ไม่พบผลการค้นหา
เจ้าแม่ร้านโชว์ห่วยกำลังบ่นอุบ "มันบ้า" หลังเสียงส่วนใหญ่ในบอร์ด กขค. อนุญาตให้ซีพีควบรวมกิจการกับเทสโก้ โดยไม่เห็นว่าเป็นการผูกขาด

การควบรวมกิจการระหว่าง 2 ยักษ์ใหญ่ค้าปลีก ซีพีฯ และเทสโก้ฯ สำเร็จแล้ว ภายหลังคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า หรือบอร์ด กขค. เสียงข้างมากมีมติ 4:3 เสียง อนุญาตให้ ซี.พี. รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด เข้าควบรวมกิจการกับ เทสโก้ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด อย่างมีเงื่อนไข

บอร์ด กขค.ให้ความเห็นว่าการรวมธุรกิจดังกล่าวทำให้ ซีพี "มีอำนาจเหนือตลาด" แต่ "ไม่เป็นการผูกขาด" แม้อาจส่งผลให้การแข่งขันลดลงอย่างมีนัยสำคัญแต่ "ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจอย่างร้ายแรง"

เสียงส่วนใหญ่ของ กขค.คิดอย่างนั้น....คำถามก็คือ “บอร์ดโชว์ห่วย” หรือพวกแม่ค้า-พ่อขายรายย่อย เขาคิดกันอย่างไร ?


ไม่ผูกขาดก็บ้าแล้ว - ผู้ใหญ่รังเเกเด็ก

“อำนาจเหนือตลาดเเต่ไม่ผูกขาด มันบ้าไปเเล้ว” เจ๊ติ๋ม - ธนวรรณ รัตนสุข แห่งตลาดมิ่งขวัญ (ถนนสุทธิสารวินิจฉัย) บอกเสียงดังฟังชัดถึงคำอธิบายของบอร์ด กขค. 

เธอระบุว่ากลุ่มซีพีเป็นผู้ผลิตสินค้าสำคัญหลายประเภท ตั้งแต่ระดับต้นน้ำถึงปลายน้ำ มีธุรกิจทั้งค้าส่งและค้าปลีกทุกขนาด การควบรวมกับยักษ์ใหญ่ในวงการเดียวกันอย่างเทสโก้ ไม่เรียกว่าผูกขาดแล้วจะเรียกว่าอะไร 

ดีลที่เกิดขึ้น เจ้าของร้านโชว์ห่วยมากประสบการณ์วัย 57 ปี “ไม่โอเค” เธอบอก เป็นการเอาเปรียบผู้ค้ารายย่อย และเข้าข่าย “ปลาใหญ่กินปลาเล็ก ผู้ใหญ่รังเเกเด็ก”

คณะโชว์ห่วย

เจ๊ติ๋มคาดว่าสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนี้ ซีพีจะมีโอกาสกำหนดทิศทางตลาด พัฒนาโปรโมชันลดแลก แจกแถม นำเสนอสินค้า การผลิตหรือลดระดับการกระจายเพื่อผลประโยชน์ในเครือ ขณะที่ร้านโชว์ห่วยทำได้แค่เพ้อฝันถึงการตลาดเชิงรุกระดับนั้น ด้านผู้บริโภคก็จะวิ่งเข้าหาสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับตัวเอง 

“มันบ้า พูดไปได้ยังไง (ไม่ได้ผูกขาดเเต่มีอำนาจเหนือตลาด) มีเเต่คนบ้าเขาคุยกันแบบนั้นอะ” เธอย้ำ

ทั้งนี้ผลการศึกษาของคณะอนุกรรมการพิจารณาคำขออนุญาตรวมธุรกิจระหว่าง ซีพีฯ และเทสโก้ฯ พบว่า ตลาดประเภทร้านค้าปลีกขนาดเล็ก เซเว่น-อีเลฟเว่น มีส่วนแบ่งตลาดสูงสุด ประมาณร้อยละ 75 อันดับสอง คือ เทสโก้ฯ เอ็กเพรส มีส่วนแบ่งตลาดประมาณร้อยละ 10

พูดง่ายๆ ว่า เซเว่น-อีเลฟเว่น เป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาดก่อนการควบรวมธุรกิจ 


ผลักโชว์ห่วยทำผิดกฎหมาย

นอกเหนือจากความรู้สึกไม่ยุติธรรมและถ่างกว้างความเหลื่อมล้ำ ยังมีผลให้เจ๊ติ๋มและพรรคพวกต้องเลือกทำในสิ่งที่ผิดกฎหมาย 

“เหมือนผลักให้เราผิดกฎหมาย พวกเขาขายเหล้าเบียร์ก็ต้องขายเป็นเวลา ซึ่งเราไม่ต้อง ลักลอบขายเลย ขาย 24 ชั่วโมง ตำรวจจับเหรอ อ้าวไปข้างหลังร้าน เหล้าเป๊กเขามีไหม ไม่มี บุหรี่สองมวนเขาขายไหม ไม่ขาย ข้าวตักเป็นกิโล เขาทำไหม ไม่ทำ” เธอขยายความ

“เหล้าขายเป็นขวด เราขายเป็นเป๊กเทให้มันกินไปเลย เป๊กละ 10 บาท หรือใส่ขวดกระทิงเเดงเดินให้ลึ่มเลย” 

“เราอยู่ได้เพราะผิดกฎหมาย ถ้าอยู่ภายใต้กฎหมายจริงๆ เราอยู่ไม่ได้ คุณนั่นเเหละเป็นคนทำให้เราผิดกฎหมาย” 

บุหรี่

การขายในปริมาณน้อย เปิดตลอด 24 ชั่วโมง บริการส่งฟรี รวมถึงให้โอกาสลูกค้าได้ผ่อนชำระและติดหนี้ได้ กลายเป็นจุดแข็งที่นำไปสู่ความอยู่รอดของโชว์ห่วย 

“พวกกลุ่มคนงานก่อสร้าง เราเข้าไปคุยกับหัวหน้างานเขาเลย ถ้าหัวหน้าการันตี คนนี้นิสัยดี ให้มันติดไปเหอะ ก็ทำข้อตกลงกัน ถึงวันเงินเดือนออกหักบัญชีมาให้ แม่ค้าข้าวแกงร้านต่างๆ บางคนก็มาเซ็นตอนเช้า เย็นขายของได้ก็มาจ่าย หมุนเวียนกันไป เช้าไปเย็นมา อีกอย่างเราบริการส่งทุกซอกทุกมุม ข้าวกระสอบเดียวเราก็ส่ง ไม่มีขั้นต่ำ”

การรักษาความสัมพันธ์กับลูกค้าประจำ พร้อมหาลูกค้าใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานที่เข้ามาอยู่อาศัยในพื้นที่คือสิ่งที่เจ๊ติ๋มทำได้อย่างยอดเยี่ยม

กลยุทธ์สำคัญคือเลือก “ลูกจ้าง” ที่มีสัญชาติเดียวกับ “แรงงาน” ในพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงและสนิทสนมโดยไม่ต้องพยายาม

“บางคนเพิ่งมาเมืองไทย สื่อสารไม่ได้ แต่มาร้านเราแล้วเขาเข้าใจทันที ปากต่อปากบอกกัน อยากได้อะไรมาร้านนี้เลย ต่อให้ไม่มีของก็สามารถแนะนำได้ว่าต้องไปซื้อที่ไหน”

เจ๊ติ๋มที่เผชิญความท้าทายกับวิถี “ปลาเล็กกินปลาใหญ่” มาตลอด 25 ปีในวงการโชว์ห่วย เพื่อนพี่น้องทางธุรกิจล้มหายตายจากไปเรื่อยๆ บอกว่า การแข่งขันท่ามกลางการผูกขาดไม่ได้ก่อเกิดการพัฒนาในภาพรวมอย่างแท้จริง

“สิ่งที่เกิดขึ้นมันคือการพัฒนาเเค่เงินในกระเป๋าของคุณเอง ทรัพย์สินของคุณให้งอกเงยใหญ่โต เเต่พวกเราจะทยอยหายสาบสูญไป” เธอบอกสินค้าขายดีในร้านโชว์ห่วยคือ เหล้า เบียร์ บุหรี่ ข้าวสาร และอาหารแห้ง 

ข้าว-ค้าปลีก

เอาความสนิท – เบียร์วุ้นเข้าสู้ 

ยุทธศาสตร์สำคัญของ ‘ร้านสมหวัง’ เพื่อรักษาอาณาจักรเล็กๆ ที่ถูกรุกคืบวันแล้ววันเล่า คือ ความสนิทคุ้นเคยกับลูกค้าและเครื่องดื่มเย็นจับใจ

“นั่นเป็นเพียงไม่กี่อย่างที่เราสู้ได้” พุฑิพัฒน์ อยู่พงศ์ดำรงกุล เจ้าของร้านสมหวังฉีกยิ้ม หลังจากที่ผ่านเงินสะพัดจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ความนอบน้อม และความไว้เนื้อเชื่อใจกับลูกค้า 

พุฑิพัฒน์ที่เปิดร้านมากว่า 20 ปีบอกว่า การปูพรหมเปิดเซเว่นฯ ในทุกหัวระแหง นับเป็นการผูกขาดและแทบไม่เหลือที่ยืนให้กับโชว์ห่วยอยู่แล้ว ซึ่งในทัศนะของเขาเรื่องแบบนี้ไม่เป็นธรรม 

“ผมว่าน่าจะถึงเวลาที่ต้องจำกัดจำนวน ไม่ใช่มองไปทางไหนก็เจอแต่เซเว่น”


อะไรคือการควบรวม ? 

นิยามการผูกขาด ตามประกาศคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการแจ้งผลการรวมธุรกิจ พ.ศ.2561 ระบุว่า การผูกขาด หมายความว่า การมีผู้ประกอบธุรกิจรายเดียวในตลาดใดตลาดหนึ่ง ซึ่งมีอำนาจในการกำหนดราคาและปริมาณสินค้า หรือบริการของตนได้อย่างเป็นอิสระ และมียอดขายตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป

ขณะที่หลักเกณฑ์การเป็นผู้ประกอบธุรกิจซึ่งมี “อำนาจเหนือตลาด” มีใจความที่ระบุถึงผู้ประกอบธุรกิจที่มีอำนาจเหนือตลาด ไว้ 2 กรณี 

  • 1.ผู้ประกอบธุรกิจรายใดรายหนึ่งในตลาดสินค้าหรือบริการตลาดใดตลาดหนึ่ง มีส่วนแบ่งตลาดในปีที่ผ่านมาตั้งแต่ร้อยละ 50 ขึ้นไป และมียอดขายในปีที่ผ่านมาตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป
  • 2.ผู้ประกอบธุรกิจ 3 รายแรกในตลาดสินค้าหรือบริการหนึ่ง ที่มีส่วนแบ่งตลาดในปีที่ผ่านมารวมกันตั้งแต่ร้อยละ 75 ขึ้นไป โดยจะต้องมียอดเงินขายในปีที่ผ่านมาไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท และมีส่วนแบ่งตลาดในปีที่ผ่านมาไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10

ผศ.ดร.วิษณุ วงศ์สินศิริกุล หนึ่งในกรรมการแข่งขันทางการค้า เขียนบทความใน นสพ.กรุงเทพธุรกิจ เปิดเผยว่าผลการศึกษาของคณะอนุกรรมการพิจารณาคำขออนุญาตรวมธุรกิจระหว่าง ซีพีฯ และเทสโก้ฯ แบ่งโครงสร้างตลาดค้าปลีกสมัยใหม่ออกเป็น 3 ประเภทคือ 

  • 1.ประเภทไฮเปอร์มาร์เก็ต (Hypermarket) เช่น เทสโก้-โลตัส บิ๊กซีซูเปอร์มาเก็ต ท็อปส์ซูเปอร์สโตร์ ฯลฯ
  • 2.ประเภทซูเปอร์มาร์เก็ต (Supermarket) เช่น ท็อปส์มาร์เก็ต ตลาดโลตัส วิลล่ามาร์เก็ต ฯลฯ 
  • 3.ประเภทร้านค้าปลีกขนาดเล็ก เช่น เซเว่น-อีเลฟเว่น เทสโก้-โลตัสเอ็กเพรส แฟมิลี่มาร์ท มินิบิ๊กซี ฯลฯ 

จะเห็นได้ว่าการควบรวมธุรกิจครั้งนี้ไม่ก่อให้เกิดผู้ผลิตเพียงรายเดียวในตลาดแต่ละประเภท

WT_ค้าปลีก.jpg


มีอำนาจเหนือตลาดเพิ่มขึ้น ?

จากผลการศึกษาของคณะอนุกรรมการฯ ในปี 2562 พบว่า 

ตลาดประเภทไฮเปอร์มาร์เก็ต 

  • อันดับ 1 เทสโก้-โลตัส มีส่วนแบ่งตลาดประมาณร้อยละ 47 
  • อันดับ 2 บิ๊กซีซูเปอร์มาเก็ตมีส่วนแบ่งตลาดเกือบร้อยละ 40 
  • อันดับ 3 คือ ท็อปส์ซูเปอร์สโตร์ มีส่วนแบ่งตลาดเกือบร้อยละ 2 

นั่นหมายความว่า ตลาดประเภทไฮเปอร์มาร์เก็ตทั้งเทสโก้ฯ และบิ๊กซีฯ ถือเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาด ในขณะที่ท็อปส์ฯ ไม่เป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาด เนื่องจากมีส่วนแบ่งตลาดในปีที่ผ่านมาไม่ถึงร้อยละ 10

ตลาดประเภทซูเปอร์มาร์เก็ต 

  • อันดับ 1 ท็อปส์มาร์เก็ต มีส่วนแบ่งตลาดสูงสุด คือประมาณร้อยละ 27 
  • อันดับ 2 ตลาดโลตัส ประมาณร้อยละ 16 
  • อันดับ 3 วิลล่ามาร์เก็ต ประมาณร้อยละ 5

จึงกล่าวได้ว่าในตลาดประเภทนี้ไม่มีผู้ประกอบธุรกิจรายใดถือเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาด เนื่องจากส่วนแบ่งตลาดรวมกันทั้ง 3 รายแรกของผู้ประกอบธุรกิจไม่ถึงร้อยละ 75

ตลาดประเภทร้านค้าปลีกขนาดเล็ก

  • อันดับ 1 เซเว่น-อีเลฟเว่น มีส่วนแบ่งตลาดสูงสุด ประมาณร้อยละ 75 
  • อันดับ 2 เทสโก้ฯ เอ็กเพรส มีส่วนแบ่งตลาดประมาณร้อยละ 10 

เท่ากับว่า เซเว่น-อีเลฟเว่น เป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาดก่อนการควบรวมธุรกิจ และมีอำนาจเหนือตลาดเพิ่มขึ้นราวร้อยละ 10 หลังการควบรวมธุรกิจ

ผศ.ดร.วิษณุ ระบุด้วยว่า สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (สขค.) มุ่งเน้นประชาสัมพันธ์เพื่อให้สังคมได้เข้าใจอย่างถูกต้องคือ ผู้ประกอบธุรกิจที่เป็นผู้ผูกขาดหรือเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาด ไม่ถือว่ามีความผิดตาม พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2560 หากแต่จะมีความผิดก็ต่อเมื่อผู้ประกอบธุรกิจที่เป็นผู้ผูกขาดหรือมีอำนาจเหนือตลาด มีพฤติกรรมทางการค้าที่เป็นอุปสรรคต่อการแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรม


'เทสโก้ โลตัส' ของรักเจ้าสัวธนินท์

ดีล “เทสโก้ โลตัส” ในไทยและมาเลเซีย ของเจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ มีมูลค่าราว 10,576 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 338,445 ล้านบาท

ซีพีจะได้สาขาของเทสโก้ ในไทยมาครอบครองรวมประมาณ 2,158 สาขา มี 4 รูปแบบ ได้แก่ไฮเปอร์มาร์เก็ต 214 สาขา, ตลาดโลตัส 179 สาขา ,Tesco Express 1,574 สาขา และให้เช่าพื้นที่ในศูนย์การค้า 191 สาขา (ข้อมูลสาขา ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2562 ตามรายงานของอีไฟแนนซ์ไทย) 

ได้สาขาเทสโก้ ในประเทศมาเลเซียอีกประมาณ 68 สาขา แบ่งเป็นไฮเปอร์มาร์เก็ต 46 สาขา ซูเปอร์มาร์เก็ต 13 สาขา และร้านขนาดเล็ก 9 สาขา นอกจากนี้ยังมีธุรกิจให้เช่าพื้นที่ในศูนย์การค้าจํานวน 56 สาขา 

ขณะที่ปัจจุบันมีเซเว่นฯ อยู่ในมือเกือบ 12,000 สาขา โดยรายงานจากบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ระบุเอาไว้ว่า มีแผนที่จะขยายสาขาให้ครบ 13,000 สาขา ภายในปี 2564 

“เทสโก้ โลตัส เป็นลูกของผม" คือประโยคที่ เจ้าสัวธนินท์ เคยให้สัมภาษณ์กับ “เดอะแสตนดาร์ด” 

“…ความจริงเทสโก้ โลตัสเป็นลูกของผม ตอนวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 ผมขายไป ฝากให้คนอื่นเลี้ยง ครั้งนี้เจ้าของที่เคยเลี้ยงลูกผมจะขายลูกกลับคืนมา ผมก็ต้องซื้อ แต่ผมจะซื้อต่อเมื่อต้องเป็นประโยชน์ ถ้าซื้อแล้วไม่เป็นประโยชน์ก็ไม่ซื้อ ผมตั้งใจให้เทสโก้ โลตัสเป็นที่กระจายสินค้าของสดของซีพี ทำให้ของดีราคาถูกกระจายไปทั่วประเทศไทยได้ดีขึ้น ผมเชื่อว่าผมมีความสามารถซื้อกลับมาแล้วเลี้ยงลูกให้ดีกว่าเดิม”

มหาเศรษฐีอันดับ 3 ของเอเชีย ตามรายงานล่าสุดของบลูมเบิร์ก เคยบอกเล่าถึงการตัดสินใจขาย "สยามแม็คโคร และ โลตัส" เมื่อครั้งวิกฤตเศรษฐกิจ 2540 หรือต้มยำกุ้ง ไว้ในหนังสือ ความสำเร็จดีใจได้วันเดียวของตัวเอง ว่า “วันนี้ขายได้ วันหน้าก็ซื้อกลับมาได้”

"ขายเลยไม่ต้องชักช้า นี่คือทางของผม ที่ต้องรีบขายเพราะถ้าขืนช้าของดีจะกลายเป็นเศษขยะ"

"ตอนนั้นเราขายได้กำไรนะ แม้จะเสียดาย แต่สำหรับผมที่ต้องแก้ปัญหา ก็เป็นเรื่องจำเป็นเพื่อรักษาธุรกิจไว้"


อ่านข่าวอื่นๆ :











วรรณโชค ไชยสะอาด
ผู้สื่อข่าวสังคม Voice Online
118Article
0Video
0Blog