วันที่ 23 มี.ค. 2565 สุขุมพงศ์ โง่นคำ ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะกรรมธาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และพรรคการเมือง (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ... กล่าวกับ 'วอยซ์' ถึงการเตรียมลงมติของคณะ กมธ. ในสัปดาห์หน้า เพื่อชี้ขาดว่าการเลือกตั้งด้วยบัตรเลือกตั้ง 2 ใบนั้น จะใช้คนละเบอร์ หรือเบอร์เดียวกันทั้งประเทศ โดยระบุว่า เบื้องต้น กมธ. ส่วนใหญ่จากหลายพรรคการเมือง เห็นด้วยกับการใช้เบอร์เดียวกันทั้งประเทศ รวมทั้งคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งเคยร่วมมือกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดทำวิจัยเรื่องระบบการเลือกตั้ง และพบว่าการเลือกตั้งแบบบัตร 2 ใบ แต่คนละเบอร์นั้น ก่อให้เกิดปัญหา และสร้างความสับสน อย่างไรก็ตาม สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และ ส.ส.บางส่วนจากพรรคร่วมรัฐบาล กลับมองว่า ไม่ควรใช้เบอร์เดียวกัน เนื่องจากจะขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตราที่ยังไม่ได้แก้ไข
สุขุมพงศ์ ในฐานะกรรมการบริหารพรรคพลังประชาชน กล่าวถึงผลเสียของการเลือกตั้งบัตร 2 ใบ คนละเบอร์ ที่เคยเกิดขึ้นครั้งเดียวในประเทศไทย คือการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ.2550 ที่ทำให้ประชาชนเกิดความสับสน ด้วยการกำหนด ส.ส.แบบแบ่งเขต 400 คน และแบบบัญชีรายชื่อ ซึ่งในขณะนั้นเรียกว่า ระบบสัดส่วน 80 คน อีกทั้งในเขตใหญ่ยังกำหนดให้ประชาชนต้องเลือก ส.ส. มากถึง 3 คน เท่ากับต้องจดจำหมายเลขที่แตกต่างกันมากชึ้น เป็นเหตุให้เกิดความยากลำบากในการหาเสียง เนื่องจากผู้สมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขต ไม่สามารถช่วยหาเสียงให้ ส.ส.แบบระบบสัดส่วนได้ เพราะใช้เบอร์ต่างกัน ยากต่อการจดจำ อีกทั้งเบอร์ของระบบสัดส่วนก็ยังมีโอกาสซ้ำกับเบอร์ของพรรคการเมืองอื่น
แม้ในที่สุด พรรคพลังประชาชนจะชนะการเลือกตั้งในครั้งนั้น และได้จำนวน ส.ส.ในสภาผู้แทนราษฎรมากเป็นอันดับ 1 แต่เมื่อพิจารณาผลการเลือกตั้งแบบสัดส่วน จะเห็นว่าใกล้เคียงสูสีกับพรรคประชาธิปัตย์เป็นอย่างมาก (พลังประชาชน 41.08% ประชาธิปัตย์ 40.45%) เพราะประชาชนสับสนว่าใช้เบอร์เดียวกันในบัตรทั้งสองใบ จนนำมาสู่การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในปี 2552 ซึ่งมีเสียงเป็นเอกฉันท์เห็นว่าควรกลับไปใช้ระบบบัตรเบอร์เดียว เพราะทุกฝ่ายล้วนเห็นว่าระบบเลือกตั้งแบบหลายเบอร์นั้นเป็นปัญหา
สำหรับการโหวตลงมติในการประชุม กมธ. นัดต่อไปนั้น สุขุมพงศ์ กล่าวว่า คาดเดาผลได้ยาก เพราะถึงแม้การอภิปรายในที่ประชุม เสียงส่วนใหญ่จะเห็นชอบกับระบบเบอร์เดียว แต่เมื่อถึงเวลาลงมติจริง อาจมี กมธ.บางคนที่ไม่ได้เข้าประชุมตามปกติมาร่วมโหวตด้วย ซึ่งอาจจะทำให้บัตร 2 ใบแต่คนละเบอร์ชนะโหวตได้ เนื่องจาก ส.ส.ซีกพรรคร่วมรัฐบาล มีสัดส่วนในที่ประชุม กมธ. มากกว่า