั้งแต่อดีต เช่น ทรงประดิษฐ์อักษรไทย ปกป้องแผ่นดินทำให้ประเทศเป็นปึกแผ่นมาได้จนปัจจุบัน 

“การมีเสาหลักอยู่ในประเทศ นำพามาซึ่งความสงบ ถ้าขาดเสาหลักไปแล้ว มันจะเกิดการจลาจล เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง และส่งผลต่ออนาคต ส่งผลต่อการเรียน การงาน ทุกอย่าง เพราะฉะนั้นเราถึงต้องดำรงสถาบันฯ ไว้” นัท ให้สัมภาษณ์กับ 'วอยซ์' ที่หอศิลป์ กรุงเทพฯ เมื่อ 14 มี.ค. 64

แม้นัทจะมองเรื่องการปฏิรูปสถาบันฯ ต่างออกไป แต่เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เขากลับเห็นตรงกันกับกลุ่มราษฎรว่า รัฐธรรมนูญ 2560 มีปัญหาที่ต้องแก้ไขเป็นรายประเด็น เช่นการมีอยู่ของ ส.ว.แต่งตั้ง แต่หากจะตั้ง สสร.แก้หมวด 1 หมวด 2 เขายังคงไม่เห็นด้วย ซึ่งในข้อเรียกร้อง 3 ข้อของราษฎร เขาเห็นด้วยเพียงข้อเดียวคือ การแก้รัฐธรรมนูญ ส่วนการปฏิรูปสถาบันนั้นไม่เห็นด้วย 100% ขณะที่ข้อเรียกร้องให้ประยุทธ์ออกไปนั้นถือเป็นเรื่องการเมืองที่เขาไม่ขอยุ่งเกี่ยว 

“หมวด 1 หมวด 2 ถูกแตะด้วยคนที่ตะโกนด่าสถาบันฯ อยู่กลางสนามหลวง มันไม่ได้ถูกแตะด้วยคนที่รักสถาบันฯ อย่างแท้จริง” นัท กล่าว


112 ต้องคงไว้ แต่ปรับใช้ให้เหมาะสม

นัทให้ความเห็นต่อว่า กฎหมายมาตรา 112 ยังคงจำเป็นต้องมีอยู่แต่ต้องบังคับใช้ให้เหมาะสม หรือบังคับใช้กับคนที่หมิ่นสถาบันฯ จริงๆ ไม่ใช่นำมาใช้เพื่อการกลั่นแกล้งทางการเมือง เพราะหากนำมาใช้เพื่อประโยชน์ทางการเมือง สุดท้ายมาตรา 112 ก็กลับมาทำร้ายสถาบันฯ เอง ด้วยน้ำมือของคนที่อ้างว่ารักสถาบันฯ เขายกตัวอย่างกรณีแม่ของ 'จ่านิว' ที่ถูกแจ้งความมาตรา 112 จากการพิมพ์ข้อความว่า "จ้า" ในช่องสนทนาของเฟซบุ๊ก ล่าสุด ศาลอาญาพิพากษายกฟ้อง โดยศาลเห็นว่าจำเลยไม่ได้มีเจตนาหมิ่นประมาทรัชทายาทฯ ตามฟ้อง

“112 มีมาเป็นร้อยปีแล้ว...เราไม่สนับสนุนให้แก้ และเราไม่สนับสนุนให้เพิ่มโทษด้วย อยากให้คงไว้ บังคับใช้เป็นเคสๆ ไป อย่างเคสที่ต้องบังคับใช้ด่วนคือพวกแกนนำ แต่กับเด็กที่โดนล่อลวงไป รัฐควรมองว่าเขาหมิ่นเพราะอะไร เพราะไอโอ หรือมีการจ้าง หรือเขาถูกล่อลวงและคิดไม่ตกผลึกจริงๆ แต่ถามว่าต้องจับไหม จับ แต่จับแล้วไม่เห็นด้วยที่จะลงโทษเต็มอัตรา เพียงจับเพื่อทำให้เขารู้ว่าเขาผิด เราไม่สนับสนุนให้ต้องฆ่ากัน ต้องเอากันให้ถึงที่สุด เราก็เป็นคนรุ่นใหม่เหมือนกัน เด็กๆ เขาเข้าใจผิด เขาไม่ได้มีเจตนา” นัท กล่าว


ข้อถกเถียงเรื่องการรับรองรัฐประหาร

ประเด็นเรื่องการรับรองรัฐประหาร หรือ การลงพระปรมาภิไธยที่กลุ่มราษฎรกล่าวถึงนั้น นัทมองว่าท่านทรงลงพระปรมาภิไธยเพียงแค่ 'รัฐธรรมนูญชั่วคราว' เท่านั้น มิใช่การเซ็นรับรองรัฐประหารอย่างที่กำลังถกเถียงกันในสังคม และการที่ท่านทรงลงพระปรมาภิไธยเนื่องจากไม่มีอำนาจปฏิเสธ หรือไม่มีอำนาจในทางบริหาร 

"ที่ท่านทำไปเพราะท่านไม่ต้องการแทรกแซงการเมือง การไม่เซ็นนั่นแหละคือการแทรกแซง"

นัทกล่าวต่อว่า แต่มีเหตุการณ์อยู่ครั้งหนึ่งที่ท่านทรงไม่ลงพระปรมาภิไธย คือ เหตุการณ์ 'กบฏยังเติร์ก' ช่วงปี 2524 เนื่องจากผู้ก่อการไม่ประสบความสำเร็จในการทำรัฐประหาร 

“ที่พูดกันมันก็ไม่ใช่การเซ็นรัฐประหาร แต่มันคือการเซ็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เซ็นรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่คณะรัฐประหารตั้งมา แล้วท่านไม่มีอำนาจปฏิเสธ เพราะว่ามันเป็นอำนาจบริหารที่ท่านไม่มีสิทธิเลือก” นัท เคยกล่าวไว้ที่หน้าหอศิลป์ (14 มี.ค. 64)


งบสถาบันฯ ไม่ได้มีปัญหา แต่ต้องใช้โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุด

นัทยังให้ความเห็นเรื่องงบประมาณที่เกี่ยวกับสถาบันฯ ด้วยว่า เมื่อก่อนก็เคยมีการพูดเรืองการปรับลดงบสถาบันฯ ในสภา แต่พูดภายใต้ความจงรักภักดี ไม่เหมือนปัจจุบัน ส่วนตัวมองว่าการพูดเรื่องงบสถาบันฯ ในปัจจุบันไม่ได้มีจากความบริสุทธิ์ใจต่อสถาบันกษัตริย์ เพียงแค่ต้องการสร้างแรงกระเพื่อมนอกสภาให้เกิดการชุมนุม เพื่อหาผลประโยชน์ทางการเมือง 

นัทยังกล่าวต่อว่า ตนเองก็ไม่เห็นด้วยในส่วนของซุ้มเฉลิมพระเกียรติที่นำไปติดตั้งในสถานที่ที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ ควรทำเป็นกิจลักษณะและเป็นประโยชน์มากที่สุด ไม่ใช่ทำเพื่อของบเล่นๆ ซึ่งในจุดนี้ก็ไม่สบายใจเช่นกัน

“งบสถาบันฯ ไม่ได้มีปัญหา แต่คนนำไปใช้ต้องทำให้ดี อย่าเอาไปทำในสิ่งที่ไร้สาระ หรือทำให้พระองค์ถูกวิจารณ์ งบเฉลิมพระเกียรติต้องมี แต่ต้องเหมาะสม เพราะพระมหากษัตริย์มีคุณูประการสร้างชาติบ้านเมืองมาให้เรา”  นัทกล่าว

“เรื่องทรัพย์สินก็เหมือนกัน เดิมทีทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 5 ท่านแยกเอาไว้แล้ว ทรัพย์สินแผ่นดินท่านแยกเอาไว้เป็นทรัพย์ที่เอาไว้บริหารราชการแผ่นดิน พอคณะราษฎรทรราชมายึดอำนาจ พี่น้องครับ มันเอากรมพระคลังข้างที่ไปกระทรวงการคลัง แล้วเอาทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ไปจำแนกแจกจ่ายกันเอง หาประโยชน์เข้าตัวเอง แบบนี้มันทำเพื่อประชาชนตรงไหน”  นัท เคยกล่าวปราศรัยตอบโต้การเรียกร้องยกเลิก พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สิน 2561 ที่หน้าหอศิลป์ (14 มี.ค.64)

นัท ไทรักษา


เสรีภาพทางความคิดภายใต้กรอบกฎหมาย

นัทยืนยันกับ 'วอยซ์'ว่า ไม่ว่าจะอย่างไรเขาก็ยังคงเชื่อและเห็นด้วยว่า มนุษย์จำเป็นต้องมีเสรีภาพทางความคิด แต่ต้องอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย 

“เรามีเสรีภาพที่จะกางแขน จะแกว่งไปทางไหนก็ได้ตราบใดที่ไม่ไปโดนคนอื่น ถ้าแขนของเรากางไปโดนคนอื่น คนอื่นเขาเจ็บ เราก็ต้องรีบชักกลับเข้ามา ซึ่งหมายถึงเสรีภาพมันก็ต้องอยู่ในกรอบของกฎหมายและศีลธรรมอันดี” นัทกล่าว

นัทได้ทิ้งท้ายความฝันอันสูงสุดของตัวเองไว้ว่า สักวันหนึ่งเขาจะต้องได้เข้าเฝ้ารับเสด็จในหลวงรัชกาลที่ 10 

"เราอยากจะไปรับเสด็จฯ แล้วให้ในหลวงจำเราได้ เป็นความฝันเล็กๆ แล้วมันเป็นความสุขอะเนอะ ถ้าในหลวงหันมาเห็นแล้ว..อ๋อ ขอบคุณไทรักษา"


กิตติ พันธภาค
Journalism is not a Crime.
12Article
11Video
0Blog