นายไอมัน หะเด็ง ประธานเครือข่ายผดุงธรรมเพื่อสันติ (JOP) ซึ่งเป็นเครือข่ายภาคประชาสังคมที่ให้การช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากคดีความมั่นคงในจังหวัดชายแดนใต้ ถูกเจ้าหน้าที่ของรัฐควบคุมตัวตั้งแต่วันที่ 23 ก.พ. โดยเขาถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับคดีระเบิดตลาดสดพิมลชัย อ.เมือง จ.ยะลา ซึ่งแม้จะยังไม่มีการตั้งข้อหา แต่นายไอมันไม่ได้รับอนุญาตให้ติดต่อกับทนายหรือครอบครัวจนถึงขณะนี้
แถลงการณ์ของเครือข่าย JOP ซึ่งเผยแพร่โดยสื่อท้องถิ่น วัรตานี เมื่อวันที่ 25 ก.พ. ระบุว่าเจ้าหน้าที่รัฐได้สนธิกำลังปิดล้อมกิจการของนายไอมันและภรรยาที่ ถ.วิฑูรอุทิศ 1 ตลาดเก่า อ.เมือง จ.ยะลา ช่วงบ่ายวันที่ 23 ก.พ. โดยมีการบุกตรวจค้นในอาคาร และไม่พบสิ่งใดผิดปกติ แต่เจ้าหน้าที่ระบุว่าจะควบคุมตัวนายไอมันไปยังฐานปฏิบัติการเฉพาะกิจ (ฉก.12) ตือเบาะ อ.เมือง จ.ยะลา พร้อมทั้งยึดโทรศัพท์ 3 เครื่อง ซึ่งเป็นของนายไอมันและภรรยา รวมถึงเสื้อผ้าบางส่วน แต่ไม่อนุญาตให้ภรรยาของนายไอมันติดตามไป หลังจากนั้นได้มีการส่งตัวนายไอมันไปที่ค่ายทหารพราน วังพญา อ.รามัน จ.ยะลา เพราะเจ้าหน้าที่ในค่ายฯ ยืนยันว่าต้องการตัว
ทั้งนี้ นายไอมันเป็นอดีตจำเลยในคดีความมั่นคง แต่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมจนกระทั่งศาลพิพากษายกฟ้องและได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำมานานหลายปีแล้ว
เครือข่าย JOP จึงได้เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติตัวภายใต้หลักการของกฎหมายและเคารพสิทธิมนุษยชน โดยไม่มีทัศนคติด้านลบต่ออดีตจำเลยในคดีความมั่นคง และหากพิสูจน์ทราบอย่างชัดเจนว่านายไอมันไม่เกี่ยวข้องกับเหตุระเบิดที่ถูกกล่าวอ้าง ก็ให้รีบดำเนินการปล่อยตัว เยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น และชี้แจงข้อเท็จจริงต่อสาธารณชนให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง
"การที่รัฐบาลไทยกำลังต่อสู้กับขบวนการแบ่งแยกดินแดน ไม่ใช่เงื่อนไขให้เจ้าหน้าที่รัฐหรือกองทัพใช้อำนาจคุมตัวผู้คนโดยไม่ให้ติดต่อกับทนายหรือครอบครัวได้ ...การควบคุมตัวโดยไร้การชี้แจงเช่นนี้ จะยิ่งทำให้ชาวบ้านหวาดระแวงเจ้าหน้าที่รัฐเพิ่มมากขึ้น" - แบรด อดัมส์ Human Rights Watch (Asia)
ขณะที่องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ฮิวแมนไรท์วอทช์ (HRW) ออกแถลงการณ์วันนี้ (27 ก.พ.) เรียกร้องให้ภาครัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจับกุมนายไอมันชี้แจงข้อเท็จจริง รวมถึงเปิดโอกาสให้เขาติดต่อกับทนายและครอบครัวตามสิทธิขั้นพื้นฐานที่ควรจะได้รับการคุ้มครอง
โดยนายแบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการ HRW ประจำเอเชีย ระบุว่า การควบคุมตัวบุคคลโดยไม่ให้ติดต่อกับญาติหรือทนาย อาจนำไปสู่การละเมิดสิทธิผู้ถูกควบคุม ทั้งยังก่อให้เกิดความหวาดระแวงในหมู่ประชาชนและเจ้าหน้าที่ในจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีเหตุการณ์ความขัดแย้งรุนแรงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเรื้อรัง และที่ผ่านมาเคยเกิดกรณีเจ้าหน้าที่เกี่ยวพันกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนและใช้อำนาจเกินกว่าเหตุแก่ผู้ที่ถูกควบคุมตัว
ส่วนเหตุการณ์ระเบิดตลาดสดซึ่งเจ้าหน้าที่กล่าวอ้างว่าเกี่ยวข้องกับนายไอมัน เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 22 ม.ค. มีผู้เสียชีวิต 3 คน และบาดเจ็บ 9 คน และหลังจากนั้นยังเหตุรุนแรงเกิดขึ้นอีกหลายครั้ง โดยวันที่ 11 ก.พ. มีการลอบวางระเบิด 4 จุดในพื้นที่ จ.ปัตตานี และในวันที่ 24 ก.พ. เกิดเหตุยิงฐานปฏิบัติการ เผาร้านค้า ยิงบ้านข้าราชการตำรวจ และเผายางรถยนต์มากกว่า 10 จุด ใน 4 จังหวัด ทั้งยะลา สงขลา ปัตตานี และนราธิวาส
เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นไล่เลี่ยกับที่อาบูฮาฟิซ อัลฮากิม โฆษกของกลุ่มมาราปาตานี หนึ่งในกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐที่เข้าร่วมกระบวนการพูดคุยสันติสุข/สันติภาพจังหวัดชายแดนใต้ กับคณะของพลเอกอักษรา เกิดผล ตัวแทนรัฐบาลไทย เผยแพร่รายละเอียดการเจรจาระหว่างผู้เกี่ยวข้องครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 7 ก.พ. ซึ่งจัดขึ้นที่มาเลเซีย โดยระบุว่าที่ประชุมมีข้อยุติร่วมกันว่าเห็นชอบในหลักการที่จะกำหนดเขตพื้นที่ปลอดภัย หรือ Safety Zone หลังจากมีการเสนอประเด็นดังกล่าวและหารือกันมาแล้วหลายครั้ง
ขณะที่พลเอกอักษรา เกิดผล เปิดเผยกับสื่อหลายสำนักว่า ขั้นตอนต่อไปของการพูดคุยจะเป็นการหารือจัดตั้งเซฟเฮาส์เพื่อเป็นศูนย์ประสานงานให้ทุกภาคส่วนร่วมเสนอข้อคิดเห็นและดำเนินการเรื่องการรักษาความปลอดภัย โดยอาจจัดวงพูดคุยอีกประมาณ 3 ครั้งก่อนจะสรุปพื้นที่นำร่องที่จะทำเป็นพื้นที่ปลอดภัย
ด้านเว็บไซต์นิกเกอิ เอเชี่ยน รีวิว รายงานด้วยว่า การพูดคุยสันติสุข/สันติภาพจังหวัดชายแดนใต้ ถูกโจมตีทั้งจากคนในพื้นที่ นักวิชาการ และเจ้าหน้าที่ระดับสูงในรัฐบาล ซึ่งมองว่าการพูดคุยกับกลุ่มมาราปาตานีไม่ได้ช่วยยุติหรือป้องกันความรุนแรงได้จริง เพราะกลุ่มบีอาร์เอ็นซึ่งเป็นกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ และเป็นกลุ่มใหญ่ที่เคลื่อนไหวในพื้นที่ชายแดนใต้ มีท่าทีไม่เห็นด้วยกับการพูดคุยดังกล่าว โดยกลุ่มบีอาร์เอ็นต้องการให้รัฐบาลอินโดนีเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการเจรจามากกว่ามาเลเซีย
อ่านเพิ่มเติม: