พรรคเอเคพีของประธานาธิบดีเออร์โดกัน เห็นพ้องตรงกันกับพรรคฝ่ายค้านในประเด็นการรับรองสิทธิของผู้หญิงในการสวมผ้าคลุม ในขณะที่การเลือกตั้งประธานาธิบดี และสมาชิกสภากำลังจะมีขึ้นในเดือน มิ.ย. ปีหน้า
ทั้งนี้ ผลการสำรวจอื่นๆ พบว่า มีชาวตุรกีเพียงเล็กน้อยเท่านั้นที่มองว่าประเด็นผ้าคลุมผมเป็นประเด็นสำคัญ โดยที่ผู้วิพากษ์วิจารณ์และฝ่ายค้านกล่าวว่า เป้าหมายสำคัญของการลงประชามติ คือ กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศมากกว่า
ครั้งหนึ่งประเด็นผ้าคลุมศีรษะเคยเป็นปัญหา ที่ทำให้เกิดการโต้เถียงกันอย่างรุนแรงในตุรกี ซึ่งเป็นประเทศมุสลิมที่มีความเป็นฆราวาส โดยชนชั้นปกครองสายฆราวาสนิยมมีความเห็นว่าผ้าคลุมศีรษะเป็นลัญลักษณ์ของความคิดอิสลามสุดโต่ง อย่างไรก็ตาม การถกเถียงในประเด็นนี้ได้ลดน้อยลงแล้ว ภายใต้การปฏิรูปโดยพรรคเอเคพี ซึ่งมีแนวคิดสนับสนุนอิสลามที่อยู่ในอำนาจมาแล้ว 20 ปี
อย่างไรก็ตาม พรรคซีเอชพี ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านและที่เคยมีจุดยืนต่อต้านการสวมผ้าคลุมศีรษะในสถานที่ราชการ ได้นำประเด็นดังกล่าวกลับมาพูดคุยอีกครั้ง แต่ในครั้งนี้ ซีเอชพีมีการยื่นข้อเสนอในการบัญญัติสิทธิในการแต่งกาย เพื่อเรียกการสนับสนุนจากผู้เห็นด้วย
เพื่อตอบโต้การเคลื่อนไหวของพรรคซีเอชพี เออร์โดกันได้ยื่นข้อเสนอในการปฏิรูปรัฐธรรมนูญให้มีการสร้างมาตรการในการปกป้องสถาบันครอบครัวจากสิ่งที่เขาเรียกว่าเป็น “กระแสที่เสื่อมทราม” ซึ่งดูเหมือนจะพุ่งเป้าไปที่กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ
เออร์โดกันกล่าวว่าประชามติดังกล่าวอาจเกิดขึ้นได้ หากร่างกฎหมายไม่ได้รับการสนับสนุนจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอย่างน้อย 360 คนจาก 600 ที่นั่ง ทั้งนี้ พรรคเอเคพีและพันธมิตรมีที่นั่งในสภาอยู่ 334 ที่นั่ง
ในวันพุธที่ผ่านมา (2 พ.ย.) เออร์โดกันได้จัดการประชุมร่วมกับพรรคฝ่ายค้าน 3 พรรค โดยพรรคซีเอชพี ซึ่งเป็นพรรคที่ใหญ่ที่สุด กล่าวว่า พวกตนจะไม่สนับสนุนการแก้ไขกฎหมายที่เสนอโดยพรรคเอเคพี
กระแสการโต้เถียงกันในประเด็นผ้าคลุมศีรษะของสตรีครั้งล่าสุดในตุรกี ถูกจุดประกายโดยการประท้วงในอิหร่านที่ซึ่งมีเหตุการณ์ผู้หญิงเสียชีวิต จากการทำร้ายร่างกายโดยตำรวจเพียงเพราะเธอไม่สวมผ้าคลุมศีรษะ
ที่มา: