ไม่พบผลการค้นหา
‘บัญญัติ’ชี้บัตร 2 ใบดีสุด ตอบโจทย์กว่าใบเดียว จดจำง่าย สะดวกใช้สิทธิเลือกตั้ง เสริมให้พรรคการเมืองเข้มแข็ง หนุน 2 ใบเบอร์เหมือนกัน ด้านที่ประชุมรัฐสภาโหวตรับการร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้ง 4 ฉบับรวด ตั้ง กมธ.วิสามัญปรับแก้

วันที่ 24 ก.พ. 2565 ที่รัฐสภา ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา พิจารณาเรื่องด่วน ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม จำนวน 4 ฉบับ และ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม จำนวน 6 ฉบับ รวมเป็น 10 ฉบับ ในวาระที่1 ขั้นรับหลักการ 

บัญญัติ บรรทัดฐาน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่วันนี้มีความชัดเจนแล้วว่า ระบบเลือกตั้งแบบ 2 ใบ ซึ่งตนและพรรคประชาธิปัตย์ตามมีความมั่นใจว่าเป็นระบบที่ดีที่สุดระบบหนึ่งที่มีอยู่ในขณะนี้ จะได้นำมาใช้อย่างเป็นเรื่องเป็นราว และบุคคลที่ควรแสดงความยินดีอย่างยิ่งเช่นกัน คือประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ต่างก็มีความอึดอัดกับระบบเลือกตั้งแบบใบเดียว หรือที่เรียกกันว่าระบบสัดส่วนผสม เนื่องไม่สามารถเลือกพรรคการเมืองและผู้สมัครที่แตกต่างกันได้ 

บัญญัติ กล่าวว่า หลังจากมีการใช้ระบบเลือกตั้งแบบบัตร 2 ใบนี้มาตั้งแต่ปี 2554 ประชาชนต่างมีความพอใจและคุ้นชินกับระบบเลือกตั้งดังกล่าวแล้ว เมื่อมาเปรียบเทียบกับระบบบัตรใบเดียว ก็ได้บทสรุปว่า ระบบเลือกตั้งที่น่าจะถือได้ว่ามีความเหมาะสม ต้องประกอบด้วยลักษณะสำคัญ 2 ประการ คือต้องเข้าใจง่าย ชัดเจน จดจำง่าย เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง และต้องเป็นระบบที่ส่งเสริมให้เกิดความเข้มแข็งต่อระบบการเมืองของประเทศ หากนำคุณลักษณะ 2 ประการเป็นตัวตั้งแล้ว น่าจะตอบได้อย่างดีว่า ระบบเลือกตั้งแบบบัตร 2 ใบนั้นน่าจะตอบโจทย์ได้ดีกว่าระบบบัตรใบเดียว 

นอกจากนี้ ระบบบัตร 2 ใบจะสามารถเสริมพลังให้กับระบบพรรคการเมืองได้อย่างแน่นอน เพราะหากย้อนมองไปแล้ว ตั้งแต่มีการใช้ระบบนี้ขึ้นมา พรรคการเมืองก็ค่อยๆ เติบโตและมีความเข้มแข็งมากขึ้นเป็นลำดับ มีการแข่งขันกันในเชิงอุดมการณ์ และเชิงนโยบาย มากกว่าครั้งที่ยังไม่ได้มีระบบดังกล่าว แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเมื่อพรรคการเมืองเข้มแข็งเป็นปึกแผ่นมากขึ้น ในบางครั้งก็มีการนำความเข้มแข็งมาเบี่ยงเบนเป็นการใช้อำนาจในทางการเมือง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเมื่อเกิดปัญหานี้แล้ว จะต้องกลับไปหาระบบเก่าเพื่อทำลายพรรคการเมืองให้อ่อนแอลง เพราะไม่ใช่วิธีการที่ถูกต้อง ทางแก้ที่ถูกต้องคือ เมื่อพรรคการเมืองเข้มแข็งขึ้น ก็ควรสร้างระบบตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจให้มีความแข็งแรงทัดเทียมกัน 

บัญญัติ ประชาธิปัตย์ -C78E-47D6-9345-AF95B0C1B74E.jpeg

สำหรับประเด็นของหมายเลขบัตรเลือกตั้งของพรรคการเมืองและผู้สมัคร ว่าควรจะเป็นเลขเดียวกันหรือไม่นั้น หากมองย้อนไปจะพบว่าการกำหนดให้มีหมายเลขเดียวกันนั้น ได้มีการนำมาใช้อย่างจริงจังสำหรับการเลือกตั้งเมื่อปี 2554 ทั่วทั้งประเทศ แล้วทำให้การแข่งขันในเชิงอุดมการณ์และนโยบายอย่างคึกคักมากขึ้น เช่นเดียวกับบรรยากาศในการหาเสียง ถือได้ว่าเป็นบรรยากาศของการเมืองที่พึงประสงค์ 

อย่างไรก็ตาม บางท่านตั้งข้อสังเกตว่าคงไม่สามารถทำเช่นนั้นได้เนื่องจากขัดกับรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 90 แต่ตนมองว่าบทบัญญตินั้น ไม่ถือเป็นอุปสรรคขัดขวางไม่ให้การกำหนดหมายเลขของผู้สมัครเลือกตั้งและพรรคการเมืองโดยใช้บัตรหรือหมายเลขเดียวกันได้ และเชื่อว่ายังอยู่ในพิสัยที่จะปรับให้หมายเลขผู้สมัครและพรรคการเมืองเป็นเบอร์เดียวกันได้ หากเราพึงประสงค์เช่นนั้น และก็ควรจะพึงประสงค์เช่นนั้นด้วย 

ขณะที่มีผู้แย้งว่า ไม่จำเป็นต้องทำเช่นนั้น เนื่องจากประชาชนจำบัตรจำเบอร์ได้อยู่แล้ว แต่ตนยังเชื่อว่าอาจก่อให้เกิดความสับสนได้อยู่ โดยเฉพาะในเขตเมือง ด้วยเหตุนี้ การกำหนดให้หมายเลขของผู้สมัครเลือกตั้งและพรรคการเมืองเป็นหมายเลขเดียวกันทั่วทั้งประเทศนั้น ยังคงเป็นประเด็นสำคัญที่ควรได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ

ประชุมรัฐสภา -7A3D-42CE-B8F9-4D5D0815BECF.jpegประชุมรัฐสภา -3F7F-4942-8116-EF61F1A16400.jpegชวน ประชุมรัฐสภา -89DA-4CAE-9862-50E272D9DAF9.jpeg

มติรัฐสภาโหวตรับร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้ง 4 ฉบับรวด รอปรับใน กมธ.

จากนั้น เวลา 17.47 น. ภายหลังหลังจบการอภิปรายของสมาชิกและการสรุปร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ทั้ง 4 ฉบับเสร็จสิ้น ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เป็นประธานการประชุมได้แจ้งให้ที่ประชุมการลงมติในวาระที่ 1 ขั้นรับหลักการ โดยที่ประชุมเห็นชอบรับหลักการทั้ง 4 ฉบับ โดยแยกลงมติแต่ละฉบับ โดยผลการลงมติ มีดังนี้ 

ฉบับที่ 1 ร่างที่เสนอโดย ครม. โดยมีมติเห็นด้วย 609 คน ไม่เห็นด้วย 16 คน งดออกเสียง 10 คน ไม่ลงคะแนนเสียง 1 คน

ฉบับที่ 2 ร่างเสนอโดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และคณะ มีมติเห็นด้วย 420 คน ไม่เห็นด้วย 205 คน งดออกเสียง 14 คน ไม่ลงคะแนนเสียง 1 คน

ฉบับที่ 3 ร่่างที่เสนอโดย วิเชียร ชวลิต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ และคณะ มีมติเห็นด้วย 598 คน ไม่เห็นด้วย 26 คน  งดออกเสียง 12 คน  ฃ

ฉบับที่ 4 ร่างที่เสนอโดย พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกลและคณะ มีมติเห็นด้วย 418 คน ไม่เห็นด้วย 202 คน  งดออกเสียง 15 คน 

จากนั้น ที่ประชุมมีมติตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณา พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. จำนวน 49 คน โดยใช้ร่างของ ครม. เป็นหลักในการพิจารณา ระยะเวลาแปรญัตติ 15 วัน และไม่ได้กำหนดระยะเวลาในการพิจารณา  พร้อมนัดประชุม กมธ. ครั้งแรกในวันที่ 1 มี.ค. 2565 เวลา 10.00 น. ณ ห้องประชุมกรรมาธิการ 604 ชั้น 6 อาคารรัฐสภา

ชลน่าน ธีรรัตน์ จิราพร -5E71-4929-8433-6FB8578A05D4.jpegประชุมรัฐสภา -7A3D-42CE-B8F9-4D5D0815BECF.jpegประชุมรัฐสภา -3F7F-4942-8116-EF61F1A16400.jpeg