ไม่พบผลการค้นหา
‘เป๋า’ ไอลอว์ พร้อมด้วย ‘มายด์-ภัสราวลี’ และ ‘ไผ่ ดาวดิน’ ยื่นเอกสารร้อง กกต. รับรองผลเลือกตั้ง ส.ส. อย่างเป็นทางการหลังผ่านการเลือกตั้งมา 1 เดือน ติงความล่าช้าจนเกิดความผิดปกติ ส่งผลกระบวนการเปิดสภาฯ ตั้งรัฐบาลใหม่ไม่ได้ เชื่อ กกต. เป็นเครื่องมืออนุรักษนิยม

วันที่ 14 มิ.ย. ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เครือข่ายประชาชนสังเกตการณ์เลือกตั้ง 2566 นำโดย ยิ่งชีพ อัฌชานนท์ ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล และจตุภัทร บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน ยื่นเอกสารขอติดตามให้ กกต. ดำเนินการประกาศผลอย่างเป็นทางการโดยเร็วที่สุด เนื่องจากนับตั้งแต่วันเลือกตั้งจนถึงวันนี้เป็นเวลา 30 วันแล้ว แต่ กกต. ยังไม่ดำเนินการประกาศผลอย่างเป็นทางการ ทำให้กระบวนการเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร และจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ไม่สามารถทำได้ 

LINE_ALBUM_230614_10.jpg

แม้ว่าก่อนหน้านี้ทาง กกต. อธิบายเหตุผลของความล่าช้าว่า ต้องมีการนับคะแนนใหม่ในหน่วยเลือกตั้ง 47 เขต แต่นั่นก็เสร็จสิ้นไปแล้วเมื่อวันที่ 11 มิ.ย. ที่ผ่านมา จึงไม่มีเหตุที่จะปล่อยเวลาออกไปอีก แม้ว่าจะยังไม่เกินกรอบ 60 วัน ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 127 แต่การเลือกตั้งครั้งก่อนๆ ในประเทศไทยไม่เคยใช้เวลานานเพียงนี้ โดยในปี 2548 ใช้เวลา 16 วัน ปี 2550 ใช้เวลา 29 วัน ปี 2554 ใช้เวลา 24 วัน และในปี 2562 ใช้เวลา 15 วัน 

LINE_ALBUM_230614_9.jpg

ทั้งนี้จึงเห็นได้ว่าในปี 2566 กกต. กำลังใช้เวลาในการตรวจสอบเบื้องต้นนานจนผิดปกติจนทำให้เกิดความสงสัยในการทำหน้าที่ และกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชน และมีความกังวลใจว่า ความล่าช้า และไม่ชัดเจนของกระบวนการรับรองจะส่งผลต่อความเชื่อมั่น และเจตจำนงค์ของประชาชนที่ต้องการเห็นรัฐบาลชุดใหม่ตามเสียงที่เลือกมา และมองว่า กกต. ก็เป็นหนึ่งในเครื่องมือของกลุ่มอนุรักษนิยม ซึ่งยังมีทั้ง ส.ว. และกระบวนการอื่นๆ ที่ประชาชนต้องจับตา 

LINE_ALBUM_230614_11.jpg

นอกจากนี้ทางกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า We Watch ซึ่งเป็นภาคประชาสังคมที่สังเกตการณ์การเลือกตั้งอยู่บริเวณหน้าหน่วยเลือกตั้งยังได้ชี้แจงเหตุผลความผิดพลาดในการจัดการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็น การกรอกเอกสารระบุจ่าหน้าซองผิดพลาดในวันเลือกตั้งล่วงหน้า การไม่ติดประกาศจำนวนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง จำนวนบัตร ในบางหน่วยเลือกตั้ง จึงชี้แจงเหตุผลพร้อมหลักฐานเพื่อใช้เป็นบทเรียนในการปรับปรุงการจัดการเลือกตั้งครั้งต่อไปให้โปร่งใส และเป็นที่ยอมรับของประชาชนในอนาคต